รายได้ต่ำกว่า 2,802 บาทต่อเดือน/ต่อคน คือ “เส้นแบ่งความยากจน” ตามที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กำหนดไว้เป็นเกณฑ์ในปี 2564 และจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนพบว่า ประเทศไทยมีคนจนอยู่ที่ 4,404,616 ล้านคน คิดเป็น 6.32% ของประชากรทั้งประเทศ แต่หากพิจารณาข้อมูลจากบทความ “มองคนจนหลายมิติ ปี 2564 ปัญหาที่ไม่ใช่แค่เรื่องเงินเท่านั้น” โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า การวัดความยากจนยังมีมิติอื่นๆ ซ้อนทับอยู่นอกจากด้านตัวเงิน ประกอบด้วย มิติด้านการศึกษา , มิติด้านการใช้ชีวิตในแบบที่ดีต่อสุขภาพ , มิติด้านความเป็นอยู่ และมิติด้านความมั่นคงทางการเงิน

“คนจนหลายมิติ” (ตามนิยามของ สศช.) ในปี 2564 มีจำนวนมากถึง 8.1 ล้านคน โดยมิติความเป็นอยู่ส่งผลต่อความยากจนหลายมิติมากที่สุด รองลงมาเป็นมิติความมั่นคงทางการเงิน มิติด้านการใช้ชีวิตในแบบที่ดีต่อสุขภาพ และมิติด้านการศึกษา ตามลำดับ

คนจนหลายมิติ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
คนจนหลายมิติ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนไทยบางกลุ่มยอมกลายเป็น “ผีน้อย” ลักลอบไปทำงานแบบผิดกฎหมาย และนำมาสู่การกวาดล้างครั้งใหญ่ของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ออกประกาศกำหนดให้วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นวันสุดท้ายที่จะเปิดให้ผู้ที่อยู่อาศัยแบบผิดกฎหมายมารายงานตัวเพื่อเดินทางออกนอกประเทศโดยสมัครใจแบบพิเศษ (Special Voluntary Departure Program) โดยเฉพาะแรงงานไทยผิดกฎหมายที่แอบเข้าไปทำงานหรือที่เรียกกันว่า “ผีน้อย”

โดยผู้ที่มารายงานตัวจะได้รับการยกเว้นค่าปรับ และระงับการห้ามเดินทางเข้าเกาหลีใต้ โดยอาจจะเดินทางกลับมาได้อีก แต่หากไม่มารายงานภายในระยะเวลาที่กำหนดจะต้องจ่ายค่าปรับ 30 ล้านวอน หรือกว่า 8 แสนบาท ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปลายปี 2565 มีคนไทยมารายงานตัวกว่า 2,600 คน

แรงงาน เกษตรกร หนึ่งในอาชีพที่ ผีน้อย เข้าไปทำในเกาหลีใต้
ภาพประกอบการทำเกษตรกรรมจาก Unsplash

ข้อมูลของ “ไพโรจน์ โชติกเสถียร” อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ระบุว่า ตัวเลขผีน้อยที่แสดงตัวขอกลับไทยนั้นยังถือว่าเป็นส่วนน้อย เพราะคาดว่ายังมีผีน้อยลักลอบทำงานอยู่ในเกาหลีใต้ประมาณ 1.4 – 1.5 แสนคน ส่วนใหญ่ลักลอบทำงานในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ก่อสร้าง และร้านอาหาร

แรงงานไทยเริ่มลักลอบเข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมายในเกาหลีใต้อย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2531 โดยสาเหตุที่คนไทยแอบลักลอบไปทำงานที่เกาหลีใต้เนื่องจากค่าตอบแทนสูง ประมาณเดือนละ 50,000 – 60,000 บาท ทำให้คนอยากไปเพื่อหาเงินส่งกลับมาที่บ้าน หลายคนจึงไม่ยอมกลับเพราะอยากหาเงินให้คุ้มกับการลงทุนที่เสียไป ขณะที่ชาวเกาหลีใต้ยังมีค่านิยมปฏิเสธการทำงานประเภท “3D” หมายถึง งานยากลำบาก (Difficult) งานสกปรก (Dirty) และงานเสี่ยงอันตราย (Dangerous)

นอกจากนี้ยังมีกระแสในสังคมออนไลน์ของคนไทยที่ไปเป็นผีน้อย สามารถทำงานจนตั้งตัวได้จึงเกิดเป็นการรวมกลุ่มคนไทยในเกาหลีใต้และเป็นช่องทางในการชักชวนคนรู้จักเข้าไปทำงานด้วยกัน

ผ่อนคลายโควิด เปิดช่องผีน้อย

นับตั้งแต่ที่เกาหลีใต้เริ่มผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด-19 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 มีชาวต่างชาติเดินทางเข้าไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลระบุว่า นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน – ธันวาคม 2565 มีคนไทยเดินทางไปเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นจาก 1.81 แสนคน ในเดือนมิถุนายน เป็น 1.91 แสนคนในเดือนพฤศจิกายน และกว่า 2 แสนคนในเดือนธันวาคม

เช่นเดียวกับจำนวนคนไทยที่อยู่ในเกาหลีใต้แบบผิดกฎหมายก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วย จาก 1.39 แสนคนในเดือนมิถุนายน – กันยายน เป็น 1.45 แสนคนในเดือนตุลาคม และ 1.47 แสนคนระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม

นักท่องเที่ยวไทย ถูกส่งตัวกลับ เพราะผีน้อย
ภาพประกอบจาก ข่าวสด

นักท่องเที่ยวไทยรับเคราะห์ถูกเพ่งเล็งส่งกลับ

ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้ความซวยมาตกอยู่ที่นักท่องเที่ยวไทยที่ต้องการเดินทางไปท่องเที่ยว พบญาติ หรือคณะทัวร์ต่างๆ เพราะหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้เพ่งเล็งชาวไทยที่เดินทางเข้ามามากขึ้นและเข้มงวดยิ่งขึ้น โดยเกาหลีใต้กำหนดให้คนไทยและชาติอื่นๆ ที่มีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางต้องขอ K-ETA (Korea Electronic Travel Authorization) หรือระบบขออนุญาตเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้สำหรับชาวต่างชาติแบบออนไลน์ ที่มีลักษณะคล้ายกับวีซ่า เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการกรองไม่ให้ผีน้อยเข้ามาในประเทศได้

คนไทยบางส่วนที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นผีน้อยจึงไม่ได้รับอนุมัติ K-ETA หรือบางส่วนที่ได้รับการอนุมัติแล้วแต่ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองปฏิเสธการเข้าก็จะถูกส่งตัวกลับมาไทยในเที่ยวบินถัดไปที่เป็นไปได้ในทันที หากเห็นว่ามีสัญญาณของการจะลักลอบเข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมาย

ในช่วงที่เกาหลีใต้เปิดประเทศใหม่ๆ มีข่าวว่าเที่ยวบินจากไทยที่มาลงเกาะเซจูซึ่งมีคนไทยเดินทางมาด้วยราว 280 คน เมื่อมาถึงวันแรกปรากฏว่าหายตัวไปจากกำหนดการท่องเที่ยวกว่า 50 คน และล่าสุดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวไทย 23 คน จาก 2 เที่ยวบิน ที่ขาดการติดต่อหลังเดินทางเข้าเกาหลีใต้ทางสนามบินนานาชาติมูอัน จ.ชอลลาใต้ โดยหนึ่งในเที่ยวบินที่เช่าเหมาลำจากไทยดังกล่าวถือเป็นเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากต่างประเทศเที่ยวบินแรกที่เดินทางมาถึงสนามบินแห่งนี้ที่เพิ่งเปิดทำการอีกครั้งได้ไม่นานอีกด้วย

รัฐบาลไทยชูเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว มีงานรอเพียบ

“สุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แสดงความห่วงใยต่อคนไทยที่ลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ ขอให้ไปรายงานตัวเพื่อเดินทางกลับประเทศไทย “ขณะนี้รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายฟื้นฟูประเทศอย่างเร่งด่วนหลังโควิดคลี่คลายลง ทำให้ภาคการท่องเที่ยวขยายตัว ภาคธุรกิจเดินหน้า เศรษฐกิจในบ้านเรามีแนวโน้มที่ดีขึ้น สถานประกอบการมีความต้องการแรงงานและพร้อมที่จะจ่ายค่าตอบแทนในราคาสูง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ ดังนั้นไม่ต้องกังวลว่ากลับมาแล้วจะไม่มีงานทำ ทุกคนสามารถทำงานใกล้ครอบครัว ถูกกฎหมาย และมีรายได้ที่เหมาะสม”

ยอมเสี่ยงสูงแลกกับรายได้งาม

“ดนย์ ทาเจริญศักดิ์” ผู้จัดการโครงการมูลนิธิศักยภาพชุมชน อดีตนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยแห่งชาติชอนนัม เกาหลีใต้ เจ้าของวิทยานิพนธ์เรื่อง “แรงงานผีน้อยไทยในเกาหลีใต้” (A Study of Thai ‘Illegal worker’ in South Korea) ระบุว่า จำนวนของแรงงานไทยที่ไปทำงานที่ประเทศเกาหลีแบบผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการทำข้อมูลพบว่า ก่อนปี 2014 มีอยู่ประมาณ 40,000-50,000 คน แต่หลังจากปี 2014 พบว่าจำนวนแรงงานดังกล่าวเพิ่มขึ้นประมาณ 150,000 คน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งมาเจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาทของไวรัสโควิด-19 จำนวนแรงงานจึงเริ่มลดลงหรือทรงตัว อยู่ที่ประมาณ 140,000-150,000 คน เพราะการเดินทางเข้าออกประเทศทำได้ยาก

หากเรามองในภาพกว้างของบริบทโลก จะเห็นว่า การเข้าไปทำงานในประเทศปลายทางต่างๆ อย่างผิดกฎหมาย ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นและไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะประเทศเกาหลีเท่านั้น แต่ประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ไต้หวัน ก็มีสถานการณ์เดียวกัน ซึ่งเรื่องค่าแรงที่สูงถือเป็นปัจจัยหลักอยู่แล้วที่ทำให้คนอยากเข้าไปทำงาน

แต่หากเรามองอีกมุมหนึ่งจะพบว่า มีอีกหลายประเทศที่ค่าแรงสูง แต่ทำไมคนถึงเลือกไปเกาหลี ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ปัจจุบันประเทศเกาหลีเองก็ขาดแคลนแรงงานที่ต้องใช้แรงงาน เนื่องจากนักศึกษาส่วนใหญ่ที่เกาหลีเมื่อจบการศึกษาออกไปก็จะมุ่งการประกอบอาชีพในสายงานที่ไม่ต้องใช้แรงงานมากกว่า ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาพการเกษตรและอุตสาหกรรม

แรงงานก่อสร้าง หนึ่งในอาชีพที่ ผีน้อย เข้าไปทำ
ภาพประกอบการก่อสร้างจาก Unsplash

โควต้าน้อย ความต้องการสูง

ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์นี้ยังบอกถึงสาเหตุที่ทำให้คนที่ต้องการทำงานในประเทศเกาหลี เลือกใช้วิธีการไปแบบผิดกฎหมาย โดยไม่เข้าสู่ระบบของกรมการจัดหางานนั้นก็คือ “ระยะเวลาและขั้นตอนที่ล่าช้า” แต่สิ่งที่ดนย์เห็นว่า ปัจจัยที่สำคัญคือ “โควต้า” มากกว่า เพราะหลายปีก่อนประเทศไทยได้โควต้าเข้าไปทำงานที่เกาหลีแบบถูกกฎหมาย ประมาณ 20,000 คน ซึ่งเป็นงานที่ดีในระดับหนึ่ง แต่แรงงานผิดกฎหมายกลับอยู่ในระดับหลักแสนคน ซึ่งยังไม่รวมกับจำนวนคนที่อยากไปอีกจำนวนมาก

สอดคล้องกับที่ “โอวาท ทองบ่อมะกรูด” ผู้อำนวยการกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน ให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยว่า ผู้ที่สมัครไปทำงานที่เกาหลีใต้ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) และได้รับการอนุมัติข้อมูลบัญชีรายชื่อเพื่อเสนอให้นายจ้างพิจารณาคัดเลือก ไม่ได้รับรองว่าผู้สมัครจะได้รับการคัดเลือกให้เดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้ทุกคน

สถิติจำนวนคนงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศที่เกาหลีใต้ ประจำปี โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2565

  • การแจ้งการเดินทางด้วยตัวเอง 48 คน
  • กรมการจัดหางานจัดส่ง 2,614 คน
  • นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงาน 49 คน
  • นายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงาน 7 คน
  • RE-ENTRY VISA 1,740 คน

รวมทั้งสิ้น 4,458 คน

“ที่ผ่านมา ผู้ที่สอบผ่านการทดสอบภาษาเกาหลีต้องประสบกับความล่าช้ากว่าจะได้รับการเรียกตัวไปทำงาน โดยเฉพาะแรงงานเพศหญิงที่ต้องรอนานกว่าแรงงานเพศชาย ซึ่งความล่าช้าดังกล่าว เป็นสาเหตุหนึ่งที่เป็นแรงจูงใจให้แรงงานไทยลักลอบเข้าไปทำงานในเกาหลีอย่างผิดกฎหมายมากขึ้น” ผอ.กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กล่าว

“สำหรับแนวทางข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาของภาครัฐไทย เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย ถือเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งอาจจะต้องไปแก้กฎหมายการเข้าประเทศใหม่ทั้งหมดหรือไม่ อยากให้เราย้อนมองกลับมาที่ปัญหาว่า เกิดจากอะไร ทำไมคนรู้ว่าไปแล้วผิดกฎหมาย แต่ก็ยังเลือกที่จะไป นั้นเพราะสภาพเศรษฐกิจและความยากจนในบ้านเราหรือไม่”

ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ สรุปทิ้งท้าย

แหล่งที่มาข้อมูล

coffee lover and caffeine addict หลงใหลในการเดินทาง เรียนรู้ประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ มองโลกผ่านกล้องถ่ายภาพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ (Strictly Necessary Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของเว็บไซต์ feedforfuture.co ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์เราได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนสมาชิกผู้ใช้งานของเว็บไซต์ ตลอดจนการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อวิเคราะห์ และช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้ในการบันทึก และจดจำคุณลักษณะต่างๆ ที่ท่านได้เลือกขณะเข้าชมเว็บไซต์ของเรา เช่น หมวดหมู่ และเนื้อหาที่ท่านชอบอ่านมากที่สุด เราจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ และนำกลับมาใช้เมื่อท่านกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง เพื่อปรับให้ท่านได้รับชมเนื้อหาได้ตรงกับความชอบของท่านให้มากที่สุด

  • คุกกี้เพื่อนำเสนอโฆษณาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อจดจำพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ของท่าน รวมถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ท่านใช้ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์การนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด และช่วยวัดความมีประสิทธิผลของโฆษณาที่เรานำเสนอด้วย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ท่านจะเห็นโฆษณาเดิมซ้ำๆ

บันทึก