จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยเฉพาะเรื่องของการเรียน เนื่องจากโรงเรียนมีมาตรการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนตามวิถี New Normal จากเดิมเรียนแบบ On-Site เปลี่ยนไปเป็นเรียนแบบ Online และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ก็ให้เด็กนักเรียนกลับมาเรียน On-Site อีกครั้ง ดังนั้น เด็กนักเรียนจึงผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องไม่หยุด ส่งผลให้มีเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งรู้สึกหมดไฟ หรือว่ารู้สึกเหนื่อยหน่ายกันมากขึ้น สาเหตุเป็นเพราะว่าเมื่อเด็กนักเรียนผ่านการเปลี่ยนแปลงในช่วงชีวิต ก็อาจจะทำให้เผชิญกับความเครียดได้ และยิ่งสะสมเป็นระยะเวลานาน โอกาสที่จะเกิดภาวะหมดไฟในการเรียนก็มีมากยิ่งขึ้นไปด้วย

จากสถานการณ์ครั้งนี้ เราเลยได้พูดคุยกับ “ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช” หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จิตวิทยาตะวันตก-ตะวันออก และประธานแขนงวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับปัญหา สาเหตุ และแนวทางป้องกันภาวะหมดไฟในการเรียนของเด็ก

ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช

สาเหตุของการเกิดภาวะหมดไฟในการเรียน

“ภาวะหมดไฟคือการที่เราเผชิญกับความเครียดเป็นระยะเวลานาน ซึ่งความเครียดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกๆ คน แต่ว่าเมื่อเกิดมาแล้วสักพัก ถ้าหากเราสามารถจัดการกับความเครียดได้ มันก็จะหายไป แต่ถ้าหากเราไม่สามารถจัดการกับความเครียดที่เจอในการเรียนได้ มันก็จะถูกสะสมไปเรื่อยๆ ในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกเหนื่อยหน่าย รู้สึกว่าเราไม่มีประสิทธิภาพ รู้สึกว่าเราไม่อยากจะเจอกับคนอื่น อาจจะมีอารมณ์หงุดหงิดใส่คนอื่น หรืออยากอยู่คนเดียว ก็อธิบายได้ว่าเป็นสัญญาณว่าเรากำลังเผชิญกับภาวะหมดไฟ”

สัญญาณบ่งบอกถึงภาวะหมดไฟในการเรียน

“หนึ่งคือตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกเหนื่อยล้า หรือรู้สึกแย่ สองคือลงมือทำอะไรไปก็ไม่สำเร็จสักที อ่านหนังสือไปก็ทำข้อสอบไม่ได้ อ่านหนังสือไปก็จำไม่ได้ เริ่มจะไม่เห็นประสิทธิภาพ และสามคือไม่อยากจะยุ่งกับใคร เหวี่ยง หงุดหงิดใส่คนอื่น อยากอยู่คนเดียว หลีกเลี่ยงผู้อื่น แต่ว่าสิ่งที่อาจจะตามมาจากการเผชิญกับภาวะหมดไฟ คืออาจจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม เช่น นอนไม่หลับ ไม่อยากจะกินข้าว ปวดหัว ปวดตัว ปวดท้อง เพราะฉะนั้นถ้าหากเรารู้สึกแย่ทั้งทางร่างกายและจิตใจ อาจจะเป็นไปได้ว่าเรากำลังเผชิญกับภาวะหมดไฟในการเรียนอยู่”

การแบ่งช่วงอาการของภาวะหมดไฟในการเรียน

“ถ้าหากเรารู้สึกว่าเราเจอกับความเครียด แล้วเราจัดการกับมันไม่ได้ อันนี้ก็เรียกว่าหนัก คือไม่ต้องรอว่าเราอยู่ในภาวะหมดไฟหรือยัง หรือว่าเราอยู่ในภาวะเครียดแบบไหน แต่ถ้าหากเรารู้สึกว่าเราเจอกับความเครียด แล้วเราจัดการกับมันไม่ได้จนเรารู้สึกแย่กับตัวเอง แย่กับการเรียน เรียนแล้วไม่สนุก รู้สึกนอนไม่หลับ คิดว่าอันนี้อาจจะเป็นสัญญาณที่กำลังบ่งบอกว่าเราและคนรอบข้างอาจจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจของนักเรียนมากยิ่งขึ้น”

ภาพโดย Christian Erfurt /Unsplash

หมดไฟจริงหรือแค่ขี้เกียจกันแน่

“ลักษณะอาการของภาวะหมดไฟ อันที่หนึ่งเราจะต้องมีความรู้สึกเหนื่อยหน่าย (Exhaustion) เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีพลัง โดยไม่มีสาเหตุหลักเฉพาะเจาะจง อันที่สองคือมีความรู้สึกว่าเราไม่มีประสิทธิภาพ (Professional Efficacy) เช่น เรียนไปแล้วก็ไม่สามารถสอบได้ หรืออ่านหนังสือไปแล้วก็จำไม่ได้ เริ่มจะไม่เห็นประสิทธิภาพ หรือความสามารถของตนเอง รวมถึงมีความรู้สึกแย่กับความสามารถของตนเอง อันที่สามคือการหลีกเลี่ยงผู้อื่น เช่น เราไม่อยากจะยุ่งกับเขา หรืออาจจะหงุดหงิดใส่เขา เพราะฉะนั้นภาวะหมดไฟจะกล่าวถึง 3 สัญญาณนี้”

“ขณะที่ความขี้เกียจอาจจะเป็นแค่ความรู้สึกว่า ฉันไม่อยากจะทำอะไร เหนื่อยๆ เอื่อยๆ นั่งเฉยๆ ถ้าหากเปรียบเทียบกับเทียน คือเทียนริบหรี่อยู่ก็จริง แต่ยังคงมีไฟอยู่ แต่ว่าเราแค่ไม่มีพลังใจหรือว่าไม่มีแรงกระตุ้น คือไม่รู้สึกต้องการที่จะทำมัน ถามว่าทำได้ไหม ก็ทำได้ เพียงแต่ว่าอาจจะเป็นจิตใจของเราที่ไม่อยากจะทำมันเท่านั้นเอง”

ภาวะหมดไฟมีแนวโน้มไปสู่ภาวะซึมเศร้า

“คนที่เผชิญกับภาวะหมดไฟจะมีแนวโน้มที่เผชิญกับภาวะซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะถ้าหากเราเจอกับภาวะหมดไฟ แล้วไม่ได้จัดการกับมัน แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นก็มีอยู่ และก็มีผลงานวิจัยที่พบว่านักเรียนที่เผชิญกับภาวะหมดไฟ พอผ่านไปในอนาคตเขาก็มีโอกาสที่จะเผชิญกับภาวะซึมเศร้าได้”

คำพูดที่ควรระมัดระวังเวลาพูดกับเพื่อนที่มีภาวะหมดไฟในการเรียน

“ควรหลีกเลี่ยงเรื่องการเปรียบเทียบ (Comparison) คือเอาเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เช่น เพื่อนคนอื่นเขาก็ผ่านไปได้ ทำไมเราถึงผ่านไปไม่ได้ หรือว่าไม่เป็นไร มีคนอื่นแย่กว่าเธออีกนะ และก็เอาเราไปเปรียบเทียบกับคนพูด เช่น บอกว่าไม่เป็นไรเมื่อก่อนเรายังข้ามไปได้เลย เดี๋ยวเธอก็ข้ามไปได้ ซึ่งทำให้คนฟังรู้สึกว่าเขากำลังโดนเปรียบเทียบอยู่ และก็ทำให้คนฟังรู้สึกว่าเธอไม่เข้าใจหรอก ว่าสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่ไม่ได้เหมือนกัน”

“เรื่องที่สองคือหลีกเลี่ยงการไปตัดสินเขา (Judging) เช่น ทำงานกลุ่ม เพื่อนอาจจะเครียดกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง เรากลับถามว่าทำไมเธอยังไปเป็นเพื่อนเขาอีก เป็นเรา เราไม่ทนนะ ก็เหมือนไปตัดสินเขา ว่าสิ่งที่เขาทำไม่ดี ทั้งๆ ที่เขารู้สึกพยายามมาอย่างเต็มที่แล้ว อาจจะทำให้เขารู้สึกว่าเขาแย่เหรอ เขาจัดการได้ไม่ดีเหรอ ซึ่งเขาจะรู้แย่กับตัวเองมากกว่าเดิม”

“ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเราต้องเป็นผู้ฟังที่ดี เหมือนเป็นคำถามปลายเปิดกว้างๆ ว่าเราพร้อมที่จะรับฟังนะ มีเรื่องอะไรที่จะเล่าให้เราฟังไหม เราอยู่ตรงนี้ แล้วพอเขาเล่าเสร็จ อาจจะบอกว่าเราเข้าใจนะว่าเธอรู้สึกอย่างไง เรารับรู้ว่าเธอเครียดอยู่นะ ตอนนี้เธอกำลังผ่านช่วงเวลาที่ย่ำแย่อยู่ เธออยากจะต้องการมีคนเข้าใจอยู่ข้างๆ หรือบางทีอาจจะเช็คไปตรงๆ ก็ได้ ว่าอยากจะถามความเห็นเราไหม หรืออยากจะให้เราเสนอแนะอะไรไหม เพราะฉะนั้นในบางครั้งบทบาทหน้าที่ของเพื่อนคือรับฟังอยู่ข้างๆ พร้อมที่จะบอกเขาว่ายังมีเราอยู่ตรงนี้ I’m here with you แต่ถ้าหากคิดว่าปัญหาของเพื่อนใหญ่เกินไปก็อาจจะสนับสนุนให้เพื่อนลองพบนักจิตวิทยาดีไหม เพื่อสุขภาพใจที่ดี”

มาปลุกไฟในการเรียนกันเถอะ

“มองว่าจริงๆ การเรียนในแต่ละวิชา ไม่ใช่แค่เนื้อหาอย่างเดียว เนื้อหาของการเรียนเดี๋ยวนี้เขาไปในอินเทอร์เน็ตมีเยอะมาก แต่ว่าพอเราได้เข้าห้องเรียน ได้พบปะเพื่อนๆ เราสามารถที่จะพัฒนา Soft Skills ของตัวเองที่มันไม่ได้อยู่ในอินเทอร์เน็ต เช่น การทำงานร่วมกับคนอื่น การฝึกคิดอย่างเป็นระบบ การจัดการกับตารางชีวิต เป็นโอกาสให้เราได้ฝึก Soft Skills ทักษะการใช้ชีวิตตรงนี้ ถ้าเราเห็นโอกาสตรงนี้ อาจจะทำให้เราสนุกกับการเรียนมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็มองว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อย่างคุณครู โรงเรียน คนรอบข้าง และก็สภาพแวดล้อมด้วย ว่าส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกกับการเรียนไหม คือไม่ใช่เพียงแค่ตัวนักเรียนอย่างเดียว”

แนวทางการรับมือและป้องกันภาวะหมดไฟในการเรียน

“ปัญหาบางอย่างมีทั้งแก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้ ถ้าหากปัญหาไหนแก้ไขไม่ได้ เราอาจจะต้องการจัดการกับความรู้สึกและอารมณ์ของตัวเอง ทักษะนี้เรียกว่า ‘กลยุทธ์การจัดการกับความเครียด’ เป็นทักษะสำคัญที่น้องๆ ควรนำไปลองฝึกฝนกัน ขณะเดียวกันครอบครัว คุณครู หรือโรงเรียน ควรฝึกทักษะนี้ให้กับนักเรียนด้วย ว่าเขามีวิธีรับมือได้ดีแล้วหรือยัง มีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง ยกตัวอย่าง วิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพ คือการหันไปพึ่งพาสารเสพติด ดื่มแอลกอฮอล์ หรือว่าเก็บความรู้สึกเอาไว้คนเดียว ไม่พูดจากับใคร ไม่ระบายออกมา จะยิ่งทำให้เกิดความเครียดได้ ส่วนการจัดการความเครียดที่มีประสิทธิภาพ เช่น เวลาอารมณ์แย่ๆ จะเกิดความผิดหวัง หรือเสียใจ แล้วเราจัดการกับมันอย่างไง เราจัดการกับมันได้อย่างถูกต้องหรือเปล่า ถ้าเราจัดการได้ ก็จะทำให้ความเครียดไม่ถูกสะสมมากจนเกินไปสามารถป้องกันการเกิดภาวะหมดไฟในการเรียนได้ เพราะฉะนั้นทักษะตรงนี้ อยากจะให้นักเรียนทุกคนมีติดตัวกัน”

“เพิ่มเติมจากนั้นอาจจะเป็นทักษะ Resilience ความยืดหยุ่นทางจิตใจ การรับมือกับความผิดหวัง และในเวลาเดียวกันถ้าหากปัญหาไหนจัดการได้ เช่น เรื่องตารางเวลา บางคนอาจจะเครียดการบ้านเยอะมากๆ แต่ถ้าหากเราเริ่มฝึกทักษะการจัดการตารางเวลา และก็ฝึกทักษะการบริหารเวลาก็จะทำให้ปัญหาเหล่านี้ดีขึ้นได้นิดหนึ่ง หรือว่าคุณครูควรจัด Workshop การอบรมเพิ่มทักษะเหล่านี้ในห้องเรียน ก็อาจจะเป็นวิธีการรับมือและป้องกันในระดับเบื้องต้นได้เช่นกัน”

“อย่างไรก็ตามสิ่งที่นักเรียนสามารถทำได้ อาจจะเริ่มจากการจัดการดูแลสภาพจิตใจและก็ร่างกายของตัวเอง พักผ่อนให้เต็มที ถ้าหากรู้สึกแย่กับตนเองก็พยายามจัดการกับอารมณ์ เช่น ออกกำลังกาย เข้าใจความรู้สึกของตนเอง หรืออาจจะเขียน Diary เพื่อระบายอารมณ์”

หากมีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนเข้ามาช่วยเด็กนักเรียนที่มีภาวะหมดไฟในการเรียน

“ถือว่าดีมากๆ เลย บางทีนักเรียนอาจจะไม่ต้องเจอกับภาวะหมดไฟก็ได้ แต่ว่าพอเขาอาจจะเจอกับอะไรที่เขายังไม่มีคำตอบ แล้วเขามีพื้นที่ที่จะได้ไปคุยกับนักจิตวิทยา เหมือนมีคนคุย คนที่รับฟังเรา ก็ช่วยให้เขาสามารถมองเห็นทิศทางและโอกาสมากขึ้น เพราะว่าบางคนอาจจะมีครอบครัวที่คุยด้วยได้ แต่บางคนอาจจะรู้สึกไม่สบายใจที่จะคุยกับครอบครัว เพราะฉะนั้นถ้าหากมีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนได้ก็จะดีมากๆ”

แนะนำ Hear to Heal การบริการด้านสุขภาพจิตออนไลน์สักเล็กน้อย

“Hear to Heal คือโครงการที่คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นรูปแบบแชทคุยผ่านข้อความที่ให้บริการฟรี แล้วก็เป็นนักจิตวิทยาให้การบริการทุกวันในช่วงเวลา 10.00 – 22.00 น. คิดว่าแล้วยิ่งน้องๆ ชอบแบบพิมพ์แชทแล้วอาจจะรู้สึกสบายใจกว่า แล้วพอได้ลองใช้จริงๆ แล้วคุยกับนักจิตวิทยาไม่ได้น่ากลัวเหมือนที่เราคิด เป็นการพูดคุยกัน ถามไถ่กันว่าเป็นอย่างไงบ้าง ช่วยให้เรามองเห็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดีขึ้น เพราะบางทีเวลาเราเครียดเหมือนกับความคิดของเราอาจจะขุ่นมัวนิดหนึ่ง ซึ่งจริงๆ มีทางออก เพียงแต่ว่าเราอาจจะยังมองไม่เห็น ซึ่ง Hear to Heal ก็จะทำให้เราเห็นอะไรได้ชัดเจนขึ้น”

ก่อนจากกันไป อาจารย์ได้กล่าวปิดทิ้งท้ายว่า “ปัจจุบันนี้เราเจอภาวะกดดันเยอะมากๆ บางคนอาจจะรู้สึกไม่โอเค ฉันไม่มีไฟ ฉันไม่มีพลัง ฉันรู้สึกไม่ได้สนุกไปกับการเรียน ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องปกติ จะให้เรามีความสุขทุกวัน หรือว่าสนุกกับการเรียนทุกวัน แล้วมีพลังทุกๆ วัน มันไม่น่าจะเป็นไปได้ บางคนอาจจะเป็นอย่างนั้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน เพราะฉะนั้นถ้าหากเรารู้สึกว่าวันนี้ฉันเหนื่อยจังเลย ขี้เกียจจังเลย อันนี้เป็นเรื่องปกติ อย่าไปกดดันหรือรู้สึกว่าเราผิดอะไรหรือเปล่า ทำไมเราเรียนแล้วไม่สนุก แต่ถ้าหากเรารู้สึกแย่เป็นระยะเวลาสักพัก รู้สึกว่านี่ไม่ใช่เราแล้ว  ไม่ใช่แบบตัวเราที่เคยเป็น ก็เป็นสัญญาณที่เราอาจจะต้องมาถามตัวเองว่าเราต้องการได้รับความช่วยเหลือหรือเปล่า แล้วก็หาการช่วยเหลือ หา Support คนที่เรารู้สึกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยสามารถที่จะคุยได้ ถ้าหากไม่ใช่คุณครู ไม่ใช่ครอบครัว อาจจะมองหานักจิตวิทยา หรือว่าคนให้การบริการทางด้านคำปรึกษาตรงนี้”

ทาสนก เสพติดคาเฟอีน คลั่งรักป๋าแมดส์ สิ่งเดียวที่ทำให้ใจเต้นแรงได้คือวันที่ 1 และ 16

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ (Strictly Necessary Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของเว็บไซต์ feedforfuture.co ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์เราได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนสมาชิกผู้ใช้งานของเว็บไซต์ ตลอดจนการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อวิเคราะห์ และช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้ในการบันทึก และจดจำคุณลักษณะต่างๆ ที่ท่านได้เลือกขณะเข้าชมเว็บไซต์ของเรา เช่น หมวดหมู่ และเนื้อหาที่ท่านชอบอ่านมากที่สุด เราจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ และนำกลับมาใช้เมื่อท่านกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง เพื่อปรับให้ท่านได้รับชมเนื้อหาได้ตรงกับความชอบของท่านให้มากที่สุด

  • คุกกี้เพื่อนำเสนอโฆษณาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อจดจำพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ของท่าน รวมถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ท่านใช้ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์การนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด และช่วยวัดความมีประสิทธิผลของโฆษณาที่เรานำเสนอด้วย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ท่านจะเห็นโฆษณาเดิมซ้ำๆ

บันทึก