“ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย เธอไม่อินกับผู้ชาย bad boy ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย เธอไม่รักฉันก็คงต้องปล่อย”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ทรงอย่างแบด (Bad Boy)” ของ Paper Planes ค่าย Ginierockกลายเป็นเพลงชาติสำหรับวัยรุ่นฟันน้ำนมที่จะเปิดกระหึ่มทุกสถานที่จัดกิจกรรมงานวันเด็กในปีนี้ ความสำเร็จของเพลง ทรงอย่างแบด (Bad Boy) กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเหนือความคาดหมายแม้แต่สำหรับตัวศิลปินเองที่ไม่คิดว่าแฟนเพลงที่ชื่นชอบเพลงนี้แบบสุดหัวใจจะเป็นกลุ่มหนูๆ วัยไม่เกินมัธยมเท่านั้น ซึ่งนับเป็นเรื่องแปลกอยู่บ้างเพราะใครจะคาดคิดว่าผลงานเพลงแนวป๊อป-พังก์ จะถูกอกถูกใจผู้ฟังกลุ่มนี้เป็นพิเศษ ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่าอาจเป็นเพราะเนื้อร้องที่จดจำได้ง่ายและมีท่วงทำนองดนตรีที่ไปกระแทกใจเหล่าวัยรุ่นฟันน้ำนม
จากความสำเร็จที่กลายเป็นปรากฏการณ์ในสังคม “ฮาย ธันวา” และ “เซน นครินทร์” สมาชิกของ Paper Planes ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “หัวหน้าแก๊งวัยรุ่นฟันน้ำนม” ซึ่งในช่วงวันเด็กปี 2566 ทั้งคู่ก็ได้มอบคำขวัญให้กับสมาชิกแก๊งทุกคนว่า “สร้างสรรค์ความคิด ผูกมิตรซื่อตรง ก้าวอย่างมั่นคง ฟังทรงอย่างแบด” ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นคำขวัญที่ไม่ใช่แค่สร้างสีสันแต่ยังแฝงแง่คิดเอาไว้ด้วย
- สร้างสรรค์ความคิด สื่อถึงคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถเอาตัวรอดในสังคมได้ พลิกแพลงกับสถานการณ์ได้เสมอ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนทำงานอาร์ต
- ผูกมิตรซื่อตรง สื่อถึงการคบหามิตรที่มีความซื่อตรงและเราเองก็ต้องซื่อตรง เนื่องจากการใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ ไม่ใช่แค่การอยู่คนเดียว ต้องมีเพื่อนพ้องในการสนับสนุน อาจไม่ต้องมีมิตรเยอะแต่ขอแค่มีมิตรแท้ และซื่อตรงกับตัวเรา
- ก้าวอย่างมั่นคง สื่อถึงการก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งที่ดี น่าตื่นเต้น และสนุกสนาน แต่สุดท้ายแล้ววันหนึ่งเราต้องการก้าวไปอย่ามั่นคง หรือวางแผนเตรียมทุกอย่างให้ดี ในอนาคตเราไม่ต้องเติบโตอย่างรวดเร็วหรืออยู่ในมาตรฐานของคนอื่น ขอเพียงแค่ก้าวอย่างมั่นคงในแบบของเราก็พอ
- ฟังทรงอย่างแบด สื่อถึงเพลงของวงที่เป็นโหมดไม่จริงจัง ชีวิตต้องอยู่ในความสนุกด้วย ไม่ว่าจะมีความเครียดหรือจริงจังเพียงใด ต้องสนุกกับชีวิต เพราะชีวิตมีแค่ครั้งเดียว ใช้ชีวิตให้มีความสุขมากที่สุด
เปลี่ยนผ่านจากยุคสู่ยุค
หากเราย้อนกลับไปสัก 30 ปีที่แล้วหนึ่งในบทเพลงที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเพลงชาติของเด็กสมัยนั้นและเชื่อว่ายังเป็นบทเพลงที่ติดหูใครหลายคนที่มีท่อนฮิตว่า “อรุณเบิกฟ้า นกกาโบยบิน ออกหากินร่าเริงแจ่มใส เราเบิกบานรีบมาเร็วไว ยิ้มรับวันใหม่ยิ้มให้แก่กัน” หรือบทเพลง “เจ้าขุนทอง” รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กยุค 80-90
“ผาล ภิรมย์” ลูกชายของ “ครูอ้าว เกียรติสุดา ภิรมย์” ผู้ริเริ่มรายการเจ้าขุนทองเล่าว่า “เพลงเจ้าขุนทองนั้นแต่งคำร้องโดยแม่ (ครูอ้าว) ส่วนทำนองโดย “น้าต้อม กิตติพงศ์ ขันธกาญจน์” เรามีโจทย์ว่าเป็นรายการที่ให้ความรู้ภาษาไทยอย่างสนุกสนานสำหรับเด็กๆ ปลูกฝังว่าจะได้รักภาษาไทย ชีวิตความเป็นไทย และจะมาตอนเช้าก่อนไปโรงเรียนเพื่อที่จะได้รู้สึกสดใส เราเลยเปิดมาว่า อรุณเบิกฟ้า นกกาโบยบิน เพื่อที่จะฉายภาพของบรรยากาศที่เราคนไทยทุกคนรู้สึกคุ้นเคย ตื่นเช้ามามีนกบินมีนกร้อง หลังจากนั้นมาเจอรายการมาสนุกกับเพื่อนๆ ที่มาพบหน้ามาเจอกัน ผู้ชมก็เป็นหนึ่งในเพื่อน หนึ่งในครอบครัว สนุกไปด้วยกันเรียนรู้ไปด้วยกัน อันนี้ก็น่าจะเป็นที่มาของเพลง”