หากพูดถึงซีรีส์วายหลายคนอาจนึกถึงเรื่องราวความรักที่ดำเนินเรื่องผ่านตัวละครชาย-ชาย หรือที่เรียกว่า “ยาโอย (Yaoi)” แต่จริงๆ แล้วซีรีส์วายยังมีอีกประเภทหนึ่งที่อาจจะยังพบเห็นได้น้อยในอุตสาหกรรมบันเทิงบ้านเรานั่นคือ “ยูริ (Yuri)” หรือความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครหญิง-หญิง นั่นจึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า เหตุใดยูริจึงได้รับความนิยมน้อยกว่ายาโอยและจะทำอย่างไรซีรีส์วายเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นจริงในสังคม
“ช่อ พรรณิการ์ วานิช” ตัวแทนจากคณะก้าวหน้า หนึ่งในแขกรับเชิญกล่าวบนเวที “FEE:D Y CAPITAL 2ND เมืองหลวงซีรีส์วาย ครั้งที่ 2” ถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยไล่เรียงตั้งแต่ที่มาของคำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ไปจนถึงการต่อยอดให้อุตสาหกรรมซีรีส์วายของไทยทัดเทียมกับอุตสาหกรรมบันเทิงของชาติอื่น การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และการเพิ่มสวัสดิการแรงงานในกองถ่ายภาพยนตร์
เข้าใจให้ตรงจุดก่อนลงมือทำ
“คำว่าซอฟต์พาวเวอร์พูดกันเยอะเป็นเรื่องที่ดีหมายความว่าสังคมเริ่มให้ความสนใจ วันนี้เลยอยากจะถือโอกาสนี้คงไม่ได้บอกว่ามาสอนเพราะเราก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟต์พาวเวอร์ แต่ว่าอยากจะมาคุยกันให้เคลียร์ๆ ชัดๆ ก่อนเราจะพูดเรื่องอุตสาหกรรมซีรีส์วาย ก่อนเราจะพูดเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โอกาสในอนาคต ประเทศไทยจะไปอยู่ตรงไหนในโลกของอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอนาคต ซอฟต์พาวเวอร์เวลาพูดฟังดูเป็นเรื่องวัฒนธรรม ฟังดูเป็นเรื่องศิลปะ แต่ทุกท่านทราบไหมว่าหลักคิดซอฟต์พาวเวอร์จริงๆ มันมาจากแนวคิดทางการทหาร คำว่าพาวเวอร์ อำนาจ คือเรื่องของความมั่นคง ซอฟต์พาวเวอร์คนที่คิดหลักการนี้ขึ้นมาคนแรก เขาไม่ใช่รัฐมนตรีวัฒนธรรม เขาไม่ใช่ศิลปิน เขาคือผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา “โจเซฟ ไนย์”
“ถ้าใครไปอ่านดู ซอฟต์พาวเวอร์ในวันที่มันถูกคิดคอนเซ็ปต์ขึ้นมาคืออะไร มันคือแนวคิดที่ว่าอำนาจแข็งมันไม่เพียงพอ เอารถถัง เรือดำน้ำ ทหารไปรบ มันไม่ใช่เทคนิคการทูตการเมืองในระดับระหว่างประเทศที่จะได้ผลมากพอ สิ่งที่อาจจะได้ผลมากกว่าก็คือการสร้างพลังต่อรองที่คุณไม่จำเป็นต้องบังคับแต่ใช้กระบวนการการโน้มน้าวด้วยวิธีการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรม เรื่องใดๆ ก็ตามที่ทำให้การเจรจาต่อรองของประเทศคุณต่อประเทศอื่นมันไม่ต้องใช้กำลังบังคับ มันเป็นอารยะกว่า และมันอาจจะได้ผลมากกว่า นี่คือที่มาเริ่มแรกของแนวคิดซอฟต์พาวเวอร์ พูดง่ายๆ ซอฟต์พาวเวอร์คือพลังในการโน้มน้าวประเทศอื่น หรือคนอื่นให้ทำในสิ่งที่เราต้องการได้โดยใช้เครื่องมือทางการสื่อสารวัฒนธรรมอื่นๆ นี่ก็คือแนวคิดซอฟต์พาวเวอร์ทำไมเราถึงต้องเริ่มด้วยเรื่องแบบนี้ เพราะถ้าเราไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์นี้ไม่มีวันจะเข้าใจว่า ซอฟต์พาวเวอร์ไม่มีวันเกิดขึ้นโดยบังเอิญ และซอฟต์พาวเวอร์ไม่มีวันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่แท้จริงถ้าไม่ได้เกิดจากการวางแผนของรัฐ มันอาจจะเรียกว่าเครื่องมือทางวัฒนธรรมหรือเรียกว่าอะไรก็ได้แต่มันจะไม่ถูกเรียกว่าซอฟต์พาวเวอร์ ซอฟต์พาวเวอร์คือรัฐต้องมีนโยบายตั้งใจทำสิ่งนี้ขึ้นเพื่อสร้างพลังต่อรองเพื่อจุดหมายใดจุดหมายหนึ่ง”
ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในโลกอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
“กลับมาที่ประเทศไทยอยากจะมีซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่สิ่งที่มโนเอาว่าเรามีหรือไม่มี มันมีสิ่งที่เรียกว่า Global Soft Power Index ที่จัดอันดับอย่างเป็นวิทยาศาสตร์วัดว่าประเทศไหนมีซอฟต์พาวเวอร์อยู่ในอันดับที่เท่าไรของโลก อยากลองทายกันดูไหมคะว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่เท่าไร พูดถึงซอฟต์พาวเวอร์เราชอบคิดถึงประเทศอะไร เกาหลีใช่ไหม คุณคิดว่าเกาหลีใต้ในดัชนีซอฟต์พาวเวอร์โลกเขาอยู่ในอันดับที่เท่าไร หนึ่งในห้า หนึ่งในสิบ เกาหลีใต้อยู่อันดับ 12 เกาหลีใต้อยู่อันดับ 12 แล้วประเทศอย่างเราจะอยู่อันดับไหน อยากทราบไหมคะว่าประเทศที่ได้อันดับ 1 ในด้านซอฟต์พาวเวอร์โลกคือประเทศอะไร อเมริกาค่ะ แต่จีนเนี่ยอยู่ในอันดับที่ 2-3 มาโดยตลอด มันจะเรียงประมาณนี้ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น อะไรแบบนี้ ส่วนเกาหลีใต้อยู่อันดับ 12 พูดแบบนี้มันจะเริ่มเห็นชัดใช่ไหมว่าคำว่าซอฟต์พาวเวอร์มันหมายถึงอะไร มหาอำนาจในด้านที่คนรู้สึกว่ารู้จักและรู้สึกว่ามันน่าเป็นแบบอย่าง มันมีความหมายทางจิตใจอะไรกับเราสักอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่ามันจะไม่เกี่ยวกับว่ามันรบชนะเราได้อะไรแบบนี้”
“สหรัฐอเมริกาทำไมถึงมีซอฟต์พาวเวอร์อันดับ 1 ทุกคนดูหนังฮอลลีวู้ดถูกไหม ต่อให้คุณดู Netflix มันก็เป็น American Influence อยู่ดีนั่นก็คือซอฟต์พาวเวอร์ คุณจะส่งลูกไปเรียนถ้าคุณมีตังค์ คุณจะส่งลูกไปเรียนที่ไหน อเมริกาถูกไหม พอพูดว่าฝรั่งคุณนึกถึงฝรั่งชาติไหน ฝรั่งอเมริกัน ฝรั่งอังกฤษ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าซอฟต์พาวเวอร์มันเป็นอำนาจนำในทางวัฒนธรรมเวลาคุณคิดถึงประเทศเหล่านั้น ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 35 จริงๆ 35 ก็ไม่เลวจาก 120 ประเทศ เราก็ถือว่าอยู่กลางค่อนไปทางต้นๆ ตาราง แต่ทีนี้อันดับ 35 เพียงพอหรือเปล่า ที่จะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ เพียงพอไหมที่จะทำให้แฟชั่นไปอยู่ในแฟชั่นโลก มิลานแฟชั่นวีค ปารีสแฟชั่นวีค อย่างมีศักดิ์ศรี เพียงพอไหมที่จะทำให้อุตสาหกรรมซีรีส์วายสามารถไปบุกตลาดโลกได้เป็นประเทศที่ถูกจดจำ ถูกชื่นชมในระดับโลก ก็ต้องพูดว่า 35 ไม่เพียงพอ เพราะถ้า 35 เพียงพอเราไม่ต้องมีงานนี้นะคะ เพราะว่าอุตสาหกรรมซีรีส์วาย อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ต่างๆ ของไทยมันก็จะไประดับโลกเรียบร้อยแล้ว โดยที่เราไม่ต้องมาจัดงานส่งเสริมคือมันไปได้ด้วยตัวเอง ก็เป็นคำตอบในตัวว่า ณ วันนี้ยังไม่เพียงพอ แล้วทำอย่างไรให้อันดับซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยมันดีขึ้นและเพียงพอที่จะผลักดันผลประโยชน์ของไทยในเวทีโลก”
“Global Soft Power Index ดัชนีนี้มันมีการวัดค่าอะไรบ้างที่เขาจัดอันดับ มันไม่ใช่แค่เรื่องของมรดกทางวัฒนธรรม วัดวาอารามสวย ทอผ้าเก่ง ทำอาหารอร่อย มันจะมีการจัดลำดับ 6 เสา ยกตัวอย่างเช่น ประเทศคุณเป็นที่รู้จักหรือเปล่า พูดชื่อประเทศคนเขารู้ไหมประเทศคุณอยู่ตรงไหนของแผนที่โลก ใครเคยไปเจอเพื่อนฝรั่งแล้วแนะนำตัวว่าเป็นคนไทยแล้วเพื่อนบอกว่าอ๋อ From Taiwan หรอ เคยเจอไหม สมัยนี้อาจจะน้อยลงสมัยดิฉันเด็กๆ สาวๆ ไปแนะนำตัวกับเพื่อนฝรั่งพูดว่ามาจากไทยแลนด์คนฝรั่งเข้าใจว่าอ๋อประเทศไต้หวัน คือประเทศไทยมันไม่ได้เป็นที่รู้จักขนาดเท่าที่เรามั่นอกมั่นใจในตอนนั้น ณ ปัจจุบันนี้ดีขึ้นไหม ดีขึ้น มีอะไรที่มันชี้วัดซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย คุณภาพการศึกษา คุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ เศรษฐกิจการค้าการลงทุน คุณภาพของการศึกษานี่คือสิ่งที่สำคัญมากอย่างที่เราบอกประเทศที่มีซอฟต์พาวเวอร์คือประเทศที่คุณอยากส่งลูกคุณไปเรียน คุณอยากส่งลูกคุณไปเรียนประเทศไทยไหมสมมติคุณเป็นคนประเทศอื่น ฉันมีตังค์ฉันจะส่งลูกมาเรียนที่ประเทศไทย ไม่น่าจะมี เพราะฉะนั้นเวลาเราดูภาพรวมซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไม่ใช่แค่คุณมีต้นทุนทางวัฒนธรรมสูง แต่คุณต้องเป็นประเทศที่คนอื่นรู้สึกว่าเอาเป็นแบบอย่างได้ เป็นประเทศ role model เป็นประเทศที่มีความสมบูรณ์ถึงพร้อมในด้านต่างๆ วัฒนธรรม อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต การศึกษา เป็นที่จดจำในแง่ดีในประชาคมโลก”
ซีรีส์วายไม่ใช่แค่สินค้าและต้องเป็นยิ่งกว่าความบันเทิง
“กลับมาที่เรื่องซีรีส์วายของเรา ซีรีส์วายจะถูกผลักดันให้เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยได้ อันดับแรกรัฐบาลต้องรู้ก่อนว่าวิธีจะทำให้ซอฟต์พาวเวอร์ของเรามันขึ้นสู่อันดับโลกได้ต้องทำอย่างไร ไม่ใช่แค่เอาซีรีส์วายไปขายในต่างประเทศได้แล้วบอกว่าอันนี้คือซอฟต์พาวเวอร์แล้ว การจะทำให้ซีรีส์วายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยได้ทำอย่างไรลองดูเกาหลี ซีรีส์ของเกาหลีหรือว่า K-Pop เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลีได้ไม่ใช่แค่ว่ามันไปขายในต่างประเทศได้ อันนั้นคือจุดเริ่มต้น สุดท้ายแล้วมันทำให้เกิดอะไร คนอยากกินอาหารเกาหลี อยากกินไก่ทอดแบบนางเอก กินแล้วมันดูอร่อยมากเลย ชวนผู้ชายมากินรามยอนอะไรแบบนี้ หรือว่าอยากจะไปเที่ยวเกาะเจจูจังเลย ฉันอยากไปเที่ยวหมู่บ้านนี้จังเลยเพราะว่ามันอยู่ในซีรีส์ สิ่งนี้มันคือสิ่งที่ตามมาแล้วทำให้เกิดซอฟต์พาวเวอร์หรือแม้แต่คนเริ่มรู้สึกว่า อยากส่งลูกไปเรียนเกาหลี อยากเรียนภาษาเกาหลีเพราะรู้สึกว่ามันเป็นประเทศที่ดีอะ เรารู้สึกอยากเรียนรู้เขา นี่คือพลังของซอฟต์พาวเวอร์ที่แท้จริง”
“ซีรีส์วายจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของซอฟต์พาวเวอร์ของไทยได้อย่างไร แน่นอนถึงจะบอกว่ามันไม่ใช่แค่การขายแต่การขายคือจุดเริ่มต้น จะขายซีรีส์ให้ได้คุณเริ่มจากอะไร ทุกวันนี้ประเทศไทยกระทรวงพาณิชย์ภูมิใจที่จะบอกว่าฐานคนดูซีรีส์วายเพิ่มขึ้น 328% คนดูเยอะมาก สาววายต่อไปนี้มีหนุ่มวายเพิ่มขึ้นเยอะมาก แล้วยังไงต่อกับตัวเลขนี้ ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์จัดงาน matching เอาของไปขาย กสทช. กับกระทรวงวัฒนธรรม บอกให้ผู้กำกับซีรีส์วายต้องขึ้นเตือนข้างหน้านะว่า ‘เป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมห้ามลอกเลียนแบบ’ ซีรีส์วายต้องขึ้นป้ายบอกว่า ‘ไม่แนะนำให้เด็กและเยาวชนดู’ คือมันต้องมีการแปะป้ายเตือนถามว่า ประเทศไทยจะมีซีรีส์วายเป็นซอฟต์พาวเวอร์อันนี้คือนโยบายกระทรวงพาณิชย์กระทรวงเดียว ส่วนกระทรวงอื่นหรือหน่วยงานอื่นรู้สึกว่าอันนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีจริยธรรม อันนี้เป็นเรื่องที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประเทศไทย ถ้าเป็นแบบนี้ถามว่ามันจะไปกันรอดหรือไม่”
“นโยบายของรัฐบาลจึงไม่ใช่แค่การไปหาตลาด จึงไม่ใช่แค่การเอา business matching จับนักลงทุนต่างชาติมาดูซื้อขายซีรีส์วายกันได้กี่เรื่อง ได้ 300 – 400 ล้านดีใจจังเลย สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำเป็นอย่างแรกถ้าจะให้ซีรีส์วายถูกส่งเสริมได้จริงๆ รวมไปถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ด้วย ทำให้สิ่งนี้เป็นที่ยอมรับ เมื่อสักครู่คุณน้ำ (จิราพร สินธุไพร) ก็เพิ่งพูดถึงสมรสเท่าเทียมไป สมรสมเท่าเทียมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกฎหมายที่จะทำให้คุณรู้สึกว่า มันไม่ใช่แค่ซีรีส์วายเป็นสินค้านะแต่มันเป็นวัฒนธรรมแบบนี้ ความหลากหลายทางเพศแบบนี้ที่ได้รับการยอมรับจริงๆ สมรสเท่าเทียมต้องผ่าน คำนำหน้านามตอนนี้กำลังเป็นเทรนด์ที่ถกเถียงกันในสังคมอารยะของโลกเหมือนกันว่าจะต้องทำอย่างไร กฎหมายคำนำหน้านามต้องเปลี่ยนไหม ใช้โดยสมัครใจหรือเปล่า จะเป็นผู้หญิงทรานส์ จะเป็นผู้ชายทรานส์ จะเป็น non binary ความหลากหลายทางเพศต้องถูกคุ้มครองโดยกฎหมาย และไม่จำเป็นต้องมีใครที่ถูกบังคับให้มีคำนำหน้านามที่ตนเองไม่ต้องการ”
“สิ่งเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นเบื้องต้นของการสร้างระบบนิเวศที่ไม่ใช่ทำให้ซีรีส์วายเป็นแค่สินค้า แต่คือคุณค่าคือวัฒนธรรมที่สังคมไทยยอมรับและสามารถส่งไปขายอย่างภาคภูมิใจแล้วให้ประเทศอื่น look up too ให้ประเทศอื่นเขารู้สึกว่ากรุงเทพ ประเทศไทยมันไม่ได้ขายซีรีส์วายอย่างเดียวแต่มันเป็นสวรรค์ของคนหลากหลายทางเพศ เป็นที่ๆ น่าอยู่สำหรับคนหลากหลายทางเพศ เคารพในความหลากหลายทางเพศ นี่คือจุดเริ่มต้นของการที่จะทำให้ซีรีส์วายสามารถกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศได้จริงๆ ต่อไปเขาดูคนเกาหลี คนจีน ดูซีรีส์วายเสร็จเกิดแรงบันดาลใจมาเที่ยวประเทศไทย สรุปยังเหยียดกระเทยกันอยู่เลย มันจะใช่ไหม มันก็ต้องทำให้ทั้งระบบนิเวศมันสอดคล้องและมีคุณค่าไปในทางเดียวกัน”
คนหลังกล้อง แรงงานที่ไม่มีใครพูดถึง
อย่างที่สองอยากจะพูดถึงมากว่าส่งเสริมอุตสาหกรรมซีรีส์วายเราเห็นมิติของรัฐเวลาพูดถึงการส่งเสริม การส่งเสริมดารา นักร้อง นักแสดง พูดถึงการส่งเสริมผู้กำกับ ผู้จัดหน้าใหม่ๆ แต่สิ่งที่ไม่เคยถูกพูดถึงคือแรงงานในอุตสาหกรรมกองถ่าย ช่อเองไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิง แต่ว่าอยู่ในอุตสาหกรรมข่าวมาก่อนซึ่งถือว่าใกล้เคียงกันเราเข้าใจว่าชีวิตในกองถ่ายเป็นอย่างไร หลายท่านเวลาเราดูซีรีส์มันสนุก มันสวยงาม มันเศร้า มันโรแมนติก มันดูเป็นเรื่องที่เพลิดเพลินเจริญใจจังเลย แต่ว่าคนที่สร้างซีรีส์เหล่านี้มาให้คุณดู คือคุณเห็นแต่นักแสดงเพราะว่าเขาอยู่หน้ากล้องแต่ว่าหลังกล้องงานกองถ่ายคืองานที่โหดร้ายและขูดรีดที่สุดงานหนึ่ง อุตสาหกรรมซีรีส์วายจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่เชิดหน้าชูตาและเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างไร ถ้าคนทำงานกองถ่ายยังต้องทำงานติดต่อกัน 4 คิว 36 ชั่วโมง ไม่ได้ OT รายได้น้อย การทำสัญญาจ้างเป็นแบบ sub contact ของ sub contact sub กันห้าทอด เพราะว่าต้องการประหยัดงบประมาณประหยัดต้นทุนให้ได้มากที่สุด กดให้ต้นทุนการถ่ายทำมันถูกมากที่สุดเพื่อให้สามารถไปแข่งขันในอุตสาหกรรมได้”
“เราจะขายซีรีส์วายได้เงินเป็นหมื่นล้านเป็นหลายหมื่นล้านไปทำไมถ้าคนในอุตสาหกรรมซีรีส์วายที่รวยจะยังมีแค่นักแสดงจำนวนหยิบมือหนึ่ง แล้วก็ผู้จัดและผู้กำกับเพียงไม่กี่คน ถ้าเราอยากจะให้อุตสาหกรรมซีรีส์วายเป็นอุตสาหกรรมที่เชิดหน้าชูตาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยจริงๆ มันต้องเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างความงอกงามทางเศรษฐกิจที่ดอกผลของความงอกงามนั้นตกถึงมือคนทุกคนในวงการ ไม่ใช่เฉพาะดาราที่สามารถถีบตัวขวนขวายจนมีชื่อเสียงโด่งดังแค่ไม่กี่คน ไม่ใช่แค่ผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จเพียงไม่กี่คน แต่ยังรวมถึงคนจัดไฟ ช่างแต่งหน้า คนดูสวัสดิการกอง คนงานอื่นๆ อีกเป็นร้อยชีวิตที่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่อให้ได้ซีรีส์มาเป็นสิ่งบันเทิงใจในหน้าจอมือถือ หน้าจอคอมพิวเตอร์ของเรา 1 เรื่อง”
“สิ่งนี้ขาดไม่ได้เลยจำเป็นต้องมีการยกระดับสวัสดิการแรงงานของคนงานกองถ่าย ซึ่งนโยบายเหล่านี้แทบจะไม่เคยถูกพูดถึง ก้าวไกลมีนโยบายแต่แน่นอนเป็นฝ่ายค้านก็คงไม่สามารถทำได้ไม่ว่าจะเป็นการปรับสัญญาจ้างให้เป็นธรรม กำหนดมาตรฐานชั่วโมงแรงงานให้ไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน และต้องให้คนทำงานในกองถ่ายได้พักผ่อน เรื่องเหล่านี้ถ้าถูกละเลยไปต่อให้อุตสาหกรรมซีรีส์วาย อุตสาหกรรมบันเทิงเติบโตขึ้นแล้วกลายเป็นพลังหลักทางเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่ก็จะเป็นเพียงอีกหนึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สร้างความเหลื่อมล้ำคนที่รวยมีอยู่ไม่กี่คน คนที่ถูกกดขี่ขูดรีดได้ค่าแรงไม่เป็นธรรมก็กลายเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เราไม่คงต้องการให้เกิดอุตสาหกรรมผูกขาดที่เอารัดเอาเปรียบแรงงานขึ้นอีกอุตสาหกรรมในประเทศไทย ไหนๆ จะตั้งต้นอุตสาหกรรมซีรีส์ อุตสาหกรรมบันเทิงให้มันไประดับโลก ขอให้มันไประดับโลกที่ไม่ใช่แค่สร้างรายได้แต่เป็นระดับโลกที่ได้มาตรฐาน การให้เกียรติแรงงาน การทำให้รายได้เป็นธรรมอย่างแท้จริง”
ยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง
“เรื่องสุดท้ายในการที่จะดูว่าเราจะทำยังไงให้อุตสาหกรรมซีรีส์วายเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่แค่สร้างรายได้แต่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่บอกว่าประเทศฉันมีความเจริญก้าวหน้า มีความอารยะในแง่ของการรับความหลากหลายทางเพศได้จริง เราพูดถึงวายแล้วก็ในงานนี้มีตัว Y เต็มไปหมดเลย หลายคนบอกว่าเป็นเพราะว่าสังคมเราเนี่ยเปิดกว้างความหลากหลายทางเพศยิ่งซีรีส์วายมีคนดูเยอะยิ่งหมายความว่าประเทศเราให้เกียรติและยอมรับความหลากหลายทางเพศ จะชวนคิดนิดเดียวหลายคนฝากมาบอกว่าอยากให้พูดถึง Y ที่มีมากกว่า Yaoi เมื่อกี้เราพูดถึงสาววาย เวลาเราพูดว่าสาววาย 80-90% คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าต้องเป็นวาย Boy Love มีใครในที่นี้เป็นวายแบบ Girl Love ไหม Y Yuri”
“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าคิด เป็นเรื่องที่สะท้อนว่าตกลงสังคมไทยมีความเท่าเทียมและยอมรับความหลากหลายทางเพศจริงหรือไม่ หลายคนพูดกันถึงตัวเลขที่ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะหลังโควิด-19 ที่คนหันมาดูซีรีส์กันเยอะมากเพราะอยู่บ้านไม่มีอะไรทำ อุตสาหกรรมซีรีส์มันเติบโตมาก อุตสาหกรรมซีรีส์วาย Boy Love ก็เติบโตมากเช่นเดียวกัน ปีๆ หนึ่งมี 80-90 เรื่อง แล้วทุกท่านลองนึกกลับไปว่า วาย Yuri มีสักกี่เรื่อง ที่เป็น Girl Love มีกี่เรื่อง น้อยมากนะน้อยกว่า Boy Love ประมาณ 4-5 เท่า ถ้าปีนึงมี Boy Love 90 เรื่อง เป็น Girl Love แค่ประมาณ 20 เรื่องเผลอๆ ไม่ถึงด้วย ทำไมถึงเป็นแบบนั้น มีคนให้ข้อแก้ตัวว่า Girl Love มันขายไม่ได้เพราะว่าใครจะดู Boy Love ก็คือขายได้ทั้งผู้หญิงเพราะว่าผู้หญิงกรี๊ดคู่จิ้นชาย-ชาย ขายได้ทั้งพี่กระเทย LGBT ใดๆ ทุกคนรู้สึกว่าดู Boy Love ที่เป็นผู้ชายหล่อสองคนดูได้ แต่พอเป็น Girl Love ผู้หญิงสองคน ผู้ชายดูไหมอันนี้ไม่รู้นะผู้ชายดูเปล่า มีคนบอกว่าผู้ชายไม่ดูหรอก Girl Love ถ้าไม่ใช่เป็นหนังโป๊ ผู้ชายจะดูแบบเฉพาะผู้หญิง-ผู้หญิงที่มันเป็นหนังโป๊”
“ข้อเท็จจริงก็คือคุณจะสรุปได้อย่างไรว่า Boy Love ขายได้มากกว่า Girl Love ในเมื่อคุณยังไม่ได้ทดลองทำ Girl Love ในระดับที่ใกล้เคียงกับ Boy Love ที่ออกสู่ท้องตลาดเลย ในแง่หนึ่งสะท้อนว่าสังคม LGBTIQ คนที่เขาบอกว่าเขาเป็นตัวแรก L คือ Lesbian กลายเป็นคนกลุ่มน้อย พอพูดถึง LGBTIQ คนไทยจะนึกถึงกระเทย ทรานส์ เกย์ ซึ่งเลสเบี้ยนกลายเป็นถูกหลบที่อีกมุมหนึ่ง อุตสาหกรรมซีรีส์วายก็คล้ายกัน วายที่เป็น Girl Love ก็ถูกผลักไปอีกมุมหนึ่ง แล้วมีบางทีก็ยังวนเวียนอยู่ใน stereotype ทอมดี้ ซึ่งจริงๆ ความสัมพันธ์แบบเลสเบี้ยนมันไม่ได้มีแค่ทอมดี้ เรื่องนี้สะท้อนว่าถ้าจะทำให้อุตสาหกรรมซีรีส์วายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่เติบโตเข้มแข็งและไปทันกับกระแสโลกจริงๆ อย่าทำให้มันเป็นแค่สินค้าเอาไปขาย แต่ทำให้มันเป็นคุณค่าของสังคมที่ทำให้ประเทศอื่นเขารู้สึกว่าประเทศไทยมันดีจังเลย มันเปิดกว้าง มันมีความเท่าเทียม ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านซีรีส์ ตราบใดที่ซีรีส์วายหรือการให้คุณค่ากับวัฒนธรรมวายหรือความหลากหลายทางเพศยังคงโฟกัสไม่ครบ LGBTIQ แต่ว่าโฟกัสอยู่กับฝั่งเกย์ ทรานส์ ฝั่งกระเทยเป็นหลัก มันก็ยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเราเปิดกว้างรับความหลากหลายอย่างแท้จริง”
“สุดท้ายแล้วคนที่มีเพศสภาพที่ออกมาในแนวทางผู้หญิงก็ยังคงเป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกคาดหวังในมุมมอง conservative (อนุรักษนิยม) กว่า หรือถูกคาดหวังในมุมมองที่ยังคงเป็นกระแสหลักของสังคมมากกว่า ในขณะที่สังคมไทยเปิดกว้างและยอมรับกระเทยหรือว่าเกย์ซึ่งมาจากฝั่งผู้ชายมากกว่า อันนี้ฝากไว้เป็นแง่คิด”
“สุดท้ายของท้ายสุดสำหรับช่อจะทำให้อุตสาหกรรม ไม่อยากจะพูดแค่ว่าซีรีส์วาย อุตสาหกรรมที่เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในสายบันเทิงทั้งหมด หนัง ซีรีส์ ให้มันเจริญก้าวหน้าไปกว่านี้สิ่งแรกที่ต้องทำสำหรับรัฐบาล หยุดปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของผู้คน เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความคิดสร้างสรรค์ เสรีภาพในการที่จะมีรสนิยมทางศิลปะที่หลากหลายและดัดแปลงศิลปะวัฒนธรรมไทยให้มันไปในตามจินตนาการของเขามันต้องได้รับการยอมรับและส่งเสริมไม่ใช่ถูกแบนหรือถูกปิดกั้น เราไม่ได้พูดถึงแค่ภาพใหญ่ๆ ทางการเมืองเรื่องเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันต่างๆ อย่างเดียว เราพูดถึงเสรีภาพในการปรับปรุงศิลปะวัฒนธรรมไทย ชฎาถูกเอามาทำงานศิลปะปรับแต่งนู่นนี่บอกไม่ได้ ละเมิดนาฏศิลป์ไทย ทศกัณฑ์ รำไทย ถูกเอามาใส่ในเกมบอกไม่ได้เป็นการลดทอนคุณค่าของศิลปะวัฒนธรรมไทย ตราบใดที่ยังมีวัฒนธรรมการเซ็นเซอร์และการริดรอนสิทธิเสรีภาพในการที่จะคิดสร้างสรรค์ศิลปะวัฒนธรรมใหม่ๆ ไม่มีวันที่อุตสาหกรรมบันเทิง อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยจะไปไกลแข่งขันในเวทีโลกได้”
“ประเทศที่แข่งขันในเวทีโลกได้อย่างญี่ปุ่น เกาหลี เป็นเพราะว่าเขาปล่อยให้ศิลปิน ปล่อยให้คนทำงานมีความคิดสร้างสรรค์ที่แทบจะไร้ขีดจำกัด เมื่อคุณปล่อยให้คน explore ทดลอง ปรับเปลี่ยน ปรุงแต่งศิลปะ นั่นคือที่มาของความเจริญงอกงามของวัฒนธรรมของศิลปะ และสุดท้ายมันจะไม่ได้เป็นแค่การเติบโตของเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่การเติบโตของการจ้างงาน แต่สุดท้ายคือการเติบโตของวงการศิลปะวัฒนธรรมและยกระดับความมีอารยะและวัฒนธรรมไทยที่มันวิวัฒน์ไปคู่กับความเจริญของ Globalization คู่กับคุณค่ามาตรฐานสากลของโลกนั่นก็คือสิ่งที่ช่ออยากเห็นในวงการอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมซีรีส์ หนัง ศิลปะ และวงการบันเทิงทุกชนิดของประเทศไทย”
“คาดหวังกับคณะกรรมการของรัฐบาลปัจจุบันที่ดูให้ความสำคัญกับซอฟต์พาวเวอร์ ตั้งบอร์ดซอฟต์พาวเวอร์และมีนโยบายต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากมาย อีกไม่นานจะมีการเสนองบประมาณเข้าสภา งบประมาณจากสมัยลุงตู่ที่ให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์แค่ปีละ 500 ล้านบาท ในรัฐบาลนี้เราก็มีความหวังอย่างมากว่าจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐเพิ่มมากขึ้น จะได้เห็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลมากขึ้น ทันโลกมากขึ้น และให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางศิลปะมากขึ้นจากรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ฝากเอาไว้ตรงนี้และคาดหวังว่าใน 4 ปีจากนี้เราจะได้เห็นซอฟต์พาวเวอร์ เราจะได้เห็นพลังอ่อนของประเทศไทยในการเพิ่มศักยภาพการต่อรองของไทยในเวทีโลก ขอบคุณค่ะ”