รักแห่งสยาม (ฉายครั้งแรก พ.ศ.2550) ภาพยนตร์ที่หลายคนมองว่าคือ “หนังเปิดศักราช” ของการให้พื้นที่ “ชาย-ชาย” กลายมาเป็นตัวนำทางความรัก ประกอบกับบทเพลงประกอบ “กันและกัน” อันไพเราะและความหมายดี ที่กลายเป็นเหมือน “ตัวแทน” ของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีความรักตามเพศสภาพที่สังคมยอมรับในวงกว้างในช่วงนั้นเท่านั้น หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ นานวันเข้าได้เข้า-ขยับพื้นที่ไปอยู่ในใจใครหลายๆ คน เรื่อยมาจนเวลา ผ่านมา 15 ปี จน ณ วันนี้พื้นที่ทางกายภาพของ “สยาม” เปลี่ยนไปมากแล้ว สังคมไทยก็เปลี่ยนไปแบบไม่มีวันหวนกลับเช่นกัน
หนังที่มีฉากเด็กผู้ชายจูบกันใน พ.ศ.นี้ กับ เมื่อ 15 ปีที่แล้วมีผลต่างกันชัดเจนในสังคมไทย อย่างน้อยๆ ก็คือ “สายตา” ของ “สังคม” ที่ปัจจุบันมองเห็นด้วยความเข้าใจ ยอมรับในความรัก ที่แตกต่างหลากหลาย และไม่จำเป็นต้องนิยามความหมายใดๆ ให้กับอัตลักษณ์ของมนุษย์ 2 คนที่มีความรักให้แก่กัน
ลองนึกย้อนกลับไปถ้าเป็นสังคมไทยในอดีต คนในสังคมส่วนหนึ่งจะรีบ “ตัดสิน” และสรุปความทันที พร้อมตีตราว่าความรักและการกระทำของคู่รักคู่นั้นคู่นี้เป็นสิ่งที่ผิด เป็น “เรื่องต้องห้าม” เป็น “ตัวอย่างที่ไม่ดี” หนักที่สุดคือพยายามมอง หรือบัญญัติว่าสิ่งเหล่านี้คือ “ความวิปริต” ผิดผี ผิดเพศ ผิดแผกไปจากสังคม เบี่ยงเบนไปจาก “ความปกติ” ของคนที่ถูกปลูกฝังว่าชายต้องคู่กับหญิง ที่ต้องมีลูก เพื่อสืบสกุล ลูกผู้ชายคู่ควรกับผู้หญิงที่ดีสักคนหนึ่ง นี่คงเป็นทัศนะของ “แม่” ในโลกสมัยเก่า ทำให้หลายครอบครัว หลายคนรู้สึกอาย ไม่ภูมิใจและไม่กล้ายอมรับความจริงว่าทายาทหรือคนในครอบครัวของตัวเองไม่ได้มีความรักในแบบฉบับที่ตัวเองคาดหวัง หรือตามที่คนในสังคมส่วนใหญ่เป็น
ความคิดเช่นนี้สะท้อนผ่านตัวละครหลักในภาพยนตร์รักแห่งสยาม ที่สำคัญมากอย่าง “สุนีย์” (แสดงโดยสินจัย เปล่งพานิช) ที่จะว่าไปแล้วเธอคือ 1 ใน คือภาพสะท้อนหรือของกรอบความคิดแบบนี้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ด้วยสถานการณ์ในเรื่องที่ผู้หญิงผู้เป็นแม่ในครอบครัวหนึ่ง ผจญกับปัญหาภายในครอบครัวที่รุมเร้า รอบด้าน สามีไม่เอาไหน ติดสุราเรื้อรัง ลูกสาวคนโตหายตัวไปไม่มีวันกลับ ครอบครัวที่เคร่งครัด แม่เจ้าระเบียบ ลูกชายคนเล็กก็ดันมีความรู้สึกที่ดีกับเด็กที่เคยอาศัยอยู่บ้านใกล้เรือนเคียง
ทำให้ความสัมพันธ์ของลูก (โต้ง) และมิว คือ เด็กผู้ชาย 2 คนที่มีความรู้สึกดีต่อกัน หลังจากต้องจากกันในวัยเยาว์ และวันหนึ่งบังเอิญได้พบกันที่สยาม จากจุดเริ่มต้นในวัยมัธยมปลาย ได้นำพามาซึ่งความรัก ความห่วงใย ความผูกพันก่อตัวขึ้น ความเหงา ความอ่อนแอ และสถานการณ์ได้เชื่อมประสานคน 2 คนให้บรรจบกัน รู้สึกดีต่อกันเรื่อยๆ จนนำพาสิ่งต่างๆมาสู่ครอบครัวของโต้ง เหมือนอะไรๆ ก็ดีขึ้นเมื่อเด็กมัธยมชายสองคนที่มีรักให้แก่กันนำมาสู่บทเพลงที่มิวแต่ง ครอบครัวที่อบอุ่นของโต้งคืนกลับมา และอีกสารพัดสิ่ง ความสุข และความรู้สึกดีที่ก่อตัวเกิดขึ้นไม่ทันไร ก่อนที่ “การจูบกัน” ของเด็กผู้ชายสองคน เมื่อ 15 ปีที่แล้วเป็นเรื่องที่ “ช็อกหัวอกแม่” จนนำพามาสู่อีกสถานการณ์ด้านกลับเรื่องราวสารพัดก่อกำเนิดจนทำให้กลายเป็นความเหินห่างและทุกอย่างก็เริ่มพังลง ซึ่งรวมไปถึง “ครอบครัว”
นอกจากความรักแล้ว ความเป็น “ชาวคริสต์” และเทศกาลคริสมาสต์ คือช่วงเวลาอบอุ่นและน่าจดจำในหนังเรื่องนี้ มีเส้นเรื่องที่ดำเนินในเทศกาลแห่งความสุข ที่ความทุกข์ของตัวละครกลับส่งผลเป็นโดมิโน่ สุนีย์ ที่พยายามกีดกัน กำหนด และเจ้าระเบียบทุกอย่างในชีวิตลูกชาย
ฉากที่สำคัญฉากหนึ่งในนั้นคือการประดับของขวัญแต่งต้นคริสมาสต์ระหว่าง สุนีย์ กับ โต้ง การบีบบังคับในชีวิตลูกชายมากไป จนทำให้ลูกชายไม่กล้าที่จะ “เลือก” ตุ๊กตา ระหว่างตัวผู้หญิง ผู้ชาย ว่าลูกจะหยิบอันไหนไปประดับ ด้วยบทบาทแม่ที่กำกับและจำกัดความรักของลูก
และอีกหนึ่งประโยคทองของหนังที่โต้งพูดกับมิวกลางสยามว่า “เราเป็นแฟนกับมิวไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้รักมิวนะ”
ประโยคท้ายกลายเป็นประโยคทองของหนัง ยิ่งสะท้อนว่าความรักนี้เกิดขึ้นแล้ว มีจริง แต่ไม่สามารถเป็นสิ่งที่จะสะท้อนสถานะเปิดเผยในฐานะแฟนในสังคมได้
รักแห่งสยาม ยังมีอะไรให้พูดถึงได้อีกเยอะมาก เมื่อมองย้อนไปว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นในยุคที่สังคมไทยยังมี Mindset ไม่ก้าวหน้า เท่าวันนี้
หลายโรงหนังมักนำภาพยนตร์เรื่องนี้ไปฉายตอกย้ำความประทับใจในความทรงจำ แม้ว่าวันนี้จะหาชมได้ในระบบสตรีมมิ่ง แต่ 15 ปี กับบทที่ละเมียด ละเอียด และกล้านำเสนอประเด็นที่ไม่ได้ขายได้แบบหนังสำเร็จรูป คงสถานะอมตะ และอยู่ในลิสต์รวมถึงลิ้นชักแห่งความทรงจำของทุกคน กาลเวลาผ่านมา 15 ปี มาถึงในยุคโซเชียล เราจึงยิ่งได้รับรู้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ครองใจคนจำนวนมหาศาล
ในมุมส่วนตัวมองว่านี่คือ “หนังครอบครัว” บางคนมองว่าคือ “หนังรัก” บางคนนิยามว่าเป็น coming of age รสชาติที่แตกต่างหลากหลาย กลายเป็นจุดตั้งต้นให้ภาพยนตร์รวมถึงซีรีส์อีกหลายเรื่อง “กล้า” นำเสนอรสชาติใหม่ๆ ที่ท้าทาย หลากหลาย หลังจากที่ รักแห่งสยาม กรุยทางนำทางเอาไว้ และมาก่อนใคร
นี่ยังไม่นับถึงรื่องของอาม่า มุมมองของหญิง กลุ่มเพื่อน การทำวงดนตรี หรือโมเมนต์ การให้ของขวัญกันในครอบครัวที่ล้วนมีอะไรซ่อนอยู่ในทุกซีน จนทำให้ผู้เขียนนึกไม่ออกว่าจะหาหนังไทยในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา ที่เราอยากวางไว้บนหิ้งแบบนี้อีก
15 ปีที่ผ่านมาจึงพิสูจน์ว่า ในสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้นทำให้เห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไปอยู่ในใจคน แม้ว่าเขาจะไม่ได้มีความรักแบบในเรื่อง แต่มองว่าความรักเป็นสิ่งที่สวยงาม และสมดังในเพลงที่ว่า “ตราบใดมีรักย่อมมีหวัง” และหวังว่าหนัง/ซีรีส์ไทยจะเปิดเพดานที่กว้างและไกล และเตรียมไปอยู่ในใจคนได้อีกในวันข้างหน้า