ชื่อ “มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” กลับมาเยี่ยม สยามสแควร์ อีกครั้งในปลายเดือนกรกฎาคม 2022
แต่คราวนี้ไม่ใช่จากตัวละครที่มีสยามเป็นพื้นที่ชีวิตสำคัญใน “รักแห่งสยาม” เมื่อเริ่มฉายครั้งแรกปี 2550 แต่เป็นจอขึงราวกลางแจ้งของเทศกาล “กรุงเทพกลางแปลง”
นับตัวเลขกลมๆ ได้ 15 ปีพอดี จากจุดเริ่มต้นโปรโมทภาพยนตร์ที่เรียกได้ว่าต้อง ‘หลบซ่อน’ แกนหลักของเรื่องไว้ด้วยความสัมพันธ์คู่รักเพศกำเนิดชาย-หญิง
ถึงวันนี้ สังคมไทยสะบัดธงสีรุ้ง เดินขบวนในไพร์ดพาเรด หรือผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสภาในวาระแรก (แม้อนาคตจะริบหรี่ก็ตาม) คงพูดได้ว่าในระดับนึง สังคมเปิดกว้างและยอมรับกับความหลากหลาย-ไหลลื่นของเพศวิถีมากขึ้น
และช่วงหลายปีมานี้ความนิยมของ “ซีรีส์ชายรักชาย (Boys Love)” หรือ “วาย-Y” พุ่งดังเป็นพลุแตก มูลค่าในแต่ละปีไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านบาท ผลักให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ส่งออกอุตสาหกรรม Y นี้สู่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคไปจนถึงฝั่งละตินอเมริกา
จนคำใหญ่อย่าง “Soft Power” ถูกยกขึ้นมาพูดถึง
มองย้อนกลับไป สื่อสารมวลชนและงานวิจัยทางสังคมต่างชี้ให้ “รักแห่งสยาม” เป็นกระแสร่วมสมัยแรกๆ ที่เขย่าวัฒนธรรมสังคมในประเด็นเพศสภาพ-เพศวิถี จนเรียกว่าอาจเป็นหนึ่งในใบเบิกทางของสังคมที่ทำให้วัฒนธรรม Y และ LGBTQ เดินมาถึงจุดนี้
จึงเป็นโอกาสดีที่ FEED กลับมานั่งสนทนากับ “มะเดี่ยว” อีกครั้ง ชวนกลับมามองผลงานของเขาในบริบทแวดล้อมสังคมที่ผันเปลี่ยน และในวันที่ซีรีส์-อุตสาหกรรม Y กลายเป็นกุญแจสำคัญของเศรษฐกิจ-วัฒนธรรมของประเทศ
จากรักแห่งสยามในจอภาพยนตร์ ถึง จอหนังกลางแปลง เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างไร
มะเดี่ยว : ตัวหนังไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรอก แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือกลุ่มคนดู ช่วงแรกที่หนังฉายเราจำหน้าจำตากันได้ เพราะไหนก็จะมีคนติดตามเสมอ จนถึงปีนี้กลุ่มคนดูส่วนใหญ่เป็นเด็ก-เยาวชน เขาอาจจะทันดูหนังเราในเน็ตฟลิกซ์ จากกระแสโซเชียล สายบันเทิง หรือการเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBTQ
สังคมเปลี่ยนแปลงเยอะมากทีเดียว ในช่วงปี 2550 ยังไม่ได้ยอมรับขนาดนี้ และหนังเรื่องนี้ใช้เวลานานมากกว่าจะฟันฝ่าไปฉายในโรง เราก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ตอนโปรโมทหนังเลยต้องเอาให้ปลอดภัย (play safe) ไว้ก่อน
คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น
มะเดี่ยว : คนอาจจะด่าว่าไอ้นี่หนังกะเทยนี่หว่า (หัวเราะ) แต่คิดว่า “รักแห่งสยาม” มาในเวลาเหมาะสม แม้จะมีคนเห็นบอกว่าหนังอาจจะไม่ค่อยตรงไปตรงมากับการโปรโมท แต่เนื้อในโอเค คนก็เลยชวนกันดูเยอะขึ้น จนวันนี้ LGBTQ กลายเป็นส่วนหนึ่งของตลาดที่ขายงานได้ทั่วโลก
เราตั้งใจทำหนังที่พูดถึง LGBTQ ในฐานะที่เป็นลูก เป็นเพื่อน หรือใครสักคนที่เรารู้จัก และคนแบบนี้ก็ไม่ได้มีความผิดแปลกจากมนุษย์คนอื่นที่ต้องการความรัก สายสัมพันธ์ และความเข้าใจ ปัญหาชีวิตของเขาคือปัญหาอย่างเดียวกับเรา เผลอๆ ปัญหาของคนชายจริงหญิงแท้อาจจะหนักหนากว่าคนเป็น LGBTQ ด้วยซ้ำ ที่เรานำเข้ามาใส่และเปิดให้เห็นว่ามันคือก้าวแรกของการประกาศตัวว่า “ฉันคือมนุษย์เหมือนกับคนอื่น”
ก่อนหน้านี้ตัวละคร LGBTQ ถูกนำเสนออย่างไรในอุตสาหกรรมบันเทิง
มะเดี่ยว : ตลก คนชายขอบ ตัวร้าย โรคจิต เป็นมนุษย์ที่ไม่ได้อยู่ on stage เท่าเทียมกับคนอื่น ถูกทำเหมือนเป็นตัวประหลาด ถามว่าตอนนี้ยังมีแบบนั้นไหม ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่ธรรมชาติของ LGBTQ เป็นคนสนุก สร้างความสนุกสนานให้กับคนอื่น
หลังจากรักแห่งสยามฉาย จากที่น้องๆ มาเล่าให้ฟัง มันส่งผลกระทบออกมานอกจอ นอกวงการบันเทิง ลูกกล้าเปิดใจกับพ่อแม่ หรือพ่อแม่ที่ได้ดูหนังเขาก็เปิดกว้างยอมรับความแตกต่างของลูกเยอะขึ้น
ในมุมของทั้งคนทำหนังและผู้บริหาร มองกระแสความนิยมซีรีส์ Y ของไทยตอนนี้อย่างไร
มะเดี่ยว : วัฒนธรรม Y มีมาตั้งแต่ยุค ค.ศ. 1990 ปลายๆ มีการ์ตูนญี่ปุ่นชายรักชาย (Boys Love – BL) ออกมา เห็นภาพคู่ผู้ชายเลยนะ แต่เป็นการ์ตูนมังงะแบบผู้หญิง และมีหลายรูปแบบมากๆ
เอาจริงๆ รักแห่งสยามเนี่ย แรงบันดาลใจที่คิดว่าน่าจะทำได้คือ ที่บ้านเพื่อน เห็นน้องสาวเพื่อนนั่งอ่านการ์ตูน สมัยก่อนเรียกการ์ตูนเกย์ เราก็ เฮ้ย มีคนที่ยอมรับเนื้อเรื่องแบบนี้อยู่นะ รูปธรรมเป็นภาพเด็กหนุ่มหน้าตาดีสองคนคู่กัน ถูกผลิตซ้ำเป็นซีรีส์บ้าง หรือยุคแรกอย่างซีรีส์ Love Sick ก็เริ่มจากเอานิยายมาทำเป็นซีรีส์
ซีรีส์ Y ขายภาพอุดมคติของวัยรุ่นชายรักชายไทย เป็นภาพสะท้อนออกมาจากการ์ตูนอีกทีหนึ่ง หลายคนถามว่าทำไม “Y” ไม่สะท้อนความจริงของสังคม เก้งกวางบางทีก็ไม่ได้หน้าตาดีนะ
คอนเทนต์ Y ต่างจาก LGBTQ ตรงที่ Y คือการซัพพอร์ตความโรแมนซ์ของความสัมพันธ์ คุณไม่ต้องนึกถึงอะไรเลยก็ได้ ขายความแฟนตาซี ความเพ้อฝัน อุดมคติของคู่รักชาย ส่วน LGBTQ คือเรื่องราวที่ตัวละครมีปมกับเพศสภาพทั้งต่อตัวคนอื่น ตัวเอง หรือสังคม
ซีรีส์ในเน็ตฟลิกซ์อย่าง Pose (วาดท่าท้าฝัน, 2018) หรือเรื่อง Uncoupled (2022) หรือซีรีส์ไทยอย่าง “เกย์ โอเคแบงค็อก” (2016) คือซีรีส์ LGBTQ ไม่ใช่ Y นี่ต้องแยกให้ออก จะได้เอาแว่นตา ฟิลเตอร์ของเราไปจับได้
หมายความว่าถ้าคุณมอง Y แล้วบอกว่าทำไมผลิตซ้ำบิวตี้ พริวิเลจ (beauty privilege) มันไม่ใช่แล้ว คุยกันคนละเรื่อง ลูกค้าคนละกลุ่ม
คุณนิยามผลงานตัวเองว่าเป็นกลุ่มไหน
มะเดี่ยว : มันกึ่งๆ เราใช้ตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่างเรื่อง “ทริอาช” (Triage, 2022) ก็เป็นหมอ เผอิญว่าเขามีแฟนเป็นผู้ชายเท่านั้นเอง ไม่ได้พูดว่าเป็นอุปสรรคหรืออะไร คนในโลกนั้นทุกคนยอมรับ และอาจจะมีความเพ้อฝันแบบซีรีส์ Y แต่ก็พูดถึงชีวิตของคนที่เป็น LGBTQ ในที่ทำงาน อุปสรรคในหน้าที่การงาน เขาก็มีจุดหมายชีวิตเหมือนคนทั่วไป
เรามักจะมองเปรียบเทียบอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมกับเกาหลี-ญี่ปุ่น หรือที่ใช้คำอย่าง “Soft Power” สำหรับคุณ ประเทศไทยไปถึงขั้นนั้นหรือยัง
คำว่า “Power” หมายถึงต้องนำไปสู่การที่ทำให้เกิดการกระทำ (action) อะไรบางอย่างหลังจากนั้น เช่น อาหารเกาหลี ตอนนี้เรามีอาหารเกาหลีทุกหัวมุมเมือง หรือฮอลลีวูด (Hollywood) พูดถึงเรื่องสิทธิ-เสรีภาพ เสนอแนวคิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย เช่นกันในฝั่งจีน เขาผลิต Tik-Tok ซึ่งก็มีข้อบังคับของคอนเทนต์อยู่ เช่น ไม่เหยียดหยาม ไม่รุนแรง ตราบใดที่คุณไม่ละเมิดสิ่งนี้ คุณก็ร่ำรวยหรือเติบโตได้
เหล่านี้คือ Soft Power แบบไม่รู้ตัว คือข้อห้ามไม่ให้ทำ แล้วคุณก็ทำตาม ดังนั้น ถามว่าซีรีส์ทำให้เกิด Power อย่างไรขึ้นมาในประชาคมโลก โลกอาจจะยอมรับว่าเราผลิตคอนเทนต์ที่มีความแปลกใหม่และหลากหลายขึ้นมา เกิดการซื้อ อำนาจทางเศรษฐกิจที่เราจัดจำหน่ายได้
แต่วงการบันเทิงคือวงการบันเทิง สุดท้ายคุณต้องทำตามออร์เดอร์จากต่างชาติมา ญี่ปุ่นบอกว่าอยากได้แบบนี้ ต้องมีนักแสดงคนนี้มาเล่น แต่ไทยยังไม่ได้ไปถึงจุดนั้น
ยังขาดอะไร
มะเดี่ยว : “อำนาจต่อรอง” หมายถึง อำนาจที่เรามีคอนเทนต์ในมือ แล้วทุกคนวิ่งมาหา ซื้อทุกอย่างที่เราทำ ในแบบที่เราอยากจะให้ทำ ทุกวันนี้แพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็นเน็ตฟลิกซ์ หรือสตรีมมิงเจ้าอื่น เข้ามา IP (Intellectual Property – ทรัพย์สินทางปัญญา) เป็นของเขานะ ไม่ใช่ของคนไทย แล้วมันจะเป็น Soft Power ตรงไหน
โอเคว่าเราทำแล้วได้เข้าไปฉายในพื้นที่ที่คนดูเยอะที่สุดในโลก แต่ลิขสิทธิ์ของตัวงานไม่ใช่ของเรา และลิขสิทธิ์ตัวงานนี่แหละคือ Soft Power สมมติเราเป็นเจ้าของตัวละคร Spider-man จะทำอะไรกับแครักเตอร์นี้ก็ได้ สมมติเราเป็นเจ้าของพระอภัยมณี (หัวเราะ) ในกรณีที่คนทั้งโลกดูพระอภัยมณี ผีเสื้อสมุทร Hollywood ก็อยากซื้อไปทำ จะต่อรองเอาราคาเท่าไร เราจะเอาอะไรเขาก็ยอมจ่าย
อีกอย่างคือ การทำหนังเมืองนอกก็ไม่ใช่ Soft Power มันคือการรับจ้างผลิต ต้องมองตรงนี้ให้ออกนะ ไม่มีสินทรัพย์อะไรเป็นของเราเลยนะคุณ
หมายความว่า อีกมุมหนึ่งใครให้ทุนผลิตก็เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
มะเดี่ยว : ใช่ เช่น คนไทยให้ทุน ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของคนไทย แต่อะไรก็ตามที่ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของต่างชาติ เราจะเกิดอำนาจต่อรองอะไรนอกจากเงินที่เราได้รับจากการรับจ้างผลิต
เราอย่าไปมองผิดด้าน การผลิตหนังนอกคือการรับจ้างทำ เหมือนเรามีโรงงานผลิตรถยนต์ แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีการผลิต เช่นเดียวกัน เราไม่ได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่ทำการผลิต โอเค เราได้เงิน แต่นั่นควรจะอยู่ในหมวดการส่งเสริมอุตสาหกรรม หรืออะไรก็ว่ากันไป ซึ่งจริงๆ เราก็ส่งเสริมกันอยู่แล้ว เช่น การลดหย่อนภาษี การคืนเงินที่ใช้จ่าย (cash rebate) ฯลฯ เข้าใจว่าอยากให้ต่างประเทศเข้ามาถ่ายหนังบ้านเรา แล้วคนทำหนังไทย ซีรีส์ไทยได้อะไร
ทั้งวงการอุตสาหกรรม Y และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เราเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทางปัญญามากขนาดไหน
มะเดี่ยว : สำหรับซีรีส์ Y ส่วนใหญ่เราเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาเองนี่แหละ มันใกล้เคียงกับ Soft Power แต่ยังไม่ขนาดนั้น
Y ก็เป็นส่วนย่อย (subset) ของวงการภาพยนตร์นะ อยู่ในกล่องเดียวกัน ถ้า Soft Power ก็ต้องส่งเสริมทั้งหมด ไม่ใช่แค่ Y หรืออะไร ก็ต้องส่งเสริมบู๊ แอ็กชัน แต่ก่อน “จา พนม” เล่นอะไร คนก็ซื้อดู ตอนนี้เขาไปเล่นหนังนอกแล้ว (หัวเราะ)
มองเปรียบเทียบกันทั้งสองช่วงตั้งแต่หนังบู๊ที่จา พนมเล่น ถึง ซีรีส์ Y อะไรทำให้กระแสบูมขึ้นมา
มะเดี่ยว : เราเสิร์ฟในสิ่งที่ต่างชาติไม่มี หนังบู๊ ลีลาการต่อสู้ Y ก็เหมือนกัน ประเทศรอบข้างเป็นอนุรักษ์นิยมกันหมด มีน้อยประเทศที่ให้เสรีต่อ LGBTQ ขนาดนี้
เราผลิตเรื่องนี้โดยไม่มีใครตะขิดตะขวงใจ แต่สิ่งที่ควรตระหนักเช่นกันคือ ยุคหนึ่งที่หนังแอ็กชันดัง อินโดนีเซียก็ผลิตแอ็กชันของเขาขึ้นมา คุณอย่าลืมว่าทุกคนบนโลกแข่งขันกันตลอดเวลา ปัญหาคือคุณพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ดีขึ้น เก่งขึ้น และเสิร์ฟสิ่งที่ต่างชาติต้องการเห็นอะไรใหม่ๆ จากเราหรือเปล่า
ความท้าทายของการพัฒนาซีรีส์ Y ไทยตอนนี้อยู่ตรงไหน
มะเดี่ยว : คุณภาพของงานผลิตและเนื้อหา สองด้านนี้ควรจะไปด้วยกัน บางทีโปรดักชันดี แต่เนื้อหาแย่มาก บางทีเนื้อหาดี แต่โปรดักชันแย่ ดารานักแสดงก็มีส่วน ทั้งหมดนี้ควรจะถูกแพ็กและคิดในรูปแบบการทำหนัง
ถามว่าทุกวันนี้คุณภาพเราไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์เหรอ มันก็ถูกผลิตจากนิยาย หรือถ้าผลิตจากมุมของคนที่จะเซอร์วิสแฟนคลับ จะทำให้อยู่ในตลาดที่กลุ่มคนอื่นดูแล้วตะขิดตะขวงใจ หรือคิดว่าอาจจะไม่ได้ผลิตสำหรับเรา
โจทย์คือจะทำยังไงให้ Y เข้าไปอยู่ในหนังกับทุกคนได้ ต่อไปจะไม่มีประเภท (genre) ของ Yแล้ว มันคือหนังบู๊หรือหนังรักเรื่องหนึ่งที่ตัวเอกเป็นชายรักชายเท่านั้น ทำให้ Y เป็นเรื่องปกติ
เจอปัญหาอะไรไหมเวลาดีลงานกับลูกค้าต่างประเทศ
มะเดี่ยว : ตอนนี้เริ่มมีกระแสจากลูกค้าเริ่มไม่ค่อยไว้ใจผลงานซีรีส์ Y จากไทยแล้ว เพราะส่วนใหญ่เอาเงินไปปั้นทำเทรลเลอร์ แล้วไปขายแบบ pre-buy แต่พอลูกค้าได้ซีรีส์เต็มไปแล้วออกมาไม่ค่อยดี เริ่มมีเสียงสะท้อนตอนเราเอาไปขายว่า อาจจะต้องรอดูหน่อยนะว่าตัวงานเป็นยังไง เขาเจ็บมาเยอะ
ข้อควรระวังที่สุดคือกระแสแบบนี้แหละ เขาเรียกกันว่า “me-too” production ฉันก็ทำ เขาก็ทำนะ เรามาทำกันบ้างดีกว่า คิดเสียว่ามีผู้ชายนัวเนียกันก็ขายได้แล้ว ยุคหนึ่งอาจจะขายได้ เพราะเขาเชื่อในตัวเรา กระแสมันมา แต่วันนี้อาจจะไม่ใช่อย่างนั้น
จากประสบการณ์ทำงานอุตสาหกรรมหนังในประเทศจีน มองเปรียบเทียบกับประเทศไทยอย่างไร
มะเดี่ยว : จีนมีกระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานที่ดูแลตรงนี้ หน่วยงานรัฐของเขาทำตั้งแต่ให้ทุน (funding), ร่วมทุนกับเอกชน หรือปั้นโปรเจกต์เองเพื่อเอาเงินใส่ลงทั้งด้านโปรดักชันและมาร์เก็ตติ้ง เขามองว่าผู้กำกับ คนทำหนังคือแรงงานประเภทหนึ่ง มีการคุ้มครอง ผู้กำกับคือหัวหน้าของแรงงานตามแนวคิดแบบคอมมิวนิสม์ ดังนั้นเขาดูแลอาชีพนี้ไม่ต่างจากอาชีพอื่น คือต้องมีกินมีใช้ มีงานทำ มีข้าวกิน
นั่นคือเชิงหลักการและเขาก็ทำได้จริง ๆ ความเจริญไปทุกที่ เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว หางโจว หูหนาน เราเคยทำโปรเจกต์ชิ้นหนึ่งซึ่งรัฐบาลกลางสนับสนุน บริษัทนึงไปเสนอ (pitch) โครงการมาได้ ก็จะมีหน่วยงานของเมืองนั้นมาคุยกับเรา นำเสนอว่าไปถ่ายเมืองเขาสิ ลดภาษีนะ นี่คือการสนับสนุนที่เกิดขึ้น
ส่วนของบ้านเรา… (หัวเราะ) สตูดิโอเราอยู่เชียงใหม่ ทุกอย่างต้องต่อสู้ด้วยตัวเอง ความเจริญกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพ อุตสาหกรรมก็กระจุกตัว เคยมีข้อเสนอประมาณปีที่แล้ว ตอนคุณประยุทธ์ พูดเรื่อง Soft Power ว่าจะทำให้ชลบุรีกับโคราชเป็นเมืองหนัง แต่ก็ไม่มีใครสานต่อ เพราะรูปธรรมเหมือนนายสั่งมาแล้วก็ทำไปตามนั้น ประชุมเสร็จก็แยกย้าย
นอกจากเชิงตัวเลขเศรษฐกิจแล้ว อยากชวนมองอุตสาหกรรม Y จากมุมทางสังคม มักจะมีข้อวิจารณ์ว่าอุตสาหกรรม Y ในมุมหนึ่งคือการทำให้อัตลักษณ์ทางเพศเป็นสินค้า คิดอย่างไรกับมุมนี้
มะเดี่ยว : เฉยๆ อ่ะ ทุกวันนี้มีอะไรไม่เป็นสินค้าบ้าง คุณเล่นโซเชียลมีเดีย ความเห็นคุณคือสินค้าแล้ว เขาได้ข้อมูลจากเรา และตัวเราก็เพิ่มมูลค่าจาก engagement จนกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ฯลฯ ไม่ว่าคุณทำอะไรมันก็เป็นสินค้าหมดแหละ
ดังนั้นถ้าไม่เดือดร้อนอะไรใคร หรือไม่นำพาวัฒนธรรมนี้ไปสู่จุดที่เข้าใจผิดมากมายก็อย่าไปคิดอะไรมาก โดนด่าแน่เลยกู (หัวเราะ)
แต่ถามว่ามันจริงไหมล่ะ มันกระตุ้นเศรษฐกิจได้เว้ย มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ทำหรือ หรือการที่ถูกเปิดกว้างออกไปเยอะๆ อย่างน้อยมีคนเห็น เกิดการถกเถียง ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยแล้วไม่มีใครได้อะไร
15 ปี นับจากรักแห่งสยามสู่หนังกลางแปลง ชวนมองอีก 15 ปี คุณอยากเห็นอุตสาหกรรมหนังและอนาคตสังคมไทยไปทางไหน
มะเดี่ยว : จากตรงนั้นถึงตรงนี้ โลกมันเปิดกว้างขึ้นเยอะ ประเทศเรากลายเป็นทำซีรีส์ Y ส่งออก ตั้งแต่วันแรกๆ เราทำอยู่คนเดียวแล้วโดนด่าสารพัด จนทุกวันนี้ใครๆ ก็ต่างมาถาม มาซื้อคอนเทนต์จากบ้านเรา โลกมันมาไกลมากแล้วแหละ
ดังนั้น สิ่งที่ควรจะทำคือทำให้ดีขึ้นและไปไกลกว่านี้ จนถึงจุดที่ไม่มีใครมองว่าที่เราชอบผู้ชายด้วยกัน มีรสนิยมทางเพศที่ไม่ได้เป็นเพศตรงข้าม (heterosexual) เป็นเรื่องผิดแปลก หรือเป็นจุดที่หนังไม่ได้อยู่ในส่วนของ Y คือหนังแอ็กชัน หนังอะไรปกตินั่นแหละ แต่อาจจะแปะไว้หน่อยก็ได้ว่าใครแสดงนำ อีก 15 ปีอาจจะเป็นแบบนั้นไปแล้วก็ได้ พอทุกคนเห็นการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันแล้ว มันก็อาจจะนำไปสู่กฎหมายที่เข้าใจความแตกต่างมากขึ้นและช่วยเราให้มีชีวิตอย่างเท่าเทียมได้มากขึ้น
วางบทบาทตัวเองหลังจากนี้อย่างไร
มะเดี่ยว : จากที่เราเคยทำเยอะๆ ก็อาจจะเป็นปีละเรื่อง แต่ก็ยังปกตินะ (หัวเราะ) ยังมีผลงานให้เห็นอยู่ไม่ห่างหายไปไหน แต่อาจจะมีบทบาทสร้างบุคลากรใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมาประดับวงการทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังอยู่เสมอครับ