"แม้ว่าพวกเราอาจไม่ได้เป็น NewJeans อีกต่อไปในอนาคต แต่ NewJeans never die!”
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 สมาชิกวง NewJeans ทั้ง 5 คน ได้แก่ มินจี แดเนียล ฮันนิ แฮริน และฮเยอิน ประกาศสิ้นสุดสัญญากับ ADOR ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Hybe จากกรณีที่พวกเธอได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมจากบริษัท
ฮเยอิน กล่าวว่า “หลังเที่ยงคืนนี้ พวกเราจะไม่สามารถใช้ชื่อ NewJeans ได้อีกต่อไป แต่พวกเราจะไม่ยอมแพ้ เราจะพยายามเพื่อทวงคืนชื่อ NewJeans กลับมา”
จุดเริ่มต้นรอยร้าว การแข่งขันในอุตสาหกรรม K-Pop
จุดเริ่มต้นมหากาพย์ที่สร้างรอยร้าวในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความขัดแย้งภายในเครือ ระหว่าง ต้นสังกัดค่าย HYBE กับ “มินฮีจิน (Min Hee Jin)” อดีต CEO ของ ‘ADOR’ บริษัทในเครือของ HYBE และเป็นผู้สร้างวงเกิร์ลกรุ๊ปคลื่นลูกใหม่ “NewJeans” (นิวจีนส์)
โดยมีการกล่าวอ้างว่า มินฮีจิน (Min Hee Jin) มีส่วนร่วมในการเปิดเผยข้อมูลลับของบริษัทให้แก่นักลงทุน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อแยกค่าย ADOR ออกจากการควบคุมของ HYBE และยังพยายามดึงเกิร์ลกรุ๊ป NewJeans ออกจากการบริหารของต้นสังกัดใหญ่
ขณะที่ มินฮีจิน ยืนยัน “จะไม่ลาออก” พร้อมชี้แจงว่า สาเหตุที่แท้จริงที่ต้นสังกัด HYBE พยายามบีบให้เธอลาออกนั้น เป็นเพราะเธอเรียกร้องถึงค่ายกับประเด็นที่ เกิร์ลกรุ๊ปวงใหม่ ILLIT จาก Belift Lab ซึ่งเป็นค่ายลูกของ HYBE มีลักษณะแนวเพลง คอนเซปต์ หรือแม้แต่การแต่งกาย คล้ายกันกับ NewJeans
จนเกิดกระแสในโลกโซเชียลวิจารณ์ทั้ง 2 วง ถึงคำว่า “ลอกเลียนแบบ”
มินฮีจิน (Min Hee Jin) เผยว่า เธอพยายามร้องเรียนถึงประเด็นนี้หลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ หรือชี้แจงใด ๆ จากทางค่าย
หลังจากนั้นก็กลายเป็นมหากาพย์การสาดโคลนใส่กันระหว่างผู้บริหาร ที่มีเหล่าไอดอลสาวเป็นหมากในกระดาน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ของสังคม
กระทั่งเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 22567 ADOR ได้ประกาศว่า มินฮีจินจะพ้นจากตำแหน่ง CEO ของบริษัท แต่จะยังคงช่วยดูแลการผลิตเนื้อหาให้กับวง NewJeans ในฐานะกรรมการภายในที่ ADOR
การยืนหยัดลุกขึ้นต่อสู้ของ “ไอดอล” เพื่อสิทธิของตนเอง
หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว สมาชิกทั้ง 5 คนของ NewJeans ได้ไลฟ์ผ่าน Youtube เมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา เรียกร้องให้ HYBE คืนตำแหน่ง CEO ให้มินฮีจินภายในวันที่ 25 กันยายน ขณะที่ทางด้าน มินฮีจิน (Min Hee Jin) ก็เคลื่อนไหวยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อสั่งให้บริษัทแต่งตั้งเธอกลับมาเป็นกรรมการภายในและ CEO ของ ADOR อีกครั้ง
ในไลฟ์ หนึ่งในสมาชิก “ฮันนิ” (Hanni) ยังเล่าถึงสภาพแวดล้อมการทำงานของวงที่ไม่มี “มินฮีจิน” (Min Hee Jin) เธอเผยว่า สมาชิกในวงได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ถูกเมินเฉย และปฏิบัติด้วยไม่ดี ก่อนที่ต่อมาไลฟ์ดังกล่าวจะถูกลบไป
ดูเหมือนการลุกขึ้นสู้ พูดกับสังคมจะเกิดผล ไลฟ์ดังกล่าวสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โซเชียลต่างเรียกร้องให้ต้นสังกัดออกมาชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว
ในเวลาต่อมา “ฮันนิ” (Hanni) ได้ขึ้นให้การในการตรวจสอบของสมัชชาแห่งชาติของเกาหลีใต้ในกรุงโซล กรณีการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน หรือต้นสังกัดค่าย HYBE นั่นเอง
“ฮันนิ” (Hanni) เล่าถึงพฤติกรรมจงใจเมินและมีท่าทีคล้ายบอยคอตสมาชิกวงนิวจีนส์ เธอพบข้อความแสดงความเกลียดชังจากพนักงานในบริษัท
หลังจากเกิดเหตุการณ์หลายครั้ง เธอกล่าวว่า “ฉันมาถึงจุดที่รู้ว่านี่ไม่ใช่แค่ความรู้สึกเท่านั้น ฉันเชื่ออย่างจริงใจว่า บริษัทนี้จงเกลียดจงชังพวกเราจริงๆ”
เธอยังเล่าถึงประเด็นการได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมจากการที่เป็นคนต่างชาติ การดูแลที่ไม่เป็นธรรมระหว่างไอดอลและเด็กฝึก
"สิ่งที่ฉันเล่าไปไม่ใช่เหตุการณ์แค่ครั้งเดียว การที่ฉันก้าวออกมาพูดเรื่องนี้ เพราะกลัวว่าวันหนึ่งมันจะถูกลืมไป ถ้าหากฉันยังเงียบอยู่ สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ในอนาคต ฉันพูดเพื่อหวังว่าสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นกับใครอีก ทั้งรุ่นพี่, รุ่นน้อง,
เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่เด็กฝึกก็ตาม"
อาชีพไอดอลไม่ใช่ “แรงงาน” ในเกาหลีใต้
แม้ว่า “ฮันนิ” (Hanni) จะเดินหน้าลุกขึ้นเรียกร้องความเป็นธรรมต่อสังคม แต่ดูเหมือนกฎหมายแรงงานในประเทศเกาหลีอาจไม่ครอบคลุมในจุดนี้ เมื่อกระทรวงแรงงานเกาหลีใต้ปฏิเสธคำร้องของเธอ โดยให้เหตุผลว่า อาชีพไอดอล ‘ไม่ใช่’ แรงงานตามกฎหมายแรงงานของเกาหลีใต้
กระทรวงแรงงานระบุว่า เมื่อพิจารณาจากสัญญาที่ลงนามโดยฮันนิแล้ว ยากที่จะระบุว่า เธอมีสถานะแรงงานตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งมีการจ่ายค่าตอบแทนในรูปแบบความสัมพันธ์แบบลูกจ้าง-นายจ้าง เนื่องจากรัฐบาลเกาหลีใต้และศาลได้จัดประเภทให้อาชีพผู้ให้ความบันเทิง (นักแสดง นักร้อง หรือไอดอล) เป็นนิติบุคคลพิเศษที่ปฏิบัติงานภายใต้ต้นสังกัดเท่านั้น
ความขัดแย้งทั้งหมดยังคงยืดเยื้อและก่อตัวกลายเป็นมรสุมลูกใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลาง บันนี่ส์ Bunnies กลุ่มแฟนคลับทั่วโลกที่เป็นห่วงสภาพจิตใจและสถานการณ์ของวง
กระทั่งเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา NewJeans ได้ส่งหนังสือถึงค่าย ADOR ยื่นคำขาดว่า “หากค่าย ADOR ไม่ตอบสนองตามข้อเรียกร้องในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ภายใน 14 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ ทั้ง 5 ศิลปินสาว NewJeans จะทำการยกเลิกสัญญากับค่าย”
จากที่เดิมทีวง NewJeans ได้เซ็นสัญญาไว้กับต้นสังกัด 7 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดลงในปี 2029 นั่นเอง
จากนั้นไม่กี่วันต่อมา “มินฮีจิน” (Min Hee Jin) อดีต CEO จาก ADOR ก็ได้ออกมาประกาศลาออกจากบริษัท HYBE และ ADOR อย่างเป็นทางการ พร้อมกับเผยความไม่เป็นธรรมที่ต้องเผชิญ
NewJeans never die! : หญิงสาวทั้ง 5 คน มิตรภาพ ความฝัน แฟนเพลง และเส้นทางใหม่
กระทั่งล่าสุด ครบกำหนด 14 วันตามที่มีการยื่นคำขาด NewJeans ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่า พวกเธอทั้ง 5 คน จะทำการยุติสัญญากับ ADOR ภายในเที่ยงคืนของวันที่ 29 พ.ย. 2567 ตามเวลาท้องถิ่นเกาหลี
ในการแถลง “ฮันนิ” (Hanni) เผยเหตุผลที่พวกเธอจะลาออกจากต้นสังกัดว่า “ADOR ไม่มีความสามารถและไม่มีความตั้งใจที่จะปกป้องสมาชิกของ NewJeans ดังนั้นการอยู่ภายใต้ต้นสังกัดนี้ จะยิ่งทำให้เราเจ็บปวดทางจิตใจและเป็นการทำให้พวกเราเสียเวลาเปล่า”
ด้าน “แฮริน” (Haerin) ระบุช่วงหนึ่งว่า พวกเธอไม่ได้ละเมิดสัญญาพิเศษแต่อย่างใด และวงได้ทำงานอย่างเต็มที่ในทุกกิจกรรม ดังนั้นพวกเธอจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าปรับใด ๆ
ขณะที่ “ฮเยอิน” (Hyein) เผยว่า หลังเที่ยงคืนนี้ พวกเราจะไม่สามารถใช้ชื่อ NewJeans ได้อีกต่อไป แต่พวกเราจะไม่ยอมแพ้ เราจะพยายามเพื่อทวงคืนชื่อ NewJeans กลับมา
สำหรับในส่วนของตารางงานและการถ่ายทำโฆษณาต่างๆ ภายใต้สัญญาเดิมจะยังคงดำเนินต่อไป
วันที่ 14 ธันวาคม 2567 สมาชิก NewJeans เคลื่อนไหวอีกครั้ง เปิดแอคเคาท์อินสตาแกรมใหม่ ตั้งชื่อ ‘jeanzforfree’
ทั้งนี้จากมหากาพย์ร้อนแรงทั้งหมด ยิ่งสะท้อนให้เห็นการแข่งขันอันดุเดือดในอุตสาหกรรมดนตรีเกาหลีใต้
การที่กลุ่มไอดอลหญิงลุกขึ้นยืนหยัด เปล่งเสียง และเปิดพรมที่ซุกซ่อนปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิ สวัสดิการ และการได้รับการดูแลที่ไม่เป็นธรรมของเหล่าไอดอล ทั้งด้าน เชื้อชาติ อายุ เพศ และอื่น ๆ
สิ่งนี้นับเป็นความกล้าหาญ และอาจถึงเวลาเสียทีที่สังคมควรตระหนักและลุกขึ้นมาถกเถียงอีกครั้งถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่ใต้รอยยิ้มฉาบหวานของเหล่าศิลปิน-ไอดอล