หากย้อนหลับไปในปี 1995 ชื่อของนักร้องสาว “ปนัดดา เรืองวุฒิ” คือเจ้าของรางวัล นักร้องดีเด่น ในการประกวด KPN Award ปี พ.ศ. 2538 ด้วยวัยเพียง 17 ปี
ก่อนจะได้เข้าสู่วงการเพลงในฐานะนักร้องเต็มตัว มีผลงานแรกกับค่ายแกรมมี่ชุดแรกคืออัลบั้ม “ดาวกระดาษ” ซึ่งทำให้ชื่อของ ปนัดดา เรืองวุฒิ เป็นที่รู้จักในวงการเพลง และมีผลงานตามมาเรื่อยๆ ในฐานะนักร้องสาวมากความสามารถ ด้วยน้ำเสียงใสกังวาน และการถ่ายทอดอารมณ์ออกมาอย่างทรงพลัง ทำให้เพลงดาวกระดาษ จากปลายปากกาของ “สารภี ศิริสัมพันธ์” ซึ่งเริ่มแรกเดิมทีเพลงนี้เขียนให้กับ “โบ สุนิตา” กลายมาเป็นของผลงานชิ้นโบว์แดงของปนัดดา เรืองวุฒิ ในตอนนั้น แถมยังทำได้รับรางวัลพระพิฆเนศทอง “ขับร้องหญิงยอดเยี่ยม” จากอัลบั้มดาวกระดาษ ปี พ.ศ. 2541
ปนัดดา ก้าวขึ้นเป็นนักร้องหญิงเดียวที่น่าจับตาในยุคนั้น และมีโอกาสได้ร่วมร้องเพลงสุนทราภรณ์ร่วมกับ “ตู่ นันทิดา แก้วบัวสาย”, “สุเมธ องอาจ”, “อั๋น ภูวนาท”, “ศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์”, “อรวี สัจจานนท์” และ “อุเทน พรหมมินทร์” ในอัลบั้มชุดของแกรมมี่
ไม่เพียงเท่านั้นยังนำมาซึ่งผลงานอัลบั้มเดี่ยวอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา อาทิเช่นอัลบั้ม ดอกไม้ในหัวใจ, เขียนฟ้าด้วย…ปากกาดาว, Replay The Memories และอัลบั้ม บานไม่รู้โรย หนึ่งในผลงานที่แสนภาคภูมิใจของเจ้าตัวก็คงจะหนีไม่พ้น การได้รับเกียรติให้ร้องเพลงพระราชนิพนธ์หลายบทเพลง รวมถึงได้รับเลือกให้ร่วมร้องเพลง “I Do” คู่กับ “เรน” ซุปตาร์ K-POP ชื่อดังในยุคนั้น
หนึ่งผลงานเด่นของปนัดดาที่เรียกว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง ในช่วงปี พ.ศ. 2548 ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามาจากเพลง “คนเลวที่รักเธอ” หลังจากโดนกระแสวิจารณ์อย่างหนัก จาก “นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช” ส.ว.ขอนแก่น (ในยุคนั้น) และ นายกสมาคมเสริมสร้างครอบครัวให้อบอุ่นและเป็นสุข ยื่นหนังสือถึง กกช.ให้ยุติเพลง คนเลวที่รักเธอ หลังพบมีเนื้อหายั่วยุ ทำลายระบบสถาบันครอบครัว ส่อไปในทางเสื่อมเสียศีลธรรม และไม่สมควรจะเผยแพร่
จากเนื้อเพลงที่มีเนื้อหาว่า “โมโหตัวเองที่มาช้าไป ก็ฉันแค่คนมาทีหลัง แล้วไปมีสิทธิอะไร ที่ไปทำให้ใครเขาเลิกกัน ก็รู้ว่าผิด เธอเป็นของคนอื่น ก็ของๆ ใครเขาก็รัก ถ้าเราเอามาก็ต้องคืน แต่ฉันก็เป็นคนมีหัวใจ จะขอเป็นคนเลวที่รักเธอที่สุด ถึงใครจะมองแบบไหน ไม่ขอเป็นคนดีที่รักเธอไม่ได้ ไม่อยากเป็นคนดีที่ไม่มีความสุข เมื่อฉันรักเธอ ก็รักด้วยหัวใจ ถ้าฉันรักเธอด้วยสมอง ก็คงยอมจะจากไป และทำตามที่ใครเขาพูดกัน”
ในครั้งนั้นนางระเบียบรัตน์ กล่าวว่า สมาคมเสริมสร้างครอบครัวให้อบอุ่นและเป็นสุขได้พิจารณาโดยรอบคอบ เห็นว่า เนื้อหาของเพลงดังกล่าวส่อไปในทางเสื่อมเสียศีลธรรมจรรยาอันดีงามของไทย มีเนื้อหาหมิ่นเหม่ ส่งเสริมยั่วยุให้ผู้คนในสังคมขาดความยับยั้งชั่งใจ ยั่วยุให้ประพฤติผิดศีลธรรม ทำลายระบบครอบครัว และเป็นแบบอย่างในทางลบแก่เด็กและเยาวชน เป็นสาเหตุแห่งปัญหาที่จะเกิดขึ้นในสังคมตามมาอย่างไม่รู้จักสิ้นสุด จึงไม่เหมาะสมที่จะเผยแพร่ออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง หรือสื่อประชาสัมพันธ์ทางเสียงต่างๆ
หากย้อนกลับไปในยุคนั้น ประเด็นเรื่องศีลธรรมอันดีงาม ถือเป็นเรื่องที่เคร่งครัดมากในสังคม เมื่อเทียบกับปัจุบันนี้ แต่ใช่ว่าจะมีแค่ปนัดดา เรืองวุฒิ ที่ถูกแบนเพลงเพราะมีเนื้อหาในเชิงทำลายสภาบันครอบครัว ยังมีนักร้องคนอื่นๆ ที่ถูกนางระเบียบรัตน์ออกมาติติงและวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน เช่น “ทาทา ยัง” ในการแสดงฟรีคอนเสิร์ตของทาทาที่ภูเก็ต ในปี พ.ศ. 2554 ที่มีท่าเต้นคู่กับแดนเซอร์ชายไม่เหมาะสม ก็ถูกติงว่าส่อเจตนาไปถึงท่าของการยั่วยุทางเพศ หมิ่นเหม่ ขัดศีลธรรมจรรยาอันดีงามของไทย และยังเป็นทำลายภาพพจน์ศักดิ์ศรีของความเป็นหญิงไทย
ยิ่งด่า ยิ่งห้าม ก็ยิ่งดัง เมื่อคนแห่เข้าไปดูผลงานนั้นของทาทา ยัง เป็นจำนวนมาก รวมถึง “จ๊ะ อาร์สยาม” ที่เคยถูกวิจารณ์ท่าเต้นและการแต่งตัว จนเป็นจุดให้จ๊ะ อาร์สยาม แจ้งเกิดในวงการบันเทิงมาจนถึงทุกวันนี้
เช่นเดียวกับเพลง คนเลวที่รักเธอ กระแสที่ถูกมองในแง่ลบ ถูกติติงครั้งนั้น ส่งผลให้เพลง คนเลวที่รักเธอ ในขณะนั้น พุ่งขึ้นติด 1 ใน 5 เพลงฮิต ทุกชาร์ตทุกคลื่นวิทยุในช่วงนั้นอย่างห้ามไม่ได้
อีกทั้งยังทำให้ ปนัดดา เรืองวุฒิ มีภาพจำของนักร้องเจ้าของเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักที่ผิดหวัง รักต้องห้าม มือที่สาม รักสามเส้า โดยส่วนมากจะเป็นการถ่ายทอดจากมุมมองของคนรองหรือมือที่สาม เกิดขึ้นในหลายๆ เพลงอีกตามมา ไม่ว่าจะเป็น มีค่าเวลาเธอเหงา, ภรรยาน้อย(ฉันไม่อยากเป็น) , ทำไมต้องยอม เป็นต้น
จนถูกกล่าวขานว่าเป็นเจ้าแม่เพลงของกลุ่มคนที่เป็นมือที่สาม ในยุคนั้นเลยก็ว่าได้