กระแสซีรีส์Y ที่โด่งดังขณะนี้ สร้างแรงกระเพื่อมมากมายหลายมิติในสังคม  

เพราะกระแสนี้ไม่ใช่แค่เรื่องบันเทิงอีกต่อไป แต่เป็นพลังอำนาจทางเศรษฐกิจในระดับประเทศ หรือระดับโลก ที่มาในรูปของซอฟท์พาวเวอร์

แต่กระนั้นมีคนมากมายที่มองเผินๆ ก็สงสัยว่าสื่อบันเทิง ชายรักชาย ในตระกูลY เหล่านี้ ต่างจากสื่อชายรักชายในลักษณะเกย์อย่างไร 

และ แม้จะเป็นเรื่องของชายรักชาย แต่ผู้เสพส่วนใหญ่ กลับเป็นผู้หญิง เหตุผลลึกๆของประเด็นนี้มีที่มาอย่างไร

รวมทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐควรเป็นไปในลักษณะใด

ตลอดจนดราม่าต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างศิลปิน และแฟนด้อม ที่บางครั้งก็ล้ำเส้นความเป็นส่วนตัว หรือกรณีนี้เป็นราคาที่ศิลปินเองต้องจ่าย เพื่อแลกมากับชื่อเสียงและเงินทอง

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่ ทีมงานเว็บไซต์FEED ไปพูดคุยกับ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ดังนี้

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

การเริ่มต้นเข้าสู่ความสนใจใน ซีรีส์Y   ของอาจารย์ เริ่มมาอย่างไร

อาจารย์ชลิดาภรณ์ : “เริ่มต้นสิ่งที่เรียกว่า boys love  หรือที่คนไทยเรียกว่า ซีรีส์Y  อยู่มานานพอสมควรแล้ว เข้ามาสู่สังคมไทยในรูปแบของการ์ตูน  ส่วนของดิฉัน เมื่อหลายปีก่อน คือเริ่มตกใจว่า ทำไมคนอายุน้อย เริ่มมาอ่านการ์ตูนY อิทธิพลของญี่ปุ่น   ก็เริ่มเข้าไปดูบ้าง ไปเห็นซีรีส์Y ของประเทศอื่น ที่มีพล็อต มีความลึก ก็พบว่า มันนำไปสู่ข้อถกเถียง และการปะทะกันทางความคิดในสังคมอื่น  ความสนใจของตัวเองก็มาจากอะไรทำนองนี้เป็นหลัก และมาทำความรู้จักว่า boys love    เนี่ยเป็นยังไง ผลิตเพื่อใคร อย่างไร  ดิฉันก็พยายามพูดในหลายๆ ที่ว่า boys love  ที่คนไทยเรียกว่า ตระกูลYทั้งหลาย  เป็นตระกูลของพล็อตเรื่องที่เฉพาะมาก คือเป็นการขายเรื่องความรักแบบโรแมนติก  เป็นจินตนาการความรักแบบโรแมนติกของผู้หญิง เพราะฉะนั้น คนอ่าน คนผลิตส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ดิฉันใช้คำว่า ส่วนใหญ่นะคะ คือมันสะท้อนจินตนาการและความปรารถนาเกี่ยวกับความรักโรแมนติกของผู้หญิง  และมันก็สะท้อนความสัมพันธ์ในชีวิตจริงของคุณ คือมันไม่ได้อย่างที่คุณปรารถนา ก็เลยออกมาในจินตนาการ”

“มันไม่เหมือนตระกูลที่เป็นชาย-ชาย  ไม่เหมือนเกย์พอร์น ไม่เหมือนเลย คนชอบจับไปรวมๆ กัน  คือ boys love    เนี่ย ขายเรื่อง ความรักแบบโรแมนติก  อ่ะ ทีนี้ทุกคนก็จะตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วทำไมไม่ใช้ตัวละครหญิง-ชาย  เพราะจริงๆมันก็เป็นความรักแบบheterosexual (ความรักทั้งในทางโรแมนติกและทางเพศ ระหว่างสองบุคคลที่เป็นเพศตรงข้าม) ใน boys love ตามที่เห็นในซีรีส์  คือคนเจนแรกๆ ที่ผลิต ถ้าคุณใช้ตัวละครหญิง-ชาย ก็จะเจอกับ rules กติกา ข้อห้ามต่างๆ ข้อพึงปฏิบัติระหว่างหญิง-ชาย   ทีนี้ เพื่อไม่ต้องถูกจำกัดอยู่ใน rules นั้น เค้าก็ใช้วิธี ตัวละคร ชาย – ชาย ซึ่งถ้าดูให้ดีๆ ก็เป็นheterosexual เป็นคู่ที่เป็นความรักที่ยั่งยืนนาน  รักแท้ ดูแล อ่อนหวาน คือจริงๆ เป็นภาพสะท้อนของ heterosexual romance เป็นสิ่งที่ผู้หญิงหาไม่ได้ในชีวิตจริง   คือต้องแยกให้ออกว่าไม่ใช่เกย์พอร์น  อย่างที่ดิฉันเคยอ่าน นิยายจีนที่ดังมากๆ  แล้วมาทำเป็นซีรีส์ “ปรมาจารย์ลัทธิมาร”หรือ  The Untamed  คือโด่งดังมาก ก็ตามอ่านนิยาย ตัวนิยายมีฉากเรื่องเพศโจ่งแจ้ง  แต่ก็จะเป็น เรื่องเพศชาย-ชาย ในจินตนาการของผู้หญิง ประเด็นหลักคือ boys love  สะท้อนความปรารถนาในเรื่องโรแมนติกlove ของผู้หญิง”

ซีรีส์ ปรมาจารย์ลัทธิมาร หรือ  The Untamed

พอมาเป็น boys love  จะไม่ถูกจำกัด โดย rules ต่างๆ  แต่ถ้าเป็นชาย-หญิงถูกจำกัด โดยrules ต่างๆ   rules ที่ว่านี้คืออะไร

อาจารย์ชลิดาภรณ์ : “บทบาทในเรื่องเพศ ความรักของหญิงชาย  กฎของ heterosexual  เช่นชายต้องเป็นฝ่ายริเริ่ม เป็นฝ่ายเอาชนะและครอบครอง  ฝ่ายหญิงได้แต่รออยูในฐานที่ตั้ง ให้ชายมาเป็นฝ่ายริเริ่ม แล้วหญิงก็เป็นฝ่ายสนอง  พอเป็น ชาย-ชาย ไม่ถูกจำกัดโดย rules ก็ว่าไปด้วยเรื่องromance    ชาย-ชายที่ปรากฏใน boys love  คือ Beautiful young men  เป็นภาพสะท้อนความปรารถนาหลายประการของผู้หญิง  ของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคที่เป็นผู้หญิง”   

“เราอยู่ในโลกที่ความปรารถนาของชาย-หญิง ถูกห้อมล้อมด้วยกติกา คือเหมือนตัวคุณยืนอยู่แล้วมีกำแพงล้อมหลายชั้น หลายชนิด มีเพดาน กด เก็บคุณไว้ ไอ้นั่นก็ไม่ได้ ไอ้นี่ก็ไม่ได้ เป็น rules ที่เราอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน   คือเราไปพยายามทำความเข้าใจดีกว่าว่า ความปรารถนาที่ถูกห้อมล้อม โดย rules มันเป็นอย่างไร  ไปดู boys love  ที่บอกว่าเป็นความปรารถนาของผู้หญิง ที่ว่าด้วยความรักแบบโรแมนติกที่มาปรากฏใน ตะกูล boys love   จะเห็นได้ว่า ความปรารถนาหลายเรื่องสะท้อนมาตรฐานเรื่องเพศต่างระดับของผู้หญิง-ผู้ชาย เช่นการให้ค่ากับ monogamy (การมีคู่สมรสคนเดียว หรือผัวเดียวเมียเดียว) ความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง exclusive ว่า คนสองคนที่อยู่ในความสัมพันธ์ต้องรักกันเองเท่านั้น ร่วมเพศกันเองเท่านั้นและสืบพันธ์กันเองเท่านั้น  แต่ว่าการให้ค่านั้นปรากฏว่า มันไปยกเว้นให้ผู้ชายทำการโน่นนี่ได้ คือถ้าผู้หญิงทำในแบบเดียวกันจะถูกลงโทษว่าบาปผิดและถูกลงโทษ  แต่ ผู้ชายที่ออกนอก monogamy ไม่ถูกลงโทษมากเท่า  ก็แปลว่า เพศสภาพหญิงมากมาย คุณฝันว่า สักวันจะเจอคนที่รักคุณจริงๆ รักคุณคนเดียว  แต่คุณอยู่ในโลกที่เป็นสองมาตรฐานในเรื่องเพศที่อนุญาตให้ผู้ชาย  ยอมให้ผู้ชายมีความสัมพันธ์ซ้อนได้  พอคุณผิดหวังแล้ว ก็มามองหาใน boys love   ที่คุณเห็นคนที่รักกันมาก  ในบางเรื่องนี่รักกันข้ามชาติข้ามภพนะคะ  ตายแล้วเกิดมาก็ยังรักกันอยู่ มีด้ายแดงผูกกันไว้ ซึ่งถามว่าในชีวิตจริงของคนจำนวนมาก คุณไม่เจอหรอก แล้วคุณอยากได้”

สื่อบันเทิงระหว่าง เกย์  กับ boys love  จะแยกได้อย่างไร

อาจารย์ชลิดาภรณ์ : “สำหรับดิฉันสิ่งที่เรียกว่า pornography  จะไม่แปลว่าสื่อลามก  แต่จะแปลว่าสื่อกระตุ้นเร้าความต้องการทางเพศ เพราะมันเป็นสื่อที่ผู้บริโภคเสพแล้วเร้าความต้องการทางเพศ  ซึ่งอะไรที่จะเร้าความต้องการทางเพศ ก็ไม่เหมือนกันอีก แต่ละคนไม่เหมือนกัน ก็จะหลากหลายมาก ทั้งพล็อต ซับพล็อต ตัวแสดง อะไรที่จะเร้าความต้องการทางเพศของคน เกย์ก็มีหลายพล็อต มีตัวแสดงหลายแบบ  ซึ่งจำนวนมากไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับโรแมนซ์  ในหลายๆ ของ เรื่องของ pornography ไม่มีเรื่องความรัก เพราะคุณอย่าลืมว่า ถ้าคุณเอาความรักกับเซ็กส์มาจับปั้นให้เป็นก้อนเดียวกัน  มันมีกติกาบังคับเลย   เซ็กส์ที่มาพร้อมกับความรัก  มีกติกา และมีข้อพึงปฏิบัติจำนวนมาก  pornography เป็นเซ็กส์ที่เป็นเรื่องสนองความต้องการทางเพศอย่างพึงพอใจ ไม่เกี่ยวกับความรัก   ในขณะที่ boys love  สะท้อนความปรารถนาว่าด้วยเรื่องความรักแบบโรแมนติก รักจริง รักแท้ รักยาวนาน   และเซ็กส์ที่มากับ boys love  เป็นเซ็กส์ที่งาม สะอาด”

อะไรคือจุดที่บอกว่า ซีรีส์Y ผู้เสพคือผู้หญิง และผู้สร้างก็คือผู้หญิง

อาจารย์ชลิดาภรณ์ : “มันมีการศึกษาในช่วงแรกๆ นะคะ ว่าคนที่ผลิตเป็นผู้หญิง คนที่เสพ ก็คือผู้หญิง  แต่ตอนนี้ ต้องยอมรับว่า คนที่บริโภคและคนผลิตก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพศสภาพหญิง  และช่วงอายุก็หลากหลายมาก เมื่อก่อนก็อาจจะกลุ่มคนอายุน้อย  แต่ตอนนี้ ดิฉันเข้าใจว่า คนเสพซีรีส์Y อายุช่วงกว้างขึ้นมาก ซึ่งจริงๆ ก็มีเหตุผลของมัน เพราะ boys love  อยู่กับเรามานาน และโดยเฉพาะมีคนตั้งข้อสังเกตว่าซีรีส์Y ของไทย มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง 3 ข้อคือ

1.เป็นเรื่องออกตลก เบาสมอง คือเบาๆ สนุกสนาน

2.เน้นเรื่องโรแมนซ์ เป็นความรัก เป็นมหากาพย์ รักจริง เป็นรักที่ยาวนาน รักโรแมนติกมาก

3.บรรดานักแสดงของไทย หน้าตาดี หล่อ

ฉะนั้น ใน   3 องค์ประกอบนี้  ใครที่ไม่เคยดู แล้วอยากจะดู ก็จะเจอ 3 ข้อนี้   แต่ถ้าคุณไม่ชอบอะไรเบานัก ซีรีส์Y ไทย ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์   ทีนี้ในข้อที่ 3 ที่บอกว่า  นักแสดงหน้าตาดี หล่อ น่าเอ็นดู ก็พุ่งเข้าชนกลุ่มเป้าหมาย แม่ยกแบบไทยๆ   ก็จะดึงเอาคนหลากหลายช่วงอายุเข้ามาเป็นผู้บริโภคได้”

ต้า บอม จากซีรีส์ พี่จะตีนะเนย

  ที่อาจารย์พูดในช่วงต้นว่า ไทยเป็นมหาอำนาจซีรีส์Y อยากให้อาจารย์ขยายความในประเด็นนี้

อาจารย์ชลิดาภรณ์ : “ได้เห็นในช่วง 2-3 ปีที่มีการ rank ซีรีส์ที่ออกมาจากหลายๆ ประเทศที่ดีที่สุดของปี  10 อันดับแรก ปรากฏว่า ของไทย เข้าไป dominate 10 อันดับแรกแล้ว  ซีรีส์บางเรื่อง เช่น “เพราะเราคู่กัน  2gether The Series” ที่โด่งดังมาก ก็ฉายในญี่ปุ่น เราเป็นมหาอำนาจของเรื่องนี้จริงๆ  นักแสดงที่เกิดจากซีรีส์Y ของไทยตอนนี้ ก็เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์  ดีไซเนอร์แบรนด์ของต่างประเทศ คือเราdominate ในแง่นี้จริงๆ  มีคนดูเยอะ มีคนที่รู้จักเยอะ  เรื่องของกิจกรรมบางอย่าง ของกินบางอย่าง อย่างนมใส่น้ำแดง คนที่ดูซีรีส์Y ไทยในประเทศอื่น พอมาประเทศไทย ก็ต้องมากิน นอกจากนี้ ยังรวมทั้งกิจกรรม ที่ๆไปท่องเที่ยวต่างๆ  สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาล”

ซีรีส์Y กับอนาคตในการพัฒนาไปเป็นซอฟท์พาวเวอร์ของไทย

อาจารย์ชลิดาภรณ์ : “ถ้าซอฟท์พาวเวอร์ หมายถึงการใช้วัฒนธรรมและหรือความบันเทิง เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและความนิยมให้กับประเทศไทย  ซีรีส์Y  ไม่ได้แค่มีศักยภาพ แต่คือมันสร้างไปแล้ว ทำให้ วิถีชีวิตการท่องเที่ยวและอื่นๆ รวมทั้งบันเทิงของไทยเป็นที่รู้จักไปแล้ว  เพียงแต่ว่ามันดูเปะปะ  มีคนที่ผลิต ในที่สุดก็ขายมันในตปท.ได้ แต่ไม่ได้มีแนวนโยบายและการสนับสนุนหลัก ซึ่งถ้ามันมีการสนับสนุนหลัก ว่าถ้าต้องการบันเทิงไทยเป็นตัวผลักดันเพื่อการบริโภค การท่องเที่ยว และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ อาจจะต้องทำเป็นแพคเกจกว่านี้โดยภาครัฐ  หรือว่า รัฐไม่ต้องเข้ามายุ่งก็ดีแล้ว? อันนี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน”

ในความเห็นของอาจารย์  ภาครัฐควรเข้ามาสนับสนุนในระดับใด  

อาจารย์ชลิดาภรณ์ : “คือดิฉันหวาดเสียวนะ ถ้ารัฐไทย จะเข้ามาในเรื่องวัฒนธรรมและบันเทิง มันจะทำให้วัฒนธรรมบันเทิงที่น่าตื่นตาตื่นใจ คนสามารถครีเอท หรือการดึงดูดความสนใจ มันดร็อปลง  คือการมีภาครัฐเข้ามาสนับสนุนดูเหมือนจะดี แต่รัฐไทย จะเล่นบทบาทมากน้อยแค่ไหน ที่ผ่านมารัฐไทยชอบเล่นบทนำ ชอบเดินนำ แล้วที่เหลือเดินตาม  ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วมีนโยบายเป็นแพ็คเกจ มันคงยุ่ง  ก็มีคนมองว่า ถ้าอยากจะให้อุตสาหกรรมบันเทิง เป็นตัวดึงมูลค่าทางเศรษฐกิจ รัฐก็ควรเข้ามาสนับสนุน   ก็เลยเป็น push and pull สรุปก็ต้องคิดในเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง คืออาจจะสนับสนุนในแง่ที่ว่า ถ้าคิดถึงเรื่องการผลิตสื่อว่ามันมีต้นทุน รัฐจะช่วยในเรื่องภาษี หรือการยกเว้นภาษีในบางเรื่องมั้ย นี่ดิฉันไม่ลงรายละเอียด หรือเรื่องของการขาย คือเป็นฝ่ายสนับสนุน ดีกว่าเข้ามาทำแพคเกจแล้วบอกว่าทุกคนควรทำแบบนี้ เดินแบบนี้”

จนถึงตอนนี้ ซีรีส์Y ทางประเทศฝั่งตะวันตก เป็นอย่างไรบ้าง

อาจารย์ชลิดาภรณ์   : “ซีรีส์Y ของไทยไปไกลกว่าที่เราคิด เพียงแต่อาจจะไม่ดูเป็นกระแสใหญ่  โลกของโซเชียลมีเดีย และพื้นที่ออนไลน์ ทำให้การเสพสื่อเฉพาะมันเป็นไปได้ และไปได้ไกลมาก อย่างซีรีส์ “ปรมาจารย์ลัทธิมาร” นี่คือไปไกลมาก ถึงละตินอเมริกา รวมทั้งตอนนี้การแปลภาษาก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องแปลให้ดี คนดูก็เพิ่มมากขึ้น  นอกจากนี้ ด้วยพื้นที่ออนไลน์ ทำให้แฟนด้อมขยายตัว เชื่อมโยง สามารถสร้างคอมมูนิตี้ ไปได้อย่างกว้างไกลมาก เช่นสมมติว่า ชอบคู่นี้ในเรื่องนี้  ชอบแล้วไม่ใช่แค่ตามกรี๊ด แต่บรรดาแฟนจำนวนมากมายที่สร้างแฟนอาร์ต แฟนฟิคชั่น  แล้วก็มีพื้นที่ของตัวเองในการโพสต์ต่างๆ  หรือหยิบตัวละครจากพล็อต  มานำเสนอจินตนาการของเค้าเอง คือมันไปไกลมาก นั่นคือถ้าคุณไม่ได้อยู่ในโลกของเค้า ไม่ได้เสพแฟนอาร์ต แฟนฟิคชั่น คุณไม่รู้ว่าไปไกลขนาดไหน ถ้าอยากรู้ ก็ต้องเอาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่นั้น”

อาจารย์มองปรากฏการณ์ทางสังคมกระแสซีรีส์Y อย่างไรบ้าง

อาจารย์ชลิดาภรณ์ : “boys love  อยู่กับเรามานาน ไม่ใช่เรื่องใหม่ จะเห็นว่าเป็นพื้นที่ความปรารถนา และแฟนตาซีของคนว่าด้วยเรื่องของความรัก ที่อยู่กับเรามานาน และคงจะอยู่เช่นนี้ ไม่ล้มหายตายจาก แต่อาจจะมีกระแสขึ้นลง ก็อีกเรื่องหนึ่ง  คืออยากจะบอกว่า เรื่องความรักแบบโรแมนติก และกฎกติกาว่าด้วยการใช้ชีวิตร่วมกัน เป็นแฟนกัน หรือแต่งงานกัน กติกามันเยอะและคนมีความปรารถนา คือถูกกติกากดและบีบ ก็กระเด้งไปอยู่ในอาณาบริเวณเหล่านี้  ซึ่งแทนที่จะมองเป็นปัญหา  ก็น่าจะมองว่า คนหนีจากกติกาเหล่านี้ยังไง   และอย่าลืมว่านี่คือแฟนตาซีนะคะ คือดิฉันตกใจที่ในบางประเทศอาจจะคิดว่า ควรจะต้องเซ็นเซอร์ คือไม่อยากให้มีตระกูลแบบนี้โผล่ออกมา คิดว่า ถ้าคนได้ดู boys love  ที่โรแมนติกมากๆ  จะกลายเป็นกระตุ้นเร้า ให้คนกลายเป็นโฮโมเซ็กส์ช่วล”

“มันเป็นความปรารถนาของคน แล้วมันเป็นแฟนตาซี สำหรับดิฉันนะ สิ่งที่เรียกว่า pornography รวมถึง boys love     คือคนเค้าแฟนตาไซซ์สิ่งที่ทำให้เค้าเป็นสุข เค้าไม่ได้ทำอะไรนะ มันไม่ใช่แอคชั่น ไม่ใช่เป็นเรื่องของการกระทำนะคะ    ถ้าคุณยอมให้รัฐหรือใครก็ตามเซ็นเซอร์แฟนตาซี คือแค่คิดก็ถูกเซ็นเซอร์แล้ว  คุณจะพูดถึงเสรีภาพและประชาธิปไตยไปเพื่ออะไร”

  ซีรีส์Y หรือเรื่องราวของ boys love  สิ่งนี้จะอยู่กับสังคมไทย ไปตลอดหรือไม่  

อาจารย์ชลิดาภรณ์ : “boys love  มันอยู่กับเรา อยู่มานาน จากการ์ตูนกลายเป็นซีรีส์ ตอนนี้แตกเป็น girls love ขายความโรแมนติก มันก็จะมีที่ของมันเติบโต แต่ความนิยม ขึ้นลง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

ประเด็นที่แฟนคลับเข้าไปอินมาก จนกลายเป็นดราม่า อาจารย์คิดในเรื่องนี้อย่างไร

อาจารย์ชลิดาภรณ์ : “เราต้องเข้าใจเรื่องแฟนด้อมนะคะว่า คือกลุ่มคนที่เค้ารัก เค้าอินกับศิลปิน กับซีรีส์มาก จนกลายเป็นศูนย์กลางของชีวิตเค้า และพื้นที่ออนไลน์สามารถทำกิจกรรม สร้างคอมมูนิตี้สำหรับคนที่รักศิลปินคนเดียวกัน คือแฟนด้อมไม่ใช่ของใหม่ มันสามารถเติบโต เพราะมีพื้นที่ทำกิจกรรมผ่านพื้นที่ออนไลน์สำหรับคนที่มีรสนิยมเดียวกัน  แต่อย่าลืมว่า แฟนด้อม เขาไม่ใช่แค่จับจ้อง มีศิลปินเป็นศูนย์กลางแห่งชีวิต  เค้าทำอะไรต่อมิอะไรมากมายให้ศิลปินของเค้า เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล อย่างแบรนด์แอมบาสเดอร์ก็คือใช้ศิลปินดึงการซื้อจากแฟนด้อมด้วย   อย่างแฟนคลับทุ่มซื้อบิลบอร์ดที่แมนฮัตตัน นิวยอร์ก ให้ลิซ่าหลายล้านบาท คือรักมาก  ทำอะไรให้ก็ได้ เหมือนกับเป็นสิ่งที่มนุษย์เคยทำให้กับพระเจ้า สร้างมหาวิหารให้พระเจ้า อะไรทำนองนี้  เค้ารักของเค้ามาก ให้ได้มากมาย นี่คือของฉัน คือมีความรักแบบหนึ่งมีความคาดหวัง ถ้ามีคนอื่นมาล้ำเส้น ก็จะสู้ตาย  แต่มีกรณีที่น่ากลัวมากคือ หวางยี่ป๋อกับเสี่ยวจ้าน อันนั้นคือไปใช้วิธีรีพอร์ทกับรัฐ จริงหรือมโนไม่รู้นะ แต่อันนั้นน่ากลัวมาก  ของไทยก็เห็นการโจมตีกันไปมาอยู่ในโลกอีกแบบหนึ่ง และความคาดหวังนี่ เค้าให้และเค้าสู้  บางครั้งก็ไปละเมิดเสรีภาพของศิลปิน ก็ใช่นะ กรณีที่ไปข้ามเส้นความเป็นส่วนตัว คือไม่เห็นว่าศิลปินก็คือมนุษย์เหมือนคุณ มีรัก โลภ โกรธ หลง  ซึ่งการข้ามเส้นที่ว่านี้ น่ากลัวมาก”

“ตอนเริ่มๆ โควิด ดิฉันก็ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐหลายๆ รัฐ ได้ตระหนักหรือไม่ว่าพลังที่น่ากลัวมากที่จะสั่นคลอนสังคมคือแฟนด้อมนี่ล่ะ พลังแฟนด้อมได้กระทำการเสียสละอะไรมากมาย กว่าผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองในบางประเด็นซะอีก สำหรับศิลปินที่แฟนด้อมชื่นชอบ คือศูนย์กลางของชีวิต ให้มีแรงขับเคลื่อนชีวิตไปได้ในแต่ละวัน  คือเค้าให้ศิลปินเค้าได้ทุกอย่าง อยากให้มีความสุข เค้ารักของเค้า แต่เข้าใจว่าบางครั้งความรักนี้ก็ไปลดทอนความเป็นมนุษย์ของฝั่งศิลปิน แต่เราก็ต้องเห็นว่ามันก็เป็นการแลกเปลี่ยน ในหลายสิ่งหลายอย่างที่ศิลปินได้มา”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ (Strictly Necessary Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของเว็บไซต์ feedforfuture.co ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์เราได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนสมาชิกผู้ใช้งานของเว็บไซต์ ตลอดจนการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อวิเคราะห์ และช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้ในการบันทึก และจดจำคุณลักษณะต่างๆ ที่ท่านได้เลือกขณะเข้าชมเว็บไซต์ของเรา เช่น หมวดหมู่ และเนื้อหาที่ท่านชอบอ่านมากที่สุด เราจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ และนำกลับมาใช้เมื่อท่านกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง เพื่อปรับให้ท่านได้รับชมเนื้อหาได้ตรงกับความชอบของท่านให้มากที่สุด

  • คุกกี้เพื่อนำเสนอโฆษณาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อจดจำพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ของท่าน รวมถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ท่านใช้ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์การนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด และช่วยวัดความมีประสิทธิผลของโฆษณาที่เรานำเสนอด้วย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ท่านจะเห็นโฆษณาเดิมซ้ำๆ

บันทึก