“พี่ชายที่แสนดี” คือเพลงฮิตที่สุดเพลงหนึ่งจากยุค 80 ที่ยังคงเป็นที่รักของแฟนเพลงไทยจำนวนมากในปัจจุบัน
เพลงนี้บรรจุอยู่ในอัลบั้มชุด “รุ้งอ้วน” ของ “อุ้ย-รวิวรรณ จินดา” ในสังกัด “ครีเอเทียร์” และเป็นอีกหนึ่งผลงานการแต่งทำนองระดับมาสเตอร์พีซของ “พนเทพ สุวรรณะบุณย์”
ทางคอร์ดที่ได้รับอิทธิพลจากเพลงของ “บาร์บรา สไตรแซนด์”
พนเทพได้เล่าเบื้องหลังการแต่งทำนองเพลง “พี่ชายที่แสนดี” ในกิจกรรม “เล่นไป คุยไป” ที่ร้านอาหารอิมเมจิ้นเฮ้าส์ บ้านสวน จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 มกราคม เอาไว้ว่า เขาแต่งทำนองเพลงนี้ขึ้นเพราะรู้สึกซาบซึ้งสะเทือนใจ-ประทับใจกับเพลง “The Way We Were” ของ “บาร์บรา สไตรแซนด์”
พี่ตุ่น พนเทพ บอกว่าเพลง “The Way We Were” นั้นมีจุดเด่นอยู่ตรงการวางแพทเทิร์นของคอร์ดที่เค้นอารมณ์คนฟังแบบสองชั้น ดังนั้น เขาจึงลองนำเอาแพทเทิร์นดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับการแต่งทำนองเพลง “พี่ชายที่แสนดี” โดยพยายามเขียนเมโลดี้ในแบบฉบับของตนเองที่ไปกันได้กับทางคอร์ดแบบนี้
ในฐานะนักดนตรี นักฟังเพลง นักแกะเพลงต่างประเทศ และคนแต่งเพลง พนเทพให้ความสำคัญกับการวางแพทเทิร์นของคอร์ดเป็นอย่างสูง
ดังที่เขาอธิบายตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของกิจกรรมนี้ว่า ที่ตนเองเริ่มรู้สึกสนุกกับการหันมา “ทำเพลงไทย” ตั้งแต่ยุคต้นทศวรรษ 2520 ก็เพราะได้ค้นพบว่า ทางคอร์ดแบบเพลงสากลที่ฟังดูทันสมัยนั้นสามารถจับมา “ชน” กับทำนองเพลง “แบบไทยๆ” (เช่น ผลงานยุคแรกของ “ชรัส เฟื่องอารมย์”) จนให้ผลลัพธ์เป็นสีสันที่แปลกหูออกไปได้
พูดอีกแบบได้ว่า การวางคอร์ด-เรียบเรียงเสียงประสาน (ฮาร์โมนี) ให้มีความลึกขึ้นนั้น สามารถเปลี่ยนสีของเมโลดี้หรือทำนองเพลงได้
เนื้อร้องคลาสสิกของ “จิก ประภาส” ที่เกือบถูกปัดตัก!
ในส่วนเนื้อร้องของเพลง “พี่ชายที่แสนดี” นั้น หลายคนทราบกันดีว่าเป็นผลงานระดับขึ้นหิ้งของ “จิก-ประภาส ชลศรานนท์”
โดยกระบวนการส่งมอบงานระหว่างคนแต่งทำนองเช่นพนเทพกับคนเขียนคำร้องเช่นประภาส จะมีความแตกต่างไปจากกระบวนการทำงานในเพลง “หลับตา” ของพนเทพและชรัส ซึ่งคนแต่งทำนองจะเป็นฝ่ายกำหนดเนื้อร้องในท่อนฮุกเอาไว้แล้ว
หลายปีก่อน คนเขียนเนื้ออย่างประภาส รวมถึงนักแต่งเนื้อเพลงชื่อดังอีกราย คือ “ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค” เคยเปิดเผยว่า ก่อนที่เพลง “พี่ชายที่แสนดี” จะกลายเป็นเพลงฮิต ผู้บริหารคนหนึ่งของค่ายครีเอเทียร์ได้มีความเป็นห่วงว่าอัลบั้มชุด “รุ้งอ้วน” ของอุ้ย รวิวรรณ จะไม่ประสบความสำเร็จทางด้านธุรกิจ เขาจึงมาทาบทามให้นิติพงษ์เขียนเนื้อ “เพลงรักแบบตลาด” ใส่ลงไปในท่วงทำนองอันไพเราะที่แต่งโดยพนเทพ เพื่อแทนที่เนื้อร้องเดิมที่ประภาสเขียนเอาไว้
ถ้านิติพงษ์ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว เพลงชื่อ “พี่ชายที่แสนดี” ก็จะไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นบนโลก แต่เมื่อเขาปฏิเสธไอเดียข้างต้น แล้วยืนยันว่าตนไม่มีทางเขียนเนื้อเพลงนี้ได้ดีกว่าประภาส เพลง “พี่ชายที่แสนดี” จึงได้ถูกบรรจุเอาไว้ในอัลบั้มเปิดตัวของรวิวรรณ และสร้างชื่อเสียงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน (อ่านรายละเอียดได้ ที่นี่)
ในกิจกรรม “เล่นไป คุยไป” พนเทพได้เล่าเรื่องราวคล้ายคลึงกัน จากประสบการณ์ของตนเองว่า
“เพลงนี้อยู่ในชุดอุ้ยซึ่งเป็นค่ายครีเอเทียร์ ค่ายครีเอเทียร์ตอนนั้นก็จะมีทีมจิกนี่แหละเขียนเนื้อ พี่ก็เอาเพลงนี้ให้จิกเขียนเนื้อให้อุ้ย ในชุดอุ้ยก็จะมีหลายเพลงอยู่แล้วแหละ
“ทีนี้ พอทีมครีเอทีฟของบริษัทเขาฟังทำนอง-เมโลดี้เพลงนี้ เขาคาดหวังว่าเพลงนี้ควรจะเป็นเพลงรักที่มัน ‘ซูเปอร์ป๊อป’ เพราะว่าตอนนั้น พวกการตลาดกับพวกครีเอทีฟเขาก็จะคิดเรื่องนี้ เรื่องที่ว่าจะทำให้มันขายได้เยอะๆ
“พอมันออกมาเรื่องพี่กับน้อง ตอนนั้นแบบว่าพอที่ประชุมทีมงาน (รู้สึกว่า) ตายแล้ว ทำยังไงดีวะ? เราอยากจะได้เป็นเพลงรัก ขายใช่ไหม แต่พอเป็นเพลงพี่น้อง น้องรักพี่ แล้วมันจะฮิตได้ยังไง? ก็เกิดมีปัญหากันเยอะ แต่จิกเขาไม่ยอมไง จิกเขาค่อนข้างที่จะมั่นว่าผมอยากจะเขียน ผมเขียนเรื่องนี้แล้วต้องเป็นอย่างนี้
“สรุปสุดท้าย ทางทีมครีเอทีฟก็ยอม ก็ออกมาอย่างนี้ ซึ่งจริงๆ ตอนนั้น เพลงนี้ในอัลบั้มชุดนี้ ตอนแรกไม่มา (ไม่ฮิต) นะ แต่มันกลายเป็นเพลงที่แบบว่ามันใช้เวลาอยู่ยาวนานสุด”
จากนั้น “ปิติ ลิ้มเจริญ” นักแต่งเพลงฝีมือดี สมาชิก “วงนั่งเล่น” ซึ่งถือเป็นลูกศิษย์ของประภาสในยุค “ค่ายคีตา” ได้เอ่ยถามพนเทพว่า “ในฐานะที่พี่เขียนทำนอง ตอนนั้นที่พี่จิกเขียนเนื้อพี่ชายที่แสนดีมา แล้วพี่รู้สึกยังไง?”
ข้อมูลเสริม
การแต่งทำนองเพลงโดยอ้างอิงกับแพทเทิร์นหรือทางคอร์ดของเพลงต่างประเทศที่ตนเองประทับใจ ยังเป็นวิธีการทำงานที่พนเทพเลือกใช้อยู่เรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน
เช่น เพลง “สายลม” ผลงานเด่นของ “วงนั่งเล่น” ที่เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลง “Change the World” ของ “เอริก แคลปตัน” ซึ่งโปรดิวซ์-เรียบเรียงโดย “เบบี้เฟซ”
อ่านเรื่องราวเกี่ยวข้อง
“หลับตา” เพลงรักโรแมนติกยุค 80-90 ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวสุดเศร้า
“เพียงแค่ใจเรารักกัน” เพลงรักอมตะที่เขียนเนื้อโดย “คนไม่เคยแต่งเพลงมาก่อน”!