มิวสิกวิดีโอเพลง “หลับตา” เมื่อปี 2531

คืนนี้เธอจงนอนด้วยใจเป็นสุข
ขอจงลืมวันวานผ่านมา
คืนนี้ไม่ต้องกลัวเรื่องใดหรอกหนา
เพราะฉันยังคงอยู่ใกล้ชิดเธอ
คืนนี้ดาวลางเลือนเสียงนกละเมอ
เสียงเรไรบรรเลงเรียกขวัญ
ตัวฉันนั้นจะคอยดูแลป้องกัน
ริ้นยุงไรเข้ามาใกล้เธอ
หลับตาซิที่รัก ในวงแขนของฉัน
จะไม่มีผู้ใดคิดทำร้ายเธอได้
หลับตาซิที่รัก ขอเธอนอนหลับฝัน
เพื่อพรุ่งนี้ได้พบวันใหม่กับฉัน
จงพริ้มตาแล้วนอนเสียนะเจ้านอน
เสียงเจ้าแมวเกเรก้องดัง
ฟังซิเจ้าจงฟังลืมเถิดความหลัง
เพราะฉันยังคงอยู่ใกล้ชิดเธอ
คืนนี้เธอจงนอนด้วยใจเป็นสุข
ขอจงลืมวันวานผ่านมา
คืนนี้ไม่ต้องกลัวเรื่องใดหรอกหนา
เพราะฉันยังคงอยู่ใกล้ชิดเธอ
หลับตาซิที่รัก ในวงแขนของฉัน
จะไม่มีผู้ใดคิดทำร้ายเธอได้
หลับตาซิที่รัก ขอเธอนอนหลับฝัน
เพื่อพรุ่งนี้ได้พบวันใหม่กับฉัน
หลับตาซิที่รัก ในวงแขนของฉัน
จะไม่มีผู้ใดคิดทำร้ายเธอได้
หลับตาซิที่รัก ขอเธอนอนหลับฝัน
เพื่อพรุ่งนี้ได้พบวันใหม่กับฉัน

หลับตา – คำร้อง ชรัส เฟื่องอารมย์ ทำนอง-เรียบเรียง พนเทพ สุวรรณะบุณย์

หลายคนคิดว่าเพลง “หลับตา” ซึ่งบรรจุอยู่ในอัลบั้มชุด “คืนรักที่อบอุ่น” ของ “ชรัส เฟื่องอารมย์” ที่ออกวางจำหน่ายเมื่อปี 2531 นั้นเป็นเพลงรักโรแมนติกหวานซึ้ง

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เพลงเพลงนี้กลับมีที่มาจากเรื่องราวชวนเศร้าเกือบๆ จะเป็น “โศกนาฏกรรม” เลยทีเดียว

ดังที่ “พี่ตุ่น พนเทพ สุวรรณะบุณย์” ผู้แต่งทำนอง-เรียบเรียงดนตรีเพลง “หลับตา” เปิดเผยเอาไว้ในงาน “เล่นไป คุยไป” ที่ร้านอาหารอิมเมจิ้นเฮ้าส์ บ้านสวน จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 มกราคม ว่า

พี่ตุ่น พนเทพ เล่าเรื่องราวเบื้องหลังเพลง “หลับตา”

“อย่างที่บอกพี่จะเป็นคนเก็บรายละเอียดอะไรที่มันซึ้งๆ เรื่องที่แต่งเพลงนี้ จริงๆ เรื่องมันมาตั้งแต่ตอนที่พี่เด็กๆ แต่ว่าเพลงนี้พี่มาแต่งตอนที่พี่ทำงานแต่งเพลงอาชีพแล้ว

“คือตอนนั้นพี่ดูทีวี จะมีละครอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งอาเชิด ทรงศรี เป็นผู้กำกับหนัง ที่เป็นผู้กำกับข้างหลังภาพ ตอนนั้น อาเชิดทำละครเรื่องนี้ออกทีวี แล้วเป็น based on a true story (ละครที่สร้างจากเรื่องจริง)

เชิด ทรงศรี (2474-2549) ภาพจากเว็บไซต์ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

“พี่ก็นั่งดู ขึ้นมาก็จะเป็นอาเชิด ทรงศรี นั่งอยู่บนรถไฟ จากแถวๆ น่าจะนราธิวาส นั่งรอรถไฟออกเพื่อจะกลับมากรุงเทพฯ ทีนี้ มีสามี-ภรรยาคู่หนึ่ง คือ เมียแกก็เดินจูงผัวซึ่งตาบอด มาขายของให้คนที่นั่งอยู่บนรถไฟ นั่งรอรถไฟ ผู้หญิงตาดีนะจูงผัวตาบอดขาย (ของ) ไปเรื่อยๆ แก (เชิด ทรงศรี) สนใจ แกก็เลยขอคุยด้วย เขา (สามีภรรยาคู่นั้น) ก็เล่ามา

“พอเล่าปั๊บ ละครมันก็แฟลชแบ็ก (ย้อนกลับไปยังอดีต) แล้ว เป็นผู้ชายกับผู้หญิงคู่นี้แหละ ผู้ชายตอนนั้นตาดีนะ แต่งงานกัน เป็นอิสลาม เป็นคนใต้ ในงานแต่งงาน พอแต่งงานเสร็จ ผู้ชายก็นั่งกล่อมผู้หญิง ผู้หญิงหนุนตัก แล้วก็ร้องเพลงเพลงหนึ่ง ชื่อเพลงคือชื่อละครเรื่องนี้ ‘บุหลันลันตู’ พี่ก็โอเค ฟังแล้วเพราะ ซึ้ง ก็ดูละครต่อไป

“(สามี-ภรรยาคู่นี้) เขาก็ใช้ชีวิตด้วยกัน ก็เป็นคนใต้ ผู้ชายก็จะออกไปกรีดยางกลางวัน ตั้งแต่เช้ามืด ผู้หญิงก็จะเป็นแม่บ้านอยู่ที่บ้าน ฐานะไม่ได้ร่ำรวย ฐานะก็คือยากจน ก็เป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ใช้ชีวิตไป

“ทีนี้ มันจะมีอยู่วันหนึ่ง ซึ่งแบบว่าผู้ชายกลับบ้านเร็ว เพราะทำงานเสร็จเร็ว โดยที่ไม่รู้เลยว่าเมียตัวเองนี่มีผู้ชาย (อื่น) มานอนในบ้าน คือ จริงๆ แล้ว แฟนเขาอยากจะช่วยผัวหาเลี้ยง (ครอบครัว) ก็เลยขายตัวกับคนแถวหมู่บ้าน พอผู้ชายกลับมาที่บ้าน เปิดประตูมาเจอภาพเข้า เขาก็เสียใจมาก แต่ว่า ไอ้อันนี้ทำให้พี่รู้เลยว่าแบบ โอ้โห มันสะเทือนใจ คือ แทนที่เขาจะทำร้ายเมียเขา หรือทำร้ายผู้ชาย (อื่นที่มานอนกับเมีย) เขาไปคว้าเอาคบเพลิงมาจี้ตาเขา เขาบอกว่าเขาไม่เห็นดีกว่า เขายอม

“พี่ก็เลยรู้สึกว่า นี่ถ้าเผื่อเป็นคนอื่น เขาแทนที่จะทำร้ายตัวเอง เขาทำร้ายแฟนเขาแล้วใช่ไหม หลังจากนั้น มันก็เลยกลายเป็นเรื่องนี้ ก็คือว่า (เมีย) ต้องจูงผัวออกมาทำมาหากิน

“อันนี้มันอยู่ในใจพี่มาตลอด มันสะเทือนใจ ก็เลยเก็บเอาไว้ แล้วกะว่าวันหนึ่งจะต้องแต่งเพลง ก็เลยย้อนกลับไปที่เพลงที่เขาร้องวันแต่งงาน มันคือเพลง ‘บุหลันลันตู’ ซึ่งมันจะเป็นแบบนี้

พนเทพ สุวรรณะบุณย์ ภาพถ่ายโดยคนมองหนัง

(จากนั้น พนเทพได้ร้องเนื้อท่อนที่เขารู้สึกประทับใจในเพลงดังกล่าว) ‘ไม่มีความสุขใดจะซึ้งใจ เท่ากับได้กล่อมเธอที่รักให้นอน หลับตาเถิดยอดรักอย่าอาวรณ์ นอนในอ้อมแขนคนที่รักเธอ’

“มันก็จะมาเป็น ‘หลับตาซิที่รัก ในวงแขนของฉัน จะไม่มีผู้ใด คิดทำร้ายเธอได้’ คือความหมายเดียวกัน เพียงแต่ว่าพี่มาแต่งใหม่เท่านั้นเอง”

ทั้งนี้ ในกระบวนการแต่งเพลง หลังจากพนเทพแต่งทำนองเพลง “หลับตา” เสร็จเรียบร้อย เขาก็ได้ส่งมอบงานให้เพื่อนรักที่เป็นนักร้อง-นักแต่งเพลงฝีมือดีอย่าง “แต๋ม ชรัส เฟื่องอารมย์” ไปแต่งเนื้อร้องต่อ

ชรัส เฟื่องอารมย์ ภาพถ่ายโดยคนมองหนัง

โดยมีเงื่อนไขพิเศษ คือ พนเทพได้เขียนคำร้องท่อนฮุกเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

“ซึ่งเรื่องนี้ แต๋ม ชรัส เป็นคนแต่งเนื้อ แต่ว่าพี่เอาเรื่องทั้งหมดมาแต่งทำนอง แล้วพี่ใส่เนื้อตรงท่อนฮุกเอาไว้ (แล้วบอก) ว่าแต๋ม ท่อนนี้เนื้ออย่างนี้นะ ‘หลับตาซิที่รัก ในวงแขนของฉัน’ เพราะว่าพี่ต้องการจะให้เรื่องมันเป็นแบบนี้ ก็เลยกำหนดเอาไว้ว่าตรงท่อนนี้ ขอคำนี้ ประโยคแบบนี้ แล้วส่วนตรงอื่น แต๋มเขาก็ไปจินตนาการต่อ”

“หลับตา” ฉบับดึกดำบรรพ์ Boy Band วงดนตรีในทศวรรษ 2550-2560 ของพนเทพ ชรัส และปั่น ไพบูลย์เกียรติ

ในที่สุด “หลับตา” ก็กลายเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของ “พนเทพ-ชรัส” และมีความเป็นอมตะข้ามกาลเวลา เห็นได้จากการถูกนำมาคัฟเวอร์หรืออ้างอิงโดยศิลปินรุ่นใหม่หนแล้วหนเล่า

ข้อมูลประกอบเรื่องเล่า

  • เพลง “บุหลันลันตู” เป็นผลงานการขับร้องของ “สุเทพ วงศ์กำแหง” ประพันธ์เนื้อร้องโดย “สง่า อารัมภีร” ส่วนทำนองนำมาจากเพลง “กระจ็องงอง” ของชาวมลายู
  • “พนเทพ สุวรรณะบุณย์” เคยร่วมงานกับ “เชิด ทรงศรี” ในภาพยนตร์เรื่อง “ข้างหลังภาพ” (2544) โดยเขารับหน้าที่แต่งเพลงนำภาพยนตร์ชื่อ “กีรติ” ร่วมกับ “วิลาวรรณ์ เกิดสุทธิ” และ “เรืองกิจ ยงปิยะกุล” โดยให้ “โบ สุนิตา ลีติกุล” เป็นผู้ขับร้อง
  • น่าสังเกตว่า ผลงานเด่นๆ ช่วงปลายทศวรรษ 2520 ถึงกลางทศวรรษ 2530 ของ “ทีมทำเพลงที่นำโดยพนเทพ” ในค่ายแกรมมี่นั้น ถูกถ่ายทอด-ตีความเนื้อหาออกมาเป็นมิวสิกวิดีโอที่นำเสนอเรื่องราวของคู่รัก ที่มีฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงเป็นผู้พิการทางสายตา ถึงสองเพลง

เพลงแรก คือ “เพียงแค่ใจเรารักกัน” (คำร้อง ธนา ชัยวรภัทร์ ทำนอง พนเทพ เรียบเรียง สำราญ ทองตัน ศิลปิน วิยะดา โกมารกุล ณ นคร) ที่ตัวละครนำชายในเอ็มวีเป็นผู้พิการทางสายตา

เพลงต่อมา คือ “บอกรัก” (คำร้อง ธนา ชัยวรภัทร์ ทำนอง เทพนม สุวรรณะบุณย์ เรียบเรียง พนเทพ ศิลปิน ปั่น ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว) ที่ตัวละครนำหญิงในเอ็มวีเป็นผู้พิการทางสายตา

คลิกอ่าน เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

“เพียงแค่ใจเรารักกัน” เพลงรักอมตะที่เขียนเนื้อโดย “คนไม่เคยแต่งเพลงมาก่อน”!

เรื่องบันเทิงก็ยากและละเอียดลออได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ (Strictly Necessary Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของเว็บไซต์ feedforfuture.co ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์เราได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนสมาชิกผู้ใช้งานของเว็บไซต์ ตลอดจนการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อวิเคราะห์ และช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้ในการบันทึก และจดจำคุณลักษณะต่างๆ ที่ท่านได้เลือกขณะเข้าชมเว็บไซต์ของเรา เช่น หมวดหมู่ และเนื้อหาที่ท่านชอบอ่านมากที่สุด เราจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ และนำกลับมาใช้เมื่อท่านกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง เพื่อปรับให้ท่านได้รับชมเนื้อหาได้ตรงกับความชอบของท่านให้มากที่สุด

  • คุกกี้เพื่อนำเสนอโฆษณาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อจดจำพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ของท่าน รวมถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ท่านใช้ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์การนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด และช่วยวัดความมีประสิทธิผลของโฆษณาที่เรานำเสนอด้วย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ท่านจะเห็นโฆษณาเดิมซ้ำๆ

บันทึก