สถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์แห่งสหรัฐเพิ่งประกาศรายชื่อชอร์ตลิสต์ของหนังภาษาต่างประเทศ 15 เรื่อง ที่มีลุ้นเข้ารอบ 5 เรื่องสุดท้าย เพื่อเข้าชิงรางวัลสาขา “ภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม” ในงานมอบรางวัลออสการ์ครั้งที่ 95
(รายชื่อหนัง 5 เรื่องสุดท้ายที่เข้าชิงออสการ์จะประกาศในวันที่ 24 มกราคม 2566 ส่วนงานมอบรางวัลจะจัดขึ้นในวันที่ 12 มีนาคม ปีหน้า)
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า 1 ใน 15 หนังนานาชาติที่ผ่านเข้าถึงรอบชอร์ตลิสต์ครั้งนี้ มีภาพยนตร์ของผู้กำกับชาวกัมพูชารวมอยู่ด้วย
หนังเรื่องนั้นคือ “Return to Seoul” ผลงานของ “ดาวี ชู” (Davy Chou)
“Return to Seoul” เล่าเรื่องราวของหญิงสาวชาวเกาหลี ที่เมื่อแรกเกิด พ่อแม่แท้ๆ ของเธอ ตัดสินใจส่งตัวลูกสาวไปยังศูนย์สงเคราะห์เด็ก ก่อนที่จะมีพ่อแม่บุญธรรมชาวต่างชาติรับเธอไปเลี้ยงดูที่ฝรั่งเศสจนเติบใหญ่
หลายปีผ่านไป หญิงสาวเชื้อชาติเกาหลีที่มีสัญชาติและถือพาสปอร์ตฝรั่งเศส ได้เดินทางกลับมายังประเทศบ้านเกิด เธอพยายามสานสัมพันธ์กับผู้คนมากหน้าหลายตา รวมทั้งตัดสินใจไปเผชิญหน้าพ่อแม่แท้ๆ ของตนเอง ตลอดจนบรรดาเครือญาติ แต่สุดท้าย เธอก็ไม่ได้มีความสนิทสนมกลมเกลียวกับพวกเขา

ยิ่งนานวัน หญิงสาวยิ่งตระหนักว่าเธอไม่ใช่คนของใคร และอาจไม่ใช่คนของที่นี่ ไม่ใช่คนของที่นั่น และไม่ใช่คนของพื้นที่ (ประเทศ) ใดเลยแม้เพียงสักแห่งเดียว

หนังที่พูดถึงประเด็นสากลว่าด้วยความเปล่าเปลี่ยว-ไร้ตัวตนในโลกสมัยใหม่เรื่องนี้ นำแสดงโดย “พักจีมิน” นักแสดงหญิงหน้าใหม่ ที่เพิ่งรับงานแสดงเป็นครั้งแรก
โดยมีนักแสดงสมทบบางรายที่แฟนซีรีส์-หนังเกาหลีในบ้านเราอาจจะคุ้นหน้าค่าตาอยู่บ้าง เช่น “คิมซุนยัง” (จาก Hospital Playlist, Crash Landing on You, Vagabond, When the Camellia Blooms และ Reply 1988 เป็นต้น)

“ดาวี ชู” คือคนทำหนังวัย 39 ปี ซึ่งไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ผลงานโดดเด่นก่อนหน้านี้ของเขา คือ หนังสารคดีเรื่อง “Golden Slumbers” ที่สำรวจยุคทองของวงการภาพยนตร์กัมพูชาระหว่าง ค.ศ.1960-1975 ก่อนทุกอย่างจะสิ้นสุดลงในช่วง “เขมรแดง” ครองอำนาจ
รวมทั้งภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่อง “Diamond Island” ที่พูดถึงชีวิตคนหนุ่มสาวและวิพากษ์โปรเจกต์การพัฒนาสู่ “ความเป็นสมัยใหม่” ในประเทศกัมพูชายุคปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ “Return to Seoul” เปิดตัวครั้งแรกที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยหนังได้เข้าฉายในสายการประกวดรอง Un Certain Regard
หลังจากนั้น หนังก็เริ่มได้รับรางวัลจากเทศกาลและสถาบันต่างๆ อาทิ รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและนักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจากเอเชียแปซิฟิก สกรีน อวอร์ดส์ และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งบอสตัน เป็นต้น
ย้อนไปเมื่อปี 2014 ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “The Missing Picture” ของผู้กำกับชาวกัมพูชา “ฤทธี ปานห์” ที่บอกเล่าประสบการณ์สูญเสียยุค “เขมรแดง” โดยการนำฟุตเทจภาพยนตร์เก่ามาผสมผสานกับเทคนิคแอนิเมชันและภาพจำลองสถานการณ์ที่มีหุ่นดินน้ำมันเป็นตัวแสดง ก็เคยเป็น 1 ในหนัง 5 เรื่องที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม (ยุคนั้น ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อรางวัลเป็น “ภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม”) มาแล้วหนหนึ่ง
ทั้งนี้ “Return to Seoul” จะเข้าฉายเชิงพาณิชย์ที่เมืองไทยในปี 2566