นม เป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ยอดนิยมในหลายครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นนมวัว ไปจนถึงนมแพะ แต่กระบวนการผลิตนมจากสัตว์นั้นสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เช่นก๊าซมีเทน เป็นปริมาณมาก ทำให้กระแสการผลิตนม แบบใหม่ที่เรียกว่านมสังเคราะห์ (Synthetic Milk) ได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งได้มีการนำมาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด
นมสังเคราะห์ (Synthetic Milk) คือนมที่ได้จากการผลิตในห้องทดลอง หรือที่เข้าใจได้ง่ายๆก็คือกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติ แต่มีลักษณะโครงสร้างที่เหมือนกับนมที่มาจากธรรมชาตินั่นเอง โดยนมเป็นของเหลวที่เรียกว่าสารแขวนลอยซึ่งผสมไปด้วยเวย์โปรตีน (Whey Proteins) วิตามิน น้ำตาล และรหัสพันธุกรรม (DNA)
งานวิจัยในเรื่องของนมสังเคราะห์ได้รับความสนใจมานานหลายปีแล้ว อย่างเช่นงานวิจัยในปี 2018 จากวารสารวิทยาศาสตร์อีโวลูชัน แอนด์ เดเวลอปเมนต์ (Evolution & Development) ที่พบวิธีสร้างนมด้วยโปรตีนจากแมลงสาบ ปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ตอัปได้ผลิตและสร้างตลาดนมสังเคราะห์จากหลากหลายที่มาอีกด้วย
แต่การผลิตนมจากแมลงสาบ เต็มไปด้วยข้อจำกัดและคำถามว่าสามารถนำมาเป็นนมเพื่อการบริโภคได้จริงหรือไม่ ในปัจจุบัน การผลิตนมสังเคราะห์จึงเลือกผลิตจากเนื้อสังเคราะห์ และการเพาะเลี้ยงนมจากเซลล์ต้นกำเนิด หรือที่เรียกว่า Cell-based Milk
นมเซลล์เบสด์ (Cell-based Milk) เป็นนมสังเคราะห์จากการเพาะเลี้ยงเซลล์ (Cell) สัตว์ให้กลายเป็นนม ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะ คือ การวิเคราะห์โครงสร้างทางเคมีและผลิตขึ้นมาใหม่ในเชิงอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่นบริษัท เทอร์เทิล ทรี แล็บส์ (Turtle Tree Labs) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้หลักการนี้ในการทำนมของบริษัทตั้งแต่ปี 2019 โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างสารเคมีที่ชื่อว่าแลกโตเฟอร์รีน (Lactoferrin) ซึ่งพบในนมของมนุษย์เป็นเป้าหมายแรกก่อนมุ่งสู่การผลิตนมสังเคราะห์ หลักการคล้ายกันนี้ยังพบได้ในเหล่าสตาร์ตอัปด้านฟู้ดเทค (Food Tech Startup) ทั่วโลก เช่น บริษัท โอพาเลีย (Opalia) ในแคนาดาที่ระดมทุนกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 33 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา
ขณะที่อีกหลักการหนึ่งเกิดขึ้นที่บริษัท เอเดน บรูว (Eden Brew) จากออสเตรเลีย ใช้วิธีการทำให้เซลล์ (Cell) เติบโตด้วยยีสต์ (Yeast) ที่เป็นส่วนประกอบเดียวกันกับการใช้ทำเบเกอรี่ (Bakery) และไวน์ โดยยีสต์จะได้รับการหมักให้เติบโตและผลิตสารพันธุกรรม (DNA) เฉพาะออกมา (สารพันธุกรรมเป็นโปรตีนประเภทหนึ่ง) ผลผลิตที่ได้ก็จะถูกรวมกับน้ำและน้ำตาลเพื่อให้ได้นมสังเคราะห์ออกมา
ผลิตภัณฑ์นมสังเคราะห์จากหลายบริษัทนั้น วางแผนวางจำหน่ายในร้านซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) ท้องถิ่นในช่วงปี 2024 – 2025 พร้อมกับวางแผนผลิตโยเกิร์ตและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากนมอีกด้วย ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าตลาดนมนั้นพร้อมอ้าแขนเปิดรับนมรูปแบบใหม่ ๆ จากความต้องการนมที่ไม่มีที่สิ้นสุด
อุตสาหกรรมการผลิตวัวเพื่อทั้งให้ได้นมและเนื้อ ใช้พื้นที่มากกว่า 2 ตารางวาต่อการผลิตนม 1 ลิตร และสร้างก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 3 กิโลกรัมต่อลิตร และยังใช้น้ำสะอาดในการผลิตนม 1 ลิตร มากถึง 628 ลิตร อีกด้วย และคาดว่าตัวเลขเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นตามความต้องการการบริโภคนมที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
ดังนั้น การผลิตนมสังเคราะห์จึงกลายเป็นคำตอบ เพราะการศึกษาวิจัยพบว่านอกจากจะไม่ใช้พื้นที่ในการผลิตที่สูงแล้วยังสามารถลดการปล่อยมลพิษไปได้กว่า 99 % โดยแปลงพื้นที่เลี้ยงวัวเดิมไปเป็นพื้นผลิตนมสังเคราะห์จะมีผลผลิตมากกว่าเดิมถึง 10 เท่า
ปัจจุบันนมสังเคราะห์อาจจะยังไม่มากนัก จึงอาจจะเร็วเกินไปที่จะสรุปว่านมสังเคราะห์จะมาแทนที่นมจากวัวในตอนนี้ โดยความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดผลิตภัณฑ์นมเชื่อว่า หากจะให้ตลาดนมสังเคราะห์เติบโต จะต้องผลักดันไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่ใช้นมผงเป็นวัตถุดิบหลัก จึงจะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
แหล่งที่มาและข้อมูล : ScienceAlert, TheGuardian
ติดตามข่าวสารเทคโนโลยีที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปได้ที่ FEE:D