นอกจากรัชสมัยอันยาวนานกว่า 7 ทศวรรษ ซึ่งทำให้คนอังกฤษ คนที่อยู่ในเครือจักรภพ ตลอดจนผู้คนทั่วโลก รู้สึกคุ้นเคยกับ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง แห่งสหราชอาณาจักร ในแง่มุมต่างๆ มาโดยตลอดแล้ว
การที่เรื่องราวของพระองค์ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อ, ภาพยนตร์, ซีรีส์ ต่างๆ มาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ก็ทำให้อดใจหายไม่ได้เมื่อมาถึงเวลาที่สมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคต ในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ.2022 ด้วยพระชนมพรรษา 96 พรรษา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซีรี่ส์ The Crown ที่นำเสนอเรื่องราวอันเข้มข้นราวกับบันทึกชีวประวัติ ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ขณะเดียวกันก็บอกเล่าบริบทรายรอบที่มีประวัติศาสตร์ เหตุการณ์สำคัญของโลกเกิดขึ้นมากมาย (สงครามโลก, สงครามเย็น, ขนาดของจักรวรรดิอังกฤษและเครือจักรภพที่ลดลงๆ ฯลฯ)
จึงอยากขอใช้โอกาสนี้ ชวนไปชม The Crown ซีรีส์ชีวประวัติของพระองค์ ที่สร้างและเขียนบทโดย ปีเตอร์ มอร์แกน เริ่มออกอากาศซีซั่น 1 ที่ Netflix ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ.2016
จากนั้นมีการผลิตต่อเนื่องนำเสนอ ซีซั่น 2 ในปี ค.ศ.2017 กระโดดข้ามไปปล่อย ซีซั่น 3 ในปี ค.ศ.2019 และ จบ ซีซั่น 4 ในปี ค.ศ.2020 นอกจากนี้ยังมีแผนงานว่าจะออกอากาศ ซีซั่นที่ 5 ในปี ค.ศ. 2022 เดือนพฤศจิกายนนี้ (แต่มีแนวโน้มว่าอาจจะเลื่อนหรือขยับออกไป)
มี 3 องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ซีรี่ส์ The Crown ควรค่าแก่การรับชม ไม่ว่าคุณจะชอบเรื่องราวแนวชีวประวัติ, ประวัติศาสตร์ หรือ ต้องการติดตามชมเพื่อความบันเทิงก็ตาม
- แม้ The Crown จะเป็นเรื่องเล่าที่มีการแต่งเติมเสริมบท ตีความความคิด-บทบาทของตัวบุคคล (ซึ่งล้วนมีชีวิตอยู่ในบันทึกเหตุการณ์จริง) แต่ก็น่าจะเป็นการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ที่ครอบคลุม ครบมิติ มากที่สุดเรื่องหนึ่ง
- The Crown ชวนผู้ชมให้ย้อนไปร่วมทบทวนประวัติศาสตร์ เหตุการณ์สำคัญๆ ตั้งแต่การขึ้นครองราชย์ ขณะที่พระองค์ยังเป็นเพียง หญิงสาว (ซึ่งเหนือความคาดหมายพอสมควร) เหตุการณ์การทำงานร่วมกับฝ่ายการเมือง รับมือกับนายกรัฐมนตรีหลายต่อหลายคน (สหราชอาณาจักรเปลี่ยนนายกฯถึง 15 คน ตลอดรัชสมัยของพระองค์) รวมถึงการก้าวผ่านสถานการณ์โลกหลังยุคสงครามโลก, สงครามเย็น ฯลฯ
- ผู้ชม The Crown ในทุกๆ ซีซันจะอิ่มเอมกับความบันเทิงโดยเฉพาะในเชิงดรามา ได้เห็นพัฒนาการของตัวละครหลัก (ซึ่งก็คือบุคคลในราชวงศ์วินเซอร์และ ชนชั้นนำของอังกฤษ) การปล่อยฝีมือในการแสดงของเหล่าดาราที่เข้ามารับบทบาทอันแสนท้าทาย ทั้งยังมีการได้ร่วมสำรวจเชิงลึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัวรอบตัวของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง อีกด้วย
หากจะต้องเล่าสรุปโดยสังเขป คงต้องกล่าวรวบถึง The Crown ซีซั่น 1 และ 2 ซึ่งเลือกใช้นักแสดงตัวหลักคือ เจ้าหญิง อลิซาเบธ (ก่อนและหลังขึ้นครองราชย์) รับบทโดย แคลร์ ฟอย และ เจ้าหญิง มาร์กาเร็ธ รับบทโดย วาเนเซ่า เคอร์บี
ส่วน เจ้าชายฟิลิป แห่งกรีซและเดนมาร์ก ซึ่งต่อมาคือ เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่ง เอดินเบอระ พระสวามีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง รับบทโดย แมท สมิธ (คนที่เล่นเป็น เดม่อน ใน House of the Dragon นั่นแหละ)
เส้นเรื่องหลักของทั้ง 2 ซีซั่น อาจกล่าวได้ว่า พยายามอธิบายถึงการพัฒนาของ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ที่เมื่อพระราชบิดาคือ พระเจ้าจอร์จที่ 6 King George VI สวรรคตแล้ว พระองค์เปลี่ยนมาดำรงสถานะ สมเด็จพระราชินี แห่งสหราชอาณาจักรได้อย่างไร ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั้งจากสถานการณ์โลก, ตัวแปรจากฝ่ายการเมือง-ชนชั้นนำ ที่ก็ยังไม่เชื่อมั่นในพระองค์ในช่วงเวลานั้น
ภายใต้มงกุฎและสถานะของประมุขของชาติ มีเรื่องที่ต้องตัดสินใจ ทำ-ไม่ทำ เข้ามาท้าทายอยู่ตลอดเวลา คู่ขนานไปกับการสร้างความสมดุลของชีวิตสมรส บทบาทที่ต้องเปลี่ยนไปเช่นกันของ เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่ง เอดินเบอระ พระสวามี (ชายหนุ่มหัวก้าวหน้าที่กลายเป็น ลมใต้ปีก คนสำคัญอยู่ข้างบัลลังก์)
ทั้งยังต้องจัดการกับปัญหากับคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหญิงมาร์กาเร็ต, พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ผู้มีศักดิ์เป็นลุง (เป็นกษัตริย์ช่วงสั้นๆ ก่อนสละราชสมบัติ) เพื่อมิให้กระทบต่อความเชื่อถือ เชื่อมั่นต่อสถาบันกษัตริย์ แห่งสหราชอาณาจักรอีกด้วย (ในซีซั่น 2 ยังเล่าถึงปมสำคัญกรณี พระสวามีฟิลิป ตัดสินใจส่งพระโอรส เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เข้าโรงเรียนประจำที่เข้มงวด)
ไฮไลต์หรือจุดพีกใน 2 ซีซั่นนี้คือ การแสดงบทบาท “ผู้นำ” โดยเฉพาะบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ในกรณีวิกฤตคลองสุเอช แต่ในอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลง ที่แม้พระองค์ทรงเป็นประมุขเครือจักรภพและสมเด็จพระราชินีนาถแห่งรัฐอิสระในเครือจักรภพ เคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ รอบโลกเป็นเวลาหกเดือน (ในช่วงต้นของการครองราชย์) แต่เมื่อโลกค่อยๆ เปลี่ยน พระองค์ก็ต้องปรับบทบาท ยอมรับการแยกตัวออกไปเป็นประเทศเอกราชนอกเครือจักรภพที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
The Crown ซีซั่น 3 และ 4 สร้างความฮือฮาด้วยการเปลี่ยนผู้แสดงในบทของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง มาเป็น โอลิเวีย โคลแมน นักแสดงอังกฤษสุดยอดฝีมืออีกคนหนึ่งมารับบทควีนในช่วงวัยกลางคน ขณะที่ ฟิลลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระห์ มี โทไบอัส เมนซีส์ มารับบทแทน และตัวละครคำคัญอีกคนหนึ่ง เจ้าหญิงมาร์กาเร็ต ได้ เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ มาสวมบทบาท
แม้จะเป็นผู้แสดงที่แปลกตาออกไป แต่ผ่านไปแค่ 1-2 EP ผู้ชมซีรีส์ก็สัมผัสได้ถึงความละเอียดลึกซึ้ง จากฝีมือของนักแสดงชุดใหม่ที่ทำให้เนื้อหายิ่งเข้มข้นมากขึ้นไปอีก ปีเตอร์ มอร์แกน ผู้สร้างและคนทำบทเลือกเล่าเหตุการณ์ช่วงปี 1964–1977 ซึ่งถือเป็นรอยต่อแห่งการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของ สถาบันกษัตริย์อังกฤษ ท่ามกลางปัจจัยคุกคามจาก สงครามเย็น-ภัยคอมมิวนิสต์ ที่ทั้ง สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต เผชิญหน้ากัน ต่างฝ่ายต่างแผ่อิทธิพลสร้างผลกระทบไปทั่วโลก
ช่วงเวลานั้น อังกฤษ และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง เลือกที่จะยืนอยู่ฝั่ง โลกเสรี แต่ปรากฎว่า หลังเปิดฉากในซีซั่นที่ 3 (ซึ่งถือเป็นการปิดยุคของ วินสตัน เชอร์ชิล) อังกฤษกลับได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ อย่าง ฮาโรลด์ วิลสัน ผู้มีความโน้มเอียงไปในทางสังคมนิยม ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่เข้มงวด (แน่นอนว่ากระทบกลุ่มทุน ชนชั้นนำ) แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจ ความเดือดร้อนของประชาชนก็ยังปะทุอย่างรุนแรง
ปมดังกล่าวพัฒนาไปสู่เหตุการณ์ที่ตัวแทนชนชั้นนำเริ่มทนไม่ไหวกับแนวทางของนายกฯ วิลสัน (ไม่นับรวมถึงความไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อมือ และมีข่าวจากสหรัฐว่า วิลสันฝักไฝ่โซเวียต) จนทำให้ เซซิล คิง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์และผู้อำนวยการธนาคารแห่งอังกฤษ ชักชวนให้ ลอร์ด เมานต์แบตเทน (หลานทวดในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย มีฐานะเป็นน้าของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2) เป็นผู้นำการต่อต้านรัฐบาล วางแผนรัฐประหารยึดอำนาจเพื่อปลด นายกฯวิลสัน
อย่างไรก็ตาม รัฐประหารครั้งที่ใกล้เคียงจะเป็นจริงที่สุดของอังกฤษก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ตัดสินพระทัยที่จะสนับสนุนนายกฯ วิลสันและระบอบประชาธิปไตย จนทำให้แผนการฉีกรัฐธรรมนูญของอังกฤษล้มเหลวลงในที่สุด (มีการทำภาพในตอนนี้ไปทีมมีมกันเยอะมากในโซเชียลมีเดีย)
ใน The Crown ซีซั่น 3 ยังนำเสนอปมสำคัญเกี่ยวกับชีวิตรักของ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ซึ่งได้พบกับ คามิลลา ปาร์เกอร์ โบว์ลส์ (ซึ่งขณะนั้นยังมีคู่สมรสอยู่แล้ว) ก่อนที่จะมาพบและอภิเษกสมรสกับ เลดี้ ไดอาน่า สเปนเซอร์
ก่อนจะส่งต่อไปยังเรื่องราวที่ต้องบอกว่า พีกในพีก ของ ซีซั่น 4 ที่ด้านหนึ่ง สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ต้องเผชิญกับความขัดแย้งที่ค่อยๆ เผยตัวออกมาของคู่รักกระหึ่มโลก เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ขณะเดียวกัน ก็เป็นช่วงเวลาที่อังกฤษต้องฝ่าฟันเพื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สร้างรากฐานของประเทศด้วยนโยบายที่แข็งกร้าวของนายกรัฐมนตรีหญิงเหล็ก มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (รับบทโดยจิลเลียน แอนเดอร์สัน)
เราได้เห็นจากซีรี่ส์ว่า นายกฯหญิง แทตเชอร์ ที่เติบโตมาจากคนชั้นกลางโดยแท้ มีมุมมองต่อราชวงศ์ในแบบหนึ่ง ขณะที่ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ก็เข้าใจดีถึงความต่างทั้งจากภูมิหลังและแนวคิด แต่เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายยึดเอาผลประโยชน์ของอังกฤษเป็นตัวตั้ง เรียนรู้ ยอมรับ และร่วมมือกันก็ทำให้อังกฤษเข้มแข็งมากขึ้นเป็นลำดับ
นั่นเป็นสตอรี่ไลน์แห่ความสำเร็จที่ตรงกันข้ามกับความพยายามในการจัดการ “ชีวิตสมาชิกในครอบครัว” โดยเฉพาะการเข้ามามีตัวตน มีบทบาทของ เลดี้ ไดอาน่า (รับบทโดย เอมมา คอร์ริน) คู่ชีวิตของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ กระทั่งกลายเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ผู้ได้รับความชื่นชอบจากผู้คนทั่วโลก
เฉพาะเรื่องราวที่เข้มข้น และการประชันบทบาท มือการแสดงของทั้ง นาตาลี โคลแมน, จิลเลียน แอนเดอร์สัน และ เอมมา คอร์ริน ก็ถือเป็นโบนัสที่ทำให้แฟนซีรีส์ อิ่มเอมกันตลอดทั้ง 10 ตอน
The Crown ปิดซีซั่น 4 ไปพร้อมกับเสียงชื่นชมล้นหลาม และบรรดาแฟนานุแฟน ต่างก็แทบจะอดใจไม่ไหวที่จะได้ชม ซีซั่น 5-6 ซึ่งคาดเดากันว่า จะเป็นเหตุการณ์หลังโศกนาฎกรรมที่เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในปี ค.ศ.1997 (ซึ่งเป็นจุดวิกฤตด้านความนิยมของราชวงศ์อังกฤษอย่างหนักหนาสาหัสที่สุด)
อย่างไรก็ตาม หลังการเสด็จสวรรคตของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง มีรายงานข่าวว่า การถ่ายทำ และแผนการออกอากาศ The Crown ซีซั่น 5 และ 6 จะถูกทบทวนอีกครั้ง
แต่อย่างน้อย การย้อนกลับไปชมเรื่องราวทั้ง 4 ซีซั่นใน The Crown ก็น่าจะทำให้เห็นมิติต่างๆ ตลอดช่วงรัชสมัยของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง พระปรีชาสามารถในการเรียนรู้ ปรับตัว เพื่อประคับประคองสถาบันกษัตริย์ และทำให้บทบาทของราชวงศ์อังกฤษ มั่นคง สถาพรสืบมา
จวบจนถึงวันที่เปลี่ยนผ่านอีกครั้งหนึ่งไปสู่ สมแด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กษัตริย์องค์ปัจจุบันของสหราชอาณาจักรในเวลานี้
อ่าน อิทธิพลมืดระดับ “บิ๊ก” ใน Big Mouth กับทนายกระจอกผู้เขย่าระบบอุปถัมภ์