พอตุ้มก้าวเข้ามาในวงการมวยแล้ว ไม่มีผู้ชายคนไหนอ่อนข้อให้ตุ้มนะ ไม่มีผู้ชายคนไหนอยากแพ้ตุ้มนะ ถ้ามึงแพ้กะเทย มึงกลับไปเลี้ยงควายอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็ทำให้เขาฮึดขึ้นมาเพื่อที่จะสู้ เพราะไม่ยอมแพ้ตุ้ม แต่ตุ้มก็เอาชนะคนเหล่านี้ได้เรื่อยมา คือมันไม่ได้ง่าย ไม่ง่ายเลยกับการที่จะเป็นตุ้ม และก้าวเข้ามาอยู่ในสังเวียนนักสู้
“พ่อไม่เข้าใจตุ้ม” ประโยคสุดคลาสสิกจากโฆษณาชิ้นหนึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อน ทำให้ทุกคนจดจำ “น้องตุ้ม” ปริญญา เจริญผล หรือ ปริญญา เกียรติบุษบา อดีตนักมวยสาวประเภทสองได้จนถึงวันนี้
น้องตุ้มเริ่มมีชื่อเสียงในช่วงปี พ.ศ. 2541 เมื่อเอาชนะคะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์ต่อ โอเว่น ส.บุญญา ในการชกที่เวทีมวยลุมพินี ซึ่งถือเป็นไฟต์ที่อยู่ในความทรงจำของน้องตุ้มไปตลอดชีวิต
แม้ว่าน้องตุ้มจะมีจิตใจที่เป็นหญิงมาตั้งแต่เด็ก และใฝ่ฝันที่จะเป็นผู้หญิงจริงๆ แต่ในยุคสมัยนั้นเธอคือนักมวยไทยที่เก่งกาจ เคยเอาชนะยอดมวยไทยและนักชกต่างชาติมาแล้วหลายราย ด้วยสไตล์การชกที่ดุเดือด ออกอาวุธแม่ไม้มวยไทยได้อย่างครบเครื่องทั้ง หมัด เท้า เข่า ศอก รวมไปถึงท่าฤาษีบดยาที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัว และเรื่องราวของน้องตุ้มยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ Beautiful Boxer (2003) ออกฉายไปทั่วโลกอีกด้วย
ปัจจุบันน้องตุ้มในวัย 41 ปี ยังคงคลุกคลีอยู่กับวงการมวยไทย ซึ่งเป็นกีฬาที่ตัวเองรักและอยู่ในสายเลือด โดยเปิดค่ายสอนมวยภายใต้ชื่อ “น้องตุ้มมวยไทยยิม” ที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และตอนนี้เปิดมาได้เป็นเวลากว่า 6-7 ปีแล้ว FEED ได้ไปพูดคุยกับเธอเพื่อย้อนความทรงจำกับเรื่องราวสุดแสนประทับใจบนสังเวียนนักสู้
ช่วยเล่าจุดเริ่มต้นในการเป็น “น้องตุ้ม” ให้เราฟังหน่อย มีที่มาที่ไปอย่างไร
ปริญญา เจริญผล : ต้องบอกก่อนว่าตอนเด็กๆ ไม่ชอบเรื่องชกต่อยเลย เพราะว่าตั้งแต่จำความได้ก็คือมีจิตใจที่แบบอยากเป็นผู้หญิง ในยุคนั้นก็มีความเข้าใจว่าการเป็นผู้หญิงอาจจะต้องพับเพียบเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ อ่อนหวาน อ่อนโยน นุ่มนิ่ม พอตุ้มเป็นอย่างนั้นก็ค่อนข้างที่จะถูกรังแก ถูกบูลลี่ ไม่ว่าจะไปโรงเรียน หรือว่าเวลาคบกับเพื่อน เขาก็มองเราว่าเป็นคนอ่อนแอทำให้ตุ้มรู้สึกว่ามันไม่ได้แล้ว คือเราต้องเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง เหมือนปกป้องตัวเองได้ ก็เลยตัดสินใจลองฝึกมวยดู ฝึกมวยไว้ป้องกันตัวเอง แต่ก็ไม่ได้ชอบหรอกนะคะ
ทีนี้เราไปเชียร์เพื่อนๆ ที่งานวัดชกมวย คือต่างจังหวัดที่เชียงใหม่ เขาจะมีงานวัด มีเวทีมวย แล้วก็ไปเปรียบกันข้างล่าง ก็มีคนมาท้าตุ้มชก พี่สาวก็บอกว่าอ๋อคนนี้เขาไม่ชก เขาก็ถามทำไมมันไม่ชก มันมาแล้วทำไมไม่ชก เขาก็เลยมองหน้า เหมือนกลัวว่าเราจะอายถ้าบอกไปว่าเราไม่ใช่เด็กผู้ชายทั่วไปนะ เขาก็มองหน้าเราแป๊บหนึ่ง แล้วเขาก็เลยพูดออกมาอ๋อมันไม่ใช่เด็กผู้ชายก็เลยทำให้คนรอบตัวที่เขาเปรียบมวยกันอยู่ขณะนั้นหัวเราะ ตุ้มก็เลยรู้สึกเหมือนโมโห ก็เลยรับคำไปบอกว่าตุ้มจะชก ทุกคนก็ตกใจ เฮ้ยเอาจริงเหรอ ก็จำเป็น ตกปากรับคำแล้วก็เลยต้องขึ้นไปบนเวที พอขึ้นไปบนเวทีไฟต์นั้นด้วยความที่เรากลัวด้วย ตื่นเต้น แล้วมันประหม่าด้วย
พอกรรมการสับมือเป๊ง ชก ตุ้มก็ประเคนใส่เลย เปิดก่อนเลย คือหมัด เท้า เข่า ศอก ประเคนใส่ ประมาณนาทีเดียวมั้งคะ นาทีเดียวเขาก็น็อก เขาก็นอนลงกับพื้น ตุ้มก็ตกใจ อ้าวทำไมง่ายจังเลย แล้วกรรมการก็ไล่เข้ามุม กรรมการก็นับ 1 – 10 ตุ้มก็ลุ้นให้กรรมการนับเร็วๆ เพราะกลัวว่าถ้าเขาลุกขึ้นมาได้ เขาน่าจะเอาคืนตุ้มแบบสาหัสเลย
สรุปเขาไม่ลุกค่ะ ก็ทำให้ตุ้มได้รับชัยชนะในค่ำคืนนั้น แล้วก็พอกรรมการเรียกไปชูมือ ตุ้มมีความรู้สึกว่า เรามีศักดิ์ศรี เราถูกคนอื่นยอมรับ ทุกคนชื่นชมเรา คนข้างล่างเวทีแบบหลายร้อยหลายพันคน สายตาจับจ้องมาที่เรา แล้วก็ตบมือชื่นชมเรา เลยทำให้ตุ้มรู้สึกดี เราทำได้ มันเป็นการค้นพบตัวเองโดยบังเอิญ ในสถานการณ์ที่บีบบังคับค่ะ
การปรับตัวในค่ายมวยเป็นอย่างไรบ้าง แล้วทุกคนรู้ไหมว่าเราไม่ใช่ผู้ชายแท้
ปริญญา เจริญผล : คือไม่ง่ายเลยกับการจะเป็นนักมวยสมัยเมื่อก่อน ไม่ง่ายเหมือนสมัยนี้ ครูมวยคนแรกของตุ้มบอกว่า ให้เก็บเสื้อผ้ามานอนอยู่ที่ค่ายเลย เดี๋ยวพี่จะหารายการให้ชก พอมีรายการขึ้นแค่นั้นเอง มีเวลาซ้อม 1 เดือน ตุ้มก็เก็บเสื้อผ้าเข้าค่ายเลย แต่ก็ยังมีความกังวล พออยู่ด้วยกันนานๆ แบบชีวิตประจำวัน เหมือนเพื่อนเรามันก็รู้หมดว่าเราเป็นอะไร เราเป็นยังไง เราไม่ใช่เด็กผู้ชายธรรมดาทั่วไป เราก็มีความกังวลว่าเขารู้แล้วเขาจะรับเราได้ไหม เขาจะรังเกียจเราไหม โอ้โหเก็บกด เหมือนคนเก็บกดเลย อยู่เงียบๆ ถึงเวลาซ้อมก็ซ้อม ถึงเวลาตื่นเช้าไปวิ่งก็ไปวิ่ง แต่มันยิ่งทำให้ตุ้มรู้สึกว่า ฉันจะโชว์ความอ่อนแอให้กับทุกคนเห็นไม่ได้ พี่ๆ ไปวิ่ง ฉันต้องวิ่ง เมื่อยแค่ไหน ร่างกายไม่พร้อมแค่ไหน ฉันต้องทำให้ได้ พี่ๆ ซ้อมหนักแค่ไหน ฉันก็ต้องซ้อมให้ได้ เจ็บแค่ไหน ฉันก็ต้องทน
พอวันหนึ่งเชื่อไหมว่ากับการที่ตุ้มตั้งใจทำอย่างนั้น ทำให้ทุกคนยอมรับตุ้มได้ บางครั้งรุ่นพี่จะไปโรงเรียน เราก็รีดเสื้อรีดผ้าให้ ทำกับข้าวให้ เอาล่ะทีนี้พอตกเย็น นักมวยทุกคนก็ซ้อมกันเสร็จ ต่างจังหวัดอะเนาะ เขาก็ไปเที่ยวสาวกัน ไอ้เราไม่ไป ไม่อาบน้ำรวมกับใคร เขาอาบน้ำรวมกัน แก้ผ้าอาบน้ำรวมกัน สบู่ก้อนเดียวแย่งกัน แต่ตุ้มนี่ต้องมีตะกร้านิดนึง พอเขาอาบกันเสร็จไปเที่ยวสาว ตุ้มถึงค่อยแอบไปอาบน้ำ
ทีนี้พอนั่งกินข้าวรวมกัน ไอ้พวกรุ่นพี่ก็เริ่ม เฮ้ยมันเป็นตุ๊ดแน่เลย มันไม่อาบน้ำกับใคร มันไม่ไปเที่ยวสาว ไอ้เราก็มองครูมวยเราก่อนเลย เขาจะรู้สึกอย่างไร คือมันเด็กมันก็ต้องแซวกันเล่น ฉันไม่สนหรอกใครจะว่ายังไง ฉันสนแต่แค่ครูมวยฉัน ก็นั่งมอง พี่เขาก็นั่งกินข้าวอย่างเอร็ดอร่อย เขาก็หัวเราะแค่นั้นเอง เขาไม่ได้ว่าอะไร
มีอยู่วันหนึ่งขึ้นไปซ้อมบนเวที พี่เขาก็สอนลูกเตะค้านคอให้ ซึ่งมันจะต้องเตะสูง เตะสูงแล้วก็เตะตวัดขึ้นไป ไอ้เราก็ตวัดเต็มที่เพื่อที่จะให้ถึงเป้า แล้วพี่เขาเอาเป้ายกสูงๆ พอตุ้มตวัดสูงปุ๊บ ครูมวยตุ้มตัดล่างทันทีเลย เตะเถรกวาดลาน แล้วมันทำให้เราเสียหลักล้มแบบไม่เป็นท่า วืดล้มเลย กรี๊ดเลยค่ะ ตุ้มกรี๊ดแตกเลย
คือเราไม่รู้ว่าเขาจะตัดล่างเราขนาดนั้น ตุ้มก็เลยกรี๊ดลั่นค่ายเลย ทุกสายตาจับจ้องมาบนเวทีที่อีตุ้มอยู่คนเดียว ตุ้มก็นั่งอยู่กับพื้น มองหน้าครูมวย ครูมวยยืนถือเป้าอึ้งอยู่แบบเกิดอะไรขึ้น แล้วตุ้มก็ค่อยๆ หัวเราะ เหมือนเราเขิน ครูมวยก็หัวเราะออกมา ครูมวยก็เฮ้ยอะไรวะ ไอ้เราก็ลุกขึ้นมา ขอโทษพี่แล้วก็ซ้อมต่อ
พอตกตอนเย็นนั่งกินข้าวกันครูมวยก็บอกตุ้มพี่ไม่สนหรอกนะว่าตุ้มจะเป็นอะไร จะเป็นยังไงก็ช่าง ขอแค่ขึ้นบนเวที ตุ้มอย่าโชว์ความอ่อนแอให้คนอื่นเขาเห็น แค่นี้พี่ก็พอใจแล้ว ขึ้นไปบนเวทีตุ้มสู้ให้เต็มที่จะแพ้จะชนะ ถ้าตุ้มทำหน้าที่ของตุ้มเต็มที่ พี่จะไม่ว่าสักคำเลย โอ้โห! แค่นี้คือโล่งอกมาก เท่านั้นเอง เหมือนเขาเป็นคนปลดปล่อยตุ้ม
ทำไมแฟนมวยจดจำความเป็น “น้องตุ้ม” ได้เป็นอย่างดี
ปริญญา เจริญผล : แรกๆ ตุ้มต้องบอกก่อนว่า จริงๆ ในยุคสมัยนั้นตุ้มก็เหมือนเด็กผู้ชายธรรมดาทั่วไป หัวโปก ผมสั้น หน้าอกก็ไม่มี ก็ถอดเสื้อขึ้นชกปกติธรรมดา ถ้ามองให้เป็นเด็กผู้ชายทั่วไปก็มองได้ แต่ทีนี้ว่าพอเริ่มโตขึ้นมา มันเหมือนกับว่า ตุ้มเริ่มแต่งหน้าทาปากมันก็เลยจำได้ง่าย มีบุคลิกเป็นของตัวเอง มีคาแรคเตอร์เป็นของตัวเอง แล้วตุ้มค่อนข้างที่จะเป็นมวยที่ชอบใช้แม่ไม้มวยไทย ไม่ว่าจะเป็นเข่าลอย ฤาษีบดยา ตุ้มใช้มาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่ยังจะไม่ดัง ฤาษีบดยาบ้าง ศอกกลับบ้างอะไรบ้าง ตุ้มก็จะพยายามเล่น พยายามฝึกฝนเพื่อที่เอามาเล่นเรื่อยมา แล้วก็อาจจะมีส่วนด้วยที่ตุ้มเป็น LGBT คนแรกที่มาชกมวย ทุกคนอาจจะมองว่าแปลก ส่วนมากคนอย่างพวกตุ้มอาจจะโชว์คาบาเรต์ เดินสายประกวด เย็บปักถักร้อย จัดดอกไม้ ประมาณนั้น แต่ตุ้มกลับเลือกมาชกมวย
แล้วต้องบอกว่าวงการมวยสมัยเมื่อก่อน มันเป็นวงการของลูกผู้ชายจริงๆ ซึ่งใครที่ก้าวมาในถนนของนักสู้ของลูกผู้ชาย เขาเอาศักดิ์ศรีลูกผู้ชายมาวัดกัน พอตุ้มก้าวเข้ามาในวงการมวยแล้ว ไม่มีผู้ชายคนไหนอ่อนข้อให้ตุ้มนะ ไม่มีผู้ชายคนไหนอยากแพ้ตุ้มนะ ถ้ามึงแพ้กะเทย มึงกลับไปเลี้ยงควายอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็ทำให้เขาฮึดขึ้นมาเพื่อที่จะสู้ เพราะไม่ยอมแพ้ตุ้ม แต่ตุ้มก็เอาชนะคนเหล่านี้ได้เรื่อยมา คือมันไม่ได้ง่าย ไม่ง่ายเลยกับการที่จะเป็นตุ้ม และก้าวเข้ามาอยู่ในสังเวียนนักสู้
ค่ายมวย “น้องตุ้มมวยไทยยิม” เปิดมานานแค่ไหนแล้ว
ปริญญา เจริญผล : ต้องบอกก่อนว่าจริงๆ ตุ้มทำงานอยู่ที่ Fairtex บางพลีนี่แหละ ใกล้ๆ ค่ายมวยตรงนี้แหละ แต่เขาปิดในด้านของมวยไทย ไปทำเป็นอุปกรณ์เวที อุปกรณ์การซ้อม ตุ้มก็เลยมีความรู้สึกว่าคิดถึงมวย เราอยู่กับมวยเราตื่นมาอยากเห็นกระสอบอยากเห็นเวที ก็เลยคุยกับครูเก่งว่าเราไปเช่าที่เล็กๆ ตรงใกล้ๆ ที่ทำงานนี่เถอะ เพื่อเอาไว้ฟิตซ้อมเอง แล้วก็ใครอยากจะมาเรียน ลูกศิษย์ลูกหา อยากจะมาเรียน เราก็เปิดสอน
ก็เลยทำเล็กๆ อยู่มาได้ 6-7 ปีแล้ว หลักๆ ก็จะมีครูเก่ง ครูต่อ และครูตุ้ม ถ้าตุ้มไม่ได้รับงานข้างนอกนะคะ ตุ้มก็จะช่วยกันสอน 3 คนนี้ พอใครก้าวเข้ามา เราก็จะเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน สอนด้วยความเข้าใจ แล้วก็ต้องบอกก่อนว่าตุ้มกับครูเก่ง และครูต่อ เราเกิดมาจากมวยจริงๆ เพราะฉะนั้นเราสามารถที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ตรง ไม่ผิดเพี้ยนแน่นอน เพราะแต่ละคน มีตำแหน่งการันตีกันหมด มีแชมป์ มีเข็มขัด มีไฟต์การันตีกันหมด เพราะฉะนั้นยิมเล็ก แต่มาตรฐานไม่เล็กแน่นอน
ต้องขอขอบคุณค่ะ ขอบคุณจริงๆ ขอบคุณจากใจ เหมือนน้องตุ้มในวันนั้น ผ่านมาวันนี้ ตอนนั้นอายุ 16 ตอนนี้ 41 แล้ว ตุ้มก็ยังไม่ได้ห่างหาย ชื่อเสียงไม่ได้หายเข้ากลีบเมฆไปเลย ก็เพราะว่ายังมีแฟนๆ ที่ยังจดจำภาพลักษณ์ที่ดีของตุ้ม อ๋อ น้องตุ้มเหรอ สาวน้อยปะแป้ง พ่อไม่เข้าใจตุ้ม ทุกคนยังคงจำได้ ก็ต้องขอขอบคุณนะคะ คือน้องตุ้มคนนี้ก็ยังต้องการกำลังใจ แรงเชียร์แรงใจจากแฟนคลับเรื่อยไป ขอให้เป็นกำลังใจกันตลอดไปนะคะ