Indy Mania By พอล เฮง
คอลัมน์ที่จะพาย้อนกลับไป ช่วงการปะทุและระเบิดของเพลงไทยนอกกระแส ในช่วงทศวรรษที่ 90
“ห้วงเวลาที่เกิดการล่มสลายของบางค่ายเพลงที่ใช้โมเดลธุรกิจแบบเก่า ก็เกิดการเปิดประตูบานใหม่ของวงการเพลงไทยด้วยการมาถึงของค่ายเพลงอิสระเล็กๆ หรืออินดี้ (Indy) ยาตราเข้ามายึดครองพื้นที่ของตลาดเพลงยอดนิยมพาณิชย์ศิลป์ของไทย เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ยุค Indy Mania”
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนดำเนินไปตามวัฏจักร เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมดนตรีสมัยใหม่ของไทยที่พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน ตั้งแต่ยุค 80s เป็นต้นมา สร้างเม็ดเงินในธุรกิจมูลค่ามหาศาล
แต่เมื่อกระบวนการแปลงเป็นสินค้าเกิดขึ้นเร็วเกินไป จากการที่ตลาดเติบโตอย่างรวดเร็วจนสินค้าเข้าถึงผู้คนจำนวนมาก จึงเกิดการผลิตงานดนตรีเชิงพาณิชย์ในปริมาณมาก แต่ในเชิงสร้างสรรค์ไม่สามารถทำได้ ปริมาณกับคุณภาพจึงสวนทางกัน
ในยุคนั้นมีทั้ง ดารา, นักมวย, นางแบบ, คนดัง มาเป็นนักร้อง ออกอัลบั้มกันมากมายในทุกค่ายเพลง (ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีคำว่าเซเลบริตี หรือเซเลบฯ) เช่น สุรศักดิ์ วงศ์ไทย / บิลลี โอแกน / สามารถ พยัคฆ์อรุณ / เพ็ญพักตร์ ศิริกุล / ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย / แคทรียา อิงลิช / ใหม่ เจริญปุระ / มาช่า วัฒนพานิช / นัท มีเรีย / สมชาย เข็มกลัด / อนันต์ บุนนาค ฯลฯ
ในยุคที่เครื่องเล่นเทปคาสเซ็ตมีประจำบ้าน และมีซาวด์อะเบาท์ หรือวอล์กแมนเป็นอุปกรณ์เสริม ทำให้เทปเพลงเข้าถึงคนจำนวนมาก ใน 1 ปี จะมีเทปเพลงออกใหม่ประมาณเกือบพันอัลบัม ราคาต่อม้วนอยู่ที่ 70-85 บาท มูลค่ารวมของตลาดเทปจึงสูงถึงหลายพันล้านบาท
ขณะที่กลิ่นอายบรรยากาศบทเพลงยุค 90s ของค่ายที่อยู่ในตลาดเพลงวนเวียนอยู่กับบทเพลงยอดนิยมที่เป็น พ็อป / พ็อปร็อก / ซอฟต์ร็อก / บัลลาดร็อก / แด๊นซ์พ็อป / บับเบิลกัมพ็อป / เพื่อชีวิต โดยแต่ละค่ายเพลงก็มีทีมผลิตเพลงเป็นสายพานการผลิตแบบอุตสาหกรรม มีโจทย์นักร้องมาและทีมแต่งเพลงให้ เพราะฉะนั้นเพลงจึงออกมาคล้ายๆ กัน เพียงแต่เปลี่ยนคนร้อง
ส่วนเอกลักษณ์ของบทเพลงและดนตรีก็เป็นกรอบเดียวกันตามแต่ละค่าย ไม่ว่าจะเป็นการสืบทอดเพลงพ็อปยุคสตริงของนิธิทัศน์ เพลงพ็อปสมัยใหม่กลิ่นอายอาร์แอนด์บีแบบแกรมมี่ซาวด์ เพลงพ็อปและร็อกค่ายคีตา สกุลประภาส ชลศรานนท์ เพลงพ็อปและแด๊นซ์พ็อปบับเบิลกัมวัยรุ่นแบบอาร์เอส รวมถึงเพลงเพื่อชีวิตที่ไปรวมศูนย์ที่ค่ายดีเดย์-แว่วหวาน
เพราะฉะนั้น การสร้างสรรค์ทางดนตรีและบทเพลงจึงวนลูปอยู่ในกรอบเดิมๆ ซึ่งคนฟังเริ่มเบื่อหน่าย เพราะฟังงานเพลงจากนักร้องหรือคณะดนตรีคณะไหนก็คล้ายๆ กันหมด เพียงแต่เปลี่ยนคนร้องที่เป็นดารา, นางแบบหรือคนดังมาร้อง โดยใช้ภาพลักษณ์และการดูเพลงผ่านมิวสิกวิดีโอเป็นจุดขายหลัก
การเสื่อมถอยและปิดยุคของดารานางแบบและคนดังร้องเพลงออกอัลบัมในยุค 90s น่าจะวัดได้จากการมาถึงและล่มสลายของค่ายเพลง เอสพี ศุภมิตร ดัชนีชี้วัดตรงนี้กินเวลา 5 ปี
เอสพี ศุภมิตร ก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นปี 2532 โดย ประชา มาลีนนท์ จากช่อง 3 บีอีซีเวิลด์พร้อมกับหุ้นส่วนคือ เจริญ เอี่ยมพึ่งพร ค่ายหนังไฟว์สตาร์ และ กิตติ โรจน์ชลาสิทธิ์ จากกันตนา เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนในระยะแรก ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการวางแผนไว้ครบวงจรในการนำดาราจอแก้วจอเงินและคนดังมาร้องเพลง สร้างความสำเร็จในธุรกิจดนตรียอดนิยมที่มีเม็ดเงินมหาศาลสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามสภาวะเศรษฐกิจไทยขาขึ้นเป็นดาวรุ่งของเอเชีย
การเป็นค่ายเพลงในเครือสถานีโทรทัศน์ ทำให้การโปรโมทออกอากาศทางช่อง 3 เป็นหลัก พร้อมมีค่ายหนังและค่ายละครชื่อดังร่วมป้อนดารามาให้ในฐานะผู้ร่วมทุน โดยนักร้องเบอร์แรก คือ อภิญญา มาลีนนท์ ผู้ประกาศข่าวช่อง 3
แต่การกระโดดเข้าสู่ตลาดเพลงของเอสพี ศุภมิตร ด้วยโมเดลดาราร้องเพลงออกอัลบัมมาไม่ถูกเวลาและจังหวะ เพราะคนฟังฐานใหญ่ที่เป็นวัยรุ่นได้เปลี่ยนรุ่นสู่คนอีกรุ่นที่เบื่อเพลงแนวเดิมๆ ซ้ำๆ ของคนรุ่นก่อน และการทำงานเพลงแบบสูตรสำเร็จโปรโมทด้วยเม็ดเงินโฆษณาครบวงจร เพียงครึ่งทศวรรษ ในช่วงกลางยุค 90s (ปี พ.ศ. 2537) เอสพี ศุภมิตรก็พับฐานไป
ห้วงเวลาเดียวกับความล่มสลายของเอสพี ศุภมิตร ที่ใช้โมเดลธุรกิจเพลงแบบเก่า ก็เกิดการเปิดประตูบานใหม่ของวงการเพลงไทย การมาถึงของค่ายเพลงอิสระเล็กๆ หรืออินดี้ (Indy) ยาตราเข้ามายึดครองพื้นที่ของตลาดเพลงยอดนิยมพาณิชย์ศิลป์ของไทย เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ยุค ‘Indy Mania’
ยุค 90s ของตลาดเพลงไทยสะท้อนให้เห็นถึงวลีที่กล่าวขึ้นลอยๆ ว่า ‘พ็อปจะกินตัวมันเอง’ ‘Pop Will Eat Itself’ ที่เกิดขึ้นในปี 1986 โดย เดวิด ควอนติค (David Quantick) นักข่าวสายดนตรีของนิตยสารเอ็นเอ็มอี หรือ นิว มิวสิคอล เอ็กซ์เพรส (NME – New Musical Express) อันทรงอิทธิพลอย่างมากในอังกฤษ
ควอนติค เขียนว่า วัฒนธรรมพ็อปหรือวัฒนธรรมยอดนิยม โดยเฉพาะดนตรีมีแนวโน้มที่จะหมกมุ่นถึงตัวเองมากขึ้น โดยหยิบยืมและสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ เขาทำนายว่า ดนตรียอดนิยมกระแสหลักจะหมกมุ่นอยู่กับอดีตของตัวเองมากจนเกือบ ‘กินตัวเอง’ อย่างแท้จริง นั่นคือ บริโภคความคิด นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และอื่นๆ ของตัวเองจนเสื่อมสลายด้อยค่าลงไปอย่างน่าเบื่อหน่ายจากผู้บริโภค
แน่นอนวงการเพลงไทยสมัยนิยมพาณิชย์ศิลป์ เพลงยอดนิยมในช่วงกลางยุค 80s-90s ล้วนผลิตซ้ำจากสายการผลิตของทีมทำเพลงของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่กินรวบตลาดแบบครบวงจรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ หากคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) กับ ฟรีดริช เองเงิลส์ (Friedrich Engels) สองนักปรัชญาสังคมนิยม เคยกล่าวถึงทฤษฎีทุนนิยมไว้ว่า การแสวงหากำไรอย่างไม่ลดละของระบบทุนนิยมจะนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบและการผลิตมากเกินไป ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่อุปทานเกินความต้องการ
การขาดแคลนการขบถในวงการเพลง ทำให้ไม่สามารถคุกคามวัฒนธรรม สื่อ และโฆษณาของดนตรีพาณิชย์ศิลป์ในเมืองไทย ก็ได้มาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อเกิดการระเบิดขึ้นอย่างรุนแรงในกลางยุค 90s (ปี พ.ศ.2537) ที่น่าจดจำ…