ช่วงเย็นวันนี้ 15 พฤศจิกายน 2567 หลายคนคงกำลังมองหาสถานที่ลอยกระทง ตามความเชื่อที่ว่าเป็นการขอบคุณพระแม่คงคา ที่ให้น้ำไว้ใช้ในการเกษตรและใช้ประโยชน์อื่นๆ แต่ขณะเดียวกันแม้จะมีการรณรงค์ให้ใช้วัสดุธรรมชาติในการทำกระทงแล้ว แต่กระทงดังกล่าวก็ได้สร้างขยะลงในแหล่งน้ำจำนวนมหาศาล
ขณะที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายคนก็ได้ร่วมใจกันแชร์โพสต์ของเพจ “Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ” ซึ่งโพสต์รณรงค์อย่าลอยกระทง ไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ว่ากระทงรักษ์โลกไม่มีจริง พร้อมโพสต์ภาพประกอบว่า ไม่ว่าจะเป็นกระทงใบตอง กระทงอาหารปลา กระทงกระดาษ กระทงขนมปัง หรือกระทงน้ำแข็ง ก็ไม่ถือเป็นกระทงรักษ์โลก พร้อมระบุ 5 ปัญหาจากกระทงประเภทต่างๆ ว่า
1.ตะปู วันที่ 27 พ.ย. 2565 พบซากเต่าตนุเกยตื้นหาด ภายนอกไม่มีบาดแผล แต่เมื่อผ่าชันสูตรก็พบหมุดกระทงเต็มท้อง
2.ภาวะน้ำไร้ออกซิเจน ไม่ว่าจะ กระทงใบตอง กระทงขนมปัง กระทงอาหารปลา เมื่อมีมากเกินไปก็จะทำให้น้ำเน่า เพราะแบคทีเรียจะดึงออกซิเจนไปใช้ในกระบวนการย่อยสลายทำให้ แหล่งน้ำออกซิเจนลดลง จนสัตว์น้ำอยู่ไม่ได้ #ประเพณีอันดีงามก็จะกลายเป็นการฆาตกรรมหมู่สัตว์น้ำ
3.สารพิษจากธูปเทียน ต่อให้เป็นกระทงน้ำแข็ง สิ่งที่เหลือก็คือ ขยะธูปเทียน ที่สร้างสารพิษลงสู่แหล่งน้ำ เพราะสีย้อมก้านธูปมักเป็นสีย้อมผ้าที่เต็มไปด้วยโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว ปรอท สารหนู โครเมียม ส่วนเทียนก็มักจะทำจากพาราฟินที่เป็นผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม
4.สารเคมีจากน้ำหมึก (กรณีกระทงกระดาษ) เมื่อกระดาษละลาย สิ่งที่ปนเปื้อนแหล่งน้ำก็คือหมึกพิมพ์ที่เต็มไปด้วยสารเคมีและโลหะหนัก ส่งต่อสารพิษไปในห่วงโซ่อาหาร
5.ก๊าซมีเทนจากบ่อขยะ ต่อให้กระทงทั้งหมดถูกเก็บออกจากแหล่งน้ำ ปลายทางของมันก็คือกองรวมกันที่ภูเขาขยะ สิ่งที่เกิดตามมาคือก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บความร้อนได้ดีกว่าคาร์บอนไดออกไซค์หลายสิบเท่า
งดลอยกระทงขนมปัง
ขณะที่หลายคนเลือกกระทงขนมปัง เพื่อเป็นการให้อาหารปลาด้วยนั้น จากข้อมูลพบว่ากระทงขนมปัง ไม่ต่างจากการโยนขยะลงแม่น้ำ เพราะตัวขนมปังมันจะเปื่อยยุ่ยและเน่าเร็ว ทำให้น้ำเน่าเสีย สัตว์น้ำขาดออกซิเจนและตายในที่สุด ยกตัวอย่างที่สวนสันติภาพในปีที่แล้ว ต้องมีการฟื้นฟูบ่อน้ำถึง 4 เดือน และสัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมาก กระทงขนมปังยังจัดเก็บยาก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแบบสุดๆ ปีนี้หลายหน่วยงานจึงได้ผุดแคมเปญ ลอยกระทงออนไลน์ ลอยกระทงดิจิทัล ขึ้นเพื่อลดปริมาณขยะ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ปักหมุด 4 พื้นที่ กทม.ลอยกระทงดิจิทัล
งานลอยกระทงดิจิทัล 2024 ณ Skywalk สี่แยกปทุมวัน เขตปทุมวัน ระหว่างวันที่ 14 – 15 พฤศจิกายน 2567 เวลา 18.00 – 23.00 น. เป็นการลอยกระทงดิจิทัลในรูปแบบ Projection Mapping ใจกลางกรุง ณ จุดแลนด์มาร์กสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
งาน AEON Digital Loy Krathong – Symphony of River ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เวลา 17.00 – 23.30 น. ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิดลอยกระทงอย่างสร้างสรรค์ รักษ์โลก ผ่านระบบดิจิทัล และนำรายได้จากการจัดกิจกรรมน้อมถวายให้แด่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
งานลอยกระทงคลองโอ่งอ่าง ระหว่างวันที่ 13 – 15 พฤศจิกายน 2567 ณ คลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร พร้อมไฮไลต์การฉายภาพ Projection Mapping ของกระทงที่ออกแบบ โดยศิลปินไทยกว่า 20 คน ขึ้นบนกำแพงอาคารสูง 12 ชั้น และเปิดให้ทุกคนส่งภาพกระทงที่ออกแบบเองมาลอยขึ้นฟ้าด้วย
งานรางน้ำลอยกระทงดิจิทัล Rangnam Loy Krathong Digital ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เวลา 18.30 น. เป็นต้นไป ณ สวนสันติภาพ เขตราชเทวี
สำหรับสายกรีนที่ต้องการลอยกระทงออนไลน์ ลอยกระทงปี 2567 นี้ กรุงเทพมหานครชวนลอยกระทงแบบออนไลน์ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็ลอยกระทงในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานครได้ง่าย ๆ โดยลอยกระทงออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Greener Bangkok หรือลิงก์ greener.bangkok สามารถเลือกสวนสาธารณะที่มีให้เลือกมากถึง 34 แห่ง ยิ่งกว่านั้น กรุงเทพมหานครยังมีเกมเก็บกระทงให้ร่วมสนุก เพียงเลือกพื้นที่ที่จะเก็บกระทงพร้อมสนุกกับไอเทม และมาลุ้นรับของรางวัลรักษ์โลกสุดพิเศษ limited edition จำนวนจำกัดด้วย
นอกจากขยะกระทงแล้วปัญหาขยะในเทศกาลลอยกระทง ยังมีขยะอาหารอีกจำนวนมากที่เกิดขึ้น ทั้งเศษอาหาร ถุงใส่อาหาร หรือภาชนะต่างๆ จากการจัดงานรื่นเริง และจากสถิติของ กทม. ย้อนหลัง 5 ปี พบว่า ในปี 2566 มีขยะกระทงเพิ่มมากกว่าปี 2565 กว่า 67,000 ใบ