น้ำตาลถูกตั้งข้อสงสัยมานานว่าแท้จริงแล้วเป็นสารอาหารที่ทำลายสุขภาพ มากกว่าให้ประโยชน์หรือเปล่า เพราะน้ำตาลเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ ภาวะไขมันพอกตับ โรคไต ไขมันในเลือดสูง กรดยูริคในเลือดสูง ทำให้ฟันผุ เป็นต้น
แม้ว่าการรับประทานน้ำตาลจะส่งผลเสียต่อร่างกายขนาดไหน นอกจากความหวาน และให้พลังงานแก่ร่างกายแล้ว น้ำตาลยังช่วยให้ระบบการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย และเนื้อเยื่อต่างๆ สามารถทำงานได้เป็นปกติยิ่งขึ้น เนื่องจากอวัยวะในการหายใจ การขับปัสสาวะ ระบบการไหลเวียนของเลือด และการย่อยอาหาร ล้วนแล้วแต่ต้องการความร้อน และพลังงานจากน้ำตาลแทบทั้งสิ้น
แต่ถ้าน้ำตาลไม่ดีต่อร่างกายเราจริงๆ แล้วทำไมเราถึงอยากกินน้ำตาลนัก คำตอบแบบสั้นๆ ก็คือ น้ำตาลที่เข้าสู่กระแสเลือดจะไปกระตุ้นศูนย์ความพึงพอใจในสมองตำแหน่งเดียวกับที่ตอบสนองต่อเฮโรอีน และโคเคน อาหารที่มีรสอร่อยออกฤทธิ์ในลักษณะเดียวกันนี้ในระดับหนึ่ง เพราะอย่างนี้เราถึงรู้สึกว่าอร่อยนัก แต่น้ำตาลส่งผลร้ายอย่างชัดเจน อาจเรียกได้ว่า น้ำตาลเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง
“น้ำตาลทราย” และความหวาน อาจจัดได้ว่าเป็นสารเสพติด ที่หากไม่ได้กินก็จะมีอาหารหงุดหงิดฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด ดังนั้นการบริโภคน้ำตาลอาจจะดีกว่าการเสพยาเสพติดนิดเดียว คือ เสพแล้วไม่ได้มีอาการหลอนจนเที่ยวเอามีดไปเที่ยวไล่แทงใคร แต่การกินน้ำตาลปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน ก็เหมือนการเอามีดกรีดตัวเองให้เป็นแผลเรื้อรัง เสียเลือดทีละนิด และเมื่อรู้ตัวอีกทีก็เกิดโรคมากมาย
ดังนั้นปริมาณน้ำตาลต่อวัน ควรเลือกรับประทานน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละวันจะดีที่สุด ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ชาย-หญิงทั่วไปควรทานน้ำตาลในปริมาณวันละ 6 ช้อนชา (2 ช้อนโต๊ะ) หรือสูงสุดไม่เกิน 10 ช้อนชา หากทานในปริมาณเท่านี้ โอกาสเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพหรือโรคต่างๆ ก็ย่อมลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม นอกจากน้ำตาลแล้ว ผู้บริโภคยังควรทานคาร์โบไฮเดรตอย่างอื่นในจำนวนที่เหมาะสม เพราะคาร์โบไฮเดรตสามารถแปรสภาพเป็นน้ำตาลได้ อย่าง ข้าว และผลไม้ ซึ่งอาจทำให้คนที่ทานน้ำตาลน้อยยังมีปริมาณน้ำตาลในเลือดที่สูงได้ ทางที่ดีควรหมั่นไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก :
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
องค์การอนามัยโลก (WHO)