หากจัดวางให้ซีรีส์ สาธุ : Believers เป็น ดราม่าอาชญากรรมสืบสวน ที่สะท้อนมุมมืดในสังคม (ที่ก็รู้ๆ กันอยู่จนดูเหมือนเรื่องปกติรอบตัวเรา) ทั้ง พุทธพาณิชย์ ,โครงสร้างความฉ้อฉลที่เชื่อมโยงกับตัวละครแบบ พระ-ตำรวจ-นักการเมือง(ที่พร้อมจะถูกแปะป้ายเป็นตัวร้าย) ตลอดจนค่านิยมรวยเร็วรวยลัดของคนรุ่นใหม่
ซีรีส์ 9 ตอนที่กระแสตอบรับดี ขึ้นอันดับ 1 บน Netflix เมืองไทยเรื่องนี้ ก็ทำหน้าที่ในการเล่าเรื่องราวได้อย่างสนุก พร้อมกระตุกให้ผู้ชมฉุกคิดถึงประเด็นต่างๆ ไปจนกระทั่งตั้งคำถามกับบริบทในสังคม ได้อย่างน่าสนใจ และต้องถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร
แต่หากผู้ชม (แบบผม) ที่ตั้งความคาดหวังไว้สูงว่า เนื้อหาตลอดจนวิธีการโปรโมตอย่างขึงขัง จะทุบกระแทกไปยังแก่นกลางของปัญหาพุทธศาสนาในเมืองไทย จนสร้างผลสั่นสะเทือนอะไรบ้างนั้น ก็อาจจะแอบผิดหวังเล็กๆ
โดยมุมมองส่วนตัวยังรู้สึกว่า สามารถตั้งคำถามเจาะลึกลงไปในเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับระบบพุทธพาณิชย์ทั้งวงจร ที่กลไกในการขับเคลื่อน สินค้า-บริการ ยังทำงานตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายรูปแบบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน “ตลาดบน” ที่กำลังซื้อสูง หากถูกตั้งคำถามหรือตรวจสอบน้อยมาก (และหรือ วัดป่า ,สำนักปฏิบัติ ที่เหมือนจะมีภูมิคุ้มกันพิเศษเหนือกว่า “วัดบ้าน” ทั่วๆ ไป)
ถึงกระนั้น ถ้ารับชมเพื่อความสนุก สาธุ วางเส้นเรื่องเพื่อพาผู้ชมไปสำรวจโมเดลความสำเร็จของ “วัดภุมราม” โดยมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่พลาดท่า บาดเจ็บมาจากธุรกิจ Tech-Digital Money เป็นแกนในการประกอบสร้างหรือปั้นวัดแห่งหนึ่งให้กลายเป็นแบรนด์ที่ตอบโจทย์ด้านความเชื่อถือ ศรัทธา จนเป็นที่มาของรายได้มหาศาลภายในเวลาอันรวดเร็ว
ด้านหนึ่งผมคงต้องชื่นชมความกล้าหาญในการเลือกมุมที่จะเล่าเรื่อง ตีแผ่ ระบบผลประโยชน์ภายในวัดวัดหนึ่ง การหารายได้จากตลาดนัด ,อีเวนต์ประกวดร้องเพลง ,สร้างวัตถุมงคล ฯลฯ (แต่วิพากษ์ฝั่งลูกค้าหรือผู้ยอมจ่ายเพื่อซื้อความสบายใจ+สำแดงความศรัทธาอย่างไม่ค่อยสมเหตุสมผลน้อยไปหน่อย)
หากมุมที่ชื่นชอบมากกว่าคือ การนำเสนอตัวตนและความแปรเปลี่ยนในเชิงความคิด-เป้าหมาย-การเลือกใช้วิธีการ ของตัวละครในฝั่งสมณเพศ ทั้ง “พระดล” หรือ “พระเอกชัย”
โดยเฉพาะในเคสของ “พระดล” นั้น มีมิติทั้งการไปสู่เป้าหมาย เผยแผ่พระธรรมคำสอน (และเลือกมาเป็นพระบ้านด้วยคิดว่าจะ mass มากกว่า) หรือมิติในการสำรวจตัวเอง การต่อสู้ภายใน จากที่เคยเป็นพระป่าเคร่งปฏิบัติ มาสู่การเป็นพระที่ญาติโยมทั่วไปพึ่งพาได้มากกว่า จนขั้นสุดท้าย การตัดสินใจเลือกทำความความต้องการที่แท้จริงของใจตัวเอง
(หากนำเรื่อง part นี้ใส่เข้าไปในภาพยนตร์ ที่ต้องผ่านกระบวนการเซ็นเซอร์ ค่อนข้างแน่ใจว่าจะไม่รอด)
จุดที่ต้องให้เครดิตกับทีมงาน ทีมเขียนบท และผู้กำกับซีรีส์ อย่างมากนั่นคือ ความเอาใจใส่กับองค์ประกอบทุกๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นโลเคชัน ,พร็อบฯที่ดูสมจริง ,แคสติ้งหรือการเลือกนักแสดง ,เพลง-ดนตรีประกอบ ,วิชวลกราฟิก โดยเฉพาะที่เลือกใช้สไตล์ที่เราเห็นแล้วคุ้นๆ ตาเหมือนที่เคยดูจาก จิตรกรรมฝาผนังตามวัดทั่วไป ซึ่งทุ่มเท ตั้งใจทำ และนำมาใช้เพื่อสื่อสารได้เป็นอย่างดี
สุดท้ายก็คงต้องอวยนักแสดงที่ทำหน้าที่ได้ดีเกือบทั้งหมด หลายคนดีแบบคาดไม่ถึง
ใน 3 ตัวแสดงหลัก ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ (รับบทเป็น วิน) ทำผลงานได้ยอดเยี่ยม เล่นแบบน้อยแต่ได้มาก และนำเสนอความซับซ้อนทางความคิด อารมณ์ได้ดีเลย ขณะที่พชร จิราธิวัฒน์ (รับบทเป็น เกม) แม้จะดูล้นๆ ไปบ้างในช่วง EP แรก แต่ก็ค่อยๆ แสดงบุคลิกที่ทำให้คนดูเชื่อในความเป็นลูกคนรวยกับวิธีแก้ปัญหาในแบบของเขา
น้องแอลลี่ อชิรญา นิติพน (รับบทเป็น เดียร์) ก็ตอบโจทย์ในความเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในทีม ติดนิดเดียวคือการส่งความรู้สึกไปที่ “วิน” เพื่อนกึ่งคนพิเศษนั้นบางไปหน่อย (เอาจริงๆ love story line แบบรักสามเส้าของ วิน-เดียร์-พระดล น่าจะปั้นให้ นัวเนียซับซ้อน และน่าขยี้ได้อีกนะ)
ที่คาดไม่ถึงและดึงดูดให้ติดตามดูพัฒนาการจากคาแรกเตอร์ “พระ” ของพวกเขาคือ พัฒน์ชัย ภักดีสู่สุข หรือ ปั๊บ โปเตโต้ (รับบทเป็น พระดล) พระป่าที่เจอสาวแล้วดันหวั่นไหว แต่ก็กล้าหาญพอที่จะเดินตามความรู้สึกแท้ๆ ของตัวเอง ขณะที่ เผ่าเพชร เจริญสุข (รับบทเป็น พระเอกชัย) ซึ่งต้องแสดงด้วยสายตา บนหน้านิ่งๆ สำรวม นั้นสามารถทำให้ผู้ชมเชื่อในความเป็นตัวละครแบบลึกลับ เทาๆ ได้ดีเลย
อีก 2 นักแสดงที่ถูกใจเป็นการส่วนตัวคือ ปราโมทย์ แสงศร (รับบทเป็นตำรวจ) ที่บุคลิกไม่น่าไว้วางใจ และมาเดินเกมไล่ล่า เปิดโปงความไม่ถูกต้องในวัดได้อย่างมีสีสัน เช่นเดียวกับ ภราดร เวสุไร (รับบทเป็น ทนายยศภัทร์) มีลีลาแสบ กวนโอ๊ยจนอดนึกถึงทนายในตำนานอย่าง Saul Goodman (ซีรีส์ Better call Saul) กันเลยทีเดียว
ครึ่งทางของซีรีส์ อาจอืดเอื่อยไปสักนิด แต่เมื่อขมวดปมต่างๆ มัดรวมแล้ว ปรากฎว่า ep 7,8,9 เร้าใจ มีบทสนทนาที่คมคาย เปิดพื้นที่ให้ ธีรดลย์ และ ปราโมทย์ เชือดเฉือนกันอย่างเข้มข้น
พร้อมกับคำถามที่ล้วนแหลมคมทั้งสิ้นว่า ถ้าการบิ้วศรัทธา, ขยายบริการตอบสนองความเชื่อของญาติโยม อาทิ นอนโลงสะเดาะเคราะห์ ลอดโบสถ์ ลอดท้องช้าง ฯลฯ (ที่ไม่ดูเป็นพุทธเอาเสียเลย) , การเปิดตลาดวัตถุมงคลด้วยกลยุทธ์การพีอาร์ที่เหนือชั้น แบบที่วัดภุมารามทำ ถือเป็นความผิด และต้องกวาดล้างกันอย่างจริงจัง มันจะเหลือวัดไทยที่โปร่งใสปราศจากผลประโยชน์ให้กราบไหว้กันซักกี่วัด??
ทั้งยังชวนให้คิดว่าถ้าปมที่ทิ้งไว้เป็นเชื้อสำหรับซีซั่น 2 มันเวิร์ก (กับเรตติ้ง/รายได้เข้าเป้า) ผู้สร้าง ผู้กำกับ ทีมเขียนบท จะเลือกแนวทางฉายภาพกว้างให้เห็นมุมมอง 180-360 องศา ต่อไป หรือดันบาร์ โฟกัสเข้าไปในประเด็นถกเถียงต่อวิถีพุทธให้แตกหักกันไปข้างหนึ่ง
เอาเป็นว่าใครยังไม่ได้ชม ก็ขอกราบเรียนเชิญท่านผู้มีจิตศรัทธามา ณ ทีนี้ละครับ
ขอบคุณภาพจาก : Netflix