หลายคนที่ได้ชมภาพยนตร์ไทยเรื่อง “มนต์รักนักพากย์” (กำกับโดย “นนทรีย์ นิมิบุตร”) ทางเน็ตฟลิกซ์ ดูจะประทับใจกับบทบาทของตัวละคร “ลุงหมาน” มากเป็นพิเศษ
“ลุงหมาน” ในหนังไทยที่ย้อนรำลึกถึงอดีตอันงดงามของวงการภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้ รับบทโดย “สามารถ พยัคฆ์อรุณ” ซึ่งเป็นคนที่มีความสามารถหลากหลายด้านจนน่าทึ่ง
สังคมไทยเริ่มรู้จักสามารถในฐานะยอดมวยไทย เจ้าของเข็มขัดแชมป์เวทีลุมพินีถึงสี่รุ่น ก่อนที่เขาจะหันไปต่อยมวยสากล และก้าวขึ้นไปเป็นแชมป์โลกรุ่น 122 ปอนด์ของสภามวยโลก (WBC)
หนึ่งในไฟต์แห่งความทรงจำ คือ ครั้งที่เขาป้องกันแชมป์โลก เอาชนะน็อก “ฆวน คิด เมซา” ผู้ท้าชิงชาวเม็กซิกันไปอย่างงดงาม
แต่ชีวิตนักต่อสู้ย่อมมี “บาดแผล” เมื่อสามารถพลาดท่าเสียแชมป์โลก โดยพ่ายทีเคโอต่อ “เจฟฟ์ เฟเนค” ยอดนักชกชาวออสเตรเลียไปอย่างย่อยยับ
แม้จะมีการให้เหตุผลว่าเจ้าตัวพ่ายแพ้เพราะการ “อ่อนซ้อม” และเริ่มคุมน้ำหนักตัวไม่ได้ ทว่า คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยสมัยนั้นกลับเชื่อข่าวลือที่กล่าวหาว่าสามารถ “ล้มมวย” จนเขาต้องไปทำพิธีสาบานที่วัดพระแก้วและออกบวชอยู่พักหนึ่ง
หลังจากนั้น สามารถจึงหันเหตนเองเข้าสู่วงการบันเทิง โดยเป็นทั้งนักแสดงและนักร้อง
ในด้านการแสดง แม้สามารถจะเริ่มต้นด้วยการรับบทบาทใน “หนังบู๊” แต่เขาก็มีโอกาสได้รับงานแนว “ดราม่าหนักๆ และซับซ้อน” เช่น การสวมบทพระเอกในละครโทรทัศน์เรื่อง “ช่างมันฉันไม่แคร์” (2536) ของ “ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” (หม่อมน้อย)
ในวงการเพลงไทย สามารถก้าวถึงจุดพีก ด้วยการออกอัลบั้มสามชุดกับค่ายแกรมมี่ ระหว่าง พ.ศ.2532-2535 เริ่มต้นด้วย “ร็อคเหน่อๆ” “อารมณ์ดี” และ “คันไม้ คันไมค์”
ผลงานของสามารถมีจุดเด่นตรงการใช้จังหวะและท่วงทำนองดนตรีแบบเพลงป๊อป-ร็อกยุคใหม่ มาผสมผสานเข้ากับเพลงสามช่า-ลูกทุ่งได้อย่างสนุกสนาน
ส่วนทางด้านเนื้อหา ก็เน้นการมองโลกในแง่ดี มีจิกกัดตัวเองบ้าง (เช่น เพลง “อ่อนซ้อม”) หรือมีมุขใต้สะดือแบบเนียนๆ นิดๆ หน่อยๆ (เช่น เพลง “หย่อนเป็นธรรมดา”) แต่ก็ไม่ละเลยจะกล่าวถึงคนเล็กคนน้อย-คนระดับล่างในสังคม (เช่น เพลง “น้ำพริกปลาทู”)
นอกจากนี้ ผลงานเพลงทั้งสามชุดที่สามารถทำกับบริษัทแกรมมี่ ยังมีสถานภาพสำคัญและน่าสนใจไม่น้อย ท่ามกลางยุคเปลี่ยนผ่านหรือยุคแห่งการเติบโตแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมเพลงไทยช่วงปลาย 80 ต่อต้น 90
ด้านหนึ่ง คนที่รับผิดชอบดูแลงานภาคดนตรีให้กับทั้งสามอัลบั้มนี้ ก็คือ “กริช ทอมมัส” (ที่ใช้นามแฝงในการแต่งทำนองเพลง-เรียบเรียงดนตรีว่า “นายตี่” และ “นายกริช”) ซึ่งต่อมา จะกลายเป็นผู้ก่อร่างสร้างอาณาจักร “แกรมมี่โกลด์” ที่ทำให้แกรมมี่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในแวดวงเพลงลูกทุ่ง
อีกด้านหนึ่ง ถ้าเราไปเปิดดูเครดิตคนเขียนเนื้อเพลงในผลงานของสามารถ ก็จะพบข้อมูลน่าสนใจว่า บุคลากรที่แต่งคำร้องให้แก่บทเพลงดังๆ ของ “นักมวยระดับแชมป์โลก-แชมป์ลุมพินี” และมีบุคลิกเป็น “เพลย์บอยเจ้าสำราญ” นั้น ล้วนแล้วแต่เป็น “นักแต่งเพลงเด็กชั้นยอด” แห่งยุค 80 ทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็น “ประชา พงศ์สุพัฒน์” (น้าประชา แห่งสโมสรผึ้งน้อย) ซึ่งใช้นามปากกาว่า “นายประชา” หรือ “วีระศักดิ์ ขุขันธิน” (น้าวี สองวัย) ซึ่งใช้นามปากกาว่า “นายวีระศักดิ์”
สาเหตุที่แกรมมี่เลือกใช้บริการนักแต่งเพลงสายนี้ คงเป็นเพราะสามารถมีบุคลิกดูซื่อๆ ง่ายๆ จริงใจๆ ไม่ต่างอะไรจาก “เด็กที่ยังมีความคิดซื่อใสบริสุทธิ์”
และนี่ก็คือบทเพลง “ฮิต” เมื่อกว่าสามทศวรรษก่อน ของ “สามารถ พยัคฆ์อรุณ” หรือ “ลุงหมาน มนต์รักนักพากย์”