วัด หรือกล่าวโดยจำเพาะลงไป คือ อาคาร และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัด เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ เมรุ ที่ก่อสร้างอย่างสวยงามมีลิขสิทธิ์หรือไม่
หากมีผู้นำรูปถ่ายอาคารต่างๆ ภายในวัด ไปใช้ประโยชน์ในเชิงการค้า เช่น พิมพ์บนกล่องขนม พิมพ์บนเสื้อ พิมพ์บนกระดาษเป็นโปสการ์ด โดยไม่ขออนุญาตจากผู้ออกแบบสร้างอาคารดังกล่าว หรือบนบรรจุภัณฑ์อื่นๆสำหรับสินค้า โดยไม่ขออนุญาตหรือโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ออกแบบ ผู้ก่อสร้าง หรือจากวัด ฯลฯ ดังนี้ จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้นั้นหรือไม่
วัดอื่นๆ หรือสถานที่อื่นๆ อาจไม่มีปัญหามากเท่ากับวัดที่มีผู้สร้าง หรือออกเงินสร้างวัดหรือบูรณะวัดนั้นๆ ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งก่อสร้างนั้นวิจิตรสวยงามอลังการเป็นที่ชื่นชมกันทั่วไปว่าสร้างได้วิจิตรสวยงามยิ่งนัก
ผู้ออกแบบสร้างอาคารต่างๆ ที่วัดนั้น สามารถอ้างความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในรูปแบบต่างๆ ของอาคารในวัดที่ตนสร้างมาได้หรือไม่
ลองมาดูกฎหมายลิขสิทธิ์ หรือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ที่เกี่ยวด้วยเรื่องนี้กัน
โดยมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.นี้บัญญัติถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ไว้ว่ามีงานใดบ้าง
มาตรา 6 “งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ได้แก่งานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ของผู้สร้างสรรค์ไม่ว่างงานดังกล่าว จะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด
การคุ้มครองลิขสิทธิ์ ไม่ครอบคลุมถึงความคิดหรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ หรือวิธีใช้ หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์”
จะเห็นว่ามีงานศิลปกรรมบัญญัติไว้ด้วย ขณะที่บทบัญญัติในมาตรา 4 บัญญัติความหมายของคำว่า “ศิลปกรรมไว้ คือ
“ศิลปกรรม” “หมายความว่า งานอันมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้
(4) งานสถาปัตยกรรม ได้แก่งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง งานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอก ตลอดจนบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรือการสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง”
จากบทบัญญัติมาตรา 6 และมาตรา 4 นิยามคำว่า “ศิลปกรรม” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง (4) งานสถาปัตยกรรม ดังกล่าวข้างต้น อ่านแล้วอาจทำให้เข้าใจไปได้ว่า รูปแบบงานอาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัด น่าจะเป็นงานศิลปกรรม ประเภทสถาปัตยกรรม ที่ได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ
แต่หากพิจารณาดูจะพบว่าไม่ใช่ เนื่องจากงานสถาปัตยกรรม ตามบทบัญญัตินั้น จะพบว่า
” งานสถาปัตยกรรมพอสรุปได้ว่าได้แก่งาน 4 ชนิดคือ
งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน สถานที่ราชการหรือวัดวาอาราม แบบในที่นี้หมายถึง แบบในชั้นที่สามารถนำไปใช้ก่อสร้างได้แล้วไม่ใช่เป็นเพียงสเก็ทช์ ซึ่งยังคงอยู่ในขั้นความคิดเท่านั้น
งานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอกอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างเช่น แบบห้องรับแขก แบบห้องน้ำแบบผนังตึกภายนอกเป็นต้น
งานออกแบบตกแต่งบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง เช่น แบบสนามหญ้า แบบกำแพงรั้ว แบบสวนหย่อมเป็นต้น
งานออกแบบสร้างหุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง เช่น แบบหุ่นจำลองแบบอาคารสรรพสินค้า แบบหุ่นจำลองสะพานข้ามแม่น้ำ เป็นต้น
มีข้อน่าสังเกตว่า รูปแบบของการแสดงออกซึ่งความคิดที่ถือเป็นงานสถาปัตยกรรมอันมีลิขสิทธิ์ คืองานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง หรืองานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอกอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง หรืองานออกแบบตกแต่งบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง หรืองานออกแบบสร้างหุ่นจำลองอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง ที่เป็นแบบสมบูรณ์พร้อมที่จะใช้ก่อสร้างหรือทำตามแบบนั้นได้
ตัวอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทำขึ้นตามแบบนั้น มิใช่งานสถาปัตยกรรม แต่เป็นทรัพย์ที่มีรูปร่างหรืออสังหาริมทรัพย์
ดังนี้ การถ่ายรูปบ้านหรืออาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใดที่สร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรม บ้านหรืออาคารหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น จึงมิใช่การทำซ้ำหรือดัดแปลงซึ่งงานสถาปัตยกรรมอันมีลิขสิทธิ์ เพราะมิใช่เป็นการกระทำต่อตัวงานออกแบบบ้านหรืออาคารหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น
สำหรับผู้นำภาพถ่ายบ้านหรืออาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง มาใช้ในการออกแบบบ้านหรืออาคารหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างบ้านหรืออาคารหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ก็มิใช่การทำซ้ำหรือดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานสถาปัตยกรรม เพราะภาพถ่ายนั้น มิใช่งานออกแบบบ้านหรืออาคารหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น แต่เป็นเพียงการนำภาพถ่ายมาเป็นแนวความคิดในการออกแบบบ้านหรืออาคารหรือสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น ซึ่งแนวความคิดในการออกแบบดังกล่าวเป็นสิ่งที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 6 วรรคสอง มิได้ให้ความคุ้มครอง
การกระทำดังกล่าว จึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสถาปัตยกรรม “
(อ้างอิง ปริญญา ดีผดุง ประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา บรรยายกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ครั้งที่ 2 วันที่ 1 มิถุนายน 2560 เนติบัณฑิตยสภา)
ดังนี้ จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า ภาพถ่ายสิ่งก่อสร้างภายในวัด หรือสถานที่อื่นๆ การถ่ายภาพนั้นแล้วนำมาใช้ บนสิ่งห่อหุ้ม ภาชนะ หรือบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ใดๆก็ตาม หาได้เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ผู้ก่อสร้างอาคาร สวยงามนั้นไม่ ภาพถ่ายนั้นเสียอีก อาจเป็นภาพถ่ายที่มีลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ หากว่า ผู้ถ่ายได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะ สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา