การนอนหลับมีความสำคัญต่อสุขภาพของคนเรา หากนอนน้อยหรือพักผ่อนไม่เพียงพอก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ล่าสุดนายแพทย์สมรส พงศ์ละไม แพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Somros MD Phonglamai ระบุว่า พบคนไข้อัมพาตอายุน้อยสุดที่หมอฟื้นฟูสมองให้ อายุ 17 ปี ปัจจัยหนึ่งที่พบได้บ่อยในยุคนี้คือ “นอนดึก นอนน้อย” โดยระบุว่าสาเหตุเกิดจาก stroke (โรคหลอดเลือดสมอง)
ส่วนวัคซีนโควิด เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคด้วยหรือไม่ นายแพทย์สมรส ได้ตอบคำถามนี้ว่าเป็นปัจจัยที่น่าคิด เจอหลายเคสเหมือนกันที่น่าสงสัย แต่ไม่มีใครฟันธงให้ได้
สำหรับใครต้องการจะตรวจเบื้องต้น สามารถตรวจได้ประมาณ 80-90% ไม่มีอะไร 100% รพ.เอกชน จะมีโปรแกรมตรวจ stroke screening เช่น MRI MRA Brain, US carotid, EEG ตรวจเลือดต่างๆ ฯลฯ แต่ต้องจ่ายเงินเอง เท่าที่เห็น < 20,000 บาท เหมาะกับคนที่จ่ายเองได้ และ การนอนดึกตื่นสาย ก็ถือว่ามีความเสี่ยง
การนอนสำคัญต่อสุขภาพอย่างไร
ขณะที่ เว็บไซต์ของโรงพยาบาลวิภาวดี ได้ให้ข้อมูลเรื่องความสำคัญของการนอนไว้ว่าการนอนหลับมีความสำคัญต่อสุขภาพของคนเรา ร่างกายเรายอมสละเวลาถึง 1 ใน 3 ของชีวิตไปกับการนอน โดยในช่วงที่เราหลับนั้นร่างกายจะเข้าสู่สภาวะที่การรับรู้ของร่างกายแยกตัวออก และลดการตอบสนองจากสิ่งแวดล้อมชั่วคราว และในช่วงนี้เองหลายๆ ระบบในร่างกายจะมีการพักผ่อนเกิดขึ้น แต่บางระบบของร่างกายโดยเฉพาะสมองจะยังคงทำงานต่อเนื่อง โดยอาศัยการควบคุมจากสมดุลของสารสื่อประสาท ทำให้เกิดการหลับในระยะต่าง ๆ ได้แก่ หลับเงียบ (Non-rapid eye movement sleep; NREM) และ หลับฝัน (Rapid eye movement sleep; REM) นอกจากนี้ช่วงที่หลับยังมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่แตกต่างไปจากขณะตื่น ได้แก่
1.เร่งซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ชำรุดและเร่งสร้างโปรตีนสำหรับนำไปใช้ในวันต่อไป (Restoration of tissue)
2.ควบคุมฮอร์โมนในร่างกายให้เป็นปกติ (Hormonal control)
3.พัฒนาระบบประสาท อารมณ์ ความจำ (Neural maturation, regulation of emotions and memory)
4.กำจัดโปรตีนผิดปกติออกจากสมอง (Protein misfolding clearance)
พร้อมแนะนำ 10 วิธีที่ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น (Sleep hygiene)
1.ควรเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน ทั้งวันทำงานปกติและวันหยุด
2.ห้องนอนควรเงียบสงบ สบาย อุณหภูมิพอเหมาะ ไม่มีเสียงหรือแสงรบกวนขณะหลับ
3.เตียงนอนมีไว้สำหรับนอน ไม่ควรทำกิจกรรมอื่น ๆ บนเตียง เช่น โทรศัพท์ กินอาหาร อ่านหนังสือ เป็นต้น (เป็นการฝึกให้ร่างกายสัมพันธ์กับเตียงอย่างมีประสิทธิภาพ พอร่างกายอยู่บนเตียงนอนจะสามารถหลับได้อย่างรวดเร็ว)
4.หลีกเลี่ยงการงีบหลับตอนกลางวัน ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ควรงีบกลางวันเกิน 30 นาทีและหลังบ่าย 3 โมง
5.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม ช็อกโกแลต) แอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และอาหารมื้อหนักอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
6.ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
7.หลีกเลี่ยงการมองแสงจ้า ๆ เช่น การเล่น smartphone หรือ tablet ก่อนเข้านอน (แสงโดยเฉพาะแสงสีน้ำเงินจะกดฮอร์โมนเมลาโทนิน ทำให้หลับยาก)
8.หลีกเลี่ยงการมีอารมณ์ขุ่นเคือง ตื่นเต้นสนุกสนาน หวาดกลัว เช่น การโต้เถียง การดูภาพยนตร์ตื่นเต้นสยองขวัญก่อนเข้านอน
9.หากนอนไม่หลับภายใน 20 นาที ไม่ควรกังวล ไม่ควรมองนาฬิกา ควรลุกจากที่นอนเพื่อทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกเตียงนอน เช่น นั่งอ่าน
หนังสือ ฟังเพลง หรือสวดมนต์ แล้วกลับมาที่เตียงนอนอีกครั้งเมื่อเริ่มง่วงนอนเท่านั้น
10.รับแสงแดดให้เพียงพอในตอนเช้าอย่างน้อยวันละ 30 นาที เนื่องจากแสงแดดเป็นตัวควบคุมนาฬิกาชีวิตที่สำคัญ
ขอบคุณข้อมูลการนอนหลับจาก : แผนกอายุรกรรม รพ.วิภาวดี