เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานผลการโหวตโพลการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของสองสื่อสารมวลชนชั้นนำระดับประเทศ “มติชน x เดลินิวส์ โพลเลือกตั้ง ’66 ครั้งที่ 2” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22-28 เมษายน 2566 ผ่านช่องทางออนไลน์กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค ทุกระดับอายุ อาชีพ การศึกษา และรายได้ทั่วประเทศ รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 78,583 โหวต ทั้งนี้ เมื่อนำจำนวนการโหวตครั้งที่ 2 ดังกล่าวมาบวกรวมกับการโหวตรอบแรก ทำให้มียอดโหวตโพลเลือกตั้ง ’66 ครั้งนี้มากถึง 162,659 โหวต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฉพาะการสำรวจโพล “มติชน x เดลินิวส์ โพลเลือกตั้ง ’66 ครั้งที่ 2” ผ่านช่องทางออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.matichon.co.th/thai-election66-poll/poll2/ ของสื่อเครือมติชน ประกอบด้วย มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ มติชนสุดสัปดาห์ มติชนทีวี และ https://www.dailynews.co.th/election-2566/poll/ ของเดลินิวส์ ที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 78,583 ราย พบข้อมูลดังนี้ คำถามหัวข้อที่ 1 ท่านจะเลือกผู้สมัคร ส.ส.เขตจากพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง 2566 พบว่า ในกลุ่ม 10 อันดับแรกนั้น อันดับ 1 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 47.97, อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 35.78, อันดับ 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 5.75, อันดับ 4 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 2.69, อันดับ 5 พรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 1.56 , อันดับ 6 ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 1.33, อันดับ 7 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 1.18 , อันดับ 8 พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 1.05, อันดับ 9 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 1.02 และอันดับ 10 ไม่เลือกส.ส.เขต จากพรรคใดทั้งสิ้น ร้อยละ 0.56 ทั้งนี้ พรรคชาติไทยพัฒนา ผลโหวตรอบสองออกมาร้อยละ 0.26 ส่วนพรรคเสรีรวมไทยอยู่ที่ร้อยละ 0.51
ต่อด้วยหัวข้อคำถามที่ 2 ท่านจะเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) พรรคใดในการเลือกตั้ง 2566 พบว่า ในกลุ่ม 10 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับ 1 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 50.29, อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 33.65 , อันดับ 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 6.05 , อันดับ 4 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 2.46, อันดับ 5 พรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 1.60, อันดับ 6 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 1.05, อันดับ 7 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 1.01, อันดับ 8 พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 1.01, อันดับ 9 ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 0.96 และอันดับ 10 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 0.70 สำหรับพรรคชาติไทยพัฒนา ผลอยู่ที่ร้อยละ 0.26
หัวข้อคำถามที่ 3 ท่านจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้ง 2566 พบว่า ในกลุ่ม 10 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับ 1 นายพิธา ลิมเจริญรัตน์ ร้อยละ 49.17 (พรรคก้าวไกล), อันดับ 2 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 19.59 (พรรคเพื่อไทย), อันดับ 3 นายเศรษฐา ทวีสิน ร้อยละ 15.54 (พรรคเพื่อไทย), อันดับ 4 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 6.52 (พรรครวมไทยสร้างชาติ), อันดับ 5 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ร้อยละ 2.35 (พรรคพลังประชารัฐ), อันดับ 6 นายกรณ์ จาติกวณิช ร้อยละ 1.74 (พรรคชาติพัฒนากล้า ), อันดับ 7 ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 1.18, อันดับ 8 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 1.04 (พรรคไทยสร้างไทย), อันดับ 9 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ร้อยละ 0.84 (พรรคพรรคเสรีรวมไทย) และอันดับ 10 นายอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 0.64 (พรรคภูมิใจไทย)
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ผลโหวตรอบสอง หัวข้อที่สาม “ท่านจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้ง 2566” ในส่วนของแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยนั้น เมื่อนำเอาคะแนนของ น.ส.แพทองธาร บวกกับ นายเศรษฐา รวมกันจะอยู่ที่ร้อยละ 35.13 ขณะที่ในการโหวตโพลรอบแรกนั้น พบว่า นายพิธาผลโหวตรอบแรก ติดอันดับหนึ่งเช่นกัน ด้วยคะแนนโพลร้อยละ 29.42 ตามด้วยโพลรอบสองปรับสูงขึ้นเป็นร้อยละ ร้อยละ 49.17 ส่วนน.ส.แพทองธาร และนายเศรษฐา คะแนนโหวตทั้งสองรอบใกล้เคียงกัน ด้านพล.อ.ประยุทธ รอบแรกได้ ร้อยละ 13.72 และรอบสอง ลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 6.52
หัวข้อคำถามที่ 4 ท่านเห็นว่า สมาชิกวุฒิสภา หรือ “ส.ว.” ควรโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดหรือไม่ ได้ผลลัพธ์ดังนี้ ควรเลือกแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุด ร้อยละ 82.54 และเลือกจากพรรคการเมืองใดก็ได้ ร้อยละ 17.46
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มตัวอย่างผู้ร่วมโหวตออนไลน์ “มติชน x เดลินิวส์ โพลเลือกตั้ง ’66 ครั้งที่ 2” 78,583 ราย แยกเป็นกลุ่มช่วงอายุ 42-57 ปี หรือ “GEN-X” ร่วมโหวตมากที่สุดอันดับที่ 1 คือร้อยละ 31.48, อันดับ 2 ช่วงอายุ 26-41 ปี หรือ “GEN-Y” ร้อยละ 29.85, อันดับ 3 ช่วงอายุ 58-76 ปี หรือ “เบบี้บูมเมอร์” ร้อยละ 22.48, อันดับ 4 ช่วงอายุ 18-25 ปี หรือ “GEN-Z” ร้อยละ 15.38 และอันดับ 5 ช่วงอายุ 77 ปีขึ้นไป หรือ “Silent-GEN” ร้อยละ 0.81 ส่วน 10 จังหวัดแรกที่มียอดผู้ร่วมตอบโพลสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี, เชียงใหม่, สมุทรปราการ, ชลบุรี, นครราชสีมา, อุบลราชธานี, ขอนแก่น, เชียงราย
นอกจากนั้น เพื่อให้การวิเคราะห์ผลโพล “มติชน x เดลินิวส์ เลือกตั้ง ’66” ทั้งรอบแรกและรอบที่สองดังกล่าวมีความลึกและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น กองบก.ทั้งมติชนและเดลินิวส์ ยังได้จับมือกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เข้ามาร่วมนำข้อมูลผลโพลไปวิเคราะห์เพิ่มเติมในแง่มุมทางวิชาการเพื่อเตรียมเผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป
ทั้งนี้ การโหวตโพล “มติชน x เดลินิวส์ เลือกตั้ง ’66” เมื่อนำข้อมูลผลโพลทั้งสองรอบไปวิเคราะห์เจาะลึกในเชิงวิชาการเรียบร้อยแล้ว กองบก.สื่อเครือมติชน ประกอบด้วย มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ มติชนสุดสัปดาห์ มติชนทีวี และเครือเดลินิวส์ ร่วมกับตัวแทนอาจารย์วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ฯ จะร่วมกันจัดเวทีวิเคราะห์ผลโพลทั้งสองรอบ พร้อมกับไลฟ์สตรีมถ่ายทอดสดผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของสื่อทั้งสองเครือต่อไป ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. ของวันศุกร์ที่ 5 พ.ค. 2566