HelloFresh ผู้ให้บริการอาหารชุดระดับโลกมีคำสั่งแบนการจำหน่ายกะทิที่ส่งออกมาจากประเทศไทย หลังจากที่องค์กรพิทักษ์สัตว์ (People for the Ethical Treatment of Animals : PETA) กล่าวหาว่า เกษตกรไทยใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าว โดยทางบริษัทยืนยันกับสำนักข่าว Axios ว่า จะไม่ยินยอมให้มี “การทารุณกรรมสัตว์ทุกรูปแบบอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของเรา” และบริษัทจะใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่สั่งซื้อกะทิจากไทย
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลายบริษัทหยุดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทย หลังจาก PETA ได้ออกมารณรงค์โดยอ้างว่าจากการลงพื้นที่ตรวจสอบสวนมะพร้าวในไทยหลายแห่งพบลิงถูกล่ามโซ่และถูกบังคับให้ต้องปีนเก็บมะพร้าววันละหลายชั่วโมง
อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยออกมาปฏิเสธข้อกล่าวอ้างดังกล่าวของ PETA โดยระบุว่าวิธีเก็บมะพร้าวแบบดั้งเดิมที่ใช้ลิงปีนขึ้นไปเก็บนั้นแทบจะไม่หลงเหลืออยู่แล้วในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในตอนนี้ใช้คนและเครื่องจักรทำงานแทน
ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรระบุว่า ในปี 2564 ประเทศไทยส่งออกกะทิประมาณ 236,323 ตัน คิดเป็นมูลค่า 12,800 ล้านบาท พร้อมกับออกใบรับรองให้กับสวนมะพร้าวที่ผ่านการตรวจสอบเพื่อลดข้อกังวลเกี่ยวกับการทารุณกรรมสัตว์
“วินเซนต์ นิจมาน” ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาและหัวหน้ากลุ่มวิจัยค้าสัตว์ป่า ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดบรูกส์ ซึ่งทำการวิจัยเกี่ยวกับสวัสดิภาพของลิงที่เก็บมะพร้าวในประเทศไทยระบุว่า การใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าวส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย และมีการใช้แรงงานลิงกังเหนือและลิงกังใต้ด้วย ซึ่งลิงกังเหนือเป็นสัตว์ที่ถูกจัดให้อยู่ในบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ขณะที่ลิงกังใต้ถูกจัดอยู่ในบัญชีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์
ขณะที่นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ระบุว่า ที่ผ่านมากรมได้ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป จัดทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง และออกแถลงการณ์ของสมาคมฯ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการปลูกและเก็บมะพร้าว ซึ่งไม่ได้ใช้แรงงานลิงในอุตสาหกรรมส่งออก เผยแพร่ต่อผู้นำเข้าหรือห้างที่จำหน่ายสินค้าในหลายโอกาสอย่างต่อเนื่อง และผู้นำเข้าส่วนใหญ่เข้าใจวัฒนธรรมของไทย และที่สำคัญ มะพร้าวที่เข้ามาแปรรูปในอุตสาหกรรม ใช้แรงงานคนและเครื่องจักร สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ส่วนลิงขึ้นมะพร้าวเป็นวิถีชีวิตชุมชนที่อยู่คู่กันมานาน และไม่ได้เข้าไปอยู่ในระบบอุตสาหกรรมแต่อย่างใด
รวมทั้งได้ชี้แจงไปยัง PETA ว่า ผู้ผลิตกะทิสำเร็จรูปไทยมีมาตรฐานในการผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานนานาชาติ ทั้งกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน การมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การมีสวัสดิการที่ดีให้แรงงาน รวมถึงการค้าอย่างเป็นธรรมกับเกษตรกร รวมถึงเน้นย้ำว่า ประเทศไทยมีการออก พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 อีกทั้งเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ทุกภาคส่วน มีการเร่งดำเนินการทำ No-monkey Farm list แล้ว
แหล่งอ้างอิงข้อมูล