นอกจากตำแหน่งสาวงามผู้ครองมงกุฎแห่งจักรวาลคนที่ 71 ในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2022 ที่ “R’Bonney Gabriel” สาวงามเชื้อสายฟิลิปปินส์-อเมริกัน วัย 28 ปี ตัวแทนจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้ไปครอง ในการประกวดปีนี้ก็ยังมี “รางวัลพิเศษ” อื่นๆ ที่มอบให้กับสาวงามด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
รางวัล Transformational Leadership Awards ImpactWayv
รางวัลผู้สร้างอิมแพคให้แก่สังคม สาวงามผู้ที่คว้ารางวัลนี้ได้แก่ “แอนนา เสืองามเอี่ยม” ตัวแทนสาวไทย จากชุด “Hidden Precious Diamond Dress” ที่ทำขึ้นมาจากห่วงกระป๋องอะลูมิเนียม ผลงานการออกแบบโดย “Maneerat” ที่กลายเป็นไวรัลระดับโลก
รางวัลพิเศษที่องค์กรมิสยูนิเวิร์ส ร่วมกับ ImpactWayv เก็บข้อมูลจากการสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมของสาวงาม ซึ่งถือเป็นรางวัลพิเศษที่เพิ่มขึ้นมาในการประกวดนี้เป็นครั้งแรก ในยุคการถือครองของ “แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” สาวข้ามเพศคนไทยที่เป็นเจ้าขององค์กรมิสยูนิเวิร์ส
รางวัล Congeniality Award
รางวัลนางงามมิตรภาพตกเป็นของสองสาว “Sofia Depassier” สาวงามจากชิลี และ “Maxine Formosa Gruppetta” จากประเทศมอลตา ที่ได้รับรางวัลนางงามมิตรภาพไปครอง โดยคัดเลือกจากบรรดา 84 สาวงาม ที่เป็นมิตรและใจดีที่สุด ตัดสินโดยเปิดให้บรรดาสาวงามผู้เข้าประกวดลงคะแนนกันเอง
ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่สาวงามจากประเทศมอลตาได้รับตำแหน่งระหว่างการประกวดมิสยูนิเวิร์ส
รางวัล Spirit of Carnival Award
รางวัลที่มอบให้กับสาวงามในรอบการประกวดชุดประจำชาติ ที่ในปีนี้เป็นของ “Viktoria Apanasenko” ตัวแทนสาวงามจากประเทศยูเครน วัย 28 ปี จากชุด “นักรบแห่งแสง” หรือ “WARRIOR OF LIGHT” ที่แสดงสัญลักษณ์การต่อสู้กับความมืดของชาวยูเครน หลังเผชิญกับความขัดแย้งครั้งใหญ่จากการถูกรัสเซียโจมตีและรุกรานมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว
“เครื่องแต่งกาย นักรบแห่งแสงสว่าง เป็นการแสดงตัวตนของความแข็งแกร่งภายในของชาวยูเครน ความกล้าหาญ ความมุ่งมั่น และความรักในอิสรภาพที่ไหลเวียนอยู่ในเลือดของเรา ในขณะที่สร้างชุดนี้เราต้องการใส่แนวคิดที่ว่าสงครามไม่สามารถทำลายความแข็งแกร่งของเราและไม่ทำให้หัวใจของเราเปลี่ยนไป
ยูเครนจะเกิดใหม่เหมือนนกฟีนิกซ์และจะเปล่งประกายด้วยแสงแห่งความเมตตาและศรัทธาที่สดใส นอกจากนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงทุกคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ และอนาคตของเธอ เราแต่ละคน คือ นักรบแห่งแสง”
โดยเรฟของชุดมาจากอัครเทวทูตมิคาเอลที่ปกป้องประเทศด้วยดาบ ชุดทำจากจัมพ์สูทขนาดใหญ่ สวมทับด้วยชุดเกราะสีน้ำเงินและสีทองตามสีของธงชาติยูเครน มีปีกเทวทูตที่สื่อเหมือนว่าถูกเผาในสนามรบ โดยไฮไลท์ที่ทำให้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากคือปีกที่สามารถขยับได้นั่นเอง ใช้เวลาในทำนานถึง 4 เดือน ตัวชุดออกแบบโดย Lesia Patoka และ Nagolovy ส่วนปีกจากแบรนด์ The Crooked Feather
โดย Spirit of Carnival Award เป็นชื่อรางวัลใหม่ที่มาแทนชื่อ Best National Costume หรือรางวัลชุดประจำชาตินั่นเอง
รางวัล Fan Vote
รางวัลที่มาจากการโหวตของแฟนนางงามทั่วโลก ผ่านทางเว็บไซต์ missuniverse.com เพื่อให้สาวงามผ่านเข้ารอบ 16 คนแบบอัตโนมัติ ปีนี้ตกเป็นของสาวงามจากประเทศลาว “Payengxa Lor” ได้รับคะแนนโหวตมากที่สุดถึง 168,600 คะแนน (อ้างอิงจาก laotiantimes.com )
ทำให้ Payengxa Lor กลายเป็นตัวแทนสาวงามจากประเทศลาว ที่สามารถเข้ารอบ 16 คนสุดท้ายได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของตัวแทนสาวงามจากลาว บนเวทีมิสยูนิเวิร์ส
รางวัล Swimsuit Cape Vote
อย่างที่รู้กันดีว่าในปีนี้ ทางกองประกวดได้ให้สาวงามแต่ละคนออกแบบผ้าคลุมชุดว่ายน้ำมาเอง เพื่อส่งสารผ่านข้อความหรือศิลปะที่อยากนำเสนอไปยังแฟนนางงามและโลกใบนี้ ซึ่งสาวๆ แต่ละประเทศก็ออกแบบมาได้สวยงามและมีความหมายกันแบบไม่มีใครยอมใคร และสาวงามที่คว้ารางวัล “Swimsuit Cape Vote” ไปได้ก็คือ “Ngọc Châu” ตัวแทนจากประเทศเวียดนาม
ผ้าคลุมออกแบบมาจากแรงขับเคลื่อนความต้องการพิชิตความฝันของ Miss Universe การสร้างแรงบันดาลใจสำหรับความฝัน แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จในทุกความฝัน แต่ทุกคนต้องกล้าที่จะฝัน และมีใช้ชีวิตอยู่อย่างเปี่ยมไปด้วยความหมาย
“รางวัลนี้ไม่ใช่แค่สำหรับฉัน แต่สำหรับความฝันของทุกคน ฉันขอขอบคุณทุกความฝันของคุณที่เติมพลังให้ฉัน มีแรงผลักดันและศรัทธาที่จะเดินอย่างภาคภูมิบนเวทีมิสยูนิเวิร์สด้วยผ้าคลุมนี้ ฉันขอขอบคุณศิลปินและนักออกแบบที่ช่วยฉันสร้างเสื้อคลุมที่ยอดเยี่ยมนี้”
Ngọc Châu โพสต์ข้อความขอบคุณหลังจากได้รับรางวัล Swimsuit Cape Vote