“การจะสร้างความสำเร็จได้นั้น ต้องมีการวางแผนที่ดี วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน และทุกสิ่งต้องใช้ระยะเวลา”
ไม่ต่างจาก ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ที่ปัจจุบันสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อแฟนกีฬาชาวไทยและแฟนกีฬาต่างชาติ เป็นผลมาจากการวางแผนงานมาต่อเนื่อง ต่อยอดจากชุด “7 เซียน” ที่ประสบความสำเร็จก่อนหน้า
แต่การจะสานต่อและก้าวไปสู่อีกขั้น ไม่อาจจะทำเพียงเท่านี้ได้ สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ภายใต้การบริหารงานของ นายสมพร ใช้บางยาง นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย รวมทั้งทีมบริหารของสมาคมฯ ได้เตรียมแผนการสร้างนักกีฬาวอลเลย์บอลรุ่นใหม่ มารับช่วงต่อไปอีกทอด ภายในระยะเวลา 6 ปี ต่อจากนี้
หนึ่งในทีมบุคลากรที่มีส่วนพัฒนา Road Map อย่าง ‘โค้ชอ๊อด’ เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร อดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนวอลเลย์บอลทีมชาติไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอุปนายกฝ่ายพัฒนาเทคนิค สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย, เลขาธิการสหพันธ์วอลเลย์บอลแหงเอเชีย หรือ AVC และ คณะกรรมการบริหารสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ หรือ FIVB ได้เปิดเผยแผนงานโครงการระยะยาวในการสร้างนักกีฬาวอลเลย์บอลรุ่นใหม่ เพื่อขึ้นมาเสริมทีมชาติไทยในอนาคต มุ่งเน้นสร้างนักกีฬาระดับเยาวชนรุ่นอายุ 16 ปี และ 18 ปี เป็นการผลักดันนักกีฬารุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นตัวหลักภายในปี 2028
โดยจะเริ่มโครงการวอลเลย์บอลในโรงเรียน ให้เล่นอย่างถูกหลักการ ถูกวิธี จากที่เยาวชนระดับโรงเรียนยังมีมาตรฐานอ่อนกว่าหลายชาติในระดับเอเชีย รวมทั้งต้องการผู้ฝึกสอนที่ดีมีความรู้ความสามารถที่จะนำพาและสอนนักกีฬารุ่นใหม่ไปสู่ระดับโลกในอีก 6 ปีข้างหน้า มุ่งเน้นที่รุ่นอายุ 16 ปี และ 18 ปี
นอกจากนั้น ยังมีแผนการสร้างนักกีฬาวอลเลย์บอลระดับรากหญ้า หรือ Grassroot ในระดับอายุ 8 ปี นำเข้าสู่มินิวอลเลย์บอล U12 U14 และ U16 เพื่อสร้างคนรุ่นนี้ ให้พร้อมในปี 2032 ต่อไป
ส่วนอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่น่าสนใจคือการส่งนักกีฬาวอลเลย์บอลดาวรุ่งไปเล่นลีกอาชีพต่างประเทศ อาทิ การส่ง 2 ตัวตบหัวเสาวัย 18 ปี ‘กาฟิวส์’ อัมพา สนสุรัตน์ อดีตสังกัดทีมไดมอนด์ ฟู้ด-ไฟน์เชฟ สปอร์ต คลับ และ ‘ไอมี่’ ภิญญดา โต๊ะพ่อ ดาวรุ่งทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี หรือ U20 ย้ายไปร่วมทีม Khashkhan สโมสรวอลเลย์บอลในลีกอาชีพของประเทศมองโกเลีย Mongolian Premier League ฤดกาล 2022-2023 ด้วยสัญญา 2 เดือน เป็นประสบการณ์ก้าวกระโดดสู่การเล่นลีกอาชีพต่างแดน
‘โค้ชอ๊อด’ เผยว่า “การส่ง 2 ตัวตบหัวเสาดาวรุ่งไทย ไปเล่นลีกต่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กๆ ไปเรียนรู้ และใช้ชีวิตต่างแดน เตรียมเดินเส้นทางสายอาชีพระดับนานาชาติมากขึ้น โดยมีแผนจะส่งนักกีฬาดาวรุ่งไปอีก เป็นการไปเล่นในระยะสั้น แต่จะวางแผนให้กลับมาเล่นลีกประเทศไทย เลกสอง และไฟนอล ให้ทัน เพื่อสร้างสีสันและการพัฒนาลีกในประเทศ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนสโมสรในประเทศหานักกีฬาต่างชาติแข่งด้วย”
สำหรับ Mongolian Premier League วอลเลย์บอลลีกอาชีพสูงสุดของประเทศมองโกเลีย ในมุมมองของ ‘โค้ชอ๊อด’ นั้น ยังถือว่าเป็นลีกระดับอาชีพที่ไม่แข็งมาก แต่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ การใช้ชีวิตต่างแดน การเตรียมความพร้อมสู่มืออาชีพ ที่ต้องพยายามพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพ ทั้งร่างกาย จิตใจ เทคนิค ที่ดีพร้อมเพื่อก้าวไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น
หากทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยมีแผนงานที่ชัดเจนและต่อเนื่อง การเดินตามเส้นทางความฝันไปสู่ มหกรรมกีฬาโอลิมปิก ก็ไม่ใช่เรื่องไกล เกินจะเอื้อมถึงอีกต่อไป