ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์การเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตซีรีส์ Y ที่ถูกผลิตโดยคนไทย แต่ดังไกลไปทั่วโลก สร้างมูลค่านับพันล้านบาทต่อปี และสร้างไอดอลให้โด่งดังแบบฉุดไม่อยู่อีกจำนวนมาก
FEED จึงได้สนทนากับ กอล์ฟ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีต ส.ส. พรรคก้าวไกล และผู้กำกับซีรีส์ โดยเฉพาะภาพยนตร์ LGBTQ และล่าสุดกับผลงานการกำกับซีรีส์ Y ให้ร่วมส่องปรากฏการณ์ซีรีส์ Y ไปด้วยกัน
ซีรีส์ Y แตกต่างจาก LGBTQ อย่างไร
“กอล์ฟ ธัญญ์วาริน” มองว่าประเทศไทยมีกระแสการจับคู่จิ้นที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีผู้นำซีรีส์ Y มาผลิตในไทยเป็นเรื่องแรก แล้วประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ก็เป็นผลงานเฉพาะกลุ่มของสาว Y ที่นิยมดูซีรีส์คู่จิ้นแบบนี้ นิยมการดูผู้ชายกับผู้ชายมีความรู้สึกดีต่อกัน
เนื้อหาในซีรีส์ Y ที่ถูกเผยแพร่ช่วงแรกๆ ส่วนตัว “กอล์ฟ ธัญญ์วาริน” เห็นว่าเป็นการนำเสนอเรื่องราวของผู้ชายที่ชอบผู้หญิง แต่มีความรู้สึกดีกับผู้ชายคนนี้เท่านั้น ยังไม่เข้าไปถึงกระบวนการสร้างการรับรู้ของคำว่าสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงมีวิวาทะกันว่าซีรีส์ Y ไม่ใช่ LGBTQ มันคนละอย่างกัน อย่าเอาความเป็น LGBTQ ไปยัดในซีรีส์ Y
แต่เรามองว่าจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องเดียวกันมันเป็นสับเซตกัน การที่ผู้ชายสองคนมีความรู้สึกดีต่อกัน มันก็คือหนึ่งในความหลากหลายของมนุษย์อยู่แล้ว ทุกวันนี้ซีรีส์ Y ก็เริ่มพัฒนาเรื่องเนื้อหา พูดเรื่องครอบครัว เรื่องสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือการสร้างความเข้าใจกับสังคมมากขึ้น
หลังจากมาทำซีรีส์ Y ด้วยตัวเองก็พบว่ามันไปไกลทั่วโลกแล้ว มีแฟนคลับจากบราซิล ญี่ปุ่น เกาหลี สเปน มาติดตามอินสตราแกรม ทวิตเตอร์ แฟนคลับจากต่างประเทศเอาซีรีส์ Y มาทำ Reaction วิเคราะห์กันอย่างจริงจัง
กลุ่มเป้าหมายหลัก ซีรีส์ Y ผลิตให้ใครดู
ธัญญ์วาริน มองว่าคนที่ดูซีรีส์ Y ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง กลุ่ม LGBTQ และเด็กตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ปีที่ 4-5-6 จนมาถึงมัธยมศึกษา มหาวิทยาลัย และวัยทำงาน ขณะที่ผู้ชายก็มีดูบ้างแต่เป็นส่วนน้อย และกลุ่มคนดูเหล่านี้แม้เป็นกลุ่มเฉพาะแต่แข็งแรงมาก และกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการรับรู้ของสังคมเรื่อง LGBTQ เรื่องสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เรื่องความเข้าใจการเป็นมนุษย์ที่มีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น
ซีรีส์ Y พื้นฐานของเรื่องมันคือการเล่าเรื่องมนุษย์ เรื่องของมนุษย์ 2 คน ยกตัวอย่างคาธ The Eclipse ก็เป็นซีรีส์มัธยมฯ ปลาย ดูเผินๆ อาจรู้สึกว่าเป็นซีรีส์มัธยมฯ ปลายอีกแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้เนื้อหามันกว้างขึ้น เราจึงเพิ่มเรื่องการเมืองในโรงเรียนเข้าไป การปะทะกันระหว่างแนวคิดเก่าและใหม่ วิวาทะกันระหว่างวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ซึ่งทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าเด็กสมัยนี้สามารถหาข้อมูลกันได้อย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่ใครจะไปสั่งให้ทำอะไรก็ได้
คาธ The Eclipse จึงนำเอาสิ่งเหล่านี้เข้ามาใส่ในซีรีส์ เพื่อเชื่อมโยงคนดูทั้งกลุ่มเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ที่ผ่านช่วงมัธยมฯ ปลายมาแล้ว และเห็นปัญหาในโรงเรียนที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็ตาม
ซีรีส์ Y โดนใจคนดูเพราะอะไร
การผลิตซีรีส์ Y ออกมาแต่ละเรื่อง เราต้องรู้จักฐานคนดูของเราว่าเขาต้องการอะไร แม้เราจะทำซีรีส์ Y ที่มีแบ็กกราวด์การเมือง แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่เขาอยากดูก็คือฉากเซอร์วิส ฉากโมเมนต์ฟินจิ้น เราต้องมีฉากเหล่านี้เพื่อเสิร์ฟคนดูด้วย ไม่แตกต่างจากซีรีส์หรือละครชายหญิงทั่วไป ที่มีบทเข้ากันของพระเอกนางเอกในเรื่อง เรากำลังเล่าเรื่องแบบเดียวกัน คือการเล่าเรื่องของมนุษย์
ขนานนามประเทศไทยเป็นเมืองหลวงซีรีส์ Y
ซีรีส์ Y เติบโตขึ้นมากทั้งจำนวนการผลิตต่อปี คุณภาพ ช่องทางการเผยแพร่ อดีตเราจะเห็นว่าซีรีส์ Y ฉายไม่กี่ช่องทาง แต่ปัจจุบันช่อง 3 , ช่อง ONE ก็มีซีรีส์ Y ฉาย แต่สิ่งสำคัญคือการเติบโตด้านเนื้อหา การพูดถึงบริบททางสังคมที่กว้างขึ้น ไม่ใช่แค่ผู้ชายสองคนรักกัน
และตอนนี้เราสามารถเป็น “เมืองหลวงซีรีส์ Y” ได้แล้ว เราควรจะเห็นความสำคัญ ส่งเสริมสนับสนุนตอนที่ประเทศอื่นเขายังไม่ทำกันเยอะแยะมากมาย ถ้าเขาทำกันอย่างเยอะแยะมากมายทั่วโลกแล้ว เขาอาจไม่ดูของเราก็ได้
ธัญญ์วาริน มองว่าตอนนี้คือโอกาสที่ดีมากๆ ที่เราจะเห็นความสำคัญของซีรีส์ Y และโอกาสที่เราจะเก็บเม็ดเงินจากต่างประเทศได้ เหมือนที่กับซีรีส์เกาหลี หรือว่างานศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ของเกาหลีที่ไปไกลทั่วโลก
“ภาครัฐเขาก็พูด เราก็เห็นเขาพูดแต่ปาก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่ซีรีส์ Y เราอยู่วงการนี้มานานทั้งอุตสาหกรรมการผลิตซีรีส์ การผลิตละคร หรือหนัง เราไม่เคยเห็นการส่งเสริมสนับสนุนแบบเข้าใจจากรัฐบาลเลย มีแต่ไปตัดยอดเอาเป็นผักชีไปโรยหน้า บอกว่าเป็นผลงานอะไรอย่างนี้ ซึ่งเรารู้สึกว่าถ้ามันยังไม่เกิดการส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจัง เราอาจจะพลาดโอกาสที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งซีรีส์ Y จริงๆ ก็ได้”
ปรากฏการณ์ความเป็นมนุษย์ ผ่านซีรีส์ Y
ธัญญ์วาริน มองว่าซีรีส์ Y ได้สร้างปรากฏการณ์ความเป็นมนุษย์เพิ่มขึ้น เพราะ เมื่อก่อนเรามักจะถูก Stereotype ว่าผู้ชายจะมาปัดขนตา จะมาทาลิปสติกไม่ได้ เราถูกบทบาททางเพศตีกรอบสิ่งเหล่านี้เอาไว้ว่า มันไม่ควร ถ้าผู้ชายแต่งตัวมันจะดูเป็นผู้หญิง เป็นตุ๊ด เป็นเกย์ เป็นกะเทย แต่ตอนนี้เราจะเห็นว่าสินค้าเครื่องสำอางแบรนด์ระดับโลก หรือ สินค้าแบรนด์ที่แมสมากๆ เช่น ไก่ทอด พิซซ่า ก็นำพระเอก-นายเอกจากซีรีส์ Y ไปเป็นพรีเซ็นเตอร์
หมายความว่ากลุ่มสินค้าเขามองลูกค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น เขาไม่จำเป็นต้องตีตราแบรนด์ตัวเองว่าเป็นแบรนด์ผู้ชาย หรือแบรนด์ผู้หญิง แต่เขากำลังบอกว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน อย่าไปมองว่าผู้ชายที่ใช้เครื่องสำอาง จะต้องเป็นตุ๊ด เป็นเกย์ เป็นผู้หญิงเท่านั้น แต่ทุกคนมีสิทธิที่ทำให้ตัวเองดูดีได้ เช่นเดียวกับภาคธุรกิจด้านการเงิน ก็มีการปล่อยสินเชื่อสำหรับคู่ชีวิตที่เป็นเพศเดียวกัน ในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือซื้อที่พักอาศัย ตอนนี้เรากำลังเริ่มมองความเป็นมนุษย์ไม่ได้ให้คุณค่ากับการเป็นเพศ
แต่แน่นอนซีรีส์ Y ก็ตกเป็นจำเลยสังคม เช่นเดียวกับละครในอดีตที่มีฉาก LGBTQ ก็จะบอกว่าทำให้เด็กและเยาวชนลอกเลียนแบบ ต้องขอบอกเลยตรงนี้เลยว่าคนเราจะเป็น LGBTQ มันเป็นธรรมชาติ ไม่มีใครหรอกที่เป็นชายหญิงแท้ๆ นั่งดูซีรีส์ Y แล้วกลายเป็น LGBTQ
เรื่องนี้คือเรื่องสำคัญที่เราต้อง Educate สังคมว่าการที่คนเราจะเป็น LGBTQ มันไม่ได้เกิดจากการลอกเลียนแบบ และในประเทศเราหรือในโลกเราก็เห็นอยู่แล้วว่าการเป็น LGBTQ มันไม่ได้สิทธิเท่าเทียมกับคนอื่น มันถูกดูถูกเหยียดหยามจากสังคมเยอะแยะ มันมีใครที่จะไปเป็นด้วยความภาคภูมิใจว่าฉันอยากเป็นจำเลย ทั้งๆ ที่สังคมยังมองว่าเราเป็นตัวประหลาด กฎหมายยังไม่ยอมรองรับเลย
แต่เมื่อเราสร้างสังคมที่สร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ คนที่เป็น LGBTQ เขาก็กล้าที่จะเปิดเผยตัวเองมากขึ้น เกิดความกล้าที่จะเป็นตัวเอง กล้าที่จะบอกคนอื่น กล้าที่จะมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเอง ไม่ได้แปลว่ามีคนเป็น LGBTQ มากขึ้นเพราะดูซีรีส์ Y
กอล์ฟ ธัญญ์วาริน กล่าวทิ้งท้าย