ในชั่วชีวิตหนึ่งของเรา จะได้เห็นเหตุการณ์ ‘ยุบพรรคการเมือง’ สักกี่ครั้งกี่หนกันเชียว
จากคำถามนี้ ผู้เขียนจึงได้ลองค้นข้อมูลและพบว่า นับตั้งแต่มีการก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญในปี 2540 จนถึงปัจจุบัน คนใน 3 เจนเนเรชั่น ทั้ง Gen X, Gen Y, และ Gen Z ผ่านเหตุการณ์ยุบพรรคมาแล้วถึง 110 ครั้ง (ไทยพับบลิก้า, 2563)
อ่านไม่ผิดหรอก… 110 ครั้ง คือตัวเลขที่พรรคการเมืองไทยทั้งพรรคเล็กพรรคใหญ่ถูกยุบโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต่างกรรมต่างวาระต่างข้อหา ตั้งแต่ผิดกฎระเบียบเล็กน้อยไปจนถึงข้อหา ‘ล้มล้างการปกครอง’
ปี 2567 หรืออีกไม่กี่วันต่อจากนี้ เป็นอีกครั้งที่คนไทยต้องนั่งเกาะจอลุ้นระทึก ว่าพรรค ‘ก้าวไกล’ ที่ครองใจมวลชนจากการได้คะแนนเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วกว่า 14 ล้านเสียง จะถูกเหล่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงคะแนนเสียงข้างมาก ตัดสิน ‘ยุบพรรค’ อีกหรือไม่ เหตุใดกการยุบพรรคจึงเกิดขึ้นอย่างง่ายดายซ้ำแล้วซ้ำเล่าในรอบ 2 ทศวรรษ กระทั่งว่า คนอีกกี่เจนเนเรชั่นจะต้องอยู่วังวนแห่งความไร้สเถียรภาพทางการเมืองและประชาธิปไตย และต้องช้ำใจเมื่อการยุบพรรคการเมืองนั้น หมายถึงการยุบระบบประชาธิปไตยและความใฝ่ฝันของผู้คนไปพร้อมๆ กัน
ข้อมูลจากเว็บไซต์ไทยพับบลิก้า เปิดเผยว่า ประเทศไทย มีการยุบพรรคการเมืองมาแล้วทั้งสิ้น 110 ครั้ง ภายในระยะเวลา 26 ปี นับตั้งแต่ปี 2541 ที่มีการยุบพรรคการเมืองครั้งแรก จนถึงล่าสุดเมื่อปี 2563 ที่ทางศาลรัฐธรรมนูญได้ลงมติยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัวเลขนี้ถือว่าสูงมากหากเทียบกับนานาประเทศ โดยเราสามารถจำแนกการยับพรรคในแต่ละปีได้ดังนี้
- 2541 – 1 พรรค
- 2542 – 4 พรรค
- 2543 – 4 พรรค
- 2544 – 18 พรรค
- 2545 – 19 พรรค
- 2546 – 10 พรรค
- 2547 – 11 พรรค
- 2548 – 10 พรรค
- 2549 – 4 พรรค
- 2550 – 11 พรรค
- 2551 – 3 พรรค
- 2553 – 3 พรรค
- 2555 – 2 พรรค
- 2556 – 2 พรรค
- 2557 – 2 พรรค
- 2558 – 1 พรรค
- 2559 – 2 พรรค
- 2560 – 1 พรรค
- 2562 – 1 พรรค
- 2563 – 1 พรรค
110 พรรคการเมือง ถูกยุบพรรคด้วยหลายเหตุปัจจัย ตั้งแต่ข้อหาใหญ่ไปจนข้อหาทางเทคนิคเล็กน้อย ดังต่อไปนี้
- ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อกำหนด การคุณสมบัติความเป็นพรรคการเมืองตามที่กฎหมายกำหนด 101 พรรค
- ล้มล้างการปกครอง 4 พรรค (ไทยรักไทย มัชฌิมาธิปไตย ชาติไทย พลังประชาชน)
- เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง 4 พรรค (ประชาธิปไตยก้าวหน้า พัฒนาชาติไทย แผ่นดินไท ไทยรักษาชาติ)
- ห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 1 พรรค (พรรคอนาคตใหม่)
โดยกฎหมายที่นำมาใช้ในการยุบพรรคการเมือง ได้แก่ , พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2541 จำนวน 92 พรรค, พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 จำนวน 16 พรรค, พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 จำนวน 2 พรรค
ปัญหาของการยุบพรรคการเมืองในประเทศไทยโดยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากกับการเมืองไทย ซึ่งตัวเลข 110 ครั้ง นับเป็นจำนวนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศเยอรมนี ที่มีการยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นแค่เพียง 3 ครั้งเท่านั้น ได้แก่ การยุบพรรคกรรมกรเยอรมนีแนวชาติสังคมนิยม (Nationalsozialistische Deutsche Arbeiterpartei), ยุบพรรคสังคมนิยม (Sozialistische Reichs Partei) หรือพรรค SRP และยุบพรรคคอมมิวนิสต์ (Kommunistische Partei Deutschlands) หรือพรรค KPD โดยเหตุแห่งการยุบพรรคตามระบบกฎหมายของเยอรมันนี ต้องเป็นเหตุร้ายแรงและส่งผลต่อการดำรงอยู่ของรัฐ หรือกระทบต่อระบอบการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยเท่านั้น นอกจากนี้ ในนานาประเทศ อาทิ เยอรมันนี ฝรั่งเศส สเปน ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และตุรกี ล้วนแล้วไม่มีการที่ประชาชนจะได้สิทธิในการยื่นคำร้องขอยุบพรรคการเมือง แต่การจะยุบพรรคการเมืองได้จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร หรือผู้แทนของรัฐ เช่น ประธานาธิบดี สภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น
ตัดกลับมาที่ประเทศไทย หากเราดูรายละเอียดเหตุผลของการยุบพรรค จะพบว่า กฎหมายไทยได้บัญญัติเหตุแห่งการยุบพรรคมากเกินไป เช่นว่า ใน รธน. 2560 การสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง (ตามมาตรา 91) บัญญัติการสิ้นสภาพ พรรคการเมืองที่กว้างมากเกินไป และปฏิบัติได้ยาก เช่น การกำหนดให้มีผู้ร่วมก่อตั้งพรรค 500 คน และต้องมีทุนประเดิมพรรคถึง 1,000,000 บาท และหลังจากภายหลังจากจดทะเบียนพรรค การเมืองได้แล้วยังต้องรักษามีจำนวนสมาชิกให้เหลือถึง 5,000 คน ซึ่งเป็นการยากที่พรรคเล็กๆ จะทำได้ (ปริญญา เทวานฤมิตรสกุล, 2558)
นอกจากนี้ เหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง ได้ ดังนี้
- กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญ
- กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74 (4) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรค การเมืองตามที่มีกฎหมายกำหนด
อย่าในปี 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินยุบพรรค ‘ไทยรักษาชาติ’ ด้วยเหตุว่า กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข และ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค ขณะที่ในกฎหมายของต่างประเทศ เช่น เยอรมัน เกาหลีใต้ ไม่ได้กำหนดว่า การกระทำผิดของกรรมการพรรคคนหนึ่งให้ถือว่าเป็นความผิดของ กรรมการพรรคทุกคน แต่ใช้หลักความผิดต่อส่วนตัว ดังนั้นเมื่อกรรมการพรรคคนใดคนหนึ่งกระทำผิด ถ้ากรรมการพรรคคนอื่นพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำนั้นด้วยก็จะไม่โดนตัดสิทธิ์ในการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ตามระบบกฎหมายไทยในมติการยุบพรรคการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญใช้เพียง ‘ระบบลงมติเสียงข้างมากธรรมดา’ สั่งยุบพรรคการเมืองได้ เนื่องจากใน รธน. 2560 มาตรา 213 บัญญัติให้ประชาชนทั่วไปสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้ว ตามมาตรา 211 ก็จะตั้งคณะตุลาการ (ไม่น้อยกว่า 7 คน) มาพิจารณาวินิจฉัยคำร้อง โดยคำวินิจฉัยนั้น ‘ให้ถือเสียงข้างมาก’
นั่นหมายความว่า แค่อาศัยเสียงข้างมากธรรมดาๆ ก็สามารถยุบพรรคการเมืองได้ เช่น หากมี 4 ตุลาการ มีมติยุบพรรค พรรคการเมืองนั้นก็ถูกยุบได้ทันที ขณะที่หากเราดูในการเมืองต่างประเทศ การจะยุบพรรคได้ต้องใช้ ‘เสียงข้างมากเด็ดขาด’ (Absolute majority) จึงจะยุบพรรคการเมืองได้ ซึ่งทำได้ยากมากหากเทียบกับประเทศไทย
การยุบพรรคการเมืองในประเทศไทยที่เกิดขึ้นมาตลอดเวลา 26 ปีนี้ เป็นผลมาจากระบบกฎหมายไทย องค์กรศาลรัฐธรรมนูญ (ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) และการใช้เสียงข้างมากของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายชุด ซึ่งสร้างผลกระทบนานัปการต่อการเมืองไทย และทำลายเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา น่าคิดว่า คนทั้ง 3 เจนเนอชั่น ทั้ง Gen X, Gen Y, และ Gen Z ที่ต้องผ่านเหตุการณ์ยุบพรรคมาแล้วถึง 110 ครั้งนั้น ล้วนแล้วแแต่เป็นผลงานและมรดกทางการเมืองของคนในรุ่น Baby Boomers ที่เราก็ไม่รู้ว่า การยุบพรรคการเมืองพร่ำเพรื่อเช่นนี้จะสิ้นสุดในรุ่นไหน และการยุบพรรคครั้งที่ 111 (พรรคก้าวไกล) ที่จะตัดสินกันในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ จะเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมหรือไม่
เรายังไม่รู้ แต่ที่รู้คือ ไม่มีใครต้องการให้ความใฝ่ฝันและอำนาจของตนถูกยุบอีกแล้ว
อ้างอิง
- การยุบพรรคการเมืองโดยองค์กรวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
- ย้อนไป 22 ปี มีพรรคการเมืองถูกยุบไปแล้วเท่าไหร่?
- 22 ปี ศาล รธน. ยุบพรรค 110 พรรค
- วรยุทธ วุฒิงาม, บุญมาก กันหาสาย และ รัฐชฎา ฤาแรง. (2564). การยุบพรรคการเมืองโดยศาลรัฐธรรมนูญตามมติเสียงข้างมากธรรมดา. สืบค้นจาก https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jmhs1_s/article/download/248429/170719/
- โกเมศ ขวัญเมือง. (2555). กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมืองเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: ภูทับเบิก.
- ปริญญา เทวานฤมิตรกุล. (2558). การยุบพรรคการเมืองโดยองค์กรวินิจฉัยความชอบด้วย รัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ.
- การยุบพรรคการเมือง สถาบันพระปกเกล้า