9 ปีที่แล้ว ‘แป้ง’ รัสมี เวระนะ ปล่อยผลงานเพลงอัลบั้มแรก ชื่อว่า ‘Isan Soul EP’ อัลบั้มที่มีทั้งภาษาไทย ลาว อังกฤษ เขมร ขับร้องประสานดนตรีที่ผสมหลากกลิ่นอาย ไม่ว่าจะดนตรีท้องถิ่นและดนตรีสากลเข้าด้วยกัน จนกำเนิดเพลงอันโด่งดังอย่าง ‘มายา’ หรือ ‘ลำดวน’ ที่เขียนเล่าผ่านชีวิตของเศร้าโศกของยายผู้เป็นที่รัก และ ‘ปะกาปรูย’ เพลงภาษาเขมรที่เล่าเรื่องความรักความโศกของหญิงสาวโหยหารักที่จากไป รวมถึง ‘เมืองชุดดำ’ เพลงที่รัสมีได้แรงบันดาลใจขณะเดินทางอยู่ในเมืองใหญ่อันเหน็บหนาวอย่างฝรั่งเศส
แม้เพลงของเธอจะไม่เหมือนหมอลำดั้งเดิมทุกกระเบียด แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับจิตวิญญาณหมอลำของรัสมี เรื่องราวที่เธอเล่าผ่านเพลง และวิถีอีสานที่ฝังลึกอยู่ในเนื้อตัวของเธอ
“เรารู้ตัวเองว่าเราเป็นคนหมอลำ ร้องหมอลำมาก่อน เวลาเราไปไหนเราก็เอาหมอลำไปด้วย แม้ตอนที่เราจะทำเพลงเอง เราก็อยากร้องหมอลำ เราบอกเขาเลยว่า อยากทำหมอลำนะ เป็นหมอลำนะ ทำไหม”
รัสมี คือหนึ่งในศิลปินอีสานอีกหลายต่อหลายคน ที่พยายามบุกป่าฝ่าดงพิสูจน์ตัวตนในช่วงเวลาที่กระแสวัฒนธรรมอีสานอยู่นอกความนิยม เธอเคยพูดถึงเรื่องนี้บนเวที TEDxBuengKaenNakorn ว่าด้วยกำแพงทางดนตรีที่ตั้งขวางเธอไว้ว่า
“เคยมีคนพูดกับแป้งว่า คุณไม่ควรมาร้องเพลงหมอลำที่นี่ เพราะว่าที่นี่เป็นที่ของคนชั้นสูง แต่เพลงหมอลำของคุณคือเพลงคนชั้นต่ำ หรือคุณร้องเพลงตรงนี้ได้ แต่เราจะไม่เอาเพลงออกลำโพงให้คุณ”
ทว่าในวันนี้ เพลงหมอลำฉบับ ‘รัสมี อีสานโซล’ ถูกส่งออกสู่สายตาชาวโลกอย่างสง่างาม เธอคว้ารางวัลระดับประเทศมาแล้วมากมาย เดินทางไปมากกว่า 10 ประเทศทั้งในเอชียและยุโรป โลกสนใจเพลงที่เธอเปล่งออกมาแม้จะฟังไม่เข้าใจความหมาย อีกทั้งเพลงอีสานอีกมากมายก็ได้ประยุกต์วัฒนธรรมดั้งเดิมเข้ากับวัฒนธรรมสมัยใหม่ ไม่ว่าจะอีสานแจ๊ส อีสานแนวอินดี้ อีสานร็อก โมเดิร์นหมอลำ จนเกิดปรากฎการณ์ยอดวิวเพลงอีสานในยูทูปทะยานติด TOP 5 และมีการรับชมหลักร้อยล้านอยู่หลายสิบเพลง
FEE:D ได้โอกาสคุยกับเธอช่วงที่กำลังออกทัวร์มินิคอนเสิร์ตกลางกรุงฯ หลังจากพักมานานเพื่อให้เวลากับครอบครัว-ลูกน้อยเต็มที่ คำถามง่ายๆ มีอยู่ว่า ท่ามกลางความป๊อปปูลาร์ของเพลงอีสานวันนี้ เธอมองเห็นอะไร ยุคของเธอฝ่าฟันอะไรมา และถ้ารัฐบาลอยากซัพพอร์ต ต้องเริ่มจากอะไร
‘รัสมี เวระนะ’ นักร้องหมอลำพลัดถิ่น
รัสมีเติบโตในชุมชนชนบทสุดเขตชายแดนอีสาน ในจังหวัดอุบลราชธานี ชนบทชนิดที่ว่า เธอในวัยเด็กต้องเดินไปหาบน้ำที่บ่อน้ำสาธารณะ ผู้คนส่วนใหญ่หากินด้วยการล่าสัตว์ ชุมชนแวดล้อมไปด้วยเกษตรกรรม และเข้มข้นด้วยค่านิยมที่หากอยากมีชีวิตสุขสบาย เธออาจต้องอาศัยการแต่งงานกับชายในหมู่บ้านสักคนที่มั่งคั่งเพื่อออกจากความยากลำบากและยกระดับคุณภาพชีวิต
ในครอบครัว… พ่อของรัสมีเป็นนักร้องและนักแต่งเพลงคนไทยเชื้อสายเขมร เธอจึงมีพ่อเป็นครูสอนร้องเพลงคนแรก และเป็นลมใต้ปีกที่คอยผลักดันเธอสู่เวทีประกวดต่างๆ
“ตอนเด็กๆ เราถูกตีกรอบนะ แต่พอออกจากบ้าน เราไม่มีกรอบแล้ว เราจะทำอะไรก็ได้ ตีกรอบนั้นหมายถึงว่า คุณพ่ออยากให้เป็นนักร้องเพราะเห็นแวว และผลักดันเรา แต่เราก็รู้สึกว่า มันคือวิถีทางของคนบ้านๆ ที่เวลาไปร้องเพลงแล้วได้เงิน เอามาจุนเจือที่บ้าน เราก็ไป วงไหนมาเราก็ไปขอเขาร้อง แม่ก็พาไป พ่อก็สอน ตรงนี้เป็นกรอบของเราในตอนนั้น แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราจะต้องดังหรืออะไร เราคิดแค่ว่า การร้องเพลงคือสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด”
กระทั่งเข้าสู่วัยรุ่น ความรักพาเธอเดินทางไกลจากอีสานใต้สู่เมืองเชียงใหม่ เมืองที่เป็นเบ้าหลอมทางความคิดด้านดนตรี และเป็นเมืองที่ยืนยันกับเธอว่า ‘ดนตรีคือศิลปะที่ไม่มีกรอบ’
“แป้งว่า แป้งโชคดีที่อยู่แวดล้อมไปด้วยนักดนตรีมากมาย หลังจากที่เราโตแล้ว ผ่านดนตรีอีสานมาแล้ว เดินทางมาแล้วมากมาย และได้ไปอยู่เชียงใหม่ ตอนนั้นเราอยากรู้จังเลยว่าร้านนี้เขาเล่นดนตรีอะไร ไปเจอพี่ที่เขาเล่นแคนกับแซ็กโซโฟน รู้สึกว่า เขาทำได้ยังไง คือมันไม่มีกำแพงอะไรเหลือเลย ช่วงที่แป้งอยู่เชียงใหม่ มีนักดนตรีเยอะมากๆ ที่เขาอยากทำโปรเจ็กนู่นนี่เต็มไปหมด ก็เลยคิดว่าเราโชคดีที่เจอเส้นทางแบบนี้”
“เชียงใหม่เป็นเบ้าหลอมต่อวิธีคิดการทำเพลงของเรา ทำให้ ได้ลองทำสิ่งที่ฉีกออกไป แล้วเราก็เปิดรับหมดเลยไม่ว่าใครจะชวนไปทำอะไร ไปอยู่ที่ไหน เราไปหมดเลยค่ะ เราได้ร้องเพลงหลายแนว ร้องบลูส์ แจ๊ส ป็อป ฯลฯ แต่พื้นฐานเราเป็นคนหมอลำ”
รัสมีบอกกับเราว่า เธอไม่เคยเรียนทฤษฎีดนตรีแต่อย่างใดอาศัย อาศัยเพียงวิชาร้องเพลงจากพ่อติดตัวมา และโอกาสที่เพื่อนพ้องหยิบยื่นให้ จนเธอได้จับไมค์ขับร้องตามร้านกลางคืนต่างๆ ทั่วเชียงใหม่ และไม่ว่าเธอจะประสานกับดนตรีแจ๊ส ฟังก์ บลูส์ หรือโซลก็ตาม รัสมีก็ยังคงไม่ทิ้งลายนักร้องหมอลำ และมักทิ้งกลิ่นอีสานและลีลาเอื้อนผสมผสานกับเพลงสากลหลายแขนงอยู่เสมอ
ที่สุดแล้วจิตวิญญาณอีสานและหมอลำในตัวเธอ ก็กลายเป็นพาหนะของชีวิตที่พาเธอไปไกลถึงฝรั่งเศส รวมทั้ง อินโดนีเซีย อิตาลี โปแลนด์ ฯลฯ ในเวลาต่อมา
‘อีสาน’ ป๊อปปูลาร์
“ตอนนั้นเราต้องทำทีสิส แล้วก็มีคนชวนไปร้องเพลงที่ปารีส เราก็ไป และเลือกร้องเพลงสาวอุบลรอรัก ของ คุณพ่อพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา แล้วก็มีนักดนตรีชาวฝรั่งเศสเป็น backup ทุกคนตั้งใจฟังมาก แม้เขาจะไม่ได้รู้เรื่องนะว่าเราร้องอะไร แต่ก็ไม่มีใครไม่สนุก เรารู้สึกว่าบรรยากาศแบบนี้มันดีจังเลย เราก็เลยได้เขียนเพลง อยู่ที่นั่นก็เขียน เช่น เมืองชุดดำ แล้วก็เอากลับมาทำต่อที่ไทย”
ปี 2558 รัสมี คว้า 3 รางวัลจากคมชัดลึกอวอร์ด ครั้งที่13 คือสาขาศิลปินหญิงยอดเยี่ยม สาขารางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยม และสาขาเพลงยอดเยี่ยม จากเพลง ‘มายา (Maya)’
ถัดมาปี 2559 อัลบั้มใหม่ ‘อารมณ์’ พาเธอคว้ารางวัลศิลปินหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีสีสัน อะวอร์ดส์ ครั้งที่ 29 เธอออกทัวร์ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และเดินทางไปอีกหลายประเทศทั่วโลก
“ตอนนั้นเราไม่ได้คิดอะไรเลยนะ ไม่ได้คิดว่าใครจะฟัง หรือจะต้องส่งเพลงไปที่ไหน … ไม่ได้คิดเลย เพลงมันก็เดินทางไปด้วยตัวของเขาเองโดยอัตโนมัติ จนมารู้ตัวอีกทีก็คือ อ๋อ มีคนฟังเพลงของเราแล้ว”
“ช่วงแรกที่เราทำเพลง เราไม่ได้ใช้เครื่องดนตรีอีสานเลย ตอนที่ทำอัลบั้มแรกก็จะมีแค่กีต้ากับขับร้อง และเป็นกีต้าที่ไม่ใช่คนอีสานด้วย ตรงนี้เรารู้สึกว่ามันพิเศษ มันไม่มีขอบเขต แค่ว่าเราอยากทำแบบนี้ เล่นอะไรก็ได้ เล่นมาเถอะ เดี๋ยวเราร้องด้วยกัน ช่วยกัน”
สำหรับรัสมี ท่ามกลางความป๊อปปูลาร์และการยอมรับอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนของเพลงอีสานในวันนี้ ไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจนักในยุคที่เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียเชื่อมบทเพลงและผู้คนเข้าถึงกัน ไม่ว่าเพลงนั้นจะขับร้องในทุ่งนาหรือโอเปร่าเฮ้าส์
“เพลงหมอลำมันทันสมัยมานานแล้วค่ะ ทั้งเรื่องการเมือง เรื่องน้ำท่วม เรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แค่ตอนนี้เราเข้าถึงโซเชียลมีเดียกันเยอะ แต่ทั้งหมดคือ ศิลปินอีสานเล่าเรื่องเก่งมาเยอะอยู่แล้ว แล้วก็ปรับตัวเก่ง” เธอยิ้ม
เธอมองว่า ตอนนี้ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมแล้ว สังคมและศิลปินอีสานมีพัฒนาการมาไกล …ไกลจากวันที่เธอถูกแปะป้ายว่าเพลงของคนชั้นต่ำ ไกลจากวันที่ พ่อคำเม้า (พิณเพชร ทิพย์ประเสริฐ) มือพิณแห่งวง The Paradise Bangkok เคยเล่าไว้ในรายการซวดซวด ของ echo podcast ว่า เขาถูกมองด้วยสายตาราวกับเป็นขอทาน ต้องเก็บซ่อนพิณให้มิดชิดจากคนในเมืองหลวงเพราะกลัวโดนเหยียด ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือโอกาสและอนาคต ที่รัสมีมองว่า ในวันที่รัฐบาลกำลังผลักดัน Soft power ในแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะดนตรี ศิลปะ กีฬา อาหาร ฯลฯ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว คงจะดีไม่น้อย หากการสนับสนุนถูกส่งมาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย สร้างสรรค์ และจริงจัง
“เราว่ามันดีนะที่ทุกอย่างกระจายขึ้นจากเดิม ไม่ว่าจะเพลงอีสาน หนังอีสาน อาหารอีสาน ถ้ารัฐบาลจะมาช่วยก็ต้องช่วยให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะคนทำงานบางทีก็ไม่ได้มีเงิน อย่างเราก็ต้องไปวิ่งขอโปรเจ็กต์จากคนอื่นเพื่อเอาเงินมาทำอัลบั้ม เราไม่รู้หรอกว่าการสนับสนุนมันกระจายยังไง เราไม่รู้ระบบ แต่ถ้ามันมี มันได้เริ่มเกิดตอนนี้ เราว่าน่าจะมีคนเหมือนเราเยอะ คนที่อยากทำนู่นทำนี่อีกมากมาย แต่ไม่มีทุนและเวที” รัสมี ทิ้งท้าย