จุดเด่นของอาร์ตทอยเน้นการสร้างสรรค์ตัวละครแบบไม่ต้องมีเนื้อเรื่อง แต่มีรูปลักษณ์ที่แปลกใหม่ ผลิตในจำนวนที่จำกัด ทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อการครอบครอง และหากเป็นผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงหรือกำลังอยู่ในกระแส ความต้องการยิ่งเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ผู้ผลิตยังได้เพิ่มเสน่ห์การขายในรูปแบบกล่องสุ่ม (Blind Boxes)เป็นการสร้างความตื่นเต้นให้แก่ผู้ซื้อจากการแกะกล่องที่ไม่ทราบว่าจะเป็นอาร์ตทอยในรูปแบบใด จนเกิดกระแสนิยมในสไตล์ป๊อปคัลเจอร์ (POP Culture) หรือวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
คุณพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กล่าวว่า ตลาดอาร์ตทอยมีการเติบโตอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จากเดิมเป็นเพียงสินค้าที่นิยมเฉพาะกลุ่ม จนขยายวงกว้างเป็นปรากฏการณ์ที่นิยมในปัจจุบัน โดยกลุ่มลูกค้าหลัก เป็นกลุ่ม Gen Z (กลุ่มคนที่เกิดตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นไป) กลุ่มพนักงานออฟฟิศ (White-Collar) ที่มีอายุระหว่าง 15-40 ปี และกว่าร้อยละ 70 เป็นผู้หญิง เนื่องจากมีความหลงใหลชื่นชอบสินค้าที่มีรูปแบบน่ารักและน่าสะสม
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก HTF Market Intelligence ที่เป็นบริษัทวิจัยตลาดชั้นนำของโลก ระบุว่า ในปี 2566 มูลค่าตลาดอาร์ตทอยของโลกอยู่ที่ 8,517.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.26 จนมีมูลค่าสูงถึง 10,938.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2573 ซึ่งตลาดอาร์ตทอยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ในทวีปเอเชีย อเมริกาเหนือ และยุโรป ตามลำดับ
สำหรับประเทศในทวีปเอเชียที่เป็นศูนย์กลางของการผลิตและสะสมอาร์ตทอย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยเฉพาะจีน ที่มีตลาดและฐานการผลิตอาร์ตทอยขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เห็นได้จากบริษัท ป๊อปมาร์ท (POP MART) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาร์ตทอยชั้นนำของจีน มีร้านค้าปลีกมากกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศจีน และกระจายไปกว่า 100 แห่งทั่วโลกรวมถึงไทย
คุณพูนพงษ์ อธิบายอีกว่า จากข้อมูลของสำนักข่าวซินหัวของจีน รายงานว่า มากกว่าร้อยละ 80 ของอาร์ตทอยทั่วโลกถูกผลิตในจีน โดยหนึ่งในสามผลิตในเมืองตงก่วน มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งในปี 2565 มีบริษัทขนาดใหญ่กว่า 87 แห่งในเมืองตงก่วน ผลิตของเล่นประเภทอาร์ตทอย และสร้างมูลค่าผลผลิตทางอุตสาหกรรมกว่า 16,660 ล้านหยวน (2,479 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 29.80
อาร์ตทอย เป็นส่วนหนึ่งของสินค้าในหมวดของเล่น (พิกัดศุลกากร 9503) โดยในปี 2566 ตลาดโลก มีความต้องการนำเข้ารวมเป็นมูลค่า 50,044.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับประเทศไทย มีมูลค่าการนำเข้า 128.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.79 จากปีที่ผ่านมา ที่มีมูลค่า 114.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยนำเข้าของเล่น (รวมอาร์ตทอย) สูงสุดจาก 3 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ขณะเดียวกัน ไทยมีมูลค่าการส่งออกที่ 251.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 ลดลงร้อยละ 9.87 จากปีที่ผ่านมา ที่มีมูลค่า 278.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนประเทศที่ไทยส่งออกของเล่น (รวมอาร์ตทอย) สูงสุด 3 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ จากข้อมูลของบริษัท ป๊อปมาร์ท ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาร์ตทอยที่มีชื่อเสียงของจีน มีการคาดการณ์ว่าไทยจะเป็นตลาดศักยภาพที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในกลุ่มสินค้าอาร์ตทอยจากกลุ่มผู้ซื้อที่มีจำนวนมากขึ้น อีกทั้งยังมีพฤติกรรมการซื้อแบบสะสมครบทุกเซต ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่ซื้อเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น
ทั้งนี้คุณพูนพงษ์ กล่าวย้ำอีกว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าศิลปินและนักออกแบบอาร์ตทอยของไทยหลายท่านมีผลงานสร้างชื่อเสียงระดับโลก อาทิ คุณนิศา ศรีคำดี หรือ Molly ศิลปินผู้ออกแบบ “CRYBABY เด็กหญิงเปื้อนน้ำตา” คุณพัชรพล แตงรื่น หรือ Alex Face ผู้สร้างสรรค์ “Mardi เด็กในชุดกระต่ายสามตา” และคุณศิรินญา ปึงสุวรรณ หรือ Poriin ศิลปินผู้สร้าง “Fenni จิ้งจอกหน้าตาน่ารัก” ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีต่อผลงานอาร์ตทอยตลอดจนสินค้าคาแร็กเตอร์อื่นๆ ซึ่งออกแบบโดยศิลปินชาวไทยที่สามารถขยายตลาดไปได้ทั่วโลก เนื่องจากอาร์ตทอยไม่ได้เป็นเพียงของเล่นหรือของสะสม แต่เป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ซื้อสามารถนำมาใช้ประดับตกแต่งภายในที่อยู่อาศัย ถือเป็นงานศิลปะที่บ่งบอกรสนิยม และเนื่องจากอาร์ตทอยเป็นสินค้าที่ผลิตในจำนวนที่จำกัด ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้ราคาของอาร์ตทอยสูงขึ้นจนกลายเป็นสินทรัพ
ปัจจุบันต้องบอกว่าอาร์ตทอยเป็นสินค้าที่น่าจับตามอง จากแนวโน้มการขยายตัวของตลาดอาร์ตทอยของโลกและการนำเข้าสินค้าอาร์ตทอยที่เพิ่มขึ้นของไทย แสดงให้เห็นถึงโอกาสทางการค้าของทั้งศิลปินและผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมต่อกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การสอดแทรกศิลปะวัฒนธรรมไทยในการออกแบบ การสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับศิลปินหรือตัวละครที่มีชื่อเสียง และการนำความเชื่อมาเป็นส่วนประกอบในการออกแบบ เช่น อาร์ตทอยพระพิฆเนศ และอาร์ตทอยแมวกวัก ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เสริมความนิยมด้านการท่องเที่ยว และสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของไทย พร้อมแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งส่งเสริมความรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ประชาสัมพันธ์ และสร้างโอกาสการแสดงความสามารถของศิลปินและผู้ประกอบการไทย เพื่อผลักดันให้อาร์ตทอยรวมถึงอุตสาหกรรมของเล่นไทยให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากทั่วโลก