ทีมวอลเลย์บอลสาวไทย มีเป้าหมายสูงสุดคือ การเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และเกือบทำได้สำเร็จในยุคของ “7 เซียน” ที่องค์ประกอบสมบูรณ์ที่สุด ทั้ง วรรณา บัวแก้ว, ปลื้มจิตร์ ถินขาว, วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์, อำพร หญ้าผา, นุศรา ต้อมคำ, อรอุมา สิทธิรักษ์ และมลิกา กันทอง
ทีมชุดนั้นที่นำโดย โค้ชอ๊อต เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร เข้าใกล้ความหวังที่สุด ตอนคัดเลือกโอลิมปิกปี 2012 หลังเอาชนะคิวบา และรอผลคู่ ญี่ปุ่น กับ เซอร์เบีย โดยขอให้ผลออกมาใครชนะก็ได้ ด้วยผลเท่าไรก็ได้ เว้นแต่ เซอร์เบีย ชนะ ญี่ปุ่น 3-2 เซ็ต เท่านั้น แต่ผลก็ออกมาแบบนี้จริงๆ และทั้ง 2 ชาติก็จับมือกันผ่านไปโอลิมปิกรอบสุดท้าย ท่ามกลางความคาใจของใครหลายคน
เมื่อทีมชุดที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ ยังทำได้แค่ “เกือบ” หลายคนจึงถอดใจกับการจะเห็นทีมตบสาวไทยไปโอลิมปิกให้ได้ แต่ สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ยังเดินหน้าต่อ ประกอบกับการที่ทีมนักกีฬาที่ขึ้นมารับไม้ต่อจากชุด 7 เซียน ทำผลงานได้น่าประทับใจ ความหวังครั้งใหม่ก็เริ่มต้น พร้อมๆ กับการสร้างกระแสความสนใจ ตื่นตัวต่อเนื่อง มีกลุ่มแฟนคลับทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
ดาวเด่นตัวหลักยุคปัจจุบัน ประกอบด้วย พรพรรณ เกิดปราชญ์ (กัปตันทีม), อัจฉราพร คงยศ, ชัชชุอร โมกศรี, พิมพิชยา ก๊กรัมย์, หัตถยา บำรุงสุข และ ปิยะนุช แป้นน้อย ทีมชุดนี้มีดีกรีอันดับ 14 ของโลก ผลงานการันตีล่าสุดด้วยการสร้างประวัติศาสตร์ทะลุรอบ 8 ทีมสุดท้าย การแข่งขันเนชั่นส์ลีก 2022 และ คว้าอันดับ 3 ศึกวอลเลย์บอลเอวีซี คัพ 2022
สมพร ใช้บางยาง นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ประกาศแผนเดินหน้าสานฝันพาทีมไทยไปโอลิมปิกให้ได้ ทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว
ระยะสั้นกับทีมแห่งความหวังชุดปัจจุบัน แผนงานครึ่งปีหลังของ พ.ศ. 2565 เริ่มด้วย รายการวอลเลย์บอลหญิงอาเซียน กรังด์ปรีซ์ ครั้งที่ 2 ปี 2022 ที่ จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 9-11 กันยายน 2565 มี 4 ชาติเข้าร่วม ประกอบด้วย ไทย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ (กระชับมิตร เตรียมความพร้อมระบบการเล่น)
ก่อนลุยศึกใหญ่อย่าง การแข่งขันวอลเลย์บอลชิงแชมป์โลก 2022 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และโปแลนด์ เป็นเจ้าภาพร่วม ระหว่างวันที่ 24 กันยายน–16 ตุลาคม 2565 โดย ทีมชาติไทย อยู่ร่วมสาย บี กับ โปแลนด์, ตุรกี, โดมินิกัน, เกาหลีใต้ และ โครเอเชีย เรียกได้ว่าเป็นทัวนาเมนต์สำคัญในการสะสมคะแนนอันดับโลก เพื่อโอกาสการเข้าร่วมการแข่งขันรอบคัดเลือกของโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ส่วนปี 2566 ทาง สมาคมฯ ได้ยื่นขอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวอลเลย์บอลเนชั่นส์ ลีก 2023 สนามที่ 2 ต่อสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ หรือ FIVB คาดว่าโอกาสการเป็นเจ้าภาพค่อนข้างสูง รอเพียงการตอบรับอย่างเป็นทางการเท่านั้น
สำหรับ โอลิมปิกเกมส์ 2024 “ปารีสเกมส์” กำหนดทีมเข้าร่วมแข่งขันรอบสุดท้ายจำนวน 12 ทีม ฝรั่งเศส ประเทศเจ้าภาพ ได้สิทธิผ่านเข้ารอบสุดท้ายโดยอัตโนมัติ ส่วนอีก 11 ทีม ที่เหลือ จะต้องแข่งขันรอบคัดเลือก Olympic Qualification Tournament ซึ่งได้มีการเปลี่ยนกติกาใหม่
ทีมอันดับ 1-24 ของโลก จะได้เข้าร่วมแข่งขันในรายการนี้ ซึ่งจะแข่งขันระหว่างวันที่ 16-24 กันยายน 2566 รูปแบบจะมีการจับสลากแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 8 ทีม แต่ละกลุ่มจะแข่งขันแบบพบกันหมด ทีมอันดับ 1-2 ของแต่ละกลุ่ม ที่มีคะแนนดีที่สุด รวมทั้งหมด 6 ทีม จะผ่านเข้ารอบสุดท้ายของโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ส่วนตั๋วอีก 5 ใบ จะดูจากคะแนนสะสมอันดับโลก หลังจบการแข่งขันวอลเลย์บอลเนชันส์ ลีก ปี 2024 ซึ่ง 5 ชาติ ที่มีคะแนนดีที่สุดของแต่ละทวีป
ดังนั้น ทุกทัวร์นาเมนต์ใหญ่ จึงมีความสำคัญเพราะชัยชนะและคะแนน จะมีผลต่อการจัดอันดับโลก FIVB World Ranking เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันรอบคัดเลือก ปารีสเกมส์ 2024 ที่นับหลังจบฤดูกาลแข่งขันปี 2022
‘ทีมสาวไทย’ ต้องติดอันดับ 1-24 ของโลก ให้ได้ เพื่อสิทธิแข่งขันรอบคัดเลือก ลุ้นผลงานจบอันดับ 1-2 ของกลุ่ม ในการคว้าโควตา แต่ถ้าไม่สามารถคว้าโควตาได้ ทีมไทย จะต้องทำผลงานรายการวอลเลย์บอลเนชั่นส์ ลีก ให้ดีที่สุด เพื่อเก็บคะแนนอันดับโลกสูงที่ของทวีปเอเชีย และหวังให้ จีน, ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ คว้าโควต้าสำเร็จจากการคัดเลือกรอบที่แล้ว
ด้วยเป้าหมายสำคัญ จึงต้องมีการเสริมทัพให้พร้อมทุกด้าน โดยด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาได้รับการสนับสนุนจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย อำนวยความสะดวกให้ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ภายในศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา ประกอบด้วย เครื่องวัดมวลกล้ามเนื้อ ไขมันในร่างกาย, ระบบ Isometic เกร็งกล้ามเนื้อ, Isokinekic วัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา และ Gas analysis หาค่า Vo2max
ส่วนแผนงานระยะยาว คือ การพัฒนากีฬาวอลเลย์บอลอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ระดับเยาวชนรุ่นอายุ 12 ปี ไปจนถึงรุ่นอายุ 18 ปี และระดับประชาชน ทั้งในร่มและชายหาด รวมทั้งระดับอาชีพ ทำให้ลีกวอลเลย์บอลอาชีพแข็งแรง ทุกสโมสรมีการพัฒนานักกีฬาที่เป็นมาตรฐาน แม้ปัจจุบันไทยแลนด์ลีก ยังมีมิติกึ่งระดับอาชีพเท่านั้น
รวมถึงต่อยอดสนับสนุนนักกีฬาออกไปเล่นลีกอาชีพ ในลีกชั้นนำของต่างประเทศ เพื่อเดินหน้าตามนโยบาย “ปั้นและสร้าง” อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ยุคการเปลี่ยนแปลงการบริหารสมาคมฯ เมื่อปี พ.ศ.2528 เพื่อเป้าหมาย “ก้าวไกลสู่ระดับโลก” ให้ได้