ในยุค 90 ที่การรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลต่างประเทศยังเข้าถึงได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูง รวมทั้งการติดตามข่าวและผลการแข่งขันกีฬายังจำกัด การถือกำเนิดของ “สปอร์ต เรดิโอ” คลื่นวิทยุกีฬา 24 ชั่วโมง ในช่วงครึ่งหลังทศวรรษ 90 จึงเข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้ได้อย่างลงตัว และกลายเป็นอีกหนึ่งความทรงจำของคอบอล คอกีฬา
“ระวิ โหลทอง” เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามกีฬา มีความฝันมาตลอดที่อยากจะทำวิทยุกีฬา จนกระทั่งฝันเป็นจริงเมื่อได้คลื่น FM99 จาก อสมท มาบริหารงานในปี 2539 ตั้งแต่ยุคที่โรงพิมพ์สยามกีฬายังอยู่ที่ห้องแถวคลองเตย และต่อมาย้ายไปออกอากาศตามการย้ายโรงพิมพ์สยามกีฬาไปที่ห้องส่ง ซอยลาดพร้าว 48 และซอยนวลจันทร์ ตามลำดับ
เสน่ห์ของการติดตามฟุตบอลในสมัยนั้น คือผู้ฟังจะต้องใช้จินตนาการเข้ามาประกอบด้วย ขณะที่ผู้พากย์จะบรรยายเพื่อให้ผู้ฟังเห็นภาพให้ได้มากสุด บรรยายในทุกจังหวะสำคัญ เช่น ใครเลี้ยงอยู่ส่วนใดของสนาม แตะหลบลอดขา จ่ายบอลจากตรงไหนไปอย่างไร (ต่างจากระยะหลังๆ ที่ผู้จัดรายการเน้นการคุยกันเอง โดยรายงานผลเป็นส่วนประกอบ)
วิธีการรายงานสดฟุตบอลยุคนั้นคือ การเปิดฟุตบอลคู่ที่มีการถ่ายทอดสด โดยเปิดซาวด์ให้เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งจะมีเสียงบรรยากาศการแข่งขันมาใช้ประกอบการพากย์ของนักพากย์ในห้องส่ง (มีเกร็ดเรื่องซาวด์ ในช่วงหนึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่อนุญาตให้ใช้ซาวด์ไปพากย์ฟุตบอลทางวิทยุ ทีมงานเลยใช้เสียงจากเกม วินนิ่ง มาเปิดประกอบเพื่อไม่ให้เงียบเกินไป)
แต่หลายครั้งที่ โปรแกรมการถ่ายทอดสด ไม่ใช่คู่ที่แฟนบอลไทยรอติดตาม เช่น ลิเวอร์พูล หรือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (ยุคนั้นยังไม่ได้ถ่ายครบทุกคู่) คุณระวิ จะสั่งการ ให้ผู้สื่อข่าว สตาร์ซ็อคเก้อร์ ประจำประเทศอังกฤษพากย์สดๆ จากขอบสนามกลับมาที่ห้องส่งประเทศไทยทุกๆ 15 นาที (บางเกมที่สำคัญช่วงท้ายฤดูกาลแทบจะทุก 10 นาที) เรียกว่าลงทุนกันแบบไม่หวั่นค่าโทรศัพท์ทางไกลข้ามประเทศกันเลย
ส่วนคู่อื่นๆ จะใช้การรายงานผลผ่าน “ช่วงไลฟ์รีพอร์ต” ซึ่งผู้ฟังหลายคนเข้าใจว่ารายงานมาจากต่างประเทศ แต่ที่จริงแล้วคนรายงานก็โทรศัพท์ภายในจากหน้าห้องส่งนั่นแหละ โดยนำผลมาจาก เทเล็กซ์ (ระบบข้อมูลข่าวที่ซื้อจากสำนักข่าวต่างประเทศ) และเว็บไซต์ต่างประเทศ (ซึ่งยุคนั้นยังมีอย่างจำกัด และคนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก) ที่รายงานผลแบบนาทีต่อนาที โดยช่วงแรกจะแจ้งมาเฉพาะคนยิง และนาทีที่ยิงได้ จากนั้นอีกสักครู่จะตามมาด้วยการเขียนอธิบายจังหวะยิงแบบสั้นๆ ซึ่งผู้พากย์ก็จะรายงานให้ผู้ฟังได้ไปใช้จินตนาการกันต่อ
“ไลฟ์รีพอร์ต” นอกจากจะช่วยให้ผู้ฟังได้ติดตามลุ้นมากขึ้น ยังเป็นโอกาสให้เพิ่มผู้สนับสนุนประกอบไปกับจิงเกิ้ลประจำช่วงได้ด้วย ซึ่งผู้รายงานไลฟ์รีพอร์ต ที่คอบอลคุ้นชื่อ เช่น วิโนตกุมาร, ไพศาล เล็กกำแหง และสมศักดิ์ แย้มสุขเสรี
นอกจากนั้น “สปอร์ต เรดิโอ” ยังมีรายการที่มีแฟนๆ ติดตามอย่างต่อเนื่อง ทั้ง “สนทนากีฬากับจ่าแฉ่ง” โดย “จ่าแฉ่ง” สมชาย กรุสวนสมบัติ ในช่วงเช้าวันจันทร์-ศุกร์ ซึ่งยุคแรกจะมีช่วงคอลัมน์ของ “ช่อคูน” เจษฎา วิจารณ์ด้วย , “มองอย่างเซียน” รายการวิเคราะห์บอล ช่วง 4 โมงเย็นของทุกวัน โดย “คุณฉุย” สมศักดิ์ สงวนทรัพย์และทีมงาน , “นานาทัศนะกับบิ๊กจ๊ะ” โดย “บิ๊กจ๊ะ” สาธิต กรีกุล ช่วง 5 ทุ่ม จันทร์-พฤหัสบดี, “เกาะติดบุนเดสลีกา” โดย “ก.ป้อหล่วน” นิกร ชำนาญกุล ช่วง 5 ทุ่ม วันศุกร์, “อเมริกันเกมส์” โดย “ไทซอน”
ขณะที่รายการ “ฟุตบอลยุโรป” ที่ออกอากาศในช่วงตี 1-5 (หากไม่มีรายงานสดฟุตบอล) ยังหมุนเวียนคอลัมนิสต์เข้ามาจัดรายการเป็นเพื่อนคนนอนดึก เช่น แจ๊คกี้, บอ.บู๋, นพนันท์, ศาธนันท์, ต.โต้ง, ธีระ, สมเก้, ชู้ตเอาท์, โมนาลิซ่า, แมวเพชร, ตังกุย, เจมส์ ลาลีกา ไม่รวมกับรายการกีฬาอื่นๆ อย่าง “ตะลุยลูกหนังไทย” โดยทีมงาน 4 สิงห์แดนลูกหนัง, “สังเวียนมวยสยาม” โดยทีมงาน มวยสยาม
สปอร์ต เรดิโอ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับจำนวนแฟนรายการ จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อ อสมท เจ้าของสัมปทานคลื่นต้องการนำคลื่นกลับไปบริหารเอง (ตามนโยบายรัฐบาลในเวลานั้นที่ต้องการจะดึงคลื่นกลับคืนจากหน่วยงานต่างๆ ที่ไม่ได้บริหารเองและปล่อยให้มีการเช่าช่วง) โดย อสมท ใช้การที่คลื่น FM99 เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว ผลิตเป็นคลื่นวิทยุกีฬาขึ้นมาเช่นเดียวกันและระยะแรกก็ออกแบบรายการต่างๆ ให้ใกล้เคียงกับที่เคยให้ สยามกีฬา บริหาร
ขณะที่ “สปอร์ต เรดิโอ” ต้องย้ายไปคลื่นใหม่ตามระยะสัญญาทั้ง FM90.0, FM96.0 รวมทั้งบางช่วงต้องไปออกอากาศทาง AM และภายหลังออกอากาศผ่านทางอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว ก่อนจะปิดตัวถาวรเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป การเข้าถึงการดูฟุตบอล คลิปไฮไลต์และผลการแข่งขันเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้ง่ายดาย ซึ่งส่งผลต่อการทำธุรกิจผลิตรายการวิทยุตามไปด้วย
ทิ้งไว้เพียงตำนานลุ้นผลบอลแบบฟังแล้วใช้จินตนาการตาม ที่คนร่วมสมัยเท่านั้นจะรับรู้ถึงความรู้สึกตื่นเต้นแบบนั้นได้