อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่าขุนพลเซปักตะกร้อทีมชาติไทย มีความแข็งแกร่งและครองความยิ่งใหญ่ไร้เทียมทานมาหลายยุคหลายสมัย
ทัพลูกหวายไทยสามารถครองเบอร์หนึ่งของโลกได้ต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี การันตีความยอดเยี่ยมด้วยผลงานแชมป์โลก รวมถึงกวาดเหรียญทองในกีฬาเอเชียนเกมส์และกีฬาซีเกมส์มาครองได้ตลอด
ความสำเร็จแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในหลายอีเวนต์ที่ผ่านมา ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าชาติอื่นพัฒนากันไปถึงไหนแล้ว หรือกระทั่งว่ามาเลเซียยังเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับทีมชาติไทยหรือไม่
รวมถึงเกาหลีใต้ซึ่งในระยะหลังๆ มานี้ พวกเขาก็สามารถเล่นกีฬาเซปักตะกร้อได้เก่งมากขึ้น จนหลายๆ ครั้งก็ก้าวขึ้นมาต่อกรกับทีมชาติไทยได้อย่างสนุกเร้าใจ
FEED มีโอกาสสัมภาษณ์ โค้ชกมล ตันกิมหงษ์ ผู้ฝึกสอนกีฬาเซปักตะกร้อทีมชาติไทย ในหลากหลายประเด็น ซึ่งหนึ่งในคำถามที่เราอยากรู้ที่สุดคือ หากในอนาคตข้างหน้าทัพลูกหวายไทยถูกชาติอื่นๆ แซงหน้าไป
สมาคมกีฬาตะกร้อแห่งประเทศไทยและโค้ชกมล ในฐานะที่ฟูมฟักและดูแลทีมเซปักตะกร้อไทยมานานหลายปี มีความวิตกกังวลกับเรื่องนี้แค่ไหน
ส่วนคำตอบของโค้ชกมลจะออกมาเป็นอย่างไร ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์กันได้เลย
โปรแกรมแข่งปีนี้ 4 รายการ เริ่มจากซีเกมส์ในเดือนพฤษภาคม
กมล ตันกิมหงษ์ : ปีนี้มีรายการแข่งขันที่เป็นโปรแกรมของนานาชาติ 4 รายการ ในเดือนพฤษภาคมจะเป็นการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ที่กัมพูชา ในเดือนกรกฎาคมจะเป็นการแข่งขันเวิลด์ แชมเปียนชิพ หรือ ถ้วยพระราชทาน “คิงส์คัพ” ซึ่งเป็นถ้วยที่สำคัญ ที่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ของนักกีฬาไทย และของสมาคมฯ มากที่สุด
ปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมจะมีการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ที่จีน และในเดือนพฤศจิกายนจะมีการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ที่ประเทศไทย เป็น 4 รายการใหญ่ในปีนี้ เพราะฉะนั้นนักกีฬาที่เราเตรียมไว้ก็จะเตรียมแบบต่อเนื่อง
แต่ว่าอีเวนต์อาจจะมีการปรับเปลี่ยน เช่น รายการมาร์เชียลอาร์ต จะเป็นชนิดที่จะไม่มีการแข่งขันในกีฬาเอเชียนเกมส์ มันก็จะแตกไปเป็นประเภทคู่ ประเภท Mixed quad เป็นประเภท Double อะไรอย่างนี้
แต่เรากำลังจะดำเนินการอยู่ในเรื่องของสหพันธ์เซปักตะกร้อนานาชาติ ที่มันมีอีเวนต์แตกต่างกันไปในเอเชียนเกมส์ มาทำการแข่งขันกันในมาร์เชียลอาร์ตปลายปีนี้
การเติบโตและการพัฒนาของวงการกีฬาเซปักตะกร้อ
กมล ตันกิมหงษ์ : คือเมื่อก่อนนี้มันจะมีเซปักตะกร้อทีมชุด ทีมเดี่ยว มันก็เริ่มแตกอีเวนต์มาเป็นการแข่งขันประเภทคู่ คู่ทีมชุด คู่ทีมเดี่ยว เป็น Quad คือ 4 คนนะครับ ล่าสุดมี Mixed quad Mixed คือผู้ชาย 2 ผู้หญิง 2 เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าการพัฒนาของประเภทของกีฬาตะกร้อ มันทำให้นักกีฬามีการพัฒนา
เมื่อก่อนนี้คือแบ็กก็จะเสิร์ฟอย่างเดียว เปิดชงบ้าง ตัวชงก็จะทำหน้าที่ชงเป็นหลัก แต่ขณะนี้ทุกตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นตัวแบ็ก ตัวชง ตัวทำ ต้องสามารถเล่นได้ครบเครื่อง คือสามารถเสิร์ฟท้ายคอร์ตได้ สามารถชงเองได้ ทำได้ เหมือนกับตัวทำทั่วๆ ไป มันก็ทำให้ตำแหน่งแต่ละตำแหน่งต้องเกิดการพัฒนาขึ้น
เพราะว่าการส่งนักกีฬาเขาจะจำกัดใน 12 คน ตัวแบ็ก ตัวชง ตัวทำ คุณจะเลือกใครมาก็แล้วแต่ในอีเวนต์ที่มีทำการแข่งขัน เพราะฉะนั้นนักกีฬาเราเมื่อมันจำกัดจำนวน เราก็ต้องใช้นักกีฬาที่มีจำนวนจำกัด ให้สามารถเล่นได้หลายอีเวนต์
- ช่วยเพื่อไม่ให้นักกีฬาเกิดการบอบช้ำมากเกินไป ถ้าเล่นซ้ำอีเวนต์
- คือเราจะมาเซปักอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เพราะมันมีประเภทคู่ มีประเภท quad
มันก็ทำให้เรามองเห็นว่าในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ หรือกีฬาที่เป็นระดับนานาชาติ เราจะเห็นว่านักกีฬาต่างชาติที่มาเก็บตัวกับเรา เช่น ฟิลิปปินส์, อินเดีย, เกาหลี ในประเภทเซปักอาจจะซ้อมลำบาก
ถ้าเป็นทีมชุดก็ไปเล่นประเภท Double เป็นประเภท quad มันก็ทำให้การแข่งขันมีหลายๆ อีเวนต์ ทำให้เกิดการพัฒนาแตกไปจากเซปักตะกร้อ ผมว่ามันดีนะครับ เป็นการส่งเสริมในกีฬาชนิดนี้ ให้มันมีตัวเลือกมากขึ้น
กมล ตันกิมหงษ์ กล่าว
นักกีฬาทุกชาติสามารถพัฒนาได้ ใครเก่งกว่าก็พร้อมขึ้นเป็นเจ้าโลก
กมล ตันกิมหงษ์ : อังกฤษเป็นต้นตำรับของฟุตบอล แต่เวลามีการแข่งขันในรายการใหญ่ๆ ประเทศอื่นก็สามารถจะเป็นเจ้าโลกได้นะครับ ผู้ชนะไม่ใช่ประเทศอังกฤษ ไม่ใช่ประเทศต้นกำเนิด อย่างเทควันโด ตอนนี้เห็นไหม ประเทศไทยก็สามารถเป็นแชมป์โลก หลายๆ ชาติก็สามารถเป็นแชมป์โลกได้
เพราะฉะนั้นในความคิดเรา กีฬามันสามารถพัฒนาได้ กีฬานี้เป็นบางจังหวะ บางช่วงของนักกีฬา จะมีนักกีฬาที่ดีของแต่ละประเทศมาทำการประลองกัน มันก็สามารถเปลี่ยนผู้ชนะได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมมองว่าในวันข้างหน้า ถ้าเรามองรูปร่างของนักกีฬาเราแล้ว ถ้าเกิดมียุโรปสูง 2 เมตรมาเล่นกับเรา ทั้งการเสิร์ฟ การเตะ การบล็อก มันก็น่าจะเป็นแบบนั้น
เหมือนกับมวยไทยทุกวันนี้ พอชาวต่างชาติมาเล่นมากๆ ความแข็งแกร่ง สภาพร่างกาย ด้วยวิทยาศาสตร์การกีฬา ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีอะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นไปได้นะครับว่าใครก็ตามที่มาเล่นกีฬาชนิดนี้แล้วสามารถจะเป็นผู้ชนะได้
กมล ตันกิมหงษ์ ยกตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างตะกร้อกับมวยไทย
ไม่หวั่นหากเซปักตะกร้อไทย จะสูญเสียความเป็นเบอร์ 1 ของโลก
กมล ตันกิมหงษ์ : มันเป็นเรื่องของกีฬา ถามว่าเรากลัวไหม คนอื่นที่จะมาชนะ แล้วจะมาแซงหน้าเรา เราก็พยายามฝึกซ้อม เราก็พยายามที่จะทำยังไงให้รักษาสิ่งที่เราทำมาได้ในซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ ชิงแชมป์โลก
แต่ในเรื่องของความเป็นจริง กีฬามันมีแพ้มีชนะนะครับ มันมีเป็นสัจธรรมของการแข่งขันกีฬาอยู่แล้ว ใครที่จะครองความชนะได้ยาวนานที่สุด อันนั้นถือเป็นสถิติ แต่มันก็ไม่เสมอไปหรอกนะครับ ในกีฬาหลายๆ ชนิดในโลกนี้
แม้กระทั่งเราไปดูว่าบางคนจะทำสถิติเป็นครั้งสุดท้าย ก็ยังพลาดได้ ยังแพ้ได้ เพราะฉะนั้นถือว่าถ้าเรามาร่วมกันช่วยพัฒนา เป็นความภาคภูมิใจมากกว่า ว่าใครไปเล่นกีฬาชนิดนี้แล้วนึกถึงประเทศไทยนะครับ
เพราะฉะนั้นใครจะมาแซง หรือใครจะมาชนะเราบ้าง มันก็ยังเป็นความภาคภูมิใจว่า เขาคงนึกว่ากีฬาชนิดนี้มันเป็นต้นกำเนิดจากที่นี่
กมล ตันกิมหงษ์ กล่าวปิดท้าย
ตะกร้อสาวไทยแพ้เวียดนามครั้งแรกในรอบ 16 ปี
การแข่งขันตะกร้อชิงแชมป์โลก ชิงถ้วยพระราชทาน “คิงส์คัพ” ครั้งที่ 35 ประจำปี 2565 ที่ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ รอบชิงชนะเลิศ ประเภทตะกร้อหญิง 4 คน ทัพลูกหวายสาวไทย แพ้ให้กับ ทีมชาติเวียดนาม คู่ปรับสำคัญ 0-2 เซ็ต ถือเป็นชัยชนะครั้งแรกในรอบ 16 ปีของเวียดนาม เนื่องจากทีมตะกร้อหญิงไทยเคยแพ้เวียดนามครั้งล่าสุดในการแข่งขันประเภททีมชุดหญิง กีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 15 เมื่อปี 2006