ไม่ค่อยอยากพูดเท่าไรเลยนะจริงๆ เอาเป็นตัวเลขนะว่าเกิน 1 ล้านแน่นอนครับ แต่ว่าจะเท่าไรก็แค่นั้นเอง ต้องบอกแบบนี้ว่ามันก็สะสมไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าวันหนึ่ง คุณ 1 ล้านเลย จุดเริ่มต้นของผมก็เริ่มจากหลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น หลักแสน แล้วก็ค่อยๆ ไป
“กล้า เกียรติกมล กล่อมแก้ว” ผู้ร่วมก่อตั้งเพจ Footballshirt Community of Thailand
ของผมก็เกินล้านเหมือนกันครับ มูลค่าที่เราซื้อมาอาจจะประมาณหลักแสน แต่ถ้าเกิดเอาไปประมูลก็อาจจะเกือบล้านก็มีครับ อย่างของผมปี 1986 ฟุตบอลโลกที่เม็กซิโก ผมได้ตัวของคาร์ล ไฮนซ์ รุมเมนิกเก้ หมายเลข 11 เป็นตัวสีขาว ผมได้มาประมาณแสนต้นๆ มีคนเยอรมันเคยเสนอผมมาประมาณ 5 แสน ผมยังไม่ขายเลยครับ
“เอ็ม ประวิทย์ ฉัตรสนธิรักษ์” ทีมงานเพจ Footballshirt Community of Thailand
FEED ขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ “กล้า เกียรติกมล กล่อมแก้ว” และ “เอ็ม ประวิทย์ ฉัตรสนธิรักษ์” 2 นักสะสมเสื้อบอลคลาสสิกมูลค่าหลักล้านบาท ย้อนดูจุดเริ่มต้นของความชอบ ความหลงใหล พร้อมเปิดคลังเสื้อบอลแรร์ไอเทมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและมีคุณค่าตามกาลเวลา อาทิ เสื้อทีมชาติเม็กซิโก สีเขียวลายเผ่ามายา, เสื้อผู้รักษาประตูลายไฟของทีมชาติญี่ปุ่น, เสื้อลูกศรของโซเวียต ปี 1988, เสื้อทีมชาติเยอรมนีสีน้ำเงินที่มีเพียงตัวเดียวในไทย และเสื้อทีมชาติเยอรมนีสีดำ เพ้นท์ข้อความ Human Rights ที่มีแค่ 11 ตัวในโลก
จากคนที่ซื้อเสื้อบอลก็อป-เสื้อใหม่ สู่เส้นทางนักสะสมเสื้อบอลคลาสสิก
เกียรติกมล กล่อมแก้ว : จุดเริ่มต้นของเราตอนเด็กๆ เราไม่ค่อยมีตัง ก็มีเสื้อก็อปบ้าง เสื้อเกรดเอบ้าง จนวันหนึ่งที่เราเติบโตมา และเรามีงบที่มากพอที่จะสามารถสะสมได้ เราก็สะสมมาตลอด แต่ช่วงแรกๆ เราก็อาจจะสะสมเสื้อของปีใหม่ๆ ครับ เพราะว่าเสื้อคลาสสิกอะไรพวกนี้ มันไม่ได้เจอตามท้องตลาด เราไม่รู้ว่าจะต้องเสื้อพวกนี้ที่ไหน ก็เลยซื้อตามช็อปบ้าง ซื้อตามห้างบ้าง ช่วงแรกก็จะสะสมในลักษณะเสื้อปีใหม่ๆ
พอเราเริ่มเก็บสะสมมาเรื่อยๆ มันก็เริ่มไปทีมที่ชอบล่ะ สะสมทีมที่ชอบ อย่างเช่นเราชอบแมนฯ ยูฯ เราก็เก็บแมนฯ ยูฯ ตลอดเลย พอแมนฯ ยูฯ ตัน เราก็เอ๊ะ มันมีทีมอื่นอีกไหม เพราะเราก็เห็นว่าทีมอื่นมันสวยดี เราก็ลองเปิดใจดู ลองเก็บทีมอื่นดู ไปๆ มาๆ ลามเลย ลามไปเรื่อยๆ
แฟนก็ถามนะว่าทำไมชอบแมนฯ ยูฯ ก็ใส่แค่แมนฯ ยูฯ สิ แต่เรามีความรู้สึกว่าเราเริ่มหลงใหลดีไซน์ เรื่องราว หรือแม้กระทั่งเรื่องเกี่ยวกับเนื้อผ้าพอเริ่มปีลึกๆ เข้าไป มันจะเริ่มมีลักษณะของเนื้อผ้าเข้ามาครับ เริ่มมีเรื่องราวเข้ามา เริ่มรู้สึกว่าเราชอบในความที่แบบว่าตัวนี้ฟุตบอลโลกนะ ตัวนี้ใส่ไม่กี่แมตช์ ตัวนี้แบบว่าหายากมากๆ
พอเขาบอกว่าหายากตาสว่างล่ะ เพราะหายากแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าคุณมองว่าหายากในลักษณะของเรื่องเกี่ยวกับเงินอ๋อถ้าสมมติผมมีแค่ 1,000 ถ้าผมจะไปซื้อ 10,000 ก็ยากแล้วใช่ไหม ความยากไม่เหมือนกัน แต่ถ้าคนมีหลักล้านซื้อหลักหมื่นแป๊บเดียว
ประวิทย์ ฉัตรสนธิรักษ์ : จุดแรกคือตอนที่ผมมาเชียร์ทีมชาติเยอรมันตอนฟุตบอลโลก ฟรองซ์ 98 ตอนนั้นคือเริ่มดูจริงๆ จังๆ แล้ว ก็คือตอน ป.6 ตอนนั้นอาจารย์ที่สอนวิชาสังคม เขาก็เริ่มบิ๊วท์แล้วว่าเยอรมันนี่แบบดายฮาร์ดนะ ตายยากนะ เพราะตอนนั้นเยอรมันเจอกับยูโกฯ โดนนำไป 2-0 ก่อน แล้วก็มาตีเสมอท้ายเกมเป็น 2-2
เหมือนอาจารย์ก็เลยบิ๊วท์ให้นักเรียนฟังทั้งห้องเลย เราก็ไม่รู้ แต่เรารู้ว่าตอนนั้นมันมีฟุตบอลโลก และเราก็เริ่มเตะฟุตบอลแล้ว เราก็เลยลองเชียร์ดูสิ เห็นอาจารย์บิ๊วท์มาขนาดนี้แล้วว่ามันเก่งนะ มีนักเตะชื่อ เจอร์เก้น คลินส์มัน, โลธาร์ มัทเธอุส, โธมัส เฮสเลอร์
หลังจากนั้นเราก็เริ่มเชียร์มาเรื่อยๆ ตอนนั้นเราก็ยังซื้อเสื้อแบบก็อป พ่อผมก็พาไปซื้อตามประสาเด็ก แล้วก็ใส่เตะบอล แต่ว่ามาจุดเปลี่ยนครั้งที่ 2 คือตอนฟุตบอลโลก ปี 2014 ที่บราซิล ก่อนหน้าที่เยอรมันจะได้แชมป์โลก ตอนนั้นผมก็เหมือนอยากจะแสดงตัวตนว่าเราชอบทีมชาติเยอรมันนะ
เราก็เลยตัดสินใจเปิดเพจ เป็นเพจที่เอาเสื้อบอลจากต่างประเทศที่เป็นเสื้อทีมชาติเยอรมันเข้ามาขาย เพราะบางตัวมันไม่ได้เข้ามาขายในบ้านเรา มันแทบจะไม่มีเลย เป็นเสื้อธรรมดาเหย้า-เยือน แต่บางตัวก็เป็นแบบเรโทร หายาก ขายเฉพาะที่เยอรมัน หรือขายที่อเมริกาอย่างเดียว เราก็มีโอกาสได้นำเข้ามาขาย
ความหลงใหลในเสื้อบอลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เผ่ามายาทีมชาติเม็กซิโก เสื้อผู้รักษาประตูลายไฟของทีมชาติญี่ปุ่น และเสื้อลูกศรของโซเวียต ปี 1988
เกียรติกมล กล่อมแก้ว : เสื้อแต่ละตัวมันมีวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เม็กซิโก ปี 1998 เขามีลายเสื้อที่มันเป็นเผ่ามายาที่อยู่ในเม็กซิโก เจ๋งมาก คือเสื้อของเม็กซิโกเริ่มใช้เผ่ามายาน่าจะปี 1996 จนถึงปี 1998 ที่ใช้ในฟุตบอลโลก ตัวปี 1998 จะหายากมากมีเอกลักษณ์ก็คือตรงบริเวณคอปกจะมีขอบแดง นั่นก็คือจะใช้ในฟุตบอลโลก ดีเทลแม่งเจ๋งมาก
คุณลองคิดดูนะ เขากล้ามาก แต่ว่ามันเป็นเอกลักษณ์ ผมชอบมากเพราะว่าการเอาเผ่ามายา ตรงกลางเป็นรูปคนไว้ข้างหน้า ที่เป็นสัญลักษณ์ของเขาเอามาใส่ทั้งตัวเสื้อ แล้วเม็กซิโกทำผลงานได้ดีนะ ตอนแรกเป็นม้ามืดเลยครับ เขาเป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม แต่มาแพ้เยอรมันในรอบ 16 ทีม 1-2 เรามีความรู้สึกว่าดีไซน์เสื้อมันสวยจริงๆ เราก็เลยชอบ
หรือแม้กระทั่งเสื้อผู้รักษาประตู ผมบอกเลยนะ เสื้อผู้รักษาประตูในญี่ปุ่น ถ้าคุณเจอแมชต์วอน (เสื้อที่นักเตะใส่ลงสนามแข่ง) แม่งสุดยอดเลยนะ ราคาสูง คนญี่ปุ่นอยากได้มาก บ้านเราคุณเจอแต่ Replica (เสื้อคุณภาพรองจากเสื้อเกรดเพลย์เยอร์) ทั้งนั้นแหละ โหถ้าติดแมชต์วอนนี่ยากมากครับ ผมยังไม่เคยเห็นเลย เสื้อมันดีไซน์สวย คุณลองคิดดูญี่ปุ่นเลือกใช้ลายไฟ ลายไฟที่เป็นลูก หรือแม้กระทั่งเสื้อผู้รักษาประตู โยชิคัทสึ คาวางูชิ เป็นลายไฟทั้งตัว สีดำ เท่มากครับ มูลค่าไม่ต้องถามเลย
ญี่ปุ่นได้ไปฟุตบอลโลกครั้งแรกด้วย มันก็เลยทำให้บ้านเราชอบเสื้อตัวนี้กันมาก ที่จะเป็นลูกไฟอยู่ด้านข้าง แล้วตรงกลางเป็นไฟ สวยมาก มีทั้งสีดำ สีเขียว เมื่อก่อน Replica เริ่มประมาณ 10,000 บาท เดี๋ยวนี้ 10,000 บาท ไม่ได้แล้ว
เกียรติกมล กล่อมแก้ว พูดถึงความพิเศษของเสื้อลายไฟทีมชาติญี่ปุ่น
เสื้อตัวต่อมาเป็น CCCP โซเวียต ปกติลูกศรมันจะแทงขึ้น แต่ตัวนี้มันเป็นความผิดพลาดของทางอาดิดาสเอง ในลักษณะของการตัดเย็บ ผมเชื่ออย่างนั้นนะ ไม่ใช่ของปลอมแน่นอน เพราะดูจากวัสดุ และเนื้อผ้าแล้ว ตัวนี้ลูกศรมันแทงลง หายากมากครับ มันเป็นความผิดพลาดที่เท่แล้วกัน หรือผมอาจจะดูเท่คนเดียวก็ได้ แรร์ไอเทมเลย เพราะปกติลูกศรมันจะแทงขึ้นหมดครับ ไม่ว่าจะเป็น ฮอลแลนด์, ปอร์โต้ หรือแม้กระทั่ง โซเวียต, โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์, เยอรมัน ลูกศรจะแทงขึ้นหมด
คนที่ทักคือพี่เบน (เบนจามิน จุง ทัฟเนล) Silly Fools อย่าลืมนะพี่เบน Silly Fools เขาเล่นเสื้อฟุตบอลด้วย เขาทักมาว่าเสื้อตัวนี้แปลกจังเลยทำไมลูกศรคุณแทงลง ปกติเสื้อลูกศรจะแทงขึ้น ก็แปลกใจนะ อาดิดาสทำผิดได้ยังไง คนที่ทำเสื้อคงตาลาย พอมันเป็นความผิดพลาด แล้วมันมีแค่ตัวนี้ตัวเดียวที่เป็น เราเก็บมันอยู่แล้ว อะไรที่มันรู้สึกแปลกๆ หน่อย รู้สึกว่ามันไม่เหมือนใคร เท่นะ ของเราลูกศรลงนะอะไรแบบนี้
เสื้อทีมชาติเยอรมนีสีน้ำเงินตัวเดียวในไทย และเสื้อสีดำเพ้นท์ข้อความ Human Rights ที่มีแค่ 11 ตัวในโลก
ประวิทย์ ฉัตรสนธิรักษ์ : คุณจะเห็นเยอรมันใส่เสื้อสีขาว สีดำ สีแดง สีเขียว แต่คุณจะไม่เคยเห็นเยอรมันใส่เสื้อสีน้ำเงินมาก่อน นอกจากนักสะสมที่สะสมเกี่ยวกับเสื้อแมตช์เชิ้ต เขาจะพอผ่านตามาบ้าง แต่ในไทยมีแค่ผมคนเดียว ผมกล้าพูดเลย แล้วทั่วโลกก็สามารถนับหัวได้ว่ามีอยู่ไม่กี่คนเท่านั้นเอง เพราะบางตัวมันก็กระจัดกระจายไปแล้ว
เนื่องจากสภาพของกาลเวลา สภาพของตัววัสดุของตัวผ้า บางคนก็อาจจะย่อยสลายไปแล้ว เพราะวัสดุของตัวผ้า มันเป็นวัสดุที่ทำมาจากพวกคอตตอน โพลีฯ สมัยก่อน คือพวกนี้ถ้าเก็บไว้นานๆ เข้ามันก็มีโอกาสที่จะย่อยสลาย หรือว่าเปื่อยไปบ้าง หรือการรักษา การเก็บของแต่ละคนไม่เหมือนกันนะครับ
อย่างตัวนี้ก็ยังพอเห็นบ้างว่ามันมีสภาพที่แบบหลุดลุ่ยอะไรนิดนึง แต่เรื่องนี้ผมไม่ได้กังวลอยู่แล้ว ผมกังวลที่ตัวเสื้อ ตัวเทมเพลตของมัน ที่มันมีความหายาก แล้วเรื่องราวของมันคือ เขาใส่ก่อนที่จะเตะฟุตบอลโลก ปี 1986
เยอรมันได้ไปตั้งแคมป์อยู่ที่เมือง Morelia เขาอยู่ที่นั่นประมาณเกือบ 2 อาทิตย์ได้ ก็มีทำกิจกรรมต่างๆ งานการกุศล มีจัดแมตช์อุ่นเครื่องกับทีมท้องถิ่นชื่อ Atletico Morelia ในนัดนั้นมันพิเศษตรงที่ว่าเขาใส่เสื้อสีน้ำเงิน คุณจะไม่เห็นนัดอื่นเลยที่เขาใส่เสื้อสีน้ำเงิน มีแค่นัดนี้นัดเดียว แล้วใส่โดยนักเตะเฉพาะแค่ยุคนั้นอย่างเดียวก็คือยุคที่ได้ไปฟุตบอลโลก ปี 1986 ครับ หลังจากนั้นคุณก็ไม่เคยเห็นอีกเลยว่าเขาใส่เสื้อสีน้ำเงิน
ส่วนตัวสีดำ ถือว่ามีแค่ 11 ตัวในโลกเท่านั้นเอง เพราะตัวนี้เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2021 เป็นแมตช์แรกที่เยอรมันใส่เสื้อสีดำ แต่ว่าก่อนที่นักเตะจะลงแข่งกับทีมชาติไอส์แลนด์ เขาได้มีการใส่เสื้อตัว Replica แต่เสื้อ Replica มันพิเศษตรงที่ว่าเขาเพ้นท์ตัวอักษร 11 ตัว เป็นคำว่า Human Rights
เป็นการบ่งบอกว่าเขาแอนตี้กับฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ทำไมเขาถึงแอนตี้ เพราะว่ามีคนบาดเจ็บล้มตาย มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างสนามฟุตบอลที่กาตาร์ แต่ทางเจ้าภาพไม่ได้มีการดูแลหรือเทคแคร์เยียวยาให้กับคนบาดเจ็บหรือล้มตายไปอย่างยุติธรรมครับ
ทางเยอรมันก็เลยรวมตัวกันแปลอักษรเป็นคำว่า Human Rights ขึ้นมาครับ ถือว่าตัวนี้ค่อนข้างหายาก แล้วก็มีการเอาลงไปประมูล นักเตะก็มีการถ่ายรูป มีส่งวิดีโอมาแสดงความยินดีกับคนที่ชนะประมูลด้วย อย่างตัวนี้ใส่โดย มัททีอัส กินเทอร์
เผอิญว่ามันตรงกับชื่อผมพอดี ผมชื่อเอ็ม คือตอนที่เขามีประมูล มันก็จะมีของนักเตะหลายคน เช่น ไค ฮาแวร์ตซ์, อิลคาย กุนโดกัน, มานูเอล นอยเออร์ ผมไม่สนใจใครเลย ผมชอบตัว M เพราะผมชื่อเอ็ม ผมก็เลยเอาตัวนี้ตัวเดียว ก็เลยใส่ราคาไป แต่เราก็มีงบอยู่ แต่โอเคมันจบตามงบที่เราคาดหวังไว้อยู่แล้ว
ตรงนี้มันไม่ได้เป็นพอยท์หลัก พอยท์หลักคือว่ามันมีแค่ 11 ตัวในโลก ถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก คุณจะได้เสื้อของทีมชาตินี้ค่อนข้างยาก เพราะว่านานๆ จะเห็นเขาเอาไปประมูล มันไม่เหมือนแบบพวกสโมสรในลีกอังกฤษ เช่น แมนฯ ยูฯ, อาร์เซนอล, สเปอร์ส อะไรแบบนี้ หลังจากจบการแข่งขัน เขาจะมีเอาลงไปประมูล มันเกิดขึ้นง่าย แต่กับทีมชาติมันเกิดขึ้นยากมาก อย่าง เยอรมันเกิดขึ้นมาแค่ 2 ครั้งเอง
ประสบการณ์ค่าครู และมูลค่าเสื้อบอลที่เก็บสะสม
เกียรติกมล กล่อมแก้ว : จริงๆ เราเริ่มจากการซื้อเสื้อ Replica ก่อนก็ได้ครับ ซื้อเสื้อจากตามช็อป ตามอะไรแบบนี้ ลองดูเนื้อผ้าลองดูอะไรอย่างนี้ก็ได้ แต่ว่าเสื้อพวกคลาสสิกมันไม่มีขายแล้ว ความต้องการมันค่อนข้างสูง วิธีการที่จะหาซื้อเสื้อพวกนี้ โดยส่วนใหญ่แถวบ้านเราก็มี เป็นไลฟ์สดบ้าง เป็นตามเพจบ้าง หรือแม้กระทั่งต่างประเทศก็จะมีในเว็บไซต์บ้าง หรือแม้กระทั่ง eBay อะไรแบบนี้ มันก็จะมีในลักษณะของการซื้อขายกันบ้าง
แต่โดยส่วนใหญ่ผมอยากจะให้เริ่มต้นจากจุดที่แถวบ้านเราก่อน เพราะว่าบางครั้งเราซื้อเสื้อจากต่างประเทศมาแล้ว คุณไม่มีความรู้มากพอ แค่ดูรูปมันยาก ขนาดพวกผมเก่งๆ กัน ก็ยังเรียบร้อยเหมือนกัน มันมีค่าครู ทุกคนมีค่าครูอยู่ ก็เรียบร้อยเหมือนกัน เพราะว่าบางครั้งดูแค่รูปอย่างเดียวไม่ได้ไงครับ และการตัดสินใจทุกครั้งที่อยู่ในต่างประเทศ มันได้แค่รูป เขาพยายามที่จะขายเรา มันจะแตกต่างกับคนที่อยากจะซื้อ
คนที่อยากจะซื้อเขาจะพยายามถามในเรื่องเกี่ยวกับตำหนิ เนื้อผ้าหรือแม้กระทั่งจุดบางจุดที่เราสงสัย แต่ว่าเรื่องพวกนี้มันต้องเกิดขึ้นจากความรู้ก่อน การศึกษาข้อมูลเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะในแต่ละปีไม่เหมือนกัน ปี 2000 วัสดุแบบนี้ ปี 1990 วัสดุเป็นอีกแบบ ปี 1980 เป็นแบบนี้ คุณอย่าลืมว่าตราบใดที่มีของแท้ ก็ต้องมีของปลอม
เกียรติกมล กล่อมแก้ว ให้คำแนะนำกับนักสะสมมือใหม่
เรื่องมูลค่าไม่ค่อยอยากพูดเท่าไรเลยนะจริงๆ เอาเป็นตัวเลขนะว่าเกิน 1 ล้านแน่นอนครับ แต่ว่าจะเท่าไรก็แค่นั้นเอง ต้องบอกแบบนี้ว่ามันก็สะสมไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าวันหนึ่ง คุณ 1 ล้านเลย จุดเริ่มต้นของผมก็เริ่มจากหลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น หลักแสน แล้วก็ค่อยๆ ไป มันไม่ได้แบบทันทีทันด่วน เพราะผมเชื่อว่าเสื้อมันมีมูลค่าของมัน
ประวิทย์ ฉัตรสนธิรักษ์ : ของผมก็เกินล้านเหมือนกันครับ มูลค่าที่เราซื้อมาอาจจะประมาณหลักแสน แต่ถ้าเกิดเอาไปประมูลก็อาจจะเกือบล้านก็มีครับ อย่างของผมปี 1986 ฟุตบอลโลกที่เม็กซิโก ผมได้ตัวของคาร์ล ไฮนซ์ รุมเมนิกเก้ หมายเลข 11 เป็นตัวสีขาว ผมได้มาประมาณแสนต้นๆ มีคนเยอรมันเคยเสนอผมมาประมาณ 5 แสน ผมยังไม่ขายเลยครับ
เพราะว่าเสื้อมันพิเศษ มันไม่ได้พิเศษแค่ตรงเนื้อผ้า มันอยู่ที่ใครใส่ด้วยครับ แล้ว คาร์ล ไฮนซ์ รุมเมนิกเก้ เป็นกัปตันทีมชาติเยอรมันสมัยนั้น ค่อนข้างดังอยู่แล้ว หลายๆ คนที่ดูฟุตบอล ตามฟุตบอลสมัยนั้น ก็จะรู้จักนักเตะเยอรมันคนนี้อยู่แล้วครับ
คือเสื้อแต่ละตัว มันก็จะมีมูลค่าของมัน อย่างผมซื้อบางตัวอาจจะ 20,000-30,000 บาท เพราะผมเห็นคุณค่ามัน แต่คนที่จะมาขอซื้อต่อจากผม เขาอาจจะให้แค่ 10,000 บาท ซึ่งคุณค่าของเสื้อ แต่ละคนมองไม่เท่ากัน
ประวิทย์ ฉัตรสนธิรักษ์ กล่าวทิ้งท้าย