การประท้วงในสนามฟุตบอล
กลายเป็นภาพและประเด็นข่าวที่ตกเป็นที่สนใจของผู้คนทั่วโลก เมื่อบรรดานักฟุตบอลทีมชาติอิหร่านพร้อมใจกัน “ไม่ร้องเพลงชาติ” ในช่วงพิธีการก่อนที่พวกเขาจะลงฟาดแข้งกับทีมชาติอังกฤษในฟุตบอลโลก 2022 นัดแรก
จุดยืนที่นักเตะทีมชาติอิหร่านแสดงออกมา คือ การประกาศกร้าวอย่างชัดเจน ผ่านความเงียบงัน ว่าพวกตนยืนอยู่เคียงข้างกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลอิหร่านในห้วงเวลาปัจจุบัน
ไม่เพียงแต่เหล่านักฟุตบอลเท่านั้นที่แสดงท่าที “ขบถ” ออกมา ทว่าแฟนบอลชาวอิหร่านบางส่วนที่เข้ามาชมการแข่งขันในสนาม ก็ยังตะโกนโห่ร้องเป็นการประท้วงในระหว่างที่เพลงชาติของพวกตนบรรเลงขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีชาวอิหร่านบนอัฒจันทร์บางส่วนที่ชูป้าย-สวมเสื้อยืด ซึ่งเขียนข้อความว่า “สตรี, ชีวิต, เสรีภาพ”
เชื้อมูลของปฏิกิริยาดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนก่อนหน้าวันแข่งขัน เมื่อ “เอฮ์ซาน ฮัจญ์ซาฟี” กัปตันทีมชาติอิหร่าน ที่ค้าแข้งกับสโมสรเออีเค เอเธนส์ ในประเทศกรีซ ได้เผยความในใจแทนเพื่อนร่วมทีม โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่พาดพิงถึงสถานการณ์ทางการเมืองร้อนระอุภายในประเทศว่า
“ก่อนอื่น ผมอยากจะขอแสดงความเสียใจต่อทุกๆ ครอบครัวของผู้สูญเสียในประเทศอิหร่าน
“ผมอยากให้พวกเขารับรู้ว่าพวกเรา (นักเตะทีมชาติอิหร่าน) ได้ยืนอยู่เคียงข้างผู้สูญเสีย พวกเราพร้อมสนับสนุนและรู้สึกเห็นอกเห็นใจพวกเขา
“พวกเราไม่สามารถปฏิเสธในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นได้ สถานการณ์ในประเทศของผมมันไม่ดีเอาเสียเลย และบรรดาผู้เล่นในทีมก็รู้สึกแบบเดียวกัน
“พวกเรามาอยู่ที่นี่ (กาตาร์) แต่ไม่ได้หมายความว่า พวกเราไม่ควรส่งเสียงที่จะสะท้อนถึงความรู้สึกของผู้สูญเสียในอิหร่าน หรือพวกเราต้องไม่แสดงความเคารพต่อพวกเขา
“ทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเรามี ล้วนเป็นสิ่งที่ได้รับมาจากประชาชน พวกเราต้องต่อสู้ พวกเราต้องโชว์ฟอร์มให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ พวกเราต้องยิงประตูให้สำเร็จ และทำให้ทุกคนรู้จักประชาชนผู้กล้าของอิหร่าน ผ่านผลการแข่งขันที่ยอดเยี่ยม
“สุดท้าย ผมหวังว่าสถานการณ์ในประเทศอิหร่านจะเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของประชาชน”
ทั้งนี้ ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ได้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบขึ้นในอิหร่าน เมื่อประชาชนจำนวนมหาศาลออกมาชุมนุมต้านอำนาจรัฐ จนถูกปราบปรามอย่างหนักหน่วง
ความขัดแย้งทั้งหมดระเบิดขึ้นภายหลังการเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังของ “มาห์ซา อามินี” สตรีวัย 22 ปี ที่ถูกจับกุมตัวโดย “เจ้าหน้าที่ตำรวจศีลธรรม” ซึ่งกล่าวหาว่าเธอมีพฤติกรรมละเมิดกฎเกณฑ์เรื่องการสวมฮิญาบ
จนถึงปัจจุบัน ข้อมูลจากนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ระบุว่ามีผู้ชุมนุมประท้วงมากกว่า 400 รายถูกสังหาร และมีประชาชนราว 16,800 คน ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐบาลอิหร่าน
ผู้นำอิหร่านพยายามชี้แจงตอบโต้ว่า กลุ่มผู้ประท้วงในขณะนี้ คือ “ผู้ก่อการจลาจล” ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นโดย “ศัตรูต่างชาติ”
นอกจากการไม่ร้องเพลงชาติของนักฟุตบอลและปฏิกิริยาประท้วงอำนาจรัฐในหมู่ผู้ชมแล้ว ระหว่างการแข่งขันกับทีมชาติอังกฤษในฟุตบอลโลก 2002 หลายคนอาจจะได้ยินแฟนบอลอิหร่านบางส่วนตะโกนเรียกชื่อ “อาลี คาริมี” อดีตนักฟุตบอลทีมชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ “สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน” อย่างเปิดเผย และเป็นหนึ่งในคนดังที่เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล
กำลังใจจากผู้ชม
ขณะที่ “แกรี ลินิเกอร์” อดีตตำนานศูนย์หน้าทีมชาติอังกฤษ ซึ่งผันตนเองเป็นสื่อมวลชนด้านฟุตบอลชื่อดัง ได้แสดงความเห็นถึงการแสดงจุดยืนทางการเมืองของนักเตะทีมชาติอิหร่านบนเวทีฟุตบอลโลกว่า “นี่คือสิ่งที่ทรงพลังและเป็นการแสดงท่าทีที่สำคัญอย่างยิ่ง”
“ฟุตบอลคือความพยายามในการใช้พลังอำนาจของกีฬาประเภทนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งดีงาม” ลินิเกอร์กล่าว
ขณะที่แฟนบอลชาวอิหร่านในสนามก็แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางคล้ายคลึงกัน
“สำหรับชาวอิหร่านที่อาศัยอยู่ทั่วโลก พวกเราขอมอบหัวใจให้แก่เหล่าสตรีและบรรดาคนรุ่นใหม่ ทีมฟุตบอลของเราก็เป็นของประชาชนเช่นกัน พวกเขาไม่ใช่ทีมของระบอบอิสลาม” แฟนบอลชื่อ “เฟรด” ให้สัมภาษณ์กับเดอะ การ์เดียน
ขณะที่แฟนบอลชื่อ “มอคห์ตาร์” ให้สัมภาษณ์ก่อนเกมอังกฤษ-อิหร่านเริ่มต้นขึ้นว่า “พูดจากใจจริง ผมไม่ต้องการให้ทีมอิหร่านชนะ” เพราะชัยชนะดังกล่าวจะยิ่งช่วยสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบอำนาจของกลุ่มผู้ปกครองในประเทศ
“(ถ้าพวกเขาชนะ) บรรดาผู้เล่นก็จะเดินทางกลับบ้าน แล้วก็ได้เข้าพบประธานาธิบดี… ผมยังหวังว่าพวกเขาจะยิงประตูได้เยอะๆ แต่ก็จะเป็นฝ่ายพ่ายในที่สุด” มอคห์ตาร์สามารถทำนายสกอร์ที่อิหร่านเป็นฝ่ายพ่ายอังกฤษไป 2-6 ได้อย่างแม่นยำ
ขณะที่แฟนบอลชื่อ “อาลี” กล่าวถึงกรณีที่นักเตะทีมชาติอิหร่านต้องเข้าพบผู้นำรัฐบาลก่อนเดินทางมาแข่งขันฟุตบอลโลกที่กาตาร์ กระทั่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าพวกเขาไม่ได้ยืนอยู่เคียงข้างประชาชนว่า
“ผมคิดว่าพวกเขา (นักฟุตบอล) ถูกบังคับ (ให้เข้าพบประธานาธิบดี) แต่ถ้าวันนี้ บรรดานักเตะไม่ร้องเพลงชาติก่อนลงสนาม บางทีประชาชนอาจให้อภัยพวกเขาก็ได้”
แหล่งอ้างอิงข้อมูล