"วัฒนธรรมวาย" คืออะไร ภาพนักแสดงจากซีรีส์วาย
วัฒนธรรม Y คืออะไร ?

วาย (Y) ถือเป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่มีการนำเสนอเรื่องราวความรักความสัมพันธ์ของตัวละครหลักที่เป็นเพศเดียวกัน ในลักษณะ “ชายรักชาย” ส่วนใหญ่สร้างสรรค์โดยผู้หญิง เพื่อผู้บริโภคที่เป็นสตรีเช่นเดียวกัน ปัจจุบันความบันเทิงชนิดนี้มีการเผยแพร่หลายรูปแบบ อาทิ นิยาย การ์ตูน ภาพยนตร์ และซีรีส์ จนตอนนี้กระแสความนิยม “วัฒนธรรม Y” ถูกส่งต่อไปยังหลายประเทศทั่วโลก และกลายเป็นอุตสาหกรรมความบันเทิงขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงติดอันดับต้นๆ

“วัฒนธรรม Y” มีจุดกำเนิดมาจากคำว่า “ยะโออิ” (Yaoi) ในภาษาญี่ปุ่น ที่หมายถึง “ความสัมพันธ์ระหว่างชาย-ชาย” หรือรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “Boy’s Love” (BL) ปรากฏครั้งแรกในช่วงปลายยุค 1970 ใน “โดจินชิ” หรือการ์ตูนที่เขียน-วาดโดยมือสมัครเล่น ไม่ได้ตีพิมพ์ผ่านสำนักพิมพ์ โดยเป็นการนำคาแรกเตอร์ตัวละครจากการ์ตูนเรื่องดังๆ หรือสื่อบันเทิงกระแสหลัก มาแต่งเติมด้วยจินตนาการของผู้เขียนซึ่งเป็น “แฟนการ์ตูน” หรือ “แฟนคลับนักแสดง” (คล้ายคลึงกับ “แฟนฟิค” ในยุคปัจจุบัน)

อย่างไรก็ตาม สื่อบันเทิงประเภท BL ยังอาจหมายถึงยะโออิที่เป็นงานต้นฉบับ โดยไม่ได้ดัดแปลงมาจากสื่อกระแสหลักชิ้นอื่นๆ รวมทั้งมีการเสนอภาพการร่วมเพศ และเปิดเผยเนื้อตัวร่างกายของตัวละครชายรักชาย นอกจากนี้ “Y” ยังหมายถึง “ยูริ” (Yuri) ซึ่งแปลว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างหญิง-หญิง” หรืออีกชื่อคือ “Girl’s Love” (GL) ได้อีกด้วย

นิยายวายของประเทศญี่ปุ่น
นิยาย Y ของญี่ปุ่น

จากพื้นที่ในการ์ตูนโดจินชิ “วัฒนธรรม Y” ค่อยๆ คลี่คลายขยายตัวมาอยู่ในรูปแบบของนิยาย ที่ดำเนินเรื่องผ่านตัวละครหลักชาย-ชาย ในรูปแบบของ “พระเอก” (เซเมะ) และ “นายเอก” (อุเคะ) โดยมักมีการหยิบยืมเอาตัวละคร ตัวการ์ตูน หรือแม้แต่ศิลปิน-ดารา มาเป็นตัวเดินเรื่อง

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจเกิดคำถามขึ้นในใจว่า สื่อบันเทิงใน “วัฒนธรรม Y” คือสิ่งเดียวกับสื่อบันเทิงแขนงอื่นๆ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือไม่? อะไรคือจุดต่างแตกต่างระหว่างความบันเทิงสองแขนงนี้?

"มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล" ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง "รักแห่งสยาม"
“มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “รักแห่งสยาม”

“มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “รักแห่งสยาม” ตอบคำถามดังกล่าวว่า “สื่อบันเทิงแนว Y” นั้นเน้นขายความเป็นแฟนตาซี ความเพ้อฝัน อุดมคติ เป็นภาพสะท้อนจากการ์ตูน ขณะที่สื่อบันเทิงที่กล่าวถึง LGBTQ จะนำเสนอเรื่องราวของตัวละครผู้มีปมเกี่ยวกับเพศสภาพ อันจะส่งผลกระทบต่อตัวตนของตัวละครรายนั้น บุคคลรายล้อม และสังคมโดยรวม

"กอล์ฟ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์" ผู้กำกับภาพยนตร์
“กอล์ฟ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” ผู้กำกับภาพยนตร์

ส่วน “กอล์ฟ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” คนทำหนัง-ซีรีส์ที่มีประสบการณ์ในการทำงานทั้งสองประเภท ยอมรับว่า เคยเกิดวิวาทะว่า Y นั้นไม่ใช่ LGBTQ แต่ตนเองมองว่า “วัฒนธรรม Y” ยังถือเป็นซับเซ็ตของวัฒนธรรมเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ธัญญ์วาริน เชื่อว่า “ความบันเทิงแบบ Y” สามารถถูกพัฒนาต่อยอด จากการถ่ายทอดความสัมพันธ์ของคนสองคน ไปสู่การพูดถึงเรื่องราวอื่นๆ ที่กว้างขวางขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ “สื่อบันเทิงแนว Y” จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคม

“วัฒนธรรม Y” เริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงปลายยุค 1990 ผ่านการ์ตูนและวรรณกรรมที่แปลมาจากภาษาญี่ปุ่น จากนั้นจึงเริ่มมีนักเขียนชาวไทยเขียน “นิยาย Y” ลงในเว็บบอร์ดต่างๆ โดยเฉพาะเว็บบอร์ด “Dek-D” ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าถึงแม้ “วัฒนธรรม Y” จะเข้ามาในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว แต่ในยุคแรกยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมมากนัก เนื่องจากสภาพสังคมในขณะนั้นยังไม่เปิดรับ และมีมุมมองต่อกลุ่มคนที่ชื่นชอบ “วัฒนธรรม Y” ในด้านลบ ทำให้ “วัฒนธรรม Y” ต้องอยู่ในมุมมืดหรือหากจะเรียกว่าอยู่ใน “ตลาดใต้ดิน” ก็ว่าได้ การที่จะหาซื้อหรืออ่านนั้นต้องทำอย่างหลบๆ ซ่อนๆ เสมือนเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย

หนังสือ "เขียนด้วยเงา เล่าด้วยแสง : วรรณกรรมกับการดัดแปลงศึกษา" โดย รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม
หนังสือ “เขียนด้วยเงา เล่าด้วยแสง : วรรณกรรมกับการดัดแปลงศึกษา” โดย รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม

ดังที่ “รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม” นักวิชาการด้านวรรณกรรม-ภาพยนตร์ศึกษา จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บรรยายรายละเอียดไว้ในหนังสือ “เขียนด้วยเงา เล่าด้วยแสง: วรรณกรรมกับการดัดแปลงศึกษา” (หน้า 267) ว่า ครั้งหนึ่งสังคมไทยเคยประเมินค่า “สื่อ Y” ในฐานะสื่อลามก กระทั่งเกิด “การกวาดล้างครั้งใหญ่” ใน พ.ศ.2548  ทำให้ผู้เขียน-ผู้อ่าน “วรรณกรรม Y” ต้องใช้ช่องทางออนไลน์ในการติดต่อสื่อสารกันอย่างลับๆ

รายการหลุมดำ ทลายหนังสือลามก
รายการหลุมดำ ทางช่องโมเดิร์นไนน์

หลายคนระบุตรงกันว่า พ.ศ.2548 ถือเป็น “ยุคมืด” ของ “นิยาย Y ไทย” หลังจากที่รายการโทรทัศน์ “หลุมดำ” ได้นำเสนอรายการในชื่อตอนว่า “การ์ตูนสายพันธุ์ใหม่ ใครคือเหยื่อ” โดยรายการได้กล่าวถึงความไม่เหมาะสมของเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น ทั้งเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงและการร่วมเพศ ซึ่ง “นิยาย Y” ก็ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ กระทั่งถูกเก็บออกจากแผง และมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการซื้อขาย เป็นการใช้ “ระบบสมาชิก” เท่านั้น ทั้งยังนำซองกระดาษมาห่อปกปิดเพื่อไม่ให้ผู้อื่นทราบว่าบรรดาสมาชิกซื้อหนังสืออะไรไปอ่าน

งานวิจัย "ยาโออิ (YAOI) : วัฒนธรรมและการเมืองเรื่องเพศในการ์ตูนญี่ปุ่น"
ข่าวงานวิจัย “ยาโออิ (YAOI) : วัฒนธรรมและการเมืองเรื่องเพศในการ์ตูนญี่ปุ่น”

หนังสือพิมพ์ “มติชน” ฉบับวันที่ 26 กันยายน 2549 เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ “ญาณาธร เจียรรัตนกุล” นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำการศึกษาวิจัยหัวข้อ “ยาโออิ (YAOI) : วัฒนธรรมและการเมืองเรื่องเพศในการ์ตูนญี่ปุ่น” เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า อันตรายที่การ์ตูนอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้อ่านนั้น คือการที่ประเทศไทยไม่มีกฎการควบคุมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดเรตของการ์ตูนญี่ปุ่น ทั้งการ์ตูนปกติและการ์ตูนเกย์

“ทุกคนที่อ่านการ์ตูนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำไมผู้ใหญ่ไม่จัดเรตการ์ตูนเหมือนประเทศญี่ปุ่น ซึ่งที่นั่นเขามีหนังสือการ์ตูนประเภทนี้ตั้งแต่ปี 1974 และก็ยังมีเทศกาลการ์ตูนอีกด้วย ในร้านหนังสือการ์ตูนทุกร้านที่มีการ์ตูนเนื้อหารุนแรงจะถูกแยกไว้เป็นมุมเฉพาะ พร้อมกับมีพนักงานตรวจสอบลูกค้าที่จะเข้าไปบริเวณนั้นอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ระบบเซ็นเซอร์ของญี่ปุ่นสามารถทำได้จริง เมื่อทางรัฐกำหนดขอบเขตไว้เท่าใด ผู้ผลิตก็สามารถอยู่ในขอบเขต ในขณะที่ประเทศไทย เด็กนักเรียนชั้นประถม มัธยม เดินเข้าไปซื้อได้อย่างสบายๆ ถ้ามีเรื่องที่เป็นข่าวก็กวาดล้างทีหนึ่ง แต่สักพักก็กลับมาใหม่”

“นิยาย Y” ยังเคยถูกห้ามขายภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2551 เนื่องจากถูกมองว่าเป็นหนังสือที่นำเสนอเนื้อหาในลักษณะที่ “ขัดต่อศีลธรรมอันดี มีฉากที่แสดงถึงความใกล้ชิดมากเป็นพิเศษระหว่างตัวละครชายหรือที่บางคนเรียกว่าฉากเลิฟซีน”

ในปี 2555 “นิยาย Y” ยังถูกห้ามจำหน่ายในเครือข่ายร้านหนังสือชื่อดังอย่าง “ซีเอ็ด” หลังจากบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ออกมาตรการ 6 ข้อ ที่จะไม่วางขายหนังสือที่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

  1. วรรณกรรมที่มีลักษณะของชายรักชาย หญิงรักหญิง เป็นลักษณะของการรักร่วมเพศ
  2. สื่อไปในทางขายบริการทางเพศ เช่น นักเรียน, นักศึกษา, Sideline
  3. ภาษาและเนื้อหาที่ใช้ หยาบโลนไม่สุภาพ ลามก, สัปดน, ป่าเถื่อน, วิปริต, ซาดิสต์, หยาบคาย ฯลฯ
  4. เนื้อหามีการบรรยายถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างโจ่งแจ้ง และในที่สาธารณะ วิปริต ผิดธรรมชาติที่มนุษย์พึงเป็น เช่น ลิฟต์, น้ำตก, ลานจอดรถ ฯลฯ
  5. เนื้อหาที่มีการทารุณกรรมทางเพศ ทั้งที่เป็นภรรยาและมิใช่ภรรยา หรือ ทารุณต่อเด็ก, เยาวชน, สตรี และเครือญาติ อันบ่งบอกถึงการขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรมอันดี
  6. เนื้อหาที่บรรยายขั้นตอนการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นภาพ และบรรยายให้เห็นภาพทางกายภาพของอวัยวะเพศอย่างชัดเจน จนทำให้สามารถเป็นเครื่องมือยั่วยุทางเพศ ทำให้เกิดความต้องการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ถูกคน ไม่ถูกที่ และไม่ถูกเวลา

“หากมีการละเมิดข้อกำหนดข้างต้นไม่ว่าจะมากหรือน้อยเพียงใด ทางบริษัทซีเอ็ดฯ จะไม่ดำเนินการกระจายหนังสือ กรณีกระจายไปยังร้านหนังสือแล้ว จะขอยกเลิกการจัดจำหน่าย และเรียกเก็บส่งคืนไปยังผู้ฝากจัดจำหน่าย ซึ่งค่าใช้จ่ายทางบริษัทซีเอ็ดฯ จะขอเรียกเก็บกับผู้ฝากจัดจำหน่ายต่อไป”

ภายหลังที่มีการประกาศออกมาก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้เป็นจำนวนมาก กระทั่งกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รณรงค์คัดค้านมาตรการดังกล่าว และนำไปสู่การเปิดเพจ “ร่วมลงชื่อคัดค้านข้อกำหนดไม่จัดจำหน่ายหนังสือ ชายรักชาย/หญิงรักหญิง และวรรณกรรมโรแมนติก อิโรติก ในร้านซีเอ็ด” สุดท้าย บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จึงต้องออกแถลงการณ์ขอโทษและชี้แจงข้อเท็จจริงในเวลาต่อมา

ผ่าน “ยุคมืด” สู่ “แสงสว่าง”

ต่อมา สังคมมีความเข้าใจและเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น อุตสาหกรรมบันเทิงไทยจึงค่อยๆ ขยายตัวตอบรับกระแสเปลี่ยนแปลงดังกล่าว (หรืออีกด้านหนึ่ง ก็เป็นพลังที่ช่วยผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง)

ภาพยนตร์ รักแห่งสยาม
ภาพยนตร์เรื่อง “รักแห่งสยาม”

หนึ่งในหมุดหมายสำคัญของความเปลี่ยนแปลงข้างต้น คือ ภาพยนตร์เรื่อง “รักแห่งสยาม” ผลงานกำกับของ “มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” ที่ออกฉายเมื่อ พ.ศ. 2550 ที่สร้างมุมมองใหม่ๆ ต่อวัยรุ่นผู้มีความหลากหลายทางเพศ และประสบความสำเร็จทั้งทางด้านรายได้และรางวัล

เช่นเดียวกับมุมมองที่ดีขึ้นต่อกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ชื่นชอบ “วัฒนธรรม Y” กระทั่ง “นิยายหรือการ์ตูน Y” ถูกนำมาผลิตเป็นซีรีส์

ซีรีส์วาย Love Sick The Series
ซีรีส์ “Love Sick The Series : รักวุ่น วัยรุ่นแสบ”

“ซีรีส์ Y เรื่องแรก” ที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทย คือ “Love Sick The Series : รักวุ่น วัยรุ่นแสบ” ซึ่งดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกัน และออกอากาศทางช่อง 9 (โมเดิร์นไนน์) ใน พ.ศ.2557 นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของวัยรุ่นมัธยมชาย 2 คนที่มีความรู้สึกดีๆ ต่อกันเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนมีการสร้างซีซั่นต่อและเพิ่มตัวละครที่หลากหลายเพื่อเสริมความน่าสนใจของเนื้อหา

ความสำเร็จดังกล่าวกระตุ้นให้ “กระแสวัฒนธรรม Y” ในไทยถูกจุดติด จนมีการหยิบนิยายฮิตที่เคยอยู่ในโลกออนไลน์มาผลิตเป็นซีรีส์อีกหลายเรื่อง เช่น เพราะเราคู่กัน, นิทานพันดาว, แปลรักฉันด้วยใจเธอ และ พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง

กระแสความนิยม “ซีรีส์ Y” ของไทย ยังทำให้เกิดกลุ่มแฟนคลับนักแสดงที่รวมตัวกันเป็นบ้านต่างๆ คอยสนับสนุนศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบ ซึ่งไม่ใช่แค่แฟนคลับคนไทยเท่านั้น เพราะ “ซีรีส์  Y” หลายเรื่องได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศแถบเอเชีย เช่น จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ ไปจนถึงประเทศในแถบลาตินอเมริกา

แฟนคลับของนักแสดงซีรีส์ Y มักลงขันกันทำกิจกรรม อาทิ ซื้อป้ายบิลบอร์ดอวยพรวันเกิดดาราคนโปรด ที่พบเห็นได้ตามห้างสรรพสินค้า รถไฟฟ้า BTS รถใต้ดิน MRT รวมถึงสั่งซื้ออาหารหรือที่เรียกว่า “Food Support” ส่งให้กับศิลปินและทีมงานกองถ่ายละคร

ซีรีส์วาย เพราะเราคู่กัน
ซีรีส์ “เพราะเราคู่กัน” โดย GMMTV

การเติบโตของ “อุตสาหกรรมซีรีส์ Y” ในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนสามารถรับชมความบันเทิงผ่านระบบวิดีโอสตรีมมิ่งได้อย่างสะดวกสบาย ปัจจุบัน มีค่ายผู้ผลิตละครหลายรายต่างกระโดดเข้าร่วมการแข่งขันในสนามนี้ และผลิต “ซีรีส์ Y” ออกมาเป็นจำนวนมาก

ในปี 2563 มี “ซีรีส์ Y” ออกฉายเกิน 20 เรื่อง ปี 2564 จำนวนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 40 เรื่อง และคาดว่าในปี 2565 มีซีรีส์แนวนี้ออนแอร์เกินกว่า 70 เรื่อง จนพูดได้ว่าไทยกำลังเป็นประเทศที่ส่งออก “ซีรีส์ Y” อันดับต้นๆ ของโลก และนี่อาจคือคำตอบของ “Soft Power แบบไทยๆ” ที่หลายคนกำลังมองหาก็เป็นได้

แหล่งข้อมูลประกอบบทความ

coffee lover and caffeine addict หลงใหลในการเดินทาง เรียนรู้ประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ มองโลกผ่านกล้องถ่ายภาพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ (Strictly Necessary Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของเว็บไซต์ feedforfuture.co ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์เราได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนสมาชิกผู้ใช้งานของเว็บไซต์ ตลอดจนการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อวิเคราะห์ และช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้ในการบันทึก และจดจำคุณลักษณะต่างๆ ที่ท่านได้เลือกขณะเข้าชมเว็บไซต์ของเรา เช่น หมวดหมู่ และเนื้อหาที่ท่านชอบอ่านมากที่สุด เราจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ และนำกลับมาใช้เมื่อท่านกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง เพื่อปรับให้ท่านได้รับชมเนื้อหาได้ตรงกับความชอบของท่านให้มากที่สุด

  • คุกกี้เพื่อนำเสนอโฆษณาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อจดจำพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ของท่าน รวมถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ท่านใช้ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์การนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด และช่วยวัดความมีประสิทธิผลของโฆษณาที่เรานำเสนอด้วย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ท่านจะเห็นโฆษณาเดิมซ้ำๆ

บันทึก