จากประเด็นข่าวที่ทำให้ชาวบ้านผวากันทั้งชุมชน ลูกเสือโคร่ง โผล่กลางดึก กัดคน เมื่อเวลา 03.30 น. วันที่ 16 พ.ค.2567 เจ้าหน้าที่สายตรวจ กู้ภัยฉะเชิงเทรา และชาวบ้าน ช่วยกันล้อมจับ “ลูกเสือโคร่ง” ในซอยบางวัว-บางจาก 7 ต.บางวัว อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา แต่เจ้าของอ้างว่าเป็นไลเกอร์ และนำมาเพ็นต์ลายเป็นลูกเสือโคร่งเพื่อใช้ถ่ายทำหนัง
ทำให้หลายคนสงสัยว่า ไลเกอร์ คือตัวอะไร ?
ข้อมูลจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ให้ข้อมูลเรื่องนี้ว่า Liger (ไลเกอร์) และ Tigon (ไทกอน) เป็นลูกที่เกิดจากการผสมเทียมของสิงโตกับเสือโคร่ง
– Liger(ไลเกอร์) นั้นเกิดมาจากสิงโตตัวผู้ และเสือโคร่งตัวเมีย
ไลเกอร์ มีลายมาจากแม่ ได้แผงขนหนาๆ มาจากพ่อ และมีแนวโน้มจะเติบโตจนมีขนาดใหญ่เกิน ไลเกอร์ตัวเดียวอาจมีน้ำหนักได้มากพอๆ กับสิงโตและเสือโคร่งรวมกัน สถิติโลกของไลเกอร์ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นของไลเกอร์ที่มีชื่อว่า “เฮอคิวลีส” มันมีความยาว ถึง 3.6 เมตร และหนักถึง 408 กิโลกรัม แมวขนาดมหึมานี้ดูน่าอัศจรรย์ แต่ขนาดใหญ่โตของมันก็มาพร้อมกับปัญหาสุขภาพ และมักจะอายุสั้น
– Tigon (ไทกอน) นั้นเกิดมาจากเสือโคร่งตัวผู้ และสิงโตตัวเมีย
ไทกอน มีลาย และเพศผู้มีแผงขนสั้นๆ โดยปกติไทกอนมีขนาดพอๆ กับพ่อหรือแม่ การผสมลักษณะนี้พบไม่บ่อยเท่าไลเกอร์ (อาจเป็นเพราะมันไม่สามารถเจริญได้จนเต็มวัย) และโชคร้ายที่ไทกอนมีปัญหาสุขภาพเช่นเดียวกับที่พบในไลเกอร์
ไลเกอร์และไทกอน ที่มีในโลกส่วนมากแล้วนั้น เกิดขึ้นจากการผสมเทียมคนเราทั้งสิ้น เพราะในความปกติแล้ว เสือ และสิงโต นั้นมีพฤติกรรมไม่เหมือนกัน และยังอยู่อาศัยกันคนละถิ่นคนละภูมิประเทศ
และเมื่อว่าด้วยเรื่องกฎหมาย ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ลูกผสม โดยอธิบดีกรมอุทยานฯ ระบุว่า สำหรับไลเกอร์ ขณะนี้ยังไม่ใช่สัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ได้สั่งการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่า และพืชป่าตามอนุสัญญาไซเตส ไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ในเรื่องข้อกฎหมายแล้ว หากจะระบุชนิดพันธุ์เพิ่มก็ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย
ที่มา : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand