สัตว์ประหลาด! หรือ Tropical Malady เป็นภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องที่สี่ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งออกฉายครั้งแรกในสายการประกวด ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ครั้งที่ 57 ประจำปี 2004 และได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในหมู่ผู้ชม และนักวิจารณ์แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับได้รับรางวัล Prix du Jury (Jury Prize – ขวัญใจกรรมการ) นับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้เข้าประกวดในสายหลัก และได้รับรางวัลใหญ่
สำหรับสัตว์ประหลาด เป็นเรื่องราวเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักของเกย์สองคน คือ โต้ง – ศักดา แก้วบัวดี ลูกจ้างโรงน้ำแข็ง กับ เก่ง พลทหารหนุ่ม บัลลพ ล้อมน้อย ส่วนหลังเป็นเรื่องราวที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง เป็นเรื่องลี้ลับเชิงนิทาน เกี่ยวกับการตามล่าในป่าทึบระหว่างนายพราน กับเสือสมิง ที่เคยกินคน และมีวิญญาณของเหยื่อที่ถูกกินสิงอยู่ . ซึ่งหลักจากได้รับรางวัลที่เมืองคานส์ ภาพยนตร์สัตว์ประหลาด! มีโอกาสได้เข้าฉายในประเทศไทยแบบจำกัดโรง เป็นเวลา 10 วัน
ล่าสุด โต้ง – ศักดา แก้วบัวดี หนึ่งในนักแสดงนำที่รับบทลูกจ้างโรงน้ำแข็ง ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก Sakda Kaewbuadee Vaysse เล่าเรื่องราวเส้นทางและจุดเริ่มต้นของการได้มาเล่นภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า…
วันนี้เมื่อ 20 ที่แล้ว ผมได้เล่นภาพยนตร์เรื่องแรก และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็พาให้ผมได้เดินทางมาต่างประเทศเป็นครั้งแรกในชีวิตด้วยเช่นกัน . ตอนผมจบ ม.6 ใหม่ๆ พ่อและแม่ให้กลับไปช่วยกันทำไร่ที่บ้าน แต่ผมดื้ออยากเรียนต่อมหาวิทยาลัย ครอบครัวผมค่อนข้างยากไร้ แค่หาเงินมาประทังชีวิตในแต่ละวันก็ยากโครตแล้ว อย่าหวังเลยว่าพ่อกับแม่จะมีเงินให้ผมเรียนต่อ ผมเลยหอบวุฒิ ม.6 หนีเข้ามาหางานทำในกรุงเทพ ตั้งความหวังจะเก็บเงินไว้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยให้ได้
งานแรกผมมารับจ้างเป็นคนงานก่อสร้างที่ห้วยขวางและพักอยู่ที่แค้มป์คนงาน แค่รายได้แต่ละวันยังไม่พอใช้ ดังนั้นเรื่องเรียนต่อพับเก็บไว้ได้เลย ตอนค่ำๆออกไปหางานเสริมขายพวงมาลัยตามสี่แยกไฟแดง ดึกๆกลับมานอนและตื่นเช้าไปทำงานที่ไซต์ก่อสร้างต่อ ทำแบบนี้อยู่เกือบปีก็ยังไม่มีเงินเก็บ เลยลองเปลี่ยนงานไปสมัครเป็นพนักงาน KFC ที่เซนทรัลลาดพร้าว งานเบากว่าก่อสร้างมากมายแต่รายได้ยังเท่าเดิม ถ้าเช่าห้องอยู่ในเมืองเงินเดือนก็คงไม่เหลือ เลยออกไปเช่านอกเมืองที่มีนบุรี บางครั้งเลิกงานดึกรถเมล์ก็หมดแล้ว เลยไปนอนที่ป้ายรถเมล์ บางทีก็แอบปีนรั้วเข้าไปนอนในสวนจตุจักร ตอนเช้าก็มาแปรงฟันในห้องน้ำห้าง ใช้น้ำลูบๆตัวใส่ชุดเดิมทำงานต่อ
ผมยังคงหวังเต็มเปี่ยมว่าสักวันเดี๋ยวก็ต้องได้เรียน จนเวลามันผ่านไป 2 ปีเก็บเงินได้แค่หลักพัน ในชีวิตไม่เคยจับเงิน 1 หมื่นบาทเลย เอาวะลองไปเป็นเซลล์แมนลากรถเข็นขายของตามข้างถนนดูซิ เอาสินค้าเข้าไปเสนอขายตามซอกซอยให้บ้านนั้นบ้านนี้ รายได้มันดีกว่าที่ผ่านๆมา แต่ก็ยังเก็บเงินได้ไม่พอที่จะส่งตัวเองเรียนอีกนั่นแหละ จนเริ่มท้อกับชีวิต ตอนนั้นพ่อเข้ามาเช่าแท๊กซี่ขับที่กรุงเทพ ผมก็ไปอยู่ห้องเช่าเดียวกัน ทั้งพ่อ แม่ น้องชาย และผมก็นอนเรียงรายอัดกันอยู่ในห้องเช่าเดียวกัน แต่จะอยู่แออัดแบบนี้ตลอดคงไม่ได้หรอก พ่อก็พาย้ายที่อยู่ไปชานเมืองปทุมธานีซึ่งเป็นที่พักที่ใหญ่กว่าเดิม พ่อก็ยังคงเข้ากรุงมาขับแท๊กซี่ทุกวัน ผมเองก็ทำงานที่ 7-11 และเปลี่ยนไปเป็นฝ่ายผลิตอาหารในโรงงานซีพีที่ปทุมธานีนั่นแหละ
จนอายุผมถึงคราวเกณฑ์ทหาร ก็ไปประจำกองอยู่ที่กาญจนบุรี 2 ปี เมื่อปลดทหารออกมาก็มีทางให้เลือกเดิน 2 ทางคือกลับไปทำงานที่โรงงานเดิมแล้วใช้ชีวิตอยู่กับพ่อแม่ หรือจะลองเสี่ยงไปหาโอกาสในกรุงเทพอีกครั้ง เพราะลึกๆแล้วก็ยังมีความหวังที่จะเรียนต่อให้ได้ ผมจึงเลือกข้อหลัง วันนั้นเลยใส่ชุดทหารเดินทางเข้ามากรุงเทพทันที ไม่รู้อะไรมาดลใจให้คิด ว่าถ้าใส่ชุดทหารมาสมัครงานก็จะหางานดีๆได้ง่ายขึ้น (ถ้าใครได้ดู Tropical Malady ก็จะเห็นฉากนี้อยู่ในหนังด้วย 555)
เมื่อมาถึงก็เคว้งสิ ไม่มีเงิน ไม่มีที่พัก ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครรับ ตอนนั้นสิ้นหวังโครตๆ ยืนเหม่อน้ำตาไหลเกาะขอบระเบียงชั้นสามของห้างเซนทรัลลาดพร้าว มีพี่ชายแปลกหน้าคนนึงชื่อพี่นุเดินเข้ามาทักและถามว่าผมเป็นอะไร ผมพูดเรื่องราวให้เขาฟัง พี่นุเสนอให้ผมมาพักอยู่ที่บ้านเขาจนกว่าจะหางานได้ พี่นุเป็นหนึ่งในคนที่มีบุญคุณกับผมมากๆ (ภายหลังผมได้แนะนำพี่นุให้ได้รู้จักกับพี่เจ้ยจนทั้งสองได้ลงทุนทำธุรกิจด้วยกัน) ระหว่างที่ผมอาศัยอยู่กับพี่นุ ผมได้ทำงานร้านเช่าวีดีโอซึทาย่า จนไปเห็นประกาศในหนังสือพิมพ์บริษัท Telecom Asia รับพนักงานวุฒิ ม.6 ผมผ่านสัมภาษณ์และเข้าไปทำงานที่นั่นในตำแหน่งฝ่ายขาย ไม่มีเงินเดือนให้แต่ได้ค่าคอมมิชชั่นจากการขาย พอมีรายได้มากขึ้นก็ย้ายออกจากบ้านพี่นุมาเช่าห้องอยู่ด้วยตนเอง ช่วงนั้นอินเตอร์เนตบ้านเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ทำให้ผมมีรายได้อยู่ที่หลายหมื่นบาทต่อเดือน จนกระทั่งทุกบ้านมีอินเตอร์เนตกันหมดแล้ว รายได้ผมก็ลดลงไปด้วย จากหลักหลายหมื่นเหลืออยู่ที่หลักร้อยต่อเดือน
ผมออกมาเป็นพนักงานเสิร์ฟที่บาร์ย่านซอยอารีย์ วันหนึ่งขณะที่ผมกำลังทำงานอยู่ มีผู้กำกับหนังคนหนึ่งซึ่งมารู้ทีหลังคือพี่เจ้ยเอง มากับตากล้องฝรั่งคนนึง มาแจกใบปลิวในร้านเพื่อตามหานักแสดง พนักงานคนอื่นๆก็กรูกันเข้าไปสมัคร ผมเองยืนมองอยู่ห่างๆเพราะยุ่งอยู่กับถูพื้นในร้านก็เลยไม่ได้เข้าไปรับใบปลิวกับเค้า จนกระทั่งผมเลิกงานแต่พี่เจ้ยก็กลับไปแล้ว คืนนั้นผมไปเที่ยวต่อที่สีลม ระหว่างที่เดินอยู่นั้นก็มีคนมาสะกิดข้างหลังพร้อมถามผมว่า “น้องๆ น้องใช่คนที่ทำงานในบาร์ที่ซอยอารีย์ไหม?” และนั่นคือการพบกันครั้งแรกของผมกับพี่เจ้ย อภิชาติพงศ์
หลังจากที่พี่เจ้ยแนะนำตัวแล้วก็บอกผมว่า พี่เจ้ยเห็นเราตั้งแต่ตอนไปหานักแสดงที่บาร์แล้ว แต่เห็นทำงานอยู่เลยไม่กล้าเข้าไปรบกวน แล้วดันบังเอิญมาเจอกันที่นี่อีกก็เลยดีใจมากและรีบเข้ามาทัก พี่กำลังหานักแสดงหนังเรื่องใหม่ ซึ่งบุคลิกน้องตรงกับที่พี่เขียนบทไว้เลย อยากให้เราลองเข้าไปแคสติ้งดู
เอาจริงๆนะ ตอนนั้นผมไม่รู้จักใครหว่าเจ้ย อภิชาติพงศ์ เห็นมีฝรั่งถือกล้องมาด้วยกัน ผมก็คิดว่าต้องเป็นหนังโป๊แน่นอน ก็เลยปฏิเสธไปทันที แต่พี่เจ้ยก็ตื๊อจนขอเบอร์มือถือผมจนได้ ทุกวันพี่หนู(ผู้ช่วยพี่เจ้ย) จะโทรจิกผมให้มาลองแคสติ้ง ผมอิดออดบอกปฏิเสธพี่หนูไปหลายครั้ง แต่พี่หนูก็ไม่ถอดใจโทรมาจนผมยอมไปแคสให้
วันนั้นจำได้ดีเลยที่ออฟฟิศ Kick The Machine ลาดพร้าวซอย 5 มีโปสเตอร์หนัง Blissfully Yours (สุดเสน่หา) ติดอยู่หน้าออฟฟิศและในโปสเตอร์มีชื่ออภิชาติพงศ์เป็นผู้กำกับ เราก็เฮ้ยยยย ของจริงนี่หว่า เพราะเราเคยได้ยินหนังเรื่องเรื่องนี้จากข่าว จากนั้นก่อนเข้าห้องแคส ต้องลงชื่อว่ามาแคสในบทไหน พี่หนูบอกว่าให้ลงแคสบทของ “ชัย” ซึ่งผมเป็นลำดับที่ 52 จากคนที่ได้มาแคสบทเดียวกันนี้
ปกติพี่หนูจะเป็นคนแคสแล้วส่งวีดีโอให้พี่เจ้ยเลือกทีหลัง แต่วันนั้นพี่เจ้ยขอเป็นคนแคสด้วยตัวเอง (ผมมีฟุตเทจแคสติ้งของวันนั้นด้วย วันหลังจะมาอัพให้ดู) ผมก็ไม่รู้หรอกนะว่าจะต้องแสดงอะไร จะต้องพูดยังไง แต่หลังจากแคสเสร็จพี่เจ้ยถามว่าที่พูดมานี่เรื่องจริงเหรอ? ผมตอบไปว่าเปล่านะ มันเป็นเรื่องที่ผมแต่งขึ้นมาสดๆตอนนี้เลย พี่เจ้ยบอกเนียนมาก เชื่อไปแล้วนึกว่าเป็นเรื่องจริง ทั้งน้ำเสียงและวิธีการพูดมันจริงมากๆ (นิตยสาร The Writer เคยสัมภาษณ์พี่เจ้ยว่าทำไมถึงเลือกโต้งเป็นนักแสดง พี่เจ้ยตอบว่า เพราะโต้งตอแหลเก่ง) จากนั้น 1 สัปดาห์ต่อมา พี่หนูโทรมาบอกว่าพี่เจ้ยได้ตัดสินใจแล้ว ให้โต้งรับบท “ชัย” ผมถามพี่หนูว่าชัยมีบทเยอะไหม พี่หนูบอกว่า “ชัยเป็นนักแสดงนำของเรื่องนี้ค่ะ” ผมสตั๊นไป 10 วิ จนพี่หนูถาม “โต้งยังอยู่ในสายไหมคะ?”
นั่นก็คือจุดเริ่มต้นของวันนี้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว กับ Tropical Malady ที่พาให้ผมได้มีโอกาสมาเดินพรมแดงที่คานส์ และหลังจากนั้นก็ได้เล่นอีกหลายๆเรื่องของพี่เจ้ยตลอดมา ทั้งพี่นุและพี่เจ้ยเป็นสองคนที่ผมจะไม่ลืมเลยในชีวิตนี้ ไม่งั้นตอนนี้ผมคงอาจจะกำลังทำงานที่โรงงานไหนซักแห่ง หรือไม่ก็อาจจะกลับไปทำไร่อ้อยอยู่ที่บ้านเกิดกาญจนบุรีแล้ว
ปล. หลายคนที่ได้ดูหนังคงจะงงว่าบท “ชัย” คืออะไร ชัยก็คือบทโต้งนั่นแหละ พี่เจ้ยมาเปลี่ยนให้ชื่อโต้งทีหลัง เพราะในหนังมีบางฉากที่ทำมาจากชีวิตจริงของผมเอง รวมถึงเรื่องอื่นๆหลังจากนั้นก็ยังคงใช้ชื่อเดิมนี้อยู่ เพราะบางฉากก็เขียนมาจากเรื่องจริงด้วยเช่นกัน เช่น พระบอกหมอฟันว่าอยากเป็นดีเจ ในแสงศตวรรษ เป็นต้น
ส่วนเรื่องเรียนต่อเหรอ พอผมเริ่มมีเงิน อายุก็ปาเข้าไปจะ 30 แล้ว สำหรับผมมันสายเกิน สุดท้ายก็ต้องทิ้งความฝันอันนั้นไปซะ ทดแทนด้วยประสบการณ์ชีวิตที่ได้กลับมา เพราะถ้าหากได้ไปเรียนต่อตั้งแต่แรก เรื่องเล่าในโพสต์นี้ก็คงจะเปลี่ยนไปเป็นอีกแบบแน่นอน