หากใครที่มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวหรือไหว้พระตามวัดชื่อดังทั้งในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด สิ่งหนึ่งที่พบเห็นได้สะดุดตาก็คือ “กางเกงช้าง” แฟชั่นยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ด้วยลวดลายสวยงามและสวมใส่สบายเหมาะกับสภาพอากาศร้อนในบ้านเรา จึงไม่แปลกที่กางเกงช้างกลายเป็นเอกลักษณ์และภาพจำของประเทศไทย
ด้วยความนิยมติดตลาด รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยซึ่งมีนโยบายยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของไทยเข้าไปสู่เวทีโลก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจึงเปิดตัวโครงการ “Thailand SOFT POWER x GUINESS WORLD RECORDS CHALLENGE” หนึ่งในนั้นคือกิจกรรมการแข่งขันใส่กางเกงช้างเยอะที่สุดใน 1 นาที เพื่อบันทึกเป็นสถิติโลก ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 21 – 27 กุมภาพันธ์นี้ ณ พาร์คพารากอน สยามพารากอน
แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้เกี่ยวกับกางเกงช้างเอกลักษณ์ความเป็นไทยนี้ จำนวนมากนั้นไม่ได้ผลิตโดยฝีมือชาวไทยแต่เป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศจีนในราคาต่ำเพื่อมาขายให้กับคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกต่อหนึ่ง
นายณฐวัจน์ พุทธศิริวัฒน์ กรรมการสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และเจ้าของร้านจำหน่ายเสื้อผ้าย่านประตูน้ำ ให้สัมภาษณ์กับ มติชน ว่าปกติเสื้อผ้าในทุกวันนี้เป็นการจ้างผลิตในประเทศจีนหรือประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีโรงงานจำนวนมาก สามารถผลิตได้ในเวลาสั้นๆ จำนวนมากพอ ค่าแรงต่ำกว่าไทย ทำให้ขายได้ในราคาถูกกว่า
ซึ่งไม่ใช่แค่กางเกงช้างเท่านั้น เพราะเมื่อใดที่มีกระแสความนิยมแฟชั่นบางอย่างในเวลาสั้นๆ เกิดขึ้นมา ก็มักจะเป็นการจ้างผลิตนอกประเทศ เช่น เทศกาลตรุษจีน เสื้อผ้าที่วางขายกันอยู่ทั่วไปส่วนใหญ่ผลิตในจีนและส่งผ่านทางประเทศเพื่อนบ้านเราอีกทอดหนึ่ง
เรื่องแบบนี้เป็นมานานแล้ว หลังจากกลุ่มผลิตในประเทศเจอปัญหาการปรับค่าแรงขั้นต่ำพรวดเป็น 300 บาท ส่งผลต่อต้นทุนและล้มหายไปของผู้ผลิตคนไทย บางส่วนต้องหันไปจ้างผลิตหรือนำเข้าแทน ทั้งจากจีน กัมพูชา เวียดนาม
นายณฐวัจน์ พุทธศิริวัฒน์ เล่าที่มาของสินค้าเครื่องแต่งกายในไทย
ส่วนกางเกงช้างที่ติดป้าย Made in Thailand นั้นก็พอมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่เป็นสินค้าที่ผลิตจากโรงงานในต่างจังหวัด ในส่วนกลางหรือเมืองใหญ่ไม่ค่อยมีให้เห็นเพราะต้นทุนสูงสู้การนำเข้าไม่ได้ อีกทั้งเป็นสินค้าตามกระแสอาจเสี่ยงต่อการผลิตไม่ทันความต้องการ ตลาดเสื้อผ้าที่เราเห็นกันทุกวันนี้ไม่ว่าจะย่านโบ๊เบ๊ หรือประตูน้ำ ผลิตในเพียง 30% ที่เหลือ 70% เป็นการจ้างผลิตนอกประเทศหรือนำเข้า
เมื่อถามว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร นายณฐวัจน์ระบุว่า การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยจะกลับมาเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และทำเงินเข้าประเทศเหมือนในอดีตคงยากแล้ว ซึ่งรวมถึงการป้องกันการนำเข้าจากต่างประเทศเพราะต้องอาศัยการเอาจริงเอาจังของภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมและสกัดการนำเข้าสำหรับสินค้าที่ไทยเป็นผู้ปลุกกระแสความนิยม ตอนนี้ผู้ประกอบการรายย่อยก็ลำบากมากขึ้น จากการแข่งขันราคากับทุนนอกไม่ได้
“เห็นด้วยที่รัฐบาลไทยจะเร่งกระตุ้นและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาไทย แต่หากจะรักษาอุตสาหกรรมเสื้อผ้าหรือสินค้าไทยที่จะได้อานิสงส์จากนโยบายซอต์พาวเวอร์ของรัฐบาล อย่างสงกรานต์ ที่จะมีเสื้อผ้าและของที่เกี่ยวข้องออกมามากมาย ซึ่งเป็นดีไซน์ของไทย ก็ควรใช้โอกาสนี้ออกมาตรการเข้มงวด เพื่อการป้องกันการนำเข้าสินค้าทะลักจากชายแดน และรัฐควรเร่งจดลิขสิทธิ์สินค้าต่างๆ เพื่อปกป้องความคิดสร้างสรรค์ของไทย” นายณฐวัจน์กล่าว
แหล่งที่มาข้อมูล