“NIA” เผยข้อมูล 5 อุตสาหกรรมสตาร์ตอัพดาวรุ่ง ชี้ปี 2567 การลงทุนสตาร์ตอัพฟื้น คาดธุรกิจเกี่ยวกับ AI สร้างมูลค่าทางธุรกิจ 6,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนหน้าเท่าตัว ขึ้นแท่นดาวเด่นมีโอกาสรับเงินลงทุนสูง
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ภาพรวมของประเทศไทยในปีนี้ พบว่ามีสตาร์ตอัพจำนวน 2,100 ราย แบ่งเป็นระยะ Pre-seed 700 ราย และระยะเข้าสู่ตลาด (Go-to market/Growth) 1,400 ราย โดยในปี 2567 NIA ยังคงเดินหน้าผลักดันและพัฒนาศักยภาพสตาร์ตอัพไทยให้พร้อมรับมือเทรนด์การเปลี่ยนแปลงและความต้องการด้านนวัตกรรมของตลาดอาเซียนและตลาดโลก
“ในช่วง 3 ปีมานี้ ภูมิภาคอาเซียนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นถึง 100 ล้านราย ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านดิจิทัลยังคงมาแรง และมีแนวโน้มเติบโต รวมถึง Generative AI กำลังจะกลายเป็นเทคโนโลยีสาธารณะ คาดว่าภายในปี 2569 องค์กรมากกว่า 80% จะนำ Gen AI, API และโมเดลต่าง ๆ มาปรับใช้ในแอปพลิเคชั่นที่เปิดใช้งาน Gen AI ในสภาพแวดล้อมการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี 2566 ไม่น้อยกว่า 5%”
ดร.กริชผกากล่าวต่อว่า ความไม่แน่นอนของตลาด ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และแนวทางการลงทุนที่เน้นโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น เป็นปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขการระดมทุนในปี 2566 ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2565 แต่ในปีนี้ คาดว่าตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะฟื้นตัวและเติบโตมากขึ้น
ไทยยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการลงทุน เนื่องจากมีตลาดในประเทศที่ใหญ่เพียงพอสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ รวมถึงการจัดตั้งธุรกิจและค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจมีความสะดวกและคุ้มค่า มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมใช้งานสำหรับธุรกิจเทคโนโลยี
“ในปี 2567 เชื่อว่าจะมีการนำ AI มาใช้ในไทยมากขึ้น ทั้งการวิเคราะห์ธุรกิจ วิเคราะห์ตลาด การปรับปรุงกระบวนการทางการแพทย์ การใช้ประโยชน์ด้านการศึกษา การสร้างงาน ทำให้อุตสาหกรรมที่ใช้ AI ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ จะมีแนวโน้มมูลค่าทางธุรกิจมากกว่า 6,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าทางธุรกิจราว 2,000-3,000 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้ ภาครัฐยังให้การสนับสนุนการวิจัยด้านการใช้ประโยชน์จาก AI ด้วย ซึ่งในปีนี้ NIA ได้งบฯด้านการทำวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ประมาณ 150 ล้านบาท”
นอกจากสตาร์ตอัพเกี่ยวกับ AI จะเป็นธุรกิจที่มีโอกาสได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุนสูงแล้ว ยังมีอีก 5 อุตสาหกรรมที่เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของ NIA อีกด้วย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. เกษตร-อาหาร-สมุนไพร (Agriculture- Food-Herb) เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศและมากพอที่จะส่งออกในอนาคต
2. สุขภาพและยา (Health and Medicine) รองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุของไทย โดยนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยลดความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะสร้างนวัตกรรมมาช่วยดูแลผู้สูงอายุในสังคมไทย
3. ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ไทยมีวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ และดีไซน์ที่โดดเด่น ซึ่ง NIA จะโฟกัสที่กลุ่ม Media Tech หรือการใช้เทคโนโลยีมาช่วยปรับปรุงคุณภาพและยกระดับการผลิตสื่อในไทย
4. เทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Tech) ตอบสนองต่อสถานการณ์โลกปัจจุบันในเรื่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพราะปัจจุบันสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะติดเงื่อนไขทางการค้า (CBAM) และไม่สามารถส่งออกสินค้าดังกล่าวได้ ซึ่ง NIA ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บีคอน เวนเจอร์ กสิกรไทย และหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องส่งเสริมสินค้าในกลุ่ม Energy Tech, Climate Tech
5. การท่องเที่ยว (Tourism) ไทยมีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่สวยงาม และเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกชื่นชอบ จึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นภาคธุรกิจที่มีส่วนช่วยอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น
“เกษตรและอาหารเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา คิดเป็น 40% ของการให้งบฯสนับสนุนทั้งหมด ซึ่งในปีนี้ NIA มีความพยายามที่จะขยายตลาดของกลุ่มเกษตรและอาหารไปยังแอฟริกาใต้ เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่ และไทยมีเทคโนโลยีด้านนี้ที่เหนือกว่า จึงคิดว่าเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปทำตลาดในภูมิภาคนี้ได้” ดร.กริชผกากล่าว