ผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับงาน “FEED RETRO Music •Talk • Food • Book • Trip : #90sไม่นานมานี้” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 พฤศจิกายน ณ มิวเซียมสยาม
หนึ่งในกิจกรรมไฮไลต์ที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ร่วมงานจำนวนนับพันนับหมื่นรายได้เป็นอย่างมาก ก็คือ กิจกรรมการแสดงดนตรีที่มีคุณภาพและมอบความบันเทิงได้ตลอดทั้งสามวัน
เริ่มต้นในคืนวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน เวลา 19.30 น. ที่กิจกรรมดนตรีของงาน FEED RETRO ได้เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการ ด้วยโชว์ในโปรเจกต์ “ทีโบน อรูทสติก”
ที่สองสมาชิกแกนหลักของ “ทีโบน” วงดนตรีแนวเร็กเก้-สกายุคบุกเบิกของเมืองไทย อย่าง “นครินทร์ ธีระภินันท์” (พี่กอล์ฟ-กีตาร์) และ “เจษฎา ธีระภินันท์” (พี่แก๊ป-กีตาร์และร้องนำ) พร้อมด้วยเพื่อนพ้องนักดนตรี ได้แก่ “ฐาณิศร์ สินธารัตนะ” (กีตาร์, แลปสตีลกีตาร์, แมนโดลิน), “วรุตม์ สมานทรัพย์” (ทรัมเป็ต), “เบญจสิทธิ์ พิชัยชม” (เบส) และ “ปฏิรูป สุภัทรดิลกกุล” (กลอง) ได้นำเพลงเด่นๆ ของทีโบน และเพลงที่สมาชิกหลักของทีโบนเคยแต่ง มาบรรเลงในสไตล์อคูสติก
แน่นอนว่าแฟนเพลงจะได้ฟังเพลงเพราะๆ เพลินๆ อย่าง “แรงดึงดูด” “เธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม” “อย่าสัญญา” และ “คิดถึงลมหนาว” ทว่า ดนตรีอคูสติกแบบ “ทีโบน อรูทสติก” ก็สามารถร้องบรรเลงเพลง “โต๋ล่งตง” ที่ทั้งสนุกสนาน คึกคัก จนทำให้คนดูโยกและลุกขึ้นเต้นได้
เป็นที่ประจักษ์ชัดตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ว่าโชว์เต็มรูปแบบของ “ทีโบน” รวมถึงโปรเจกต์พิเศษต่างๆ ของสมาชิกในวงนั้น ล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยนักดนตรีฝีมือโดดเด่นยอดเยี่ยม
ในโชว์ “ทีโบน อรูทสติก” นอกจากแฟนๆ จะได้สัมผัสกับความเชี่ยวชาญและความเป็นเลิศของคนดนตรีรุ่นเก๋าอย่างพี่กอล์ฟและพี่แก๊ปแล้ว หลายคนยังทึ่งกับทักษะของนักดนตรีรุ่นใหม่ๆ เช่น ฐาณิศร์ นักดนตรีผู้มีความสามารถหลากหลาย ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัล “เบสต์ เอเชียน ครีเอทีฟ อาร์ติสต์” จากงานประกาศรางวัล “เดอะ โกลเดน อินดี้ มิวสิก อวอร์ดส์” ของไต้หวัน
ถัดมาในวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน งาน FEED RETRO ก็จัดเพลงเพราะยุค 80-90 มาเสิร์ฟให้คนฟังหลากรุ่นหลายวัยบริเวณลานสนามหญ้าหลังมิวเซียมสยาม
เริ่มต้นด้วย “พี่ตุ๊ก-วิยะดา โกมารกุล ณ นคร” ดีว่าคนแรกๆ ของเมืองไทย ผู้สร้างชื่อกับดนตรีแนวป๊อปแจ๊ส ที่มาพร้อมเพลงเก่งประจำตัวอย่าง “เพียงแค่ใจเรารักกัน” “ขอจันทร์” และ “คนพิเศษ” ในเวลา 17.00 น.
ต่อด้วยโชว์ของคู่ดูโอที่อยู่คู่วงการเพลงไทยมาร่วมสี่ทศวรรษในนาม “เบิร์ดกะฮาร์ท” ซึ่ง “พี่เบิร์ด-กุลพงษ์ บุนนาค” และ “พี่ฮาร์ท-สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล” ได้นำเอาเพลงอมตะของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น “ไม่ลืม” “ฝน” “รอรัก” “เพื่อนกัน” และ “ไม่ลืม” มาขับกล่อมแฟนเพลง แถมยังมีโบนัสพิเศษอีก เช่น การร้องเพลง “เป็นไปไม่ได้” ของ “ดิ อิมพอสซิเบิล” ในเวอร์ชั่นพากย์อังกฤษ
หลายคนตระหนักกันดีอยู่แล้วว่า พี่ตุ๊ก พี่เบิร์ด และพี่ฮาร์ท นั้นเป็นนักร้อง-นักดนตรี ที่มีผลงานเพลงเพราะเพลงดังจำนวนมาก แต่สิ่งที่ทุกคนที่มิวเซียมสยามได้สัมผัสอย่างชัดเจนอีกประการ ก็คือ ความเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ผู้รังสรรค์ความบันเทิงและอารมณ์ขันได้อย่างยอดเยี่ยมของศิลปินทั้งสามราย
ที่น่าจดจำอีกอย่างหนึ่ง คือ ในอีกสองวันต่อมา (27 พฤศจิกายน) จะเป็นวันที่พี่เบิร์ดมีอายุครบ 60 ปี ส่วนพี่ฮาร์ทก็มีอายุครบ 59 ปี เพราะทั้งคู่มีวันคล้ายวันเกิดวันเดียวกัน
ส่วนใครที่รักพี่ตุ๊ก วิยะดา ก็สามารถเข้าไปชมฝีมือการแสดงดีๆ ของนักร้องหญิงผู้นี้ได้ในเน็ตฟลิกซ์ กับซีรีส์น่าสนใจเรื่อง “Analog Squad ทีมรักนักหลอก” ที่คนดูหลายรายกำลังกล่าวขวัญถึง
ส่งท้ายด้วยบรรยากาศความประทับใจในวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน ประเดิมด้วยโชว์ของ “พี่ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” ศิลปินรายเดียวของงานนี้ที่มีอายุเกิน 70 ปีแล้ว แต่พลังงานยังล้นเหลือ และนำเอาเพลงรักอมตะแทบจะครบเซ็ตของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น “รักยืนยง” “รักนิรันดร์” “บอกรัก” “A Tu Corazon สู่กลางใจเธอ” “ส่องกระจก” “โอ้ใจเอ๋ย” ฯลฯ มาสร้างความบันเทิงให้แฟนๆ
โดยที่พี่ปั่นได้เดินบุกเข้าไปร้องเพลงกลางฝูงชนนับพันคนอย่างเป็นกันเอง ผ่อนคลาย และสุดเพลิดเพลิน
ปิดฉากงานอย่างสมบูรณ์แบบด้วยโชว์อคูสติกของ “พี่โอ๋-ธีร์ ไชยเดช” เจ้าของเสียงทุ้มนุ่มและสำเสียงการเล่นกีตาร์อันเป็นเอกลักษณ์หาตัวจับยาก ที่นำเอาเพลงเพราะๆ ทั้งในสตูดิโออัลบั้มของตนเอง, เพลงคัฟเวอร์ และเพลงที่เจ้าตัวเคยร่วมงานกับศิลปินท่านอื่น มาร้องแบบจัดเต็ม ไม่ว่าจะเป็น “สาป” “มากไปหรือเปล่า” “20202” “Home” “เพราะเธอ” และ “ก้อนหินละเมอ”
แม้ระหว่างโชว์ในช่วงค่ำปลายเดือนพฤศจิกายน จะมีฝนหลงฤดูโปรยปรายลงมา แต่แฟนพันธุ์แท้จำนวนไม่น้อยของพี่โอ๋ก็ไม่ยอมหนีหายไปไหน จนถึงขั้นวิ่งไปหลบฝนพร้อมศิลปินภายใต้เต็นท์เล็กๆ ยามเมื่อฝนเม็ดหนาซัดสาดเทกระหน่ำตอนช่วงใกล้จะจบการแสดง
อีกหนึ่งกลุ่มบุคคลสำคัญที่สร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ชมผู้ฟังได้ตลอดทั้งสามวัน ในฐานะวงดนตรีแบ๊กอัพของ “พี่ตุ๊ก-พี่ปั่น” และวงดนตรีกลางที่นำเพลงสากลเพราะๆ มาคัฟเวอร์ในสไตล์ของตนเองได้อย่างจัดจ้าน ระหว่างไม่มีศิลปินขึ้นโชว์ ก็คือ วง “Winkk Beats”
ประกอบด้วย “พี่เด้อ-ชยพล ผิวพรรณ” มือคีย์บอร์ดมากประสบการณ์ ที่เคยเป็นหนึ่งในทีมนักดนตรีสนับสนุนบนเวทีคอนเสิร์ตใหญ่ “ความทรงจำของก้อนหิน” ของวง “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” เมื่อปี 2562
“พี่หนึ่ง-ณัฐวุฒิ พันธ์สายเชื้อ” มือกลองฝีมือดีที่ผ่านงานบันทึกเสียงและงานแสดงสดมาอย่างมากมาย ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา หนึ่งในผลงานชั้นยอดของพี่หนึ่ง ก็คือการเป็นสมาชิกของวงดนตรีไทยเดิมประยุกต์ “บอยไทย” ในยุคคลาสสิกไลน์อัพที่นำโดย “พี่ป๋อม-ชัยยุทธ โตสง่า” ผู้ล่วงลับ
ร่วมด้วย “วิกกี้-บุณยวีร์ ไชยเกตุ” (ร้องนำ) “สยาม อำไพวรรณ” (กีตาร์) “สุระณรงค์ สงวนดี” (แซ็กโซโฟน) และ “ไพรัตน์ หนองริมบ้าน” (เบส)
นอกจากนั้น ในวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน วง “Winkk Beats” ยังได้มือกีตาร์รับเชิญรุ่นครูมาร่วมบรรเลงบทเพลงด้วย นั่นก็คือ “กัปตันโลมา-ธีรพงษ์ สวาสดิ์วงศ์” ผู้เคยออกผลงานโซโล่อัลบั้มกับสังกัด “สไปซี่ดิสก์” และเป็นมือกีตาร์หลักในทุกโชว์ของ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์”
เรียกว่าทั้ง 5 โชว์ของศิลปินรุ่นเก๋าพร้อมด้วยนักดนตรีสนับสนุนเหล่านี้ สามารถฉายภาพวงการ “เพลงไทยยุค 90” ได้อย่างซับซ้อนหลากหลาย ผ่านข้อเท็จจริงหลายประการ ได้แก่
หนึ่ง “เพลงไทยยุค 90” แยกไม่ขาดจากอุตสาหกรรมดนตรีช่วงตั้งไข่ในยุค 80 (ไม่ว่าจะเป็นค่าย “ครีเอเทียร์” หรือ “ไนท์สปอต”) ที่มีส่วนก่อร่างสร้างวัฒนธรรมเพลงป๊อปยุค “แกรมมี่-อาร์เอส” ขึ้นมา ทั้ง “ปั่น ไพบูลย์เกียรติ” “ตุ๊ก วิยะดา” และ “เบิร์ดกะฮาร์ท” คือ ผลผลิตของรอยต่อแห่งยุคสมัยเช่นนี้
สอง ศิลปินที่เริ่มทำงานในยุค 90 จำนวนไม่น้อย ยังทำงานต่อเนื่องมาถึงหลังปี 2000 และหลายรายดูจะไต่ถึงจุดสูงสุดในทางวิชาชีพภายหลังสหัสวรรษใหม่ด้วยซ้ำ บทพิสูจน์ที่ช่วยยืนยันเรื่องนี้ได้ดี คือ เส้นทางดนตรีของ “ทีโบน” และ “ธีร์ ไชยเดช”
สาม เพลงยุค 90 ไม่ได้มีแต่เพลงป๊อป เพลงวัยรุ่น แต่ยังเปิดทางเลือกใหม่ๆ ให้แก่คนฟังเพลงไทย เช่นที่เราได้รู้จักแนวเพลงเร็กเก้-สกาของ “ทีโบน”
สี่ ยุคสมัยของ “เบเกอรี มิวสิก” กลางทศวรรษ 90 ทำให้สังคมไทยได้รู้จักสุ้มเสียงสำเนียงดนตรีใหม่ๆ จำนวนมาก แต่เพลงแบบเบเกอรีมิได้หมายถึงเพลงอัลเทอร์เนทีฟ เพลงฮิปฮอป หรือเพลงวัยรุ่นแบบโดโจซิตี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเพลงอคูสติกแบบ “ธีร์ ไชยเดช” ด้วย
ห้า สปิริตสำคัญของ “ศิลปินยุค 90” คือศิลปินยุคนั้นจะสามารถยืนหยัดข้ามกาลเวลาหลายทศวรรษมาถึงยุคสมัยปัจจุบันได้ ก็ต่อเมื่อพวกเขายังคงทำงานหนักและมุ่งมั่นสร้างความบันเทิงใจรูปแบบต่างๆ ให้แก่สาธารณชนอย่างไม่ยอมหยุดหย่อน ศิลปินทุกรายที่ขึ้นโชว์ในงาน FEED RETRO ต่างช่วยยืนยันถึงข้อเท็จจริงนี้
หก “วงการเพลงไทยยุค 90” ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยหน้าตา-น้ำเสียงของศิลปินดังๆ ที่พวกเราคุ้นเคย หรือความสามารถทางธุรกิจของ “อากู๋-อาเฮีย” เท่านั้น แต่เสียงเพลงจำนวนมากได้ถือกำเนิดขึ้นและยังโลดแล่นมีชีวิตชีวาอยู่อย่างไม่ขาดสาย ด้วยน้ำพักน้ำแรงของคนเบื้องหลังและนักดนตรีสนับสนุนจำนวนมาก ที่เราอาจไม่เคยรู้จักชื่อเสียงเรียงนามหรือเห็นหน้าตาของพวกเขาและเธอมาก่อน