“น้าผี” คือ ตัวละครขาประจำในละครจักรๆ วงศ์ๆ ค่ายสามเศียร แห่งช่อง 7 ที่คนดูโทรทัศน์ชาวไทยน่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี
ทั้งด้วยบุคลิกการเป็น “ผีโครงกระดูก” ต่องแต่งๆ และน้ำเสียงบุบๆ บี้ๆ ขึ้นจมูก
นอกจากปรากฏกายตามละครหลายเรื่องๆ ใน “จักรวาลสามเศียร” แล้ว “น้าผี” แทบทุกตน ยังมักเป็น “ตัวละครฝ่ายธรรมะ/คนดี” มากกว่าจะเป็น “ตัวร้ายฝ่ายอธรรม”
แต่คำถามหนึ่งที่หลายคนไม่ทราบคำตอบแน่ชัด ก็คือ “น้าผีมาจากไหน?”
จุดเริ่มต้นของ “น้าผี” แห่ง “ค่ายสามเศียร”

ในบทสัมภาษณ์ “The King of Fantasia” (นิตยสาร a day ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2004) “ไพรัช สังวริบุตร” ผู้ทำคลอดละครจักรๆ วงศ์ๆ ค่ายสามเศียร เคยเล่าให้ “สืบสกุล แสงสุวรรณ” ฟังถึงจุดเริ่มต้นของตัวละคร “น้าผี” โดยสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
“น้าผี” ปรากฏตัวครั้งแรกในละครเรื่อง “สี่ยอดกุมาร” (2526)
ในยุคเริ่มต้น ไพรัชมักต้องโต้เถียงกับกรรมการเซ็นเซอร์ ซึ่งมองว่านี่เป็นการสร้างผีมาหลอกเด็กอย่างไม่มีสาระ โดยเขายืนยันว่าตัวละครผีสอนให้คนตระหนักถึงเรื่องชาติภพและหวาดกลัวเรื่องบาปบุญคุณโทษ แต่ขณะเดียวกัน ดาราวิดีโอ (ก่อนจะแยกบริษัทเป็นสามเศียร) ก็ต้องวางกลยุทธ์ที่จะทำให้เด็กๆ ซึ่งเป็นผู้ชมกลุ่มหลักของละครจักรๆ วงศ์ๆ ไม่กลัวผีจนเกินไป
นำมาสู่การวางคาแรคเตอร์ให้ “น้าผี” ถือร่มใบบัว มีเสียงพูด (เสียงพากย์) บู้บี้ มีบุคลิกแบบหงองก๋อย
หมายความว่าดาราวิดีโอตั้งใจออกแบบให้ “น้าผี” มีสถานะเป็นตัวตลกในละคร เพื่อที่เด็กๆ (ตัวละครนำ รวมถึงผู้ชม) จะสามารถรังแกหยอกล้อได้
แรงบันดาลใจจาก “ฮอลลีวูด”

แม้ไพรัชจะมิได้ลงรายละเอียดว่าเขาและทีมงานได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ “น้าผี” มาจากใครหรือหนังละครเรื่องใด?
แต่หลายคน (ที่เกิดทัน) คงพอเดาออกว่า “น้าผี” ในจักรวาลละครจักรๆ วงศ์ๆ ค่ายสามเศียรนั้น ถือเป็นทายาทที่ยังอยู่ยงคงกะพันของ “กองทัพโครงกระดูก” ซึ่งถูกร่ายมนตร์ให้มีชีวิตชีวาบนจอภาพยนตร์โดย “เรย์ แฮร์รีเฮาเซน”
“เรย์ แฮร์รีเฮาเซน” (1920-2013) คือนักทำหนังและแอนิเมเตอร์/มือทำเทคนิคพิเศษชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกคนสำคัญของวงการภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์-แฟนตาซี จากยุคปลายทศวรรษ 1940 ถึงต้นทศวรรษ 1980
ผลงานอันเป็นที่น่าจดจำของเขาคือการสร้างสรรค์ให้เหล่าสัตว์ประหลาด-ปีศาจในจินตนาการ และสรรพสัตว์ยุคโบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้ว กลับมีชีวิตโลดแล่นในจอหนัง
ตั้งแต่กอริลลาใน “Mighty Joe Young” (1949) ม้าบินเพกาซัสใน “Clash of the Titans” (1981) ร่วมด้วยเหล่าปีศาจ-สิ่งมีชีวิตในตำนานเทพปกรณัม ไปจนถึงไดโนเสาร์ยุคบรรพกาล และจานบินจากนอกโลก
จุดน่าสนใจคือเทคนิคพิเศษฝีมือแฮร์รีเฮาเซนนั้นถือกำเนิดขึ้นก่อนยุค “ซีจีไอ” (เทคนิคการสร้างภาพพิเศษด้วยคอมพิวเตอร์) ซึ่งคนทำหนังรุ่นหลังๆ คุ้นชิน
เขาจึงต้องสร้างโลกจินตนาการในภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์-แฟนตาซีเหล่านั้น ด้วยเทคนิค “สต็อป-โมชั่น” ซึ่งพึ่งพาหุ่นโมเดลขนาดเล็ก ผนวกกับองค์ความรู้ในการจัดแสงและองค์ประกอบภาพ
ซึ่งนับเป็นย่างก้าวที่ไปไกลกว่าคนทำเทคนิคพิเศษทางด้านภาพในอุตสาหกรรมหนังยุคเดียวกัน
ประดิษฐกรรมที่ได้รับการจดจำมากที่สุดของ “เรย์ แฮร์รีเฮาเซน” ย่อมหนีไม่พ้น “กองทัพโครงกระดูก” ในภาพยนตร์เรื่อง “Jason and The Argonauts” (เจสันกับขนแกะทองคำ/อภินิหารขนแกะทองคำ) เมื่อปี 1963
อย่างไรก็ดี “เจ้าปีศาจโครงกระดูก” ที่มือถือดาบและโล่ ซึ่งสร้างสรรค์โดยแฮร์รีเฮาเซนนั้น เริ่มปรากฏกายครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง “The 7th Voyage of Sinbad” (1958) เมื่อฉากต่อสู้ระหว่าง “ซินแบด” กับ “ผีโครงกระดูก” ได้รับเสียงตอบรับในแง่ดี อีกห้าปีต่อมา เขาจึงตัดสินใจนำ “กองทัพโครงกระดูก” มาใส่ไว้ในหนัง “อภินิหารขนแกะทองคำ”
เป็นที่รู้กันว่า “เรย์ แฮร์รีเฮาเซน” คือมนุษย์ผู้รอบคอบและใส่ใจรายละเอียดอย่างสูง เขายอมเสียสละเวลาไปมากมายมหาศาลเพื่อความสมบูรณ์แบบของงานส่วนเสี้ยวเล็กๆ
เช่น การทุ่มเทเวลา 4 เดือนครึ่ง ไปกับการสร้างสรรค์ฉากต่อสู้ของ “กองทัพโครงกระดูก” ในหนัง “อภินิหารขนแกะทองคำ” ทั้งๆ ที่ฉากดังกล่าวได้ปรากฏในภาพยนตร์เพียง 4 นาทีครึ่ง
วิวัฒนาการของ “น้าผี”
ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา คือ วาระ 100 ปีชาตกาล “เรย์ แฮร์รีเฮาเซน” จึงมีการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ “Ray Harryhausen : Titan of Cinema” ที่แกลเลอรีศิลปะสมัยใหม่แห่งสกอตแลนด์
ในอีกฟากโลกหนึ่ง “น้าผี” แห่งจักรวาลจักรๆ วงศ์ๆ ไทย ก็ค่อยๆ ได้รับการพัฒนาบุคลิกลักษณะเฉพาะของตนเองมาตามลำดับ จนก่อเกิดเป็นอัตลักษณ์พิเศษบางประการ เช่น การถือร่มใบบัวและการพูดจาเสียงบูบี้ ดังข้อสรุปของไพรัช
ใน พ.ศ.2563 นอกจากทายาทของ “กองทัพโครงกระดูก” (ซึ่งมีอารมณ์ขันเฮฮาผิดบรรพบุรุษ) ที่ยังโลดโผนโจนทะยานอยู่ในจอโทรทัศน์ไทย จะมีชีวิตชีวาได้ด้วยเทคนิค “ซีจีไอ” ยุคใหม่แล้ว อัตลักษณ์บางด้านของ “ตัวละครสมทบอมตะ” ประเภทนี้ก็ยังแปรเปลี่ยนไปตามสมัยนิยมอย่างน่าทึ่ง

ดังจะเห็นได้จากภาพ “น้าผีสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันโควิด” ในละครเรื่อง “พระสุธน-มโนห์รา” ฉบับล่าสุด
หรือ “น้าผีว้าวุ่น” ในตัวอย่างละครเรื่อง “ดาบเจ็ดสี” ฉบับใหม่ ที่กำลังจะออกอากาศตอนแรกในวันที่ 15 ตุลาคมนี้