หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2566 ผ่านพ้นไปแล้ว สิ่งที่น่าสนใจในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลใหม่ นั่นคือประเด็นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ
ทีมงานเว็บไซต์ฟีดฟอร์ฟิวเจอร์ ได้พูดคุยกับ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้มาตอบคำถามและเสนอแนะประเด็นต่างๆที่น่าสนใจ
1.ภาพรวมเศรษฐกิจหลังเลือกตั้ง 2566
2.หากมีการตั้งรัฐบาลช้าเกินกว่าที่ควร เพราะมีการต่อรองกันเยอะหรือสะดุดเพราะเหตุใดๆ ภาพเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไร
3.ข้อกังวลที่รัฐบาลใหม่ ที่เป็นฝั่งขั้วตรงข้ามกับรัฐบาลเดิม เมื่อเข้ามา อาจจะรื้อโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลเก่าทำไว้ จะเกิดผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร
4.ข้อเสอแนะในการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ด้วยการดูแล ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม ทำให้เม็ดเงินเข้าประเทศทันที
5.เพื่อป้องกันการคอร์รัปชั่น และการบริหารภาครัฐที่โปร่งใส อาจารย์สุชาติเห็นด้วยกับการใช้ blockchain หรือไม่
ซึ่งทั้งหมดนี้ ศ.ดร. สุชาติ ได้ให้คำตอบไว้ ดังนี้
ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงหลังเลือกตั้ง 2566เป็นอย่างไร
“ภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งหลังของปีมันก็ดีอยู่แล้ว ครึ่งปีแรกอัตราการเจริญเติบโต 2.7 ครึ่งปีหลัง 4 เฉลี่ยเป็น 3.6 ส่งออกครึ่งแรกติดลบ ครึ่งหลังดีขึ้นมา ท่องเที่ยวปีนี้ คนมาเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ 30 ล้านคน ตอนก่อนโควิดที่เราพีคมากๆ คือ 40 ล้านคน ในแง่หลังเลือกตั้ง คนก็จะมีคาดหวังกับรัฐบาลที่เค้าเลือกที่เรียกว่าฝั่งประชาธิปไตย ถ้าการจัดตั้งไม่มีปัญหา ไม่มีอุปสรรค ก็จะไม่สูญเสียความเชื่อมั่นใจต่อเศรษฐกิจ เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น ประกอบกับเงินในช่วงการเลือกตั้งมันสะพัดไปเยอะ จะมีการใช้จ่ายของคนที่เกี่ยวข้องทางนี้ สามารถเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้”
ถ้าการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ภาพทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรบ้าง
“ผมเดาว่า มันมีปัญหาเยอะ สำหรับพรรคที่ได้อันดับหนึ่งคือพรรคก้าวไกล อันแรกคือตัวคุณพิธาเอง ที่มีคนไปกล่าวหาว่า ไปถือหุ้นสื่อ itv และก็ยังมีข่าวโต้แย้งกันไปมา เหมือนว่าเค้าไปส่งกกต. กกต.ก็จะกำลังจะพิจารณาในชุดกรรมการใหญ่ เพื่อพิจารณาว่า จะส่งให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ ถ้ามีเหตุก็จะเป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนมากขึ้น อันต่อมาคือ การจัดตั้งรัฐบาลที่เหมาะสม ถึงตอนนี้กระแสประชาชนก็ยังต้องการรัฐบาลที่มาจากฝั่งประชาธิปไตยเพียวๆ ซึ่งถ้ามีพรรคที่มีแนวโน้มว่าจะไปจับมือกับพรรครัฐบาลเดิมมาร่วมด้วย ประชาชนก็อาจจะไม่ชอบใจ อันนี้ ก็เป็นความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจ ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศ หรือการลงทุนใหม่ของคนที่จะใช้สตางค์ ใช้งบประมาณต่างๆ ช้าลงไป อันนี้เป็นตัวชะลอเศรษฐกิจ ที่ทำให้ไม่สามารถให้เกิดขึ้นตามความคาดหวัง ที่พรรคการเมืองไปเสนอไว้ได้”
หากตั้งรัฐบาลล่าช้าจะกระทบไปถึงการจัดทำงบประมาณในปี 2567 หรือไม่
“สำหรับการจัดทำงบประมาณปี 2567 ก็ทำไปแล้ว แต่เมื่อมีรัฐบาลที่เป็นฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลเดิม เค้าก็จะต้องไปแก้ไขโครงสร้างงบประมาณ ตามที่พรรคฝั่งประชาธิปไตยประกาศไว้ ก็จะทำอะไรเยอะแยะเลย จากงบประมาณ 3.1 ล้านล้าน มันเป็นภาษี 2.5 ล้านล้าน แล้วไปกู้มา 6 แสนล้าน ประมาณ 80 เปอร์เซนต์คือรายจ่ายประจำ ไปตัดส่วนไหนมาก็คงจะยาก ทำให้คนที่เกี่ยวข้องในระบบเค้าไม่ค่อยชอบ มีหลายงบประมาณที่เค้าว่าจะทำทันที ก็เข้าใจว่าเค้าคงไปตัดงบอื่นที่ไม่จำเป็น เช่นงบโฆษณาตัวเอง งบเดินทาง งบทางด้านความมั่นคงการทหาร ทีนี้ถ้าจะไปกู้มา มันก็กู้เยอะแล้วนะ รัฐบาลเป็นหนี้อยู่ 10.6 ล้านล้านแล้ว สูงแล้ว หนี้ของประชาชนก็เยอะอยู่ 80 กว่าเปอร์เซนต์ของจีดีพี ถ้าไปทำสิ่งเหล่านี้ มันก็จะสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจ จะทำให้เครดิตของประเทศลดลง ต้องระวัง ผมคิดว่าหลายพรรคการเมืองก็ประกาศให้เพิ่มประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณ ไม่ใช้งบในสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่ใช้ในสิ่งที่ฟุ่มเฟือย แต่อย่างงบเงินเดือนนี่คือกว่า 1 ล้านล้านบาท ไปตัดเค้าไม่ได้ ถ้าตัดคือเกิดความไม่เชื่อมั่นเลย พูดได้แต่เวลาทำจริงก็ค่อนข้างลำบากพอสมควร”
“ถ้าให้ผมดูนะ แทนที่จะเอาเงินภาษีและรายได้ที่ส่งให้ รัฐบาล 2.5 แสนล้าน แล้วก็ไปกู้มา แล้วก็จัดสรรไป จัดสรรมา มันเหมือนกับพายเรือในอ่าง แต่น้ำไม่พอ เป็นผมก็จะใช้นโยบายส่วนเสริม ซึ่งไม่ได้หาเสียงกันหรอก คือนโยบายอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยใช้เพื่อคุมเงินเฟ้อ เค้าก็ขึ้นดอกเบี้ยไปพอสมควรแล้ว ตอนนี้เงินเฟ้อ 3 เปอร์เซนต์กว่า ทีนี้เงินเฟ้อเป้าหมายเค้าตั้งไม่เกิน 3 เปอร์เซนต์ เค้าก็จะทำให้เงินเฟ้อลดเหลือ 2 เปอร์เซนต์กว่า ซึ่งการจะทำให้ลดเงินเฟ้อเร็วเกินไป อาจจะทำให้ต้นทุนทางการเงินที่ไปกู้สูงขึ้น เพราะการจะลดเงินเฟ้อมันต้องขึ้นดอกเบี้ย ก็จะมีผลต่อสถานภาพของธนาคาร ธนาคารก็จะขาดทุน มีตัวอย่างที่สหรัฐ รายได้เท่าเดิม แต่เค้าไปซื้อลงทุนพันธบัตรดอกเบี้ยต่ำไว้ ทีนี้ก็ขาดทุน คือมันก็จะมีปัญหาเรื่องความเปราะบางของสถานบันการเงิน”
“คือการขึ้นดอกเบี้ย เร็วๆ ใดๆ ที่ จะไปขจัดเงินเฟ้อ มันจะมีผลเรียกว่า ไซต์เอฟเฟค ความอ่อนแอของสถาบันการเงิน อันนี้สหรัฐอเมริกาเพิ่งรู้ตัว ก่อนที่ธนาคารจะล้ม เพิ่งจะไปอัดฉีดเงินเข้าระบบมากขึ้นแสนล้านเหรียญ ตอนขยายเค้าเรียก QE Quantitative easing พิมพ์แบงก์ใส่เข้ามา พอตอนที่จะลดปริมาณเงิน เค้าเรียก Quantitative tightening (QT) คือไปดูดแบงก์ออกมาแล้วขึ้นดอกเบีย ซึ่งทำเร็ว ๆ ไม่ได้ ถ้าทำเร็ว ๆ โครงสร้างของระบบการเงินมันจะแย่ลง แต่อันนี้แบงก์ชาติของเราเค้าทำอยู่ ค่อนข้างดี”
“อีกอันหนึ่งคือ เราไม่มีนโยบายเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน exchange rate targeting ซึ่งหลายประเทศมีหมด เค้าทำกันอย่างในฮ่องกง สิงคโปร จีน แต่ของเราไม่มีกฎหมายอันนี้ แบงก์ชาติก็ดูแต่อัตราดอกเบี้ย เพื่อให้ได้อัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย แต่เค้าไม่สามารถไปดูว่า ค่าเงินบาทมันขึ้นๆ ลงๆ มากมายเลย เคยลงไปถึง 32 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ และขึ้นไปถึง 38 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ มันห่างกันตั้ง 6 บาท คิดเป็น 20 เปอร์เซนต์ของค่าเงิน 30 บาทเฉลี่ย ผันผวน 6 บาท อันนี้มันทำให้สินค้าไทยแข่งขันไม่ได้ เพราะคนทำของมาขาย เค้าก็จะต้องกำหนดในรูปเงินตราต่างประเทศคือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ถ้าค่าเงิน 32-38 เค้าก็ต้องกำหนดตอนขายของไว้ที่ 32 บาท อันนี้ผมเคยเสนอว่า ให้มีกฎหมายหรือกฎกระทรวงให้มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม อย่างจีน สิงคโปร์ ก็มี เพราะจีนเค้าก็ใช้เงินเค้าเป็นสกุลแลกเปลี่ยน ถ้าค่าเงินขึ้นๆ ลงๆ ก็มันไม่แน่อน ถ้าอยากให้เศรษฐกิจโต เราส่งออกไปได้เงิน 11 ล้านล้านบาท ในช่วงปีสองปี จีดีพี 18 ล้านล้าน ถ้าอยากให้ จีดีพีเพิ่ม 5.5 แสนล้าน ผมก็บอกว่าให้ปรับค่าเงินลงไป 5 เปอร์เซนต์ เพราะดอลล่าร์ที่ขายจากการส่งออกมันกำหนดไปแล้ว มันจะได้ดอลล่าร์มาแล้ว ขึ้นกับว่าจะเอาดอลล่าร์ไปแลกเงินบาทที่อัตราเท่าไหร่ อัตราวันนี้ 34 บาท ถ้าเพิ่ม 5 เปอร์เซนต์ ก็บวกไปอีก 1.7 ก็เป็น 35.7 ก็จะแลกเงินบาทเพิ่มขึ้นมาได้ที่ 5.5 แสนล้าน เป็นรายได้จากการส่งออก นับในรูปเงินบาทที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมาบวกกับ จีดีพี ตรงๆ มันทำให้ จีดีพีเพิ่มขึ้น 5.5 แสนล้าน เศรษฐกิจก็จะโต 5 เปอร์เซนต์”
จริงๆ แล้วค่าเงินที่เหมาะสมควรจะเป็นกี่บาท ต่อดอลล่าร์สหรัฐ
“จริงๆ แล้ว 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ควรจะสัก 36-37 บาท วันนี้ผมขายของ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ได้ 34 บาท พรุ่งนี้ผมแลกได้ 36 ก็เกิน 5 เปอร์เซนต์แล้วนะ ถ้าเป็น 37 ก็เกือบ 10 เปอร์เซนต์แล้ว ผมขายของได้เงินมา ผมจะต้องกำไรมากขึ้น จ่ายค่าแรงได้มากขึ้น ค่าแรง 600 บาท ก็จะเพิ่มได้ด้วยเหตุนี้”
แล้วจะกระทบกับในฝั่งผู้นำเข้าหรือไม่ หรือสินค้าที่เราต้องนำเข้า
“เวลาเราบริหารครอบครัว เราบริหารทางด้านรายได้ เราต้องการให้ครอบครัวเรา ลูกหลานเราใช้จ่ายน้อยๆ นะ ไม่ใช่เราบริหารโดยตั้งค่าเงินให้มันแข็งๆ แล้วลูกหลานเราก็ใช้จ่ายเยอะๆ แต่เราขายของไม่ได้ คนก็จะมาบ่นเรื่องนี้ คือไม่ควรใช้อัตราแลกเปลี่ยนมาแก้ไขปัญหาราคาสินค้าระยะสั้น ปัญหาน้ำมันแพงควรแก้ไขด้วยการปรับโครงสร้างของมัน ไม่อย่างนั้น อยากให้น้ำมันถูกก็ไปปรับให้ 1 เหรียญเท่ากับ 10 บาท น้ำมันก็ถูก ของที่ผลิตมาแล้ว ขายให้ใคร ของที่ผลิตมาแล้วต้องหารายได้ ออมไว้บางส่วน เพื่ออนาคตของครอบครัว แล้วค่อยเอาไปจ่าย”
“ทีนี้มาถึงเรื่องของแพง เช่นค่าน้ำมันแพง ทำไมไม่คิดราคาต้นทุนการผลิตที่อ่าวไทยล่ะ ไปคิดราคาที่สิงคโปร์ แล้วบวกค่าขนส่ง ค่าภาษีสรรพสามิต แล้วก็มาตั้งราคา แล้วมันก็แพงกว่าต้นทุนตั้งเยอะ กำไรก็เข้าบริษัทน้ำมันไป ค่าแก๊สแพงทำให้น้ำมันแพง ก็แก๊สที่ขุดได้ในอ่าวไทย ราคาถูกกว่าที่ซื้อที่ซาอุฯตั้งเยอะแต่คุณเอาไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติก แล้วไปซื้อแก๊สจากซาอุแพงมาใส่ถังให้คนใช้ แล้วก็บอกว่าราคาแพงเพราะสงคราม อย่างนี้ สลับราคากันได้มั้ย คุณยังใช้แก๊สเปียกที่อ่าวไทยแต่ราคาซาอุฯ แล้วแก๊สที่ไปผลิตไฟฟ้าแม้ว่าเป็นแก๊สซาอุฯ แต่เป็นราคาอ่าวไทยได้มั้ย อันนี้ค่าไฟฟ้า ก็จะลดลงไป 1 บาทเลยนะ ตอนนี้ 4.70 บาทต่อหน่วย ก็เหลือ 3.70 แต่ 3.70 ก็ยังแพงกว่าเวียดนามนะ เวียดนาม 2.88 อันนี้ก็สำคัญเพราะไฟฟ้าเป็นต้นทุนการผลิตทุกอย่าง ชาวต่างชาติมาปุ๊บเห็นราคาค่าไฟฟ้า เค้าก็ไปที่เวียดนามเลย เพราะต้นทุนค่าไฟฟ้ามันแพง แต่ว่าเราจะไปรับค่าเงิน เพื่อให้น้ำมันไฟฟ้ามันถูกนี่ เราจะยากจนเลย เพราะเราไม่มีรายได้ แม้เราจะมีรายจ่ายที่น้อยลง เงินสำรองมันจะหมดไปเลย หลักคิดมันเป็นแบบนี้”
ประเด็นที่ เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็มักจะเข้ามารื้อโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลเก่าทำเอาไว้ และอาจมีผลกระทบกับเศรษฐกิจ
“ ขึ้นกับว่าเป็นโครงการไม่เหมาะสม ไม่ยุติธรรม ผูกขาด มีคอร์รับชั่นหรือไม่ ถ้าไปรื้อนี่ จะมีผลต่อเศรษฐกิจระยะปานกลาง หรือไม่ ระยะสั้นนี่ก็ยุ่งหน่อย เพราะต้องฟ้องคนนั้นคนนี้ เลิกสัญญาตรงนั้นตรงนี้ ทีนี้รัฐบาลเดิมเป็นรัฐบาลเผด็จการ ก็ไปเซ็นอะไรแปลกๆ ไว้เยอะแยะ แล้วทำให้การผูกขาดในประเทศไทยนี่มากเลยนะ ผลที่เห็นชัดเจนคือรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวย เราสูงที่สุดในโลก ถ้ามันจำเป็นต้นแก้อยู่แล้ว”
“ตัวอย่างที่ประเทศเอสโตเนีย ที่ออกมาจากสหภาพโซเวียต ระบบแย่หมดเลย เค้าเลยแก้โดยทำให้รัฐบาลเป็นดิจิตอล ทุกอย่างต้องโปร่งใสหมด (มีพรรคหนึ่งในบ้านเราก็ประกาศแบบนี้ ) คือถ้าจะติดต่อกับรัฐบาล ต้องติดต่อผ่านมือถือ แล้วให้ เอไอ เป็นคนอนุมัติ เพราะเอไอ เค้าก็จำข้อกำหนดไว้ ถ้าถูกต้องปุ๊บก็อนุมัติ ห้ามหน่วยราชการใช้ดุลพินิจ ยกเว้นบางเรื่อง แต่น้อยมาก อันนี้ก็จะช่วยให้รัฐเป็นดิจิตอล ทันสมัย ลดการคอร์รัปชั่นลง ซึ่งอันนี้ ผมว่าประชาชนต้องการ”
ถ้าพูดถึงบริหารงานที่มีความโปร่งใส Blockchain น่าสนใจหรือไม่
“ คือ Blockchain มีคนพูดกันเยอะแยะ แต่มีคนบอกว่ามันไม่ได้ใช้ หรือแม้แต่ CBDC (Central Bank Digital Currency) ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ blockchain นะ คือมันเป็นงบดุลทางการเงิน แต่ว่าต่างคนต่างมี แต่ถ้ามันอยู่ในกระดาษก็เห็นได้คนเดียวใช่มั้ย แต่นี่อยู่ในจอคอมพ์ คนก็ช่วยกันเข้าไปตรวจสอบ เอาอะไรใส่เข้าไป ทุกคนเห็นหมด มีคนเอาคำนี้ไปใช้เยอะ ส่วนใหญ่เป็นการ Centralized Data มันจะมีหน่วยงานหน่วยหนึ่ง ที่เอาข้อมูลใส่ ถ้าคนที่ช่วยกันดูไม่โกง มันก็ทำได้ เช่นการพิมพ์แบงก์บาท ก็มีหน่วยงานของแบงก์ชาตินั่งดู ถ้าเค้าดูแลได้ดี ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ Blockchain คือมาดูแล้วก็ต้องเรียกคนอื่นๆ มาดูด้วย ซึ่งมันมีต้นทุนการใช้สูงมาก เพรามันต้อง verify กันเยอะเลย ที่เรียกว่า Blockchain เพระมันเพราะดี แล้วบอกว่ามันป้องกันคอร์รัปชั่น มันก็ไม่แน่ ถ้าคุณไม่เอาข้อมูลใส่ไป มันก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่ผมก็เห็นด้วย ถ้าจะใช้แล้วต้นทุนไม่แพงนัก”
ชมคลิปได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=xfCBx8jsusM