กระแสพรรคก้าวไกล ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และพุ่งแรงแบบฉุดไม่อยู่ โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง 2566 และเมื่อพิจารณารายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคทั้งระบบบัญชีรายชื่อ และส.ส.เขต พบว่าพรรคก้าวไกลถือเป็นอีกหนึ่งพรรคที่ส่งผู้สมัครหน้าใหม่หลากหลายอาชีพลงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้จำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ ภคมน หนุนอนันต์ หรือ ลิซ่า สาวพัทลุง ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล ซึ่งเธอเป็นอดีตนักข่าวภาคสนาม สายการเมืองมาก่อน
FEED จึงได้พูดคุยกับ “ลิซ่า” ถึงเส้นทางชีวิตของเธอ กับการตัดสินใจทิ้งอาชีพสื่อมวลชน จากภาคสนามข่าวมาลงสนามการเมือง
ลิซ่า ภคมน : สวัสดีค่ะ ภคมน หนุนอนันต์ ชื่อเล่นชื่อลิซ่า เป็นคนจังหวัดพัทลุง เรียนจบปริญญาตรีคณะนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จบปริญญาโทรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่บ้านทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขายวัสดุก่อสร้าง
“นักข่าวการเมือง” อาชีพในฝัน
ลิซ่า ภคมน : เรารู้ตั้งแต่เด็กว่าเราชอบอะไร อยากเป็นอะไร เลยตั้งใจว่าเราจะเรียนนิเทศศาสตร์ ก็ตัดสินใจเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพื่อที่เรียนจบแล้วจะมาเป็นนักข่าวทีวี ส่วนที่เลือกสายการเมืองเพราะการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยสำหรับเรา ครอบครัวเราคุยเรื่องการเมืองเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว พอเรียนจบก็ไปสมัครงาน และได้เป็นนักข่าวการเมืองสมใจ
ความเจ็บปวดของ “ลิซ่า” ก้าวไกล
ลิซ่า ภคมน : เราเป็นนักข่าวช่วงปลายปี 2553 เป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการเมืองมันพีคมากๆ เพราะมันคือช่วงหลังการสลายการชุมนุม เราก็ได้เห็น เราได้รู้หลายๆ อย่าง วันหนึ่งเรามาอยู่ในวงที่ไม่ใช่แค่ผู้ชมที่ดูผ่านทีวีแล้ว เราเป็นคนที่ต้องทำงาน เราเป็นคนที่ต้องนำเสนอ คือช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราเรียนจบใหม่ๆ ยังแยกไม่ได้ว่านี่คืองาน นี่คือความรู้สึกส่วนตัว นี่คืออุดมการณ์ ทุกอย่างมันดิ่งไปหมด แล้วก็เราได้รับมอบหมายให้ทำสกู๊ปข่าวครอบครัวของผู้เสียชีวิต ทั้ง 99 ศพ จำไม่แม่นว่าเราทำไปกี่ครอบครัว แต่ทุกครั้งที่เราไปเรารู้สึกว่ามันแย่ เราจัดการกับความรู้สึกเราไม่ได้ เราไปเห็นบ้านเขาแล้วเรารู้สึกว่ามันแย่อยู่แล้ว และยังต้องไปเจอกับความสูญเสียที่เขาได้รับ สูญเสียหัวหน้าครอบครัว สูญเสียเสาหลักของครอบครัว แล้วคนที่เขาอยู่เขาเล่าตลอด 2 ชั่วโมง เขาร้องไห้ๆ เราก็ไม่รู้ว่าทางออกของการสัมภาษณ์นี้มันจะนำไปสู่อะไรให้เขาได้บ้าง กลับมาแล้วเราก็จัดการกับความรู้สึกนั้นไม่ได้ มันหดหู่และมันเป็นสิ่งที่อยู่ในใจตลอดเวลาว่าคนเหล่านี้ทางออกของเขาคืออะไร เขาจะได้รับการเยียวยาอย่างไรบ้าง เราตั้งคำถามมาตลอดเวลา
ลิซ่า ภคมน : จนวันหนึ่งที่เรารู้สึกว่าอินมากๆ เราไม่สามารถที่จะดึงตัวเองขึ้นมาได้ กลับกันแกนนำหรือคนที่มีอำนาจในขณะนั้น ความรู้สึกเรา ณ ขณะนั้น และอันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวว่าเขาไม่ได้รู้สึกว่าต้องหาทางออกให้คนเหล่านี้เลย สกู๊ปที่เราทำมันเป็นสกู๊ปต่อเนื่อง แต่ก่อนนักโทษทางการเมืองมันจะมีคุกอยู่ที่หลักสี่ เราก็จะต้องไปบ่อยๆ มีคนหนึ่งที่เรารู้สึกสลดใจมากๆ คือวันที่เราไปครั้งแรกเขายังมองเห็นอยู่เลย แล้วเราก็ติดตามเรื่องนี้มันประมาณสองเดือนสามเดือน จนวันสุดท้ายที่เราไปคือตาเขามองไม่เห็นอะไรแล้ว มันบอกถึงความริบหรี่ไม่ใช่แค่ดวงตาของเขา ความหวังเขา ความหวังของประเทศนี้ แล้วมันต้องอย่างไรต่อ จนวันหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้งแบบเหมาเข่ง วันนั้นเรารู้สึกเราหมดศรัทธาทางการเมือง เราหมดศรัทธากับผู้นำ เราหมดศรัทธากับผู้มีอำนาจมากๆ ก็เริ่มที่จะถอยออกมาแล้วกลับไปช่วยที่บ้าน ไปเรียนปริญญาโท และเริ่มทำธุรกิจ
“ตอนนั้นเราไม่เชื่อ มันหมดศรัทธา มันไม่ใช่แค่การเมือง ไม่เชื่อในวงการสื่อสารมวลชนด้วย เพราะว่ามีเพื่อนแรงงานข่าวหลายคนมากๆ ที่มีความมุ่งมั่นในการนำเสนอ แต่เขานำเสนอมันไม่ได้ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เราก็เลยรู้สึกว่าสิ่งที่เราคิดสิ่งที่เราฝัน พอวันที่เรามาอยู่ตรงนี้มันไม่ได้เป็นแบบนั้น เราก็เอาตัวเองออกมา”
จุดเริ่มต้นฝ่ายสื่อสารฯ พรรคอนาคตใหม่
ลิซ่า ภคมน : ตอนนั้นเราก็ทำธุรกิจของตัวเอง และช่วยที่บ้านไปด้วย จนมีพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้น ซึ่งน้องชายแท้ๆ ได้ไปร่วมกับปีกเยาวชนของพรรค และมีเพื่อนที่เคยเป็นนักข่าวด้วยกันอยู่ในพรรคด้วยก็เลยติดต่อมาว่าสนใจไหม เราก็เข้าไปคุยตอนนั้นยังลังเลเพราะเราทำธุรกิจ จะทำอย่างไรต่อ จนกระทั่งช่วงประมาณเดือนตุลาคม ปี 2561 เพื่อนก็ติดต่อมาอีกครั้งหนึ่งว่าต้องมาแล้วมาช่วยกันจนจบเลือกตั้ง 2562 เราก็มาช่วยกันทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารของพรรค เพราะเป็นพรรคใหม่ คนรู้จักน้อย สื่อมวลชนเองก็ไม่ได้ให้ความสนใจ เราก็เลยต้องสื่อสารเอง ก็เป็นการรวมตัวกันของคนที่มีอุดมการณ์ และเคยทำงานสื่อสาร ตั้งแต่บัดนั้นก็ยังทำกันมาจนถึงวันนี้
“วันที่เราหมดศรัทธากับผู้มีอำนาจที่เขาไม่ได้รู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนกับคนที่โดนกระทำในวันที่เราไปสัมผัสมา แล้ววันหนึ่งที่มันมีตัวเลือกใหม่เข้ามา เรารู้สึกว่านี่อาจจะเป็นความหวังก็ได้ เราก็เลยสนใจแล้วพอไปดูโครงสร้างข้างหลังบ้าน เรารู้ว่าเขาเป็นใครบ้าง เพื่อนเราที่เคยสู้กันมา เราเห็นอยู่แล้วว่าคนนี้คือใคร คนนี้สู้กันมาเท่าไหร่ เขาไปรวมกันตรงนี้มันคือพรรคใหม่ แต่กับคนกลุ่มนี้มันทำให้เชื่อว่านี่อาจจะเป็นไฟกองสุดท้ายก็ได้ ที่มันอาจจะจุดไฟในตัวใครหลายๆ คนขึ้นมาอีกครั้ง”
ความแข็งแกร่งของพรรคก้าวไกล
ลิซ่า ภคมน : วันนั้นวันที่ยุบพรรคอนาคตใหม่เราก็อยู่ตรงนั้น ยังไม่มีเวลาได้เสียใจเพราะต้องเดินต่อเลย พรรคก้าวไกลในวันนั้นมีข้อครหามากมาย เพราะผู้นำเปลี่ยนคน แต่ ณ วันนี้เราเชื่อว่าทุกคนที่อยู่ข้างในพรรคหรือคนที่ติดตามพรรคก้าวไกลไม่ได้มีคำถามเหล่านั้นแล้ว ความแข็งแกร่งของพรรคก้าวไกลวันนี้มันไม่ใช่ตัวของคุณพิธา (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) ไม่ใช่ตัวผู้นำ แต่มันเป็นสถาบันทางการเมืองที่เชื่อได้ แล้วพูดถึงในสิ่งที่ไม่เคยถูกพูดมาก่อน สมัยก่อนเราเป็นนักข่าวเวลาเราติดตามหาเสียงก็จะบอกว่าพรรคนี้จะให้เงินเท่านี้ แต่ไม่มีใครออกมาพูดว่าเราจะรื้อโครงสร้าง มันดูยิ่งใหญ่ มันดูวุ่นวาย เมื่อไหร่จะจัดระเบียบได้ แต่เรารู้สึกว่าสิ่งนี้แหละ มันจะไปต่ออย่างไร เหมือนบ้านเมืองพังทาสีใหม่ บ้านพังทาสีใหม่ มันไม่หายเอียงหรอก
สิทธิแรงงานกรรมกรข่าว
ลิซ่า ภคมน : มันอาจจะดูเป็นเรื่องย่อยมาก แต่จิตวิญญาณการเป็นสื่อมวลชนในตัวเรามันเยอะมากๆ วันนี้เรารู้สึกว่าการเมืองมันยังไม่ได้เปลี่ยนไป วิถีของการเมืองมันไม่ได้เปลี่ยนไปไหนเลย วงการสื่อมวลชนดีกว่าเดิมไหมวันนี้มันดีกว่าเดิม มีความกล้ามากขึ้นที่จะนำเสนอ แต่มันก็ยังมีช่องโหว่มากมาย ที่เรารู้สึกว่าถ้ามันมีสิ่งนี้มันจะดีมากๆ ถ้ามีโอกาสเสนอได้จะขอเสนอ พ.ร.บ.รับรองสิทธิแรงงานสื่อมวลชน เนื่องจากกฎหมายในประเทศไทยพูดถึงสื่อมวลชนนะ แต่พูดถึงระดับองค์กรใหญ่ พูดถึงการควบคุมเนื้อหา แต่ไม่มีใครพูดถึงกรรมกรข่าวอย่างพวกเราเลย ในวันที่เราออกไปทำงานเราได้เบี้ยเลี้ยง 150 บาท คนที่ต้องตามนายกรัฐมนตรี ถ้าคนข่าวอาจจะรู้ว่ารถที่เร็วที่สุดและรถที่อันตรายที่สุดคือรถที่สื่อมวลชนใช้ขับตามนายกรัฐมนตรี เขาไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าความปลอดภัยของคนที่นั่งมันอยู่จุดไหน แต่ว่าเราต้องไปให้ทันหมายนั้น เรารู้สึกว่าแรงงานพวกเราเนี่ยมันขาลอยมากๆ มันไม่ได้มีอะไรที่จะทำให้มันมั่นคงในอาชีพการงานเลย อันนี้หมายถึงสวัสดิภาพการทำงาน และอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของอุดมการณ์ สมมติว่าจากประสบการณ์ส่วนตัวเพื่อนเราที่มีความมุ่งมั่นมากๆ อยากจะแสดงออกถึงสิ่งนี้ แต่สุดท้ายเขากลายเป็นคนตกงาน เรารู้สึกว่าถ้ามันมีกฎหมายที่รองรับแรงงานข่าวอย่างพวกเราจริงๆ ทำให้เกิดความมั่นใจในการทำงาน และเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงได้ เพราะเราเชื่อว่าสื่อมวลชนเป็นกลไกที่สำคัญมาก ถ้าสื่อมวลชนแข็งแรง เราคิดว่าหลายสิ่งหลายอย่างมันจะง่ายดายมากๆ
ลิซ่า ภคมน : เราไม่ได้ต้องการให้สื่อมวลชนเห็นด้วยกับพรรคก้าวไกล ขอแค่คุณกล้าที่จะนำเสนอในสิ่งที่เราพูดแค่นั้นเอง ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินว่าเขาเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย แต่ขอแค่ให้โอกาสพวกเราพูดออกไปในช่องทางหลักของสื่อมวลชนประเทศนี้ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ สื่อมวลชนมีอิสระ สามารถที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงได้
“กาก้าวไกลทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม เหมือนที่เราพูดไปว่าเราเป็นนักข่าวตั้งแต่ปี 2553 จนวันนี้ปี 2566 แล้ว วัฏจักรการเมืองมันไม่เคยไปไหนเลย แต่ก่อนไปทำข่าวแล้วก็ยืนสัมภาษณ์นักการเมือง บางคนเราใช้เวลาตั้ง 20 นาที พอเราเอาไมค์ลง เรารู้สึกว่าเราได้อะไรจากสิ่งนี้ ทำไมเขาไม่กล้าที่จะพูดอย่างตรงไปตรงมา ทำไมทุกคนดูสนุกกับการผลิตวาทกรรมอย่างอ้อมแอ้ม เรารู้สึกว่าวันนี้ไม่ต้องลังเลเลยว่ากาก้าวไกลแล้วได้อะไร กาก้าวไกลแล้วได้ทุกอย่างที่คุณไม่เคยมีมาก่อนในประเทศนี้”
ลิซ่า ภคมน กล่าวทิ้งท้าย