หลังจากที่ FEED ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬาเทคบอลในหลากหลายแง่มุมไปแล้ว อาทิ ศึกษาวิธีการเล่นและเรียนรู้กติกากีฬาเทคบอล จาก “โค้ชเรวัต-โค้ชแนน” ผู้ฝึกสอนกีฬาเทคบอลทีมชาติไทย และ เทคบอลไทยดังเปรี้ยงปร้าง แต่ยังขาดผู้สนับสนุนผลักดันสู่แชมป์โลก
เราจึงขอพาทุกท่านไปพูดคุยกับ 2 นักกีฬาเทคบอลที่เป็นกำลังสำคัญของทีมชาติไทยในชุดปัจจุบัน อย่าง “ต้น” จ.อ.พักตร์พงษ์ เดชเจริญ และ “ยา” จริยา สีสวาท เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ในการแข่งขันที่ผ่านมา และเป้าหมายก้าวสู่ระดับท็อปของโลกในอนาคตข้างหน้า
กีฬาเทคบอลท้าทายความสามารถและน่าส่งเสริม
พักตร์พงษ์ เดชเจริญ : พอดีสมาคมเทคบอลเป็นกีฬาใหม่ที่เข้ามาในประเทศเรา ผมก็อยากลองดูว่ากีฬาใหม่จะเหมาะสมกับเราหรือเปล่าอะไรอย่างนี้ พอดีโค้ชให้โอกาสให้พวกได้มาลองเล่นดู พอเล่นแล้วมันรู้สึกสนุก ก็เลยเล่นต่อ
กระแสที่เกิดขึ้นในการแข่งขันที่ประเทศเยอรมนี ก็ขอบคุณทุกคนที่เชียร์พวกเรา กระแสตอบรับดีมากๆ เลย ผมเล่นคู่กับพี่อาร์ทท่าเรือ พี่อุเทน กู้เขียว คู่ของเราได้เป็นเกียรติรับเชิญให้ไปแข่งที่แมตช์ Gala เราเจอประเทศบราซิล และเราก็ชนะประเทศบราซิลมาได้ครับ
กีฬาเทคบอลเล่นยากไหม ถ้าถามว่ายากไหม ก็ยากครับ มันต้องใช้ความจำ ใช้ทักษะพอสมควร ส่วนใครที่อยากจะเล่นอันดับแรกมันก็ต้องเดาะได้ครับ เดาะฟุตบอล เหมือนเดาะตะกร้อครับ เดาะซ้าย-ขวา ซ้าย-ขวา ให้ทักษะมันแน่นก่อน
อันดับโลกนักกีฬาของไทยส่วนใหญ่ ก็ประมาณ 100 กว่าทุกคน เพราะว่าของเราเพิ่งร่วมการแข่งขันครั้งแรกที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป้าหมายลึกๆ ก็หวังจะให้ติด 1 ใน 10 ของโลก เป็นเป้าหมายลึกๆ ครับ
สำหรับเรื่องการเตรียมตัวไปแข่งขันรายการ “เอเชียน เทคบอล ทัวร์ 2023” ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ) ระหว่างวันที่ 2-5 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมาโค้ชอัดให้เต็มที่พร้อมกับการแข่งขันที่ดูไบ เพราะว่าเราไปแข่งที่เยอรมนีกลับมา เรามีประสบการณ์ในการแข่งขันครั้งแรกของเรา และเราก็มาพัฒนามาปรับใช้ทักษะต่างๆ
ตอนนี้จุดที่ต้องปรับปรุงของเรา เราก็เสียเปรียบเรื่องลูกเสิร์ฟ เพราะเราตัวเล็กกว่าเขา แต่เราพยายามจะปรับทักษะ ปรับสกิลให้ทุกคนพัฒนาสูงขึ้น สำหรับตัวผม ผมก็ดีใจนะครับ เพราะว่ากีฬานี้ที่ผมเริ่มเล่นมา รู้สึกว่าเป็นกีฬาที่ท้าทาย และสนุกสนานดี น่าส่งเสริมกีฬาประเภทนี้ครับ
ผมขอฝากนักกีฬาเทคบอลทีมชาติไทยด้วยนะครับ ฝากเชียร์พวกเราด้วย ช่วยเป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะครับ
จ.อ.พักตร์พงษ์ เดชเจริญ กล่าว
คนข้างนอกอาจจะมองว่ายาก แต่ถ้าได้ลองเล่นแล้วจะสนุก
จริยา สีสวาท : จุดเริ่มต้นของกีฬาเทคบอลของประเทศไทย เราเพิ่งนำเข้ามาได้ 2 ปีกว่าๆ คือเรามีทักษะของตะกร้อมาในเบื้องต้น เขาก็เลยมีการคัดเลือกนักกีฬาเข้ามาเก็บตัวของกีฬาเทคบอล
ในช่วงฝึกซ้อมแรกๆ ก็จะมีการสับสนของกติกา และทักษะค่อนข้างพอสมควร แต่ใช้ระยะเวลาในการฝึกซ้อมอยู่ประมาณ 1-2 เดือน เราก็เริ่มมีความคุ้นเคย หรือความชินกับกีฬาเทคบอลเพิ่มขึ้น
การมีทักษะของตะกร้อทำให้เล่นกีฬาเทคบอลได้ง่ายขึ้นค่ะ เพราะว่าทักษะจริงๆ ของเทคบอลก็จะมีการเสิร์ฟ เปิด ชง แล้วก็มีการฟาดหรือปาดหน้าตาข่าย ทักษะตะกร้อเป็นทักษะที่สำคัญในการเล่นเทคบอล
โดยเราเล่นประเภทคู่หญิง (คู่กับ อารียา หอมดี) และคู่ผสม ผลงานที่ผ่านมาในประเภทหญิงคู่ได้รองชนะเลิศอันดับ 2 ของชิงแชมป์ประเทศไทย ส่วนคู่ผสมได้รองชนะเลิศอันดับ 1 ที่จังหวัดสตูล
จุดที่ยังต้องแก้ไขปรับปรุง ถ้าในส่วนตัวนะคะ ตอนนี้ก็คือมองว่าเป็นลูกเสิร์ฟค่ะ ลูกเสิร์ฟที่ยังไม่แรงพอสมควรตามเป้าหมายที่ตัวเองหวังไว้ค่ะ ในลูกชง หรือลูกเล่นหน้าตาข่าย ก็มีทักษะส่วนตัวของตัวเองอยู่
ถ้าคนข้างนอกมองนะคะ ก็จะมองว่ายากค่ะ เพราะว่ามันจะใช้ทักษะที่ไม่ซ้ำ แต่ถ้าได้เข้ามาเล่น หรือมาลองฝึกซ้อมดู จะเป็นกีฬาที่เล่นแล้วสนุก และไม่ได้ยากอย่างที่เราคิดเลยค่ะ
ประเทศที่น่ากลัวที่สุดก็จะเป็นฮังการีกับสหรัฐอเมริกาค่ะตอนนี้ ที่เขาครองแชมป์โลกมาตลอด แล้วก็เป็นประเทศที่น่ากลัวสำหรับเราค่ะ
เป้าหมายของตัวเองหลังจากนี้ ถ้าเป็นประเภทหญิงคู่ คิดว่าไทยของเราน่าจะได้ขึ้นแท่นรับเหรียญเลยนะคะในเป้าหมายสูงสุดของผู้หญิงค่ะ แต่คู่ผสม หรือประเภทคู่ชาย คู่แข่งขันจะค่อนข้างเยอะ แล้วก็หนักๆ เหมือนกันค่ะ
ในการแข่งขันที่ดูไบ เรามองว่าสำหรับคู่หญิงของเราน่าจะติด 1 ใน 3 ได้นะคะ แต่คู่ผสมก็ต้องมาลุ้นว่าระหว่างสายเราจะเจอทีมที่เต็งหนึ่งเลยหรือเปล่า และคิดว่าน่าจะมีลุ้นเข้าถึงรอบ 8 ทีมเหมือนกัน
อยากฝากถึงแฟนๆ และคนที่ติดตามกีฬาเทคบอลของเรานะคะ ฝากเป็นกำลังใจให้พวกเราในการแข่งขันทุกๆ แมตช์ ทุกๆ รายการค่ะ
อยากเชิญชวนน้องๆ หรือนักกีฬารุ่นใหม่ ลองหันมาเล่นกีฬานี้ดูค่ะ เพราะว่ากีฬานี้อีก 2-3 ปีข้างหน้าไปไกลแน่นอนค่ะ
จริยา สีสวาท กล่าวปิดท้าย