ภาพ “แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” เจ้าขององค์กร Miss Universe คนปัจจุบัน พา 3 สาวงามแห่งจักรวาล “R’Bonney Gabriel” เจ้าของตำแหน่งมิสยูนิเวิร์ส 2022 พร้อมรองอันดับ 2 “Andreina Martinez” และ Top 5 “Gabriela Dos Santos” เข้าพบ “พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงกลาโหม ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดนางงามจักรวาลในปี พ.ศ. 2567 อยู่ในความสนใจของแฟนนางงามไทยทั้งประเทศ
และต่างคาดหวังว่าจะได้เห็นรัฐบาล ยื่นมือเข้ามาช่วยสนับสนุน เพื่อช่วยส่งเสริมและขับเคลื่อนการประกวดนางงาม ซึ่งถือเป็นซอฟต์เพาเวอร์หนึ่งที่น่าส่งเสริม
ทำไมการประกวดนางงาม ถึงถูกยกให้เป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่รัฐควรเข้ามาร่วมสนับสนุน “อาจารย์ธง ฐิติพงษ์ ด้วงคง” ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการให้ความรู้นางงาม โดยเฉพาะตัวแทนสาวไทยจากเวทีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ไปประกวดระดับจักรวาล เคยให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้กับทาง FEED เอาไว้อย่างน่าสนใจ
“มิสยูนิเวิร์สเมื่อก่อนมองได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ความบันเทิงอย่างเดียว แล้วก็ไม่ค่อยส่งอิมแพคให้ด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจหรือสังคม ในสหรัฐอเมริกาเอง มันเลยจะดูซบเซา เพราะว่าเจ้าของบริษัทไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไรใช่ไหมครับ เขาถึงขาย แต่ว่าคุณแอนบอกเลยว่า เขาจะใช้มันเป็นเครื่องมือ ในการสร้าง 5F ไม่ว่าจะเป็นการโปรโมตในบริบทแฟชั่น ภาพยนตร์ฟิล์ม ศิลปะการต่อสู้ แล้วก็เรื่องอื่นๆ การท่องเที่ยวอีก
ซึ่งสิ่งนี้มันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว เราเคยใช้เวทีการประกวดนางงามพลิกฟื้นธุรกิจการท่องเที่ยวในปี 2005 หลังประเทศไทยเกิดภัยพิบัติใหญ่จากสึนามิ คราวนี้เมื่อเราเป็นเจ้าของ เราสามารถใช้มันอย่างใจหมายได้ง่ายขึ้นใช่ไหมครับ ผมเชื่อว่านี่คือนิมิตรหมายอันดีที่คนไทยได้มาเป็นเจ้าของมิสยูนิเวิร์ส และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี”
“ถ้าตามบทสัมภาษณ์ผมหลายๆ ครั้ง ผมเคยพูดมาก่อนสองสามปีแล้วว่า เอาดีๆ นะ นอกจาก Boys Love ซีรีส์วายแล้วเนี่ยนางงามนี่แหละจะเป็นตัวเต็งหลังวัด ในการที่จะปั้นซอฟต์เพาเวอร์ให้กับประเทศไทย เพราะว่ามันไม่เพียงแต่ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจความงาม แฟชั่น ท่องเที่ยว มันจะค่อยๆ ตามมา เพราะเรามีสื่อนำหรือว่าตัวนำสารตัวแพร่ภาพ”
“ปฏิเสธไม่ได้แล้วนะครับ นางงามไม่ได้นำเสนอเฉพาะภาพนางงามอย่างเดียว นางงามย่อมมาพร้อมกับแบคดรอปประเทศเจ้าภาพ เวทีที่เผยให้เห็นทักษะของงานหัตถศิลป์ งานฝีมือต่างๆ เพราะฉะนั้นถ้ารัฐเห็นว่าซอฟต์เพาเวอร์จะช่วยประเทศได้ นางงามจะเป็นคนที่ใช้ซอฟต์เพาเวอร์ให้เกิดขึ้นแล้วก็นำผลดีมาสู่ประเทศเรา
ผมคิดว่าในปี 2018 ปีที่มิสยูนิเวิร์สเกิดวิกฤตในการหาเจ้าภาพ แล้วประเทศไทยเข้ามาช่วยเข้ามาช้อน ทำให้เวทีที่เป็นรูปตัวเอ็กซ์เกิดขึ้น แล้วงานโปรดักชั่นเป็นอีกหนึ่งโปรดักชั่นที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์การประกวดนางงามจักรวาล ตั้งปี 2005 ที่เคยจัดมาแล้ว ต่างประเทศเขายกให้เวอร์ชั่น 2018 ดีพอๆ กับเวอร์ชั่น 2005 เลยนะ ในเรื่องงานโปรดักชั่น
อาจารย์ธง ฐิติพงษ์ ด้วงคง
อาจารย์ธงยังกล่าวต่ออีกว่า เวทีประกวดนางงามที่เรามองเป็นธุรกิจบันเทิง ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่เป็นส่วนสำคัญในธุรกิจนี้ ธุรกิจบันเทิงไม่ใช่มีเฉพาะดารานักแสดง แต่ยังหมายถึงคนที่ทำงานเบื้องหลัง ทั้งช่างไฟ ช่างกล้อง คนที่คิดฉาก คนทำ CG กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะมีงานหลั่งไหลมาด้วย แล้วเราอยู่ในยุคโลกาภิวัฒน์ ยุคที่สามารถส่งงานได้ผ่านอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ ทุกคนสามารถทำงานได้ สามารถสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศ แค่ดึงทุกอย่างมาอยู่ในประเทศเรา เราก็เป็นศูนย์กลางได้
“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ควรจะปล่อยให้เป็นผลงานหรือการทำงานของภาคเอกชนอย่างเดียว ภาครัฐเองก็ควรจะให้ความสำคัญ ไม่จำเป็นต้องให้เงินอุดหนุนก็ได้ แต่ควรจะส่งเสริมเปิดโอกาสให้คนที่ทำงานอยู่ในธุรกิจอันนี้ทำงานง่ายขึ้น ในเมื่อเกาหลีสามารถปั้นซีรีส์ปั้น K-pop ป้อนเน็ตฟลิกซ์ ทำไมต่อไปประเทศไทยเราจะปั้นรายการอะไรที่เกี่ยวกับนางงามแล้วป้อนเน็ตฟลิกซ์ไม่ได้ละ คิดง่ายๆ แบบนี้ครับ”
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2548 ประเทศไทยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประกวด มิสยูนิเวิร์ส 2005 ซึ่งการรับเป็นเจ้าภาพในปีนั้น มีความสำคัญต่อประเทศและคนไทยเป็นอย่างมาก ในการสร้างภาพลักษณ์ เรียกความเชื่อมั่น ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับเข้ามาในประเทศ หลังไทยเพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งสำคัญอย่างเหตุการณ์สึนามิ ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2547 โดยมีเหล่านางงามจากหลายประเทศช่วยโปรโมท
ทั้งนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของ “ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี” ณ ขณะนั้น อนุมัติงบประมาณกว่า 253.5 ล้านบาท ให้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อสนับสนุนการจัดประกวดนางงามจักรวาลในประเทศไทย พร้อมระบุว่า “การที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประกวดนางงามจักรวาล ได้ผลดีมากในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ถือว่าคุ้มมาก”
พลังของเวทีประกวดนางงาม มิสยูนิเวิร์ส ในปี 2005 ช่วยโปรโมทเรียกความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกกล้ากลับเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยอีกครั้ง พร้อมสร้างเม็ดเงินมหาศาลจากการท่องเที่ยว ขณะที่การจัดประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 ของประเทศไทย นอกจากการโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวที่เน้นเมืองรองเป็นหลัก งานโปรดักชั่นก็ได้รับ “เสียงชื่นชมจากแฟนนางงามทั่วโลกอย่างล้นหลาม!”
ไม่ว่าจะเป็นในรอบพรีลิมมินารี หรือรอบไฟนอล ล้วนยิ่งใหญ่จนแฟนนางงามต่างชื่นชมไม่หยุด โดยเฉพาะเวทีรูปตัว X ที่จัดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เวทีมิสยูนิเวิร์ส รวมถึงแสง สี เสียง โปรดักชั่น ที่ได้ทีมงานที่เคยทำออสการ์ และซูเปอร์โบวล์ มาทำให้ ล้วนถูกใจแฟนนางงามจนยกให้เป็นปีประวัติศาสตร์ของการประกวดนางงามจักรวาลเลยก็ว่าได้