ข้าวสรรพสี คือ ข้าวหลายสี ที่ได้จากงานวิจัย ของ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวต่างในเมืองไทยและการใช้ประโยชน์
ข้าวสรรพสี หรือ (Rainbow Rice) เป็นข้าวที่ต่างจากข้าวทั่วไปตรงที่ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ เมล็ดกินได้ ใบมีประโยชน์ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง นำไปบดเป็นส่วนผสมของขนมปังได้เลย รวมทั้งไปปลูกเป็นไม้ประดับได้สวยงาม
ข้อมูลจาก ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ระบุว่า เหตุผลเริ่มต้นของงานวิจัย คือต้องการข้าวพันธุ์ที่เพาะปลูกง่าย และเป็นการสร้างมูลค่าให้กับข้าวไทย

เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2553 จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง พันธุ์พ่อ ‘ข้าวเจ้าหอมนิลพันธุ์กลายใบขาว’ กับ พันธุ์แม่ ‘ข้าวก่ำหอมนิล’ จนเกิดเป็น “ข้าวสรรพสี” ประกอบด้วย สายพันธุ์ใบสีชมพูทับทิมต้นสูง (สรรพสี 01), ใบสีชมพูทับทิมต้นเตี้ย (สรรพสี 02), ใบสีชมพูแถบเขียวและขาวต้นสูง (สรรพสี 03), ใบสีชมพูแถบเขียวและขาวต้นเตี้ย (สรรพสี 04) และใบสีขาว (สรรพสี 05) ซึ่งข้าวสรรพสีทั้ง 5 สายพันธุ์ อยู่ในระหว่างขั้นตอนการยื่นจดคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่
ทั้งนี้ ใบข้าวโดยทั่วไปมีสีเขียวเกิดจากการสะสมรงควัตถุที่เรียกว่า Chlorophyll ซึ่ง Chlorophyll ถือว่าเป็นรงควัตถุที่มีมากที่สุดในโลก เนื่องจากพืชและจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ต่างก็มีรงควัตถุชนิดนี้ ข้าวบางชนิดมีสีใบที่แตกต่างอย่างชัดเจน เช่น พันธุ์ข้าวเหนียวพื้นเมืองที่เรียกว่า ข้าวก่ำ มีใบสีม่วงอมเขียว บางสายพันธุ์อาจมีใบและลำต้นสีม่วงเข้มสวยงามมาก รงควัตถุที่ทำให้ใบข้าวเกิดสี แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ คลอโรฟิวส์ (Chlorophyll) ให้สีเขียว แคโรทีนอยด์ (carotenoid) ให้สีเหลืองถึงแดง แอนโทไซยานิน (anthocyanin) ให้สีแดงม่วงไปจนถึงน้ำเงิน
นอกจากนี้ ที่แปลงของศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว กำแพงแสน ยังมีพันธุ์ข้าวอื่นๆ ให้เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจได้เลือกชม เพื่อดู ว่าข้าวพันธุ์ไหนที่อยากปลูก เพื่อว่าวันหนึ่ง ถ้าต้องการปลูกในที่ไร่นาของตัวเอง ก็สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ได้เลย

สำหรับการเดินทาง ไปยังศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ซึ่งมีแปลงนาข้าวสรรพสี ที่ปลูกโชว์ในช่วงงานเกษตร กำแพงแสน จ.นครปฐม วันที่ 1-10 ธันวาคม 2565 : เข้าประตูฝั่งถนนหมายเลข 346 (พนมทวน-กำแพงแสน) ผ่านถนนสายชมพูพันธุ์ทิพย์ ประมาณ 2.5 กิโลเมตร จะมองเห็นนาข้าวสรรพสีอยู่ทางด้านขวามือ
ขอขอบคุณภาพจาก คุณสุมน ห้อยมาลา ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน
ข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว https://dna.kps.ku.ac.th/
นอกจากไฮไลท์ในเรื่องข้าวสรรพสีแล้ว ช่วงวันงานเกษตร กำแพงแสน ครั้งที่ 25 ภายใต้ธีมงาน” เกษตรศาสตร์อัจฉริยะ สุขภาวะคนไทย สู้ภัยเศรษฐกิจ” ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม 2565 ในงานจะพบกับพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และนวัตกรรมสุดล้ำ ช็อปปิ้งสินค้าและผลิตภัณฑ์นานาชนิดจากชุมชน