หากใครไปเที่ยวญี่ปุ่นที่เป็นสายเสี่ยงดวงและชอบสะสมของเล่นคงหนีไม่พ้นเจ้าตู้หมุนไข่หยอดเหรียญที่มีทั้งแบบตู้สีขาว สีส้ม และสีเหลืองวางตั้งเรียงรายตามห้างสรรพสินค้า ร้านขายของเล่น สถานีรถไฟ สนามบิน หรือแม้แต่ตามริมทาง จนรู้สึกอดใจไม่ไหวที่จะต้องขอหยอดเหรียญเพื่อบิดหมุนเล่น แต่เมื่อไม่กี่วันก่อน ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปเดินเล่นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และสายตาก็ได้เหลือบไปเห็นตู้ตู้หนึ่งตั้งสง่าอยู่หน้าร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก นั่นก็คือ “ตู้กาชาปอง” ซึ่งความพิเศษของตู้นี้เป็นของคนไทย
“กาชาปอง” หรือตู้หมุนไข่หยอดเหรียญสุดฮิตของคนญี่ปุ่น
แท้จริงแล้วต้นกำเนิดของตู้กาชาปองไม่ได้มาจากญี่ปุ่น แต่มาจากสหรัฐอเมริกาในปี 1907 เป็นตู้หมากฝรั่งหยอดเหรียญ หรือ Gumball Machine ถูกคิดค้นโดย Thomas Adams ต่อมาในปี 1960 Ryuzo Shigeta ก็ได้ตู้ดังกล่าวมา และนำมาปรับเปลี่ยนจากหมากฝรั่งไปเป็นกาชาปองแทน นั่นจึงกลายเป็นจุดกำเนิดของตู้กาชาปองตู้แรกในประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งในปี 1977 บริษัทของเล่นญี่ปุ่นอย่าง BANDAI ก็ได้นำเข้ามาสู่ตลาดญี่ปุ่น และทำการออกกาชาปองใหม่ทุกเดือนเพื่อเพิ่มความนิยมและความเป็นเอกลักษณ์ของสินค้า
กาชาปอง หรือ “ตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ” หรือบางคนก็เรียกว่า “ตู้หมุนไข่หยอดเหรียญ” โดยคำว่า “กาชา” มาจากการเลียนเสียงธรรมชาติเวลาที่เราบิดหมุนตู้ดังแกร๊ก ๆ และคำว่า “ปอง” มาจากตอนที่ไข่หรือแคปซูลได้ร่วงหล่นลงมากระแทกดังกับตู้ และเมื่อนำทั้งสองคำมาผสมรวมกัน จึงเกิดเป็นคำว่า “กาชาปอง” โดยข้างในไข่หรือแคปซูลจะบรรจุสินค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมังงะ อนิเมะ เกมส์ สัตว์ และอาหารญี่ปุ่น ซึ่งมีทั้งแบบหุ่นจิ๋ว (Miniature Figurines) พวงกุญแจ และของกระจุกกระจิกแต่สิ่งหนึ่งที่สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้เล่นได้ไม่น้อย ก็คือการพึ่งดวงตัวเองเพื่อบิดหมุนสุ่ม ว่าเราจะได้ตัวอะไร และจะได้ตัวที่ชอบไหม อีกทั้งบางตู้ก็จะมีสินค้าเป็นไอเทมหายาก หรือที่เรียกกันว่า “ตัวแรร์” (Rare Item)
กาชาปองแบบไทย ๆ สร้างสรรค์โดยคมกฤษ เทพเทียน
ฝั่งประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน เพราะว่าเรามีคุณ “คมกฤษ เทพเทียน” ผู้สร้างสรรค์กาชาปองให้มีเอกลักษณ์แบบไทย ๆ และผสมผสานความร่วมสมัย โดยก่อนหน้านี้คุณคมกฤษ เทพเทียน ได้สร้างเสียงฮือฮาจากผู้ที่ชื่นชอบกาชาปองและเหล่านักสะสมของเล่นไม่น้อย เมื่อได้ปล่อยผลงานกาชาปอง “อับเฉาไม่อับเฉา” ในงาน Bangkok Art Biennale 2018 โดยได้แรงบันดาลใจจาก “ตุ๊กตาอับเฉา” ที่ถูกวางเรียงรายทั่วพื้นที่ในวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งตู้กาชาปองนี้จะมีให้เลือกหมุนสุ่มกันอย่างเพลิดเพลินถึง 8 แบบ ด้วยกัน ได้แก่ 1.ขุนนางทหาร 2.ทหาร 3.ทหารยักษ์ 4.เทพธิดา 5.ฮั่นเจ็งหลี 6.ลิงถือลูกท้อและลูกลิง 7.ครุฑ และ 8.จระเข้
จนกระทั่งในเวลาต่อมา จู่ ๆ ทวิตเตอร์ก็มีการติดแฮชแท็ก #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ ซึ่งกลายเป็นไวรัลอยู่นานหลายวัน และเมื่อกดเข้าไปดูก็จะพบกับความน่ารักของน้อง ๆ แก๊งสัตว์หิมพานต์ที่ทำหน้าที่เฝ้าทางขึ้นโบสถ์ของวัดไทยทางภาคอีสานและภาคเหนือตอนล่าง โดยแนวคิดเกี่ยวกับกาชาปองหิมพานต์มาร์ชเมลโล คุณคมกฤษ เทพเทียน ได้อธิบายว่า “คือการนำเอาศิลปะท้องถิ่นมาประยุกต์ สร้างสรรค์ผ่านกระบวนการรูปแบบของเล่นของสะสมเพื่อทำให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในกิจกรรม ซึมซาบวัฒนธรรมขนาดเล็ก และได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เรื่องเล่า และวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมรองในสังคมปัจจุบัน”
ทั้งนี้กาชาปองหิมพานต์มาร์ชเมลโล่จะมีทั้งหมด 5 ตัว ได้แก่ 1.เหรา จากวัดชัยภูมิการาม จังหวัดอุบลราชธานี 2.มอม จากวัดพระธาตุขามแก่น จังหวัดขอนแก่น 3.สิงห์ จากวัดเกาะวาลุการาม จังหวัดลำปาง 4.นาคสีฟ้า จากวัดนรวราราม จังหวัดมุกดาหาร และ 5.นาคสีเขียว จากวัดโพธิ์ศรีทุ่ง จังหวัดอุดรธานี
และผู้ที่อยากสะสมกาชาปองอับเฉาไม่อับเฉาสามารถไปหมุนได้ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ชั้น 5 หน้าห้องจำหน่ายของที่ระลึก BACC SHOP และร้านอาหาร ต.บรรจง ถนนหน้าพระลาน ตรงข้ามวัดพระแก้วกันได้ แอบกระซิบว่าตัวลับ “มาร์โค โปโล แห่งวัดโพธิ์” หรือ “ยักษ์ฝรั่ง” มีเฉพาะที่ร้านอาหาร ต.บรรจง ถนนหน้าพระลานเท่านั้นนะ
ผู้เขียน : วรินทร์ทิพย์ สายมงคลเพชร
อ้างอิง
https:// www.facebook.com/MotmoStudio/
https:// wholesalejapan.shop/blogs/news-1/capsuletoy-2
https:// www.tsunagujapan.com/gacha-catch-em-all-gashapon-machines-in-japan/
https:// guidable.co/culture/gachapon-a-unique-japanese-culture-you-should-not-miss/
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร. (2565). อาร์ตมูฟ [PDF file]. Available from https://www.bacc.or.th/upload/Artmove_E-Catalogue%202P%20for%20website.pdf.