ที่สุดแล้วเรื่องการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ที่คนหลายคนคาดการณ์ไว้ว่าจะมีปัญหาแน่ก็มีปัญหาจริงๆ ด้วยปมของผู้หวังดีที่ผูกเอาไว้ โดยประเมินสิ่งที่จะตามมาแบบโลกสวยไปเยอะ

ปมที่ว่าคือ กฎที่ชื่อว่า “Must Have” ที่ถูกผูกเอาไว้โดย กสทช.ชุดที่แล้ว

ย้อนไปเมื่อ 4 ปีก่อน ในฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย ซึ่งแข่งขันระหว่าง 14 มิถุนายน-15 กรกฎาคม เวลาถ่ายทอดสด
เหมาะสมกับเวลาดูบอลของคนไทย ไล่ตั้งแต่ 19.00 น., 22.00 น. และคู่ดึก 01.00 น.
บางวันที่เตะ 4 คู่ ก็จะได้ดูตั้งแต่เย็นจนดึก 17.00 น., 20.00 น., 23.00 น. และ 02.00 น.
แต่กลับมีปัญหาไม่มีใครไปซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดสด ทั้งจาก ราคาลิขสิทธิ์ที่พุ่งพรวดแบบก้าวกระโดด และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือ ประกาศของ กสทช. ที่เรียกกันว่า กฎ “MUST HAVE” ที่บังคับให้ใครที่ซื้อลิขสิทธิ์มา ต้องมาฉายให้ดูแบบฟรีๆ (เท่านั้น)

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อปี 2018 (พ.ศ. 2561) ซึ่งยังเป็นยุครัฐบาล คสช. ที่มีอำนาจเต็ม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในขณะนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย “เชิญ” ภาคเอกชนมาหารือ เพื่อขอให้ลงขันกันซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก โดยรัฐบาลจะเป็นคนกลางประสานระหว่างฟีฟ่ากับเอกชน

ที่สุด 30 เมษายน (ก่อนฟุตบอลโลกเริ่ม ประมาณ 1 เดือนครึ่ง) ก็มีการแถลงข่าวร่วมกับ 9 เอกชน ประกอบด้วย บีทีเอส, ไทยเบฟเวอเรจ, เครือเจริญโภคภัณฑ์, กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี, ธนาคารกสิกรไทย, คิง เพาเวอร์, พีทีที โกลบอล, บางจาก และคาราบาวตะวันแดงเพื่อถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกแบบชมฟรี ครบ 64 นัด ผ่านทาง ทรูโฟร์ยู, อมรินทร์ทีวี และ ททบ.5

ค่าใช้จ่าย รวมทั้งลิขสิทธิ์และค่าดึงและเผยแพร่สัญญาณ รวม 1,400 ล้านบาท เดิมตกลงกัน 7 บริษัทๆ ละ 200 ล้าน แต่บางบริษัทให้ได้ไม่ถึงจึงต้องขยายมาเป็น 9 บริษัท

พล.อ.ประวิตร กล่าวในตอนนั้นว่า “ผมไม่ใช่ฮีโร่ แต่ทุกคนช่วยกันต่างหาก ที่ทำทั้งหมดไม่ได้หาเสียง แต่อยากให้คนไทยมีความสุขในการได้ดูฟุตบอล ได้ดูกีฬาที่ชื่นชอบโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ก็ต้องหาบริษัทเอกชนร่วมกันจ่ายค่าลิขสิทธิ์ กว่าจะได้ก็ต้องใช้ความพยายามพอสมควร ยืนยันว่าไม่ได้ทำเพื่อหาเสียงให้กับรัฐบาล คสช. เพราะเราทำเรื่องนี้มานานแล้ว ทำไมจะต้องเอาเรื่องนี้ไปวุ่นวายกับการเมืองด้วย”

เท่ากับแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปได้อีกครั้ง เพื่อจะมาเจอปัญหาเดิมในอีก 4 ปีให้หลัง

MUST HAVE ปมที่ผูกไว้โดยหวังดี แบบโลกสวย?

MUST HAVE คือ ประกาศของ กสทช. กำหนดให้ 7 ชนิดกีฬา ที่ไม่ว่าใครจะซื้อลิขสิทธิ์มา ก็ต้องฉายทางฟรีทีวีทั้งหมด ห้ามกั๊กไปขายแยกหรือเก็บเงินค่าดูแบบ “เพย์เพอวิว” โดยมี “ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย” รวมอยู่ด้วย

ถ้ายังจำกันได้ ก่อนฟุตบอลโลก 2014 อาร์เอส เจ้าของลิขสิทธิ์ในไทย ประกาศจะถ่ายทอดสดให้ชมทางฟรีทีวี 22 จาก 64 คู่ ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ขั้นต่ำของฟีฟ่า

ส่วนที่เหลือถ้าอยากชมต้องซื้อ “กล่องฟุตบอลโลก” ที่บริษัทผลิตออกวางจำหน่าย

ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในตอนนั้น เพราะคนไทยเคยดูฟุตบอลโลกฟรีมาโดยตลอด

หากย้อนประวัติศาสตร์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในบ้านเราแบบย่นย่อ ก็จะพบพัฒนาการน่าสนใจ

ปี 1970 มีการถ่ายทอดสดเฉพาะคู่ชิง “บราซิล -อิตาลี”

ปี 1974 ถ่ายนัดเปิดสนามและคู่ชิงชนะเลิศ

ปี 1986 กระแสฟุตบอลโลกมาแรง จน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น สั่งด่วนให้ทีวีพูลถ่ายทอดสดเกมการแข่งขันเพิ่มเติม ตั้งแต่รอบ 8 ทีมสุดท้ายจนถึงนัดชิง

ปี 1990 ถ่ายทอดสดเกือบทุกนัด ยกเว้นแมตช์ที่เตะพร้อมกัน ส่วนปี 1998 ก็เข้าสู่การถ่ายทอดสดทุกแมตช์เต็มตัว เสริมด้วยเทคนิคเจาะจอเล็กตอนตัดเข้าโฆษณา เพื่อมิให้คนดูเสียอรรถรสระหว่างรับชมเกม

และตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา คือ ยุคดูครบทุกคู่แบบไม่มีโฆษณาคั่น โดยทศภาค 2 ครั้ง และอาร์เอสอีกครั้งในปี 2010

ก่อนอาร์เอสจะปรับแผนการบริหารลิขสิทธิ์ในปี 2014

ทว่า กสทช. โดย พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน ได้โดดเข้าขวางนโยบายดังกล่าว และสั่งห้ามขายกล่องด้วยเหตุผล ฟุตบอลโลกนั้นเคยถ่ายทอดสดให้ชมฟรีมาโดยตลอด และคนส่วนมากให้ความสนใจ

เรื่องไปถึงชั้นศาลปกครอง ปรากฏว่าอาร์เอสเป็นฝ่ายชนะ เพราะซื้อลิขสิทธิ์มาตั้งแต่ปี 2548 ส่วนกฎ “MUST HAVE” ออกในปี 2555

เท่ากับว่ากฎนี้บังคับใช้ไม่ทัน แต่ครั้งต่อไป (ซึ่งหมายถึง ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย) ต้องถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีครบทุกคู่

สุดท้าย คสช. ที่เข้ามาควบคุมอำนาจก่อนฟุตบอลโลก 2014 จะเริ่ม ได้สั่งให้ กสทช. จ่ายเงินแก่อาร์เอส เพื่อให้เลิกขายกล่องและถ่ายทอดสดให้ดูฟรีครบทุกคู่ โดยตกลงราคากันที่ 427 ล้านบาท

ภายหลัง กสทช. ประชุมประเมินตัวเลขใหม่ และตัดสินใจจ่ายเพียง 369 ล้านบาท จนอาร์เอสฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง เรียกเงินอีก 57 ล้านบาทที่เหลือ แต่แพ้คดี

พ.อ.นที กล่าวตอนปี 2557 ว่า แม้จะมีกฎ “MUST HAVE” แต่เชื่อว่าจะอย่างไรก็ต้องมีคนซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาอยู่ดี และให้สัมภาษณ์อีกครั้งเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2560 โดยยังมองแง่บวกว่ากฎ “MUST HAVE” ไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่จะเป็นหลักเกณฑ์ให้เอกชนไทยนำไปเจรจาต่อรอง และไม่ถูกผู้ขายลิขสิทธิ์เอาเปรียบ ด้วยการตั้งราคาสูงจนเกินไป

แต่จากกรณีฟุตบอลโลก 2018 และจนถึงวันนี้คำตอบได้ชัดเจนแล้วว่า การประเมินในครั้งนั้นถูกต้องหรือไม่

หมดยุคดูฟรีโนลิมิต เข้าใจลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก

จากความเคยชินเดิมๆ ทำให้ คนดูบางส่วนยังเรียกร้องการดูฟุตบอลโลกแบบฟรีๆ ครบทุกคู่ แบบเสพติดของฟรี จนกลายเป็นแรงกดดันไปยังรัฐบาล ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องของธุรกิจและภาคเอกชนล้วนๆ

“วรวุฒิ โรจนพานิช” หนึ่งในคนไทยผู้รู้เรื่องลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกดีที่สุด จากการเป็นผู้ซื้อและบริหารลิขสิทธิ์ 4 ครั้ง หลังยุคทีวีพูล ตั้งแต่ปี 2002-2014 โดยบริหารให้ทศภาค 2 ครั้ง และ อาร์เอสอีก 2 ครั้ง ยืนยันว่า ไม่ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการต้องเป็นผู้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก แต่รัฐบาลจะสามารถช่วยได้บางส่วน เช่น ผ่านทางรัฐวิสาหกิจมาช่วยซื้อโฆษณาหลังเอกชนซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอด

ซึ่งการที่เอกชนจะยอมซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอด กสทช.ต้องยกเลิกกฏ MUST HAVE ที่บังคับให้ต้องถ่ายทอดสดให้ดูฟรีทุกคู่ออกไปก่อน

โมเดลทางธุรกิจที่ควรเป็นคือ ให้เอกชนซื้อลิขสิทธิ์ และนำมาให้ชมฟรีบางคู่ และต้องเสียเงินเพื่อรับชมเพิ่มเติมหากต้องการดูแบบครบทุกคู่

วรวุฒิ โรจนพานิช

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า มีข้อกำหนด เรื่องการเผยแพร่ ซึ่งใช้มาตั้งแต่ ฟุตบอลโลกปี 1998 คือ ต้องเผยแพร่ให้ชมฟรี 8 คู่ ก่อนจะขยายเป็น 12 คู่ เมื่อปี 2002 ในฟุตบอลโลกที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น และกลายเป็น 22 คู่ ตั้งแต่ฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้ (แต่คนไทยจำนวนมาก ไม่รู้สึกเพราะทุกครั้งจะได้ดูฟรีไม่โดยรัฐ ก็เอกชน)

สำหรับเอกชนที่ซื้อลิขสิทธิ์ นอกจากคู่เปิดสนาม, รอบน็อกเอาต์ถึงรอบชิงชนะเลิศ ที่ฟีฟ่า กำหนดให้ถ่ายทอดสดให้ดูฟรี การแข่งขันรอบแรกๆ จะเป็นช่องทางให้เอกชน เลือกคู่ให้ดูฟรีได้จนครบเกณฑ์ 22 คู่ ส่วนที่เหลือคือ การขายสิทธิ์รับชมเพื่อทำรายได้ ซึ่งเขาอธิบายว่า แนวคิดคือ ไม่ใช่เลือกถ่ายคู่เล็กๆ แล้วเก็บคู่ใหญ่ไว้ขายสมาชิก แต่ต้องเลือกคู่ ให้ดูฟรีแบบเลือกเป็น กระจายไปในกลุ่มทีมดังที่มีแฟนติดตาม เช่น อังกฤษ, สเปน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี เพื่อให้สามารถขายโฆษณา ในคู่ที่ขายให้ชมฟรีได้ด้วย ส่วนใครจะดูครบทุกคู่ที่เหลือก็ต้องจ่ายเพิ่มตามแพ็กเกจ

นอกจากนั้น การบริหารลิขสิทธิ์ยังรวมไปถึง ผับ บาร์ ร้านอาหาร ที่นำฟุตบอลโลกไปเผยแพร่ด้วย โดยหลักสากลหากรับชมในครอบครัว (เกณฑ์คือ 5 คน) จะชมได้ฟรี แต่หากไปแพร่ภาพในผับ บาร์ ร้านอาหาร ก็ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ให้ผู้ที่ซื้อมาด้วย

คุณวรวุฒิ เล่าว่า ตอนเขาพูดเรื่องนี้ตั้งแต่ครั้งที่บริหารลิขสิทธิ์ให้ทศภาค คนจำนวนมากก็โจมตีเพราะไม่เข้าใจ เขาบอกไว้แล้วว่า นี่คืออนาคตที่จะเกิดขึ้น แต่ในช่วงเวลานั้นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ ได้เปิดช่องให้ร้านค้านำเบียร์เข้าไปจำหน่ายแลกกับการไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์เผยแพร่ ด้วยหลักคิด “คนไทยให้กันได้”

ดังนั้นหากผู้ซื้อลิขสิทธิ์มา ไม่มีกลไกหรือเกณฑ์อื่นๆ การที่ผู้ใดจะนำภาพการถ่ายทอดสดไปใช้ต่อในเชิงพาณิชย์ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เพื่อเป็นรายได้กลับไปที่เอกชนผู้ซื้อลิขสิทธิ์

ส่วนเรื่องค่าลิขสิทธิ์ที่ตั้งเอาไว้นั้น จริงๆ แล้วราคาที่ตั้งไว้ คือ ราคาที่รวมการแข่งขัน 9 รายการในช่วงเวลา 4 ปี ทั้ง คอนเฟเดอเรชั่นคัพ, ฟุตบอลโลกหญิงชุดใหญ่-ชุดเยาวชน, ฟุตบอลชายเยาวชนชิงแชมป์โลก, ฟุตซอลชิงแชมป์โลก และฟุตบอลโลก

ดังนั้น เมื่อปัจจุบัน เหลือแต่ฟุตบอลโลกก็ต้องเจรจา กับ “อินฟรอนต์ สปอร์ต แอนด์ มีเดีย” ตัวแทนฟีฟ่าที่ดูแลลิขสิทธิ์ในภูมิภาคนี้ (ไม่ใช่เจรจากับฟีฟ่าโดยตรง)

ส่วนฟุตบอลโลกในครั้งหน้าก็ควรจะรีบปลด กฏ MUST HAVE ที่เป็นอุปสรรคแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เอกชนที่สนใจซื้อลิขสิทธิ์ ได้มีเวลาวางแผนบริหารจัดการให้คุ้มกับเงินที่ลงทุน

ด้วยการบริหารลิขสิทธิ์แบบเข้าใจ ทำให้เอกชนที่ซื้อลิขสิทธิ์ก็อยู่ได้ ประชาชนได้ชมฟุตบอลโลกฟรี (ตามเกณฑ์แบบประเทศทั่วไป 22 คู่) และไม่เป็นภาระของภาครัฐ

รวมทั้งไม่ต้องมาลุ้นระทึกกันทุกๆ 4 ปีแบบนี้ด้วย

ชื่นชอบการขุดเรื่องราวในอดีต

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ (Strictly Necessary Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของเว็บไซต์ feedforfuture.co ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์เราได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนสมาชิกผู้ใช้งานของเว็บไซต์ ตลอดจนการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อวิเคราะห์ และช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้ในการบันทึก และจดจำคุณลักษณะต่างๆ ที่ท่านได้เลือกขณะเข้าชมเว็บไซต์ของเรา เช่น หมวดหมู่ และเนื้อหาที่ท่านชอบอ่านมากที่สุด เราจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ และนำกลับมาใช้เมื่อท่านกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง เพื่อปรับให้ท่านได้รับชมเนื้อหาได้ตรงกับความชอบของท่านให้มากที่สุด

  • คุกกี้เพื่อนำเสนอโฆษณาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อจดจำพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ของท่าน รวมถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ท่านใช้ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์การนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด และช่วยวัดความมีประสิทธิผลของโฆษณาที่เรานำเสนอด้วย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ท่านจะเห็นโฆษณาเดิมซ้ำๆ

บันทึก