ส่วนหนึ่งของข้อความที่ “กฤตไท ธนสมบัติกุล” ผู้ก่อตั้งเพจสู้ดิวะ แบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตที่กำลังไปได้ดีเรียนจบแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ครอบครัว และปริญญาโทวิทยาการข้อมูล บรรจุเป็นอาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไลฟ์สไตล์ชอบออกกำลังกาย ให้ความสำคัญกับอาหารและการพักผ่อน ชีวิตในวัย 28 ปี ที่กำลังวิ่งตามความฝันก่อนจะลงท้ายว่า “แล้ว… ผมก็เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้ายครับ”
สำหรับบางคนนี่อาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัวและไม่ใช่สิ่งที่คาดคิดว่าจะเกิดกับคนอายุน้อยที่สุขภาพแข็งแรงไม่มีประวัติการเจ็บป่วยใดๆ ทว่า “มะเร็งปอด” เป็น 1 ใน 5 มะเร็งที่พบบ่อยและยังคร่าชีวิตคนไทยมากถึงวันละ 40 ราย นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ระบุว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยเป็นมะเร็งปอดประมาณ 17,222 ราย โดยเป็นผู้ป่วยชาย 10,766 ราย และผู้ป่วยหญิง 6,456 ราย
“มะเร็งปอด” เป็นได้แม้ไม่ได้สูบบุหรี่
เราทุกคนต่างรู้ว่าการสูบบุหรี่คือปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นำไปสู่การเป็นมะเร็งปอดได้ แต่จริงๆ แล้วยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นอีกหลายอย่างที่ทำให้เราเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นควันบุหรี่มือสอง การสัมผัสสารก่อมะเร็งอย่างก๊าซเรดอน ก๊าซกัมมันตรังสี ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสใดๆ ของมนุษย์ เกิดจากการสลายตัวของแร่เรดียมที่มีปะปนอยู่ในดินและหินทั่วไป พบได้แม้กระทั่งในอาคารเพราะดินและหินในการก่อสร้างหากอาคารนั้นไม่มีระบบระบายอากาศที่ดีจะเป็นแหล่งสะสมของก๊าซเรดอนปริมาณสูงที่เป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่นำไปสู่การเป็นมะเร็งปอดได้ คือ แร่ใยหิน รังสี ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า “PM 2.5 เกิดขึ้นพร้อมกับสารหลายตัวที่มีหลักฐานก่อมะเร็งได้ การอยู่ในพื้นที่ที่มี PM 2.5 สูงจึงอาจสัมพันธ์กับสารก่อมะเร็งที่สูงได้ แม้จะไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่เราคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เหล้า บุหรี่ การพักผ่อน ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่เสี่ยงไม่เป็นมะเร็ง มลภาวะสิ่งแวดล้อมอาจจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ก็สามารถก่อให้เกิดมะเร็งในคนที่อายุน้อยลงได้”
“สัญญาณเตือนทั่วไปเมื่อเข้าข่ายเป็นมะเร็งปอดคือ อาการไอเรื้อรังมากกว่า 1 เดือน ไอแบบมีเสมหะปนเลือด หายใจลำบาก เหนื่อยหอบง่ายมากกว่าปกติ เจ็บแน่นหน้าอก อ่อนเพลีย เป็นต้น หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดระยะแรกมักจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นก็จะมีอาการ แต่ก็มักไม่จำเพาะจึงอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ล่าช้า มีผลต่อระยะของโรคที่ลุกลามหรือแพร่กระจายไปมาก ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร และมีโอกาสการรักษาหายจากโรคน้อย”
“เชียงใหม่” ป่วยมะเร็งอันดับหนึ่งในภาคเหนือ
งานวิจัยแนวโน้มอุบัติการณ์และอัตราตายโรคมะเร็งในภาคเหนือของประเทศไทย พ.ศ. 2536 – 2560 โดยโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง พบว่า หมอกควันจากการเผาป่า ไร่ และสวน เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ของทุกปี ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (ไม่เกิน 10 ไมครอน) อยู่ในระดับสูงเกิน 100 มคก.ลบ.ม. อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2555 โดยเฉพาะในจังหวัดลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และน่าน
โดยตลอดทั้งปีการวิจัย พ.ศ. 2556 – 2560 เชียงใหม่ มีรายงานผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่อยู่ที่ 20,011 รายมากเป็นอันดับหนึ่งของจังหวัดในภาคเหนือ และมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งทุกชนิดมากเป็นอันดับหนึ่งอยู่ที่ 9,787 ราย ซึ่งโรคมะเร็งที่พบมากในจังหวัดเชียงใหม่ 3 อันดับแรกในเพศชายคือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ส่วนในเพศหญิง คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก
รัฐบาลขยับปรับลดค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5
อันตรายจากมลพิษทางอากาศเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนทั่วโลก ทางฝั่งของประเทศไทยจึงขยับปรับลดค่ามาตรฐานฝุ่นให้มีความเข้มงวดมากขึ้นเนื่องจากค่ามาตรฐานเดิมใช้มานานกว่า 10 ปี โดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดมาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ใหม่อยู่ที่ 37.5 มคก./ลบ.ม. (ของเดิมไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน 2566 และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 15 มคก./ลบ.ม. (ของเดิม 25 มคก./ลบ.ม.) โดยมีผลบังคับใช้ในทันทีนับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ประกาศเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565)
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
- ก๊าซเรดอนมหันภัยเงียบภายในอาคาร : https://www.nci.go.th/en/Knowledge/download/4.pdf
- สู้ดิวะ : https://www.facebook.com/ktlivethelife/photos/a.104883072442520/104882952442532/
- ประชาชาติ : https://www.prachachat.net/general/news-1116096
- ข่าวสด : https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_7360410
- มติชน : https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3364163
- แนวโน้มอุบัติการณ์และอัตราตายโรคมะเร็งในภาคเหนือของประเทศไทย พ.ศ. 2536 – 2560 โดยโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง : https://www2.lpch.go.th/lpch/uploads/20200617093948752932.pdf
- ประชาไท : https://prachatai.com/journal/2022/07/99484